LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
คอลัมน์วันนี้

ปราชญ์เพชรบูรณ์ ประจำปี ๒๕๕๕

1016434_700257833329838_1563102241_n

สัมภาษณ์ ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ..ปราชญ์เพชรบูรณ์ ๒๕๕๕

 “เพียงหวังให้เจ้า เพ่งพิศ ชวนชม และนิยม ชมชอบ.. เพชรบูรณ์”

จากการที่ผมมีประสบการณ์ทางด้านการเมืองมาร่วม๒๕ ปี ตั้งแต่การเมืองระดับประเทศและการเมืองระดับท้องถิ่นรวมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐  ผมได้วิเคราะห์ถึงการพัฒนาบ้านเมืองจากหลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านมาและได้พบว่า ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองนั้น การพัฒนาด้านวัตถุ สิ่งของถนนหนทางและสาธารณูปโภคต่างๆนั้น เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้ และก็ทำกันอยู่อย่างเต็มกำลัง แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาที่หลายคนมองข้ามไปนั้นก็คือ “การพัฒนาคน”เพราะการพัฒนาคนจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและก็จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาบ้านเมืองไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

การพัฒนาคนนั้นก็จะมี๓ มิติด้วยกันก็คือ พัฒนาเรื่องการศึกษา พัฒนาเรื่องสุขภาวะและประเด็นที่สามนั้นถือว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาจิตสำนึก ในส่วนประเด็นเรื่องการศึกษาก็ดีเรื่องการสาธารณะสุขก็ดี ก็จะมีหลากหลายหน่วยงานและองค์กรที่ทำอยู่แล้วมากมาย แต่ในประเด็นการพัฒนาสร้างจิตสำนึกของคนเพื่อทำให้เกิดความรักบ้านรักเมืองที่เรียกว่าสำนึกสาธารณะหรือสำนึกในการเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนนั้น ตรงนี้ในบ้านเมืองเรายังขาดไปมาก ผมจึงได้เลิกเล่นการเมืองทุกอย่างโดยมีด้วยเหตุผลที่สำคัญที่ว่าอยากจะหันกลับมาพัฒนาคนโดยเฉพาะการพัฒนาจิตสำนึกให้ผู้คนเกิดความรักบ้านรักเมือง

ผมได้กำหนดปรัชญาการพัฒนาคนในสังคมของตัวเองขึ้นว่า..”เข้าใจ รู้จัก รักเพชรบูรณ์..บ้านเรา” ซึ่งหมายความว่า ถ้าจะทำให้คนเพชรบูรณ์เกิดความรักบ้านรักเมืองเพื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาได้นั้น เราก็ต้องทำให้เขาเข้าใจก่อนว่าเพชรบูรณ์ของเรามีตัวตน มีรากเหง้าที่แท้จริงเป็นอย่างไร ได้รู้จักทุกหนทุกแห่งรู้จักศักยภาพ ได้รู้จักสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของเรา ไม่ว่าจะในด้าน รูปธรรมหรือนามธรรมก็ตามซึ่งเมื่อเกิดความเข้าใจ เกิดความรู้จักแล้ว คนก็จะเกิดความรักบ้านรักเมืองนี้ขึ้นมานี่คือสิ่งที่ผมได้ตั้งเป้าเอาไว้ที่อยากจะทำในการทำงานของผมในปัจจุบันนี้

จากเป้าหมายการทำงานตรงนี้เองจึงได้กลายเป็นคำถามว่า แล้วอะไรที่จะเป็นเครื่องมือหรือเป็นสื่อที่จะทำให้ผู้คนได้เข้าใจได้รู้จักและจะได้รักบ้านรักเมือง คำตอบค้นพบก็มาลงที่ ..วัฒนธรรมท้องถิ่น..ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงว่าประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษ ประเพณี ภูมิปัญญา วิถีชีวิตต่างๆที่จะสามารถแสดงถึงรากเหง้าความเป็นตัวตนที่แท้จริงของคนเพชรบูรณ์ ซึ่งเรียกรวมกันทั้งหมดนี้ว่าวัฒนธรรมท้องถิ่น  ผมจึงมีแผนการทำงานที่จะพยายามนำวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งแทนที่จะได้เป็นเพียงแค่คำบอกเล่าเรื่องหรือเพียงที่อยู่ในหนังสือหรือเรื่องที่สอนกันที่อยู่แต่ในห้องเรียนกันนั้น ให้ออกมาเป็นรูปธรรมที่เยาวชนและประชาชนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้แบบมาสัมผัสโดยตรงได้สามารถมาจับต้อง มาซาบซึ้ง มาเรียนรู้ แล้วก็จะติดตาตรึงใจตลอดไป อันจะส่งผลให้ได้กลับมาภูมิใจและรักบ้านรักเมืองของเรา

กระบวนการจัดให้คนเพชรบูรณ์ได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของตนนั้นผมได้ใช้วิธีการเริ่มต้นตั้งแต่ค้นหาองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายในทุก ๆด้านของเพชรบูรณ์ จากนั้น ก็นำมารวบรวม วิเคราะห์ พัฒนาและนำเสนอเพื่อถ่ายทอดไปสู่สังคมเพชรบูรณ์ต่อไปสำหรับวิธีการนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น ผมได้ใช้วิธีการและช่องทางต่าง ๆ มากมายเช่น ผ่านการบรรยายเล่าเรื่องตามเวทีและสถานศึกษาต่าง ๆ  ผ่านทางภาพถ่ายทั้งภาพเก่าและภาพที่สวยงามประทับใจ โดยใช้การจัดนิทรรศการในงานต่าง ๆและผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียที่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือผ่านทางการจัดสร้างสถานที่จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆอย่างถาวรซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์หรือหอจัดแสดงก็ได้

ฉะนั้น หลังจากที่ผมเลิกเล่นการเมืองในตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์แล้วผมก็หันมาทุ่มเทให้กับการสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น  หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์เป็นสถานที่ที่สามารถจัดแสดงวัฒนธรรมการแสดงบนเวที เรื่องนิทรรศการหมุนเวียน จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่แสดงเรื่องวัฒนธรรมของเพชรบูรณ์ แล้วก็ได้มีส่วนร่วมหลักในสร้างพุทธอุทยานเพชบุระและพระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติฯ  ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นจุดรวมใจเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาของจังหวัดเพชรบูรณ์  ก่อนหน้านั้น ผมก็ได้ออกแบบและริเริ่มก่อสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์หนองนารีซึ่งจะเป็นทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ศูนย์กีฬาทางน้ำและยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่สวยงาม สง่างามที่คนเพชรบูรณ์จะได้ภาคภูมิใจ หลังจากนั้น ก็มีโอกาสได้มาพัฒนาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังเก่าให้เป็นหอประวัติศาสตร์เพชบุระ ซึ่งในอนาคตก็จะเปลี่ยนเป็นหอเกียรติยศเพชบุระต่อไปส่วนอาคารกาชาดหลังเก่าที่อยู่ในสวนสาธารณะเพชบุระ ก็ได้ปรับปรุงให้เป็นหอภูมิปัญญาและวิถีชาวบ้านเพชรบูรณ์ซึ่งจะนำเสนอวิถีชีวิต อาชีพดั้งเดิมของคนเพชรบูรณ์ตั้งแต่สมัยก่อน ๖เรื่องราวด้วยกัน

ผมยังได้ร่วมกับทีมงานวางแผนปรับปรุงศาลากลางจังหวัดหลังเก่าให้เป็นหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยซึ่งจะเป็นสถานที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ในยุคต่างๆของจังหวัดเพชรบูรณ์ตั้งแต่ยุคสมัยหินก่อนประวัติศาสตร์ มายุคศรีเทพ มาสมัยสุโขทัย อยุธยาแล้วก็มาจนกระทั่งถึงรัตนโกสินทร์ มาถึงยุคมณฑลเพชรบูรณ์จนกระทั่งถึงนครบาลเพชรบูรณ์ ก็จะเป็นแหล่งรวบรวมและบันทึกประวัติศาสตร์ตามยุคสมัยต่างๆให้กับเยาวชนและประชาชนให้เรียนรู้กัน ได้ดำเนินการสร้างหอนิทรรศน์กำแพงเมืองเพชรบูรณ์ที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์กำแพงเมืองทั้ง ๒ ยุคของเมืองเพชรบูรณ์

ในช่วงที่ผมเป็นนายกเทศมนตรีอยู่นั้น ผมก็ได้มีโอกาสได้ปรับปรุงสถานที่ที่มีคนเพชรบูรณ์เคารพศรัทธาและสร้างความภูมิใจให้กับคนเพชรบูรณ์นั่นก็คือศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ที่มีการปรับปรุงให้สวยงามสง่างาม ซึ่งก็ได้มีการค้นพบว่าเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์เป็นศิลาจารึกอันทรงค่าค่ายิ่งกว่าเสาหลักเมืองธรรมดา  ในส่วนประเพณีนั้น ผมได้จัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาเป็นงานระดับประเทศพร้อมทั้งปรับปรุงที่วัดไตรภูมิให้มีความสวยงามสง่างามขึ้นมานอกจากนั้นก็ยังมีการหยิบยกประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของเพชรบูรณ์ที่หลาย ๆ คนหลงลืมไปนั่นคือเหตุการณ์สมัย นครบาลเพชรบูรณ์ ที่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเกิดขึ้นในระยะนั้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตจากกรุงเทพฯ ให้มาประดิษฐานอยู่ที่เพชรบูรณ์เพราะคนเพชรบูรณ์ก็ไม่มีใครทราบเรื่องนี้เลยหรือทราบกันน้อยมาก

ผมได้หยิบยกคำว่า“เพชบุระ”ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของเพชรบูรณ์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่เราพบบนจารึกทองคำวัดมหาธาตุมาให้คนเพชรบูรณ์ได้รู้จักกัน โดยได้นำมาตั้งเป็นชื่อสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเมืองเพชรบูรณ์เพื่อให้คนเพชรบูรณ์ได้ทราบและรู้ความหมายว่าเพชบุระ..เมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร นั้น ก็คือชื่อดั้งเดิมของเมืองเพชรบูรณ์เรามาตั้งแต่โบราณ

ทั้งหมดทั้งหลาย ทั้งปวงนี้  ก็เพื่อเป็นการทำให้เห็นคนเพชรบูรณ์ได้รู้จักบ้านเมืองตัวเองมากขึ้นได้เจาะลึกลงไป ถึงอดีต ได้ซาบซึ้งสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ ความเป็นตัวตนของเรารากเหง้าของเราขึ้นมา

การเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นรากเหง้าตัวตนที่แท้จริงของเรานั้น นอกจากจากจะสร้างสำนึกให้เกิดความรักบ้านรักเมืองขึ้นมาแล้วยังเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาของหน่วยราชการหรือองค์กรปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ ในประเด็นที่ว่าการวางแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น จะต้องเป็นการพัฒนาต่อยอดจากรากเหง้าหรือตัวตนที่แท้จริงของเราถึงเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนส่วนผลพลอยได้ที่ติดตามมาอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องของ การท่องเที่ยวซึ่งขณะนี้ก็มีการขยายผลการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นและการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมต่างๆ นี้ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นมาอีกด้วย

ในอนาคต ผมก็มีความฝันที่อยากจะเห็นการบูรณะโบราณสถานในเมืองเพชรบูรณ์ให้สมบูรณ์นั่นคือ เจดีย์วัดมหาธาตุ เจดีย์วัดไตรภูมิเจดีย์วัดพระสิงห์และเจดีย์วัดพระแก้วผมฝันอยากจะสร้างพิพิธภัณฑ์ให้เพิ่มขึ้นอีก ๒ แห่งให้สำเร็จ นั่นคือ หอศิลปะ ก็ตั้งชื่อไว้ล่วงหน้าแล้วก็คือ หอศิลปะเพชรรัตน์สงคราม โดยใช้อาคารศาลยุติธรรมเก่าที่ขณะนี้ได้อยู่ในความดูแลของเทศบาลฯแล้วและสถานที่สุดท้ายที่ผมฝันอยากจะทำก็คือ พิพิธภัณฑ์การศึกษาของจังหวัดเพชรบูรณ์โดยจะใช้อาคารเรียนหลังเก่าที่อยู่ที่โรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นอาคารที่อายุร้อยปี ที่เดิมเป็นโรงเรียนเพชรวิทยาคมมาก่อนและขณะนี้ก็เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์

นอกจากในตัวเมืองเพชรบูรณ์แล้วผมก็ยังมีความฝันที่จะทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในที่อื่นๆของจังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย เช่นที่หล่มเก่า ก็อยากให้มีหมู่บ้านจำลองไทยหล่ม ที่หล่มสัก ก็อยากให้มีพิพิธภัณฑ์เมืองหล่มสักและพิพิธภัณฑ์ไทหล่มบ้านติ้วพร้อมกันนั้น ที่วิเชียรบุรี ก็อยากให้มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของวิเชียรบุรีอีกด้วยซึ่งหากทุกแห่งที่กล่าวมาแล้วนั้นได้มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้เกิดขึ้นของตนเอง ก็จะทำให้คนแต่ละพื้นที่ได้เกิดความรักบ้านรักเมืองของตนแต่ละแห่งเพิ่มขึ้นนั่นคือความฝันของผมนะครับ

หลังจากที่เลิกเล่นการเมืองและจากการสะสมประสบการณ์ทางการเมืองมามากกว่า๒๕ ปี ก็ได้มาพบจุดที่ตัวเองอยากทำเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน ก็คือเรื่องการพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งขณะนี้ก็ได้ขยายผลออกมาเป็นรูปธรรม ตามเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้เล่ามาแล้วทั้งหมดครับ

ถาม : ท่าน ดร.วิศัลย์ อยากเห็นเพชรบูรณ์เป็นยังไงหรืออยากจะฝากลูกหลานเป็นยังไงในอนาคต?

ตอบ : ในอนาคตเราต้องทราบซะก่อนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เราจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นนั่นก็คือประชาคมอาเซียน ซึ่งก็จะมีผลกระทบต่อเพชรบูรณ์เป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางสายหมายเลข ๑๒ พิษณุโลก-หล่มสัก และหล่มสัก-ชุมแพ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มีผลอย่างมากต่อเพชรบูรณ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและความมั่นคง เพราะฉะนั้น คนเพชรบูรณ์จะต้องตั้งหลักให้ดีในการรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

สำหรับเมืองเพชรบูรณ์แล้วผมได้เคยวางวิสัยทัศน์ไว้ให้เพชรบูรณ์เป็น “เมืองอยู่สบาย”มีนัยยะที่สำคัญคือ เป็นเมืองสำหรับคนอยู่ อยู่แล้วมีความสุขมีความสบาย เพราะว่าเมื่อประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นความวุ่นวายเรื่องเศรษฐกิจต่างๆ เรื่องการค้า เรื่องการลงทุน ศูนย์กระจายสินค้าโกดังสินค้า ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านทำยาง ปั้มน้ำมัน อู่ซ่อมรถ ที่พัก ฯลฯ จะเกิดขึ้นโดยไปอยู่ตามถนนสาย๑๒ เต็มไปหมด นั่นคือบริเวณหล่มสักนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น เมืองเพชรบูรณ์ก็ต้องเป็นเมืองสำหรับคนอยู่อาศัยและเดินทางไปทำงานที่หล่มสัก  ฉะนั้น เรื่องผังเมืองของเพชรบูรณ์เป็นเรื่องสำคัญที่สุดซึ่งจะต้องมีการวางแผนพัฒนาเมืองให้มีทิศทางไปตามแนวทางที่กำหนดไว้  เพชรบูรณ์จะไม่ใช่เป็นเมืองสำหรับคนมาขุดทองไม่ใช่เป็นเมืองพาณิชย์ ไม่ใช่เป็นเมืองอุตสาหกรรม แต่จะเป็นเมืองสำหรับคนอยู่ อยู่แล้วมีความสุขความสบายไม่มีปัญหาการจราจร ไม่มีปัญหามลพิษ ไม่มีปัญหาอาชญากรรม เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวามีกิจกรรมสาธารณะ มีพื้นที่สาธารณะและสวนสาธารณะให้ผู้คนได้มาใช้ร่วมกัน  และมีพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ให้คนเพชรบูรณ์ได้เรียนรู้และภาคภูมิใจนี่แหละครับ “เพชรบูรณ์ เมืองอยู่สบาย”ที่ผมอยากจะเห็นและอยากจะฝากลูกหลานในอนาคตไว้ให้ร่วมกันพัฒนาเมืองเพชรบูรณ์ให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวนี้ครับ

(สัมภาษณ์เมื่อ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ในหนังสือ ปราชญ์เพชรบูรณ์ .. เล่าขานภูมิปัญญาเพชรบูรณ์)

หนังสือ “ปราชญ์เพชรบูรณ์ .. เล่าขานภูมิปัญญาเมืองเพชรบูรณ์” เป็นหนังสือรวบรวมประวัติเรื่องราวและภูมิปัญญาของปราชญ์ท้องถิ่นในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ .. จัดทำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ … ขอรับได้ฟรีที่ อบจ.เพชรบูรณ์ หรือขอผ่าน ส.อบจ.ในอำเภอของท่าน

 

 

‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

คอลัมน์วันนี้ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด