LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2024
ข่าวเด่นเพชรบูรณ์

ลุยจัดระเบียบ‘ภูทับเบิก’ ผู้ว่าฯมาเอง-ชาวม้งยัน ส่วนใหญ่ปลูกกะหล่ำปลี

EyWwB5WU57MYnKOuXocwoJEV7f4xUQLtxuHj120F38ZKohCMDktwG4

ผวจ.เพชรบูรณ์ รุดไปประชุมกับชาวม้งที่ภูทับเบิก หลังพบปัญหาจากการก่อสร้างรีสอร์ตที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว กำหนดแนวทางจัดระเบียบก่อนบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ขณะหน.ชุดพยัคฆ์ไพร ชี้มี 10 รีสอร์ต ทำผิดชัดเจน…

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.58 ที่ศูนย์คริสตจักร หมู่14 บ้านภูทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผวจ.เพชรบูรณ์ พร้อมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมกับราษฏรชาวเขาเผ่าม้งที่อาศัยอยู่ที่ภูทับเบิก เกี่ยวกับประเด็นการปลูกสร้างรีสอร์ต การจัดเก็บขยะ รวมถึงราคาสินค้าของฝากของที่ระลึกและที่พักที่มีราคาแพง

หน่วยราชการ ร่วมประชุมกับราษฏรชาวเขาเผ่าม้งที่อาศัยอยู่ที่ภูทับเบิก

ทั้งนี้ ชาวม้งที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านทับเบิก ชี้แจงว่า ชาวม้งได้อาศัยอยู่ที่นี่นานนับร้อยปี ไม่ได้บุกรุกแผ้วถางป่าตามที่เป็นข่าว ทั้งยังมีการปกป้องดูแลต้นไม้เป็นอย่างดี พร้อมกับแจ้งว่า มีประชากรกว่าสามพันคนเจ็ดร้อยครัวเรือน แต่ที่ทำรีสอร์ตเพียงแค่ห้าสิบครัวเรือน ส่วนใหญ่ยังคงทำการเกษตร ปลูกกะหล่ำปลีอยู่จำนวนมาก

หลังการประชุม นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผวจ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ภูทับเบิกมีการก่อสร้างขยายตัวอย่างรวดเร็วมากและตลอดเวลา แต่ไม่ได้เป็นการบุกรุกป่าสงวนฯเพราะเป็นการก่อสร้างในแปลงเกษตรเก่าของพี่น้องชาวทับเบิก ภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนาชาวเขา

ส่วนการแก้ปัญหาต่างๆบนภูทับเบิกนั้น ได้กำหนดแนวทาง ดังนี้ คือ 1. กรณีเรื่องการก่อสร้าง จะต้องมีหนังสือรับรองจากศูนย์พัฒนาชาวเขาว่า ผู้ขออนุญาต

ร่วมหารือ ประเด็นปัญหาการปลูกสร้างรีสอร์ต การจัดเก็บขยะและของที่ระลึกราคาแพง

ต้องเป็นชาวเขาและเป็นเจ้าของพื้นที่จริงๆถึงจะสามารถก่อสร้างได้ และเมื่อได้รับหนังสือรับรองแล้วจะต้องนำหนังสือแบบแปลนการก่อสร้างไปให้กองช่างของ อบต.ในพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงให้ได้ตามมาตรฐาน ก่อนมีการบังคับใช้กฏหมายผังเมืองต่อไป

เรื่องที่ 2. เกี่ยวกับกำจัดขยะ พบว่ามีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการขนย้าย เพราะบ่อพักขยะอยู่ห่างถึง 25 กิโลเมตรและลาดชัน ทำให้มีการจัดเก็บขยะเพียงสัปดาห์ละ 2 วัน จึงแจ้งให้อบต.เพิ่มจำนวนวันในการเก็บขนย้ายให้มากขึ้นกว่าเดิม และขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการช่วยจัดเก็บขยะเพิ่มอีกแรง รวมถึงนักท่องเที่ยวให้ช่วยกันเก็บขยะติดลงไปทิ้งข้างล่าง โดยจังหวัดจะจัดจุดบริการแจกถุงดำให้

เรื่องที่ 3. เรื่องราคาที่พักและราคาอาหารที่ถูกตำหนิจากนักท่องเที่ยวว่า ราคาสูงเกินความเป็นจริง เช่นกะหล่ำผัดน้ำปลาที่ขายกันจานละเป็นร้อยบาทนั้น ได้ประชุมขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการว่า ขอให้คำนึงผลระยะยาวที่อาจกระทบ จากการที่นักท่องเที่ยวไม่ยอมรับและไม่มาใช้บริการในครั้งต่อไป โดยขอให้ติดป้ายราคาที่ชัดเจนและปรับลดราคาให้เหมาะสมกับต้นทุนวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร

เรืื่องที่ 4. เกี่ยวกับการติดป้ายโฆษณาที่พักและของที่ระลึกตามข้างทาง ได้ประสานให้อบต.เข้ามาจัดระเบียบให้เกิดความสวยงาม และเรื่องสุดท้ายเรื่องความปลอดภัย ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดูแลเป็นพิเศษช่วงเทศกาลท่องเที่ยวในฤดูหนาว

ผวจ.เพชรบูรณ์ กล่าวอีกว่า พื้นที่ตรงนี้ชาวม้งอาศัยอยู่มาเป็นร้อยปีมาแล้ว ไม่ได้มีการบุกรุก กระทั่งต่อมามีภาครัฐเข้ามากำกับดูแลและให้สิทธิในการทำกินในพื้นที่ และพบว่าช่วงเปลี่ยนถ่ายการดูแล จากเดิมที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาเป็นผู้ดูแล เปลี่ยนเป็นกรมพัฒนาและสวัสดิการเข้ามาแทน ทำให้ขาดการดูแลที่ต่อเนื่อง

“ปัจจุบันมีรีสอร์ตจำนวน 62แห่ง มีการก่อสร้างมั่นคงแข็งแรงแตกต่างกันไป จึงจำเป็นจะต้องสำรวจรายชื่อ ทำพิกัดพื้นที่ขึ้นบัญชีให้ชัดเจน ก่อนที่จะนำพรบ.ผังเมืองรวมมาบังคับใช้ช่วงปลายปีนี้ โดยประสานอธิบดีผังเมืองส่งวิศวกรร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ กำหนดผังเมืองเฉพาะของภูทับเบิก ให้สามารถบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และท้ายสุด คือประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ชาวบ้านในพื้นที่ จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบและพัฒนาภูทับเบิกให้มีความยั่งยืน” ผวจ.เพชรบูรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กรมป่าไม้เตรียมใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด เอาผิดกับ 10 รีสอร์ตในพื้นที่ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ที่ยังเปิดให้บริการ หลังศาลมีคำพิษากษาถึงที่สุดแล้ว ในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ปี 2484 และผิดเงื่อนไขจากที่ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 38 ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ประกอบไปด้วย ไร่เติมรัก, ริมธารรีสอร์ต, ช้างทอง, สมบุญรีสอร์ต, กาแฟแม่ล้ำ, เอนกาย@ทับเบิก, ยูงทอง, ทับภูเบิกวิลเลจ, ภูทองคำ และโรงเตี๊ยม

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่ายังมีรีสอร์ตเข้าข่ายกระทำผิด โดยมีการก่อสร้างรีสอร์ตใหม่ และต่อขยายเพิ่มอย่างไม่ถูกต้องอีก 14 ราย ซึ่งกำลังตรวจสอบอีกหลายราย ที่อาจกระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ต.ค. 58 อธิบดีกรมป่าไม้ และอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิกาฯ จะร่วมหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภูทับเบิก เพื่อแยกชาวเขาออกจากกลุ่มนายทุน และในสัปดาห์หน้าอธิบดีกรมป่าไม้จะลงพื้นที่ตรวจสอบเองด้วย’>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ข่าวเด่นเพชรบูรณ์ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด