เพชรบูรณ์จัดงานวันเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา
คนอ่านข่าว: 183 ที่แปลงสาธิตบ้านน้ำดุก ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยมี นายอำนาจ ปาลาศ เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เกษตรกร เข้าร่วม นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า วันนี้ได้มาดูการเก็บเกี่ยวในช่วงสุดท้ายที่จะหมดช่วงการเก็บเกี่ยวในโครงการแล้ว โดยในเรื่องของผลผลิตพบว่าเกษตรกรมีกำไรในการปลูกข้าวโพดมากกว่าทำนา ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งในวันนี้ได้ย้ำเกษตรกรในเรื่องการรวมกลุ่ม เพราะการรวมกลุ่มเราจะได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งเพื่อน ได้มีการแลกเปลี่ยน และได้ให้นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้หันมาให้ความสนใจในการพัฒนาในด้านการเกษตร อย่างข้าวโพดเราไม่ได้ปลูกขายเฉพาะฝักแห้งอย่างเดียว แต่มีการปลูกขายข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ไม่ต้องรอแห้ง เราสามารถปลูกได้หลายวิธีการ เราจะพัฒนาให้ราษฎรได้ใช้ความรู้ ความสามารถที่ตัวเองมีอยู่พัฒนาไปในหลายๆ ด้าน โดยเน้นการรวมกลุ่ม และที่สำคัญที่สุดตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือการตลาดนำการผลิต ด้าน นายอำนาจ ปาลาศ เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อปรับสมดุลของปริมาณการผลิตการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เกษตรกรมีรายได้และอาชีพที่มั่นคงจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรมต่อเนื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเสรีภาพในการผลิตสินค้า และลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศ โดยจังหวัดเพชรบูรณ์มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา จำนวน 100,957 ไร่ เป็นเกษตรกรจำนวน 10,073 ราย ดำเนินการใน 8 อำเภอ เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-4 มกราคม 2562 และเก็บเกี่ยวข้าวโพดตั้งแต่ 10 มีนาคม – 20 พฤษภาคม 2562 ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 800 ถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาผลผลิตอยู่ที่ 6.67 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนการผลิต อยู่ที่ 4,255 บาทต่อไร่ กำไรสุทธิอยู่ที่ 3,805 บาทต่อไร่ ซึ่งการจัดงานในวันนี้เพื่อเห็นความสำคัญของการปรับสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน ปริมาณการผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวกับโพดเลี้ยงสัตว์ การรับซื้อผลผลิตโดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมีฐานการเรียน ประกอบด้วยฐานที่ 1 เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว/การปรับปรุงดิน ฐานที่ 2 การตลาดข้าวโพด ฐานที่ 3 การผลิตข้าวโพดหมัก และฐานที่ 4 การลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ‘>