เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 อำเภอวิเชียรบุรีจัดประเพณีอุ้มพระสรงน้ำ อำเภอวิเชียรบุรี ประจำปี2558 โดยมีนายสุเมธ ธีรนิตินายอำเภอวิเชียรบุรี เป็นประธานและเป็นผู้ซึ่งอุ้มพระพุทธรูปโบราณสมัยลานช้างปางมารวิชัย อายุประมาณ 700 ปี ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดวิเชียรบำรุง ลงสรงน้ำ บริเวณศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่วิเชียรบุรี ในงานครั้งนี้มีการกวนกระยาสารทโดยท่านนายอำเภอและแจกให้กับประชาชนผู้เข้าร่วมงานได้รับประทานกันอีกด้วย
ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ราวรุ่นปู่ของพระยาประเสริฐสงคราม (ใจ ณ วิเชียร) ซึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองวิเชียรบุรีเช่นกัน บ้านเมืองกำลังเกิดสงครามครั้งใหญ่ เมืองวิเชียรบุรีก็เกิดสภาวะแห้งแล้งชาวบ้านมีความอัตคัดขัดสนไปทั่ว โจรผู้ร้ายชุกชุม เจ้าเมืองจึงคิดอุบายขึ้นเพื่อปลอบขวัญประชาชน โดยริเริ่มกระทำพิธีอุ้มพระสรงน้ำ ในวันสิ้นเดือนสิบ ซึ่งตรงกับวันสารทไทย ใช้บริเวณวังกระโห้เป็นสถานที่จัดพิธี ถือว่าเป็นบริเวณวังน้ำที่ศักดิ์สิทธ์ เนื่องจากเจ้าเมืองเล็งคู่เมืองศรีเทพ ได้ใช้ทำพิธีเสี่ยงทายเกี่ยวกับบ้านเมืองเช่นกัน แล้วเจ้าเมืองจึงป่าวประกาศให้ราษฎรไปร่วมงาน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่เข้มแข็งและปลูกฝังความเชื่อความศรัทธาที่ดี โดยการนำพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาสรงน้ำบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ปีละครั้ง เพื่อเป็นศิริมงคลแก่บ้านเมืองทำให้ประชาชนได้รับอานิสงค์ผลดีมีความร่มเย็น ถ้าผู้ใดตักน้ำศักสิทธิ์ไปดื่มกินหรือปะพรมก็จะแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวงได้ หลังจากทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยเสร็จแล้วประชาชนพื้นเมืองวิเชียรบุรี พร้อมใจกันไป ณ บริเวณวังกระโห้ริมแม่น้ำป่าสัก (บ้านห้วยชัน ตำบลสระประดู่) เพื่อเข้าร่วมพิธีอุ้มพระสรงน้ำ เมื่อถึงฤกษ์พิธี ประชาชนในพิธีและผู้ร่วมงานจะลงเรือ โดยประธานซึ่งเป็นเจ้าเมือง จะอุ้มพระพุทธรูปโบราณสมัยลานช้างปางมารวิชัย อายุประมาณ 700 ปี ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดวิเชียรบำรุง พายเรือไป ณ จุดกึ่งกลางของวังกะโห้และลงน้ำในท่ายืนอุ้มพระเมื่อเจ้าหน้าที่ย่ำฆ้อง 3 ราฝ่ายสงฆ์จะเริ่มบทเจริญพระพุทธมนต์ชัยมงคลคาถา ประธานจะเริ่มพิธีสรงน้ำพระด้วยการย่อตัวนั่งลงให้องค์พระดำจมลงจนมิดเศียรอย่างช้าๆ จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งมีข้อกำหนดไว้ว่าหากต้องการให้ปีถัดไปเขตอำเภอมีน้ำฝนมาก ให้ดำในลักษณะหันพระพักตร์ของพระไปทางทิศเหนือ 2 ครั้ง แล้วหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ 1 ครั้ง หากมีฝนตกพอดีก็ให้หันไปทางทิศเหนือ 1 ครั้ง และหันทางทิศใต้ 2 ครั้ง แต่ถ้าหากหลงลืมกระทำเกิน 3 ครั้ง ปีถัดไปน้ำก็จะท่วมใหญ่ หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ผู้ร่วมงานก็ได้ชมการแข่งขันเรือสอยพื้นบ้าน (มี 2-3ฝีพาย) และแข่งขันกีฬาทางน้ำ ประกวดเรือผ้าป่า, ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง และมหรสพอื่นอย่างสนุกสนาน จนถึงเวลาพลบค่ำจึงเลิกรากัน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 – พ.ศ.2536 ได้หยุดจัดประเพณีอุ้มพระสรงน้ำ เนื่องจากทางราชการและประชาชนไม่เห็นความสำคัญ ได้มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นทุกปีไม่เว้น เพราะมีคนตกน้ำตายเป็นประจำ บางคนหว่านแหหาปลาอยู่ดี ๆ ก็จมน้ำตาย บางคนก็โดดน้ำฆ่าตัวตาย และรายสุดท้ายเล่นน้ำอยู่ดี ๆ ก็จมน้ำหายไป ปีละคน 2คน นางกิมหลี ซอนจำปา เห็นท่าไม่ดีเป็นแน่ จึงได้ปรึกษากับ นางอารีย์ พิชิตกวิน อดีตประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอ ว่าควรจะจัดประเพณีอุ้มพระสรงน้ำเหมือนกับ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้ปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปีหรือไม่ และแล้วก็ชวนกันจัดเครื่องสังเวยอาหาร หวานคาว ผลไม้ และบายสี ตามอัตภาพ จะมีกลุ่มแม่บ้าน , พระสงฆ์เต็มรำเรือ , นายอำเภอ, และศึกษาธิการอำเภอ ลงเรือประมาณ 2–3 รำเรือ และขบวนแห่เรือผ้าป่า พายไปทำพิธีอุ้มพระสรงน้ำที่วังกระโห้บ้านห้วยชัน ไม่เช่นนั้นลูกหลานชาวอำเภอวิเชียรบุรี จะต้องสังเวยชีวิตกันทุกปี จึงเป็นที่มาของการจัดประเพณีอุ้มพระสรงน้ำขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา และทำให้ไม่มีใครตายทางอีกเลย เมื่อจัดงานเสร็จตอนเย็นจะมีฝนตกกระหน่ำทุกปี น้ำท่า ข้าวปลาอาหารก็อุดมสมบูรณ์ดี
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook