LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2024
ข่าวเด่นเพชรบูรณ์

“ภูทับเบิก” กับสังคมปากว่าตาขยิบ

“ภูทับเบิก” กับสังคมปากว่าตาขยิบ
 
คอลัมน์ คลื่นคิดข่าว โดย ชุติมา นุ่นมัน aae_ok@yahoo.com
 
14462812181446281298l
เห็นปรากฏการณ์อันยุ่งเหยิง วุ่นวาย ที่บริเวณทางขึ้นลง “ภูทับเบิก” เมื่อช่วงวันหยุดยาว ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมา เชื่อว่าไม่มีใครในประเทศไทยพึงใจเป็นแน่กับสภาพรถติดยาวราวกับรถไฟ หรือลานจอดรถ ตั้งแต่ต้นทางขึ้นถึงปลายทาง ขยายยาวไปถึงลานกางเต็นท์ เรียกได้ว่าโผล่หน้าออกมาจากเต็นท์ก็เห็นรถติดเลย ยิ่งได้เห็นสภาพสารพัดสีสันของบรรดารีสอร์ตที่ผุดขึ้นอย่างเสรีและไร้ทิศทางกลางหุบเขาเช่นนี้ ช่างดูขัดหูขัดตา ผู้ฝักใฝ่ในธรรมชาติยิ่งนัก
 
มีการโจมตีจากทุกทิศทางว่าพื้นที่ภูทับเบิก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่หน่วยราชการไหน ใครรับผิดชอบ จึงปล่อยให้ภูดังกล่าวถูกปู้ยี่ปู้ยำขนาดนี้
 
ถามใครก็ไม่มีใครชอบ คุยกับใครก็ไม่มีใครปรารถนาจะให้ภูทับเบิก ซึ่งในอดีตเป็นภูเขาแสนสวยท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามตกอยู่ในสภาพอย่างที่เป็นอยู่ 
 
แต่น่าแปลกใจมาก เพราะเมื่อถึงวันหยุดยาว หรือแม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์ธรรมดาๆ กลับมีมวลมหาประชาชนหลั่งไหลขึ้นไปบนภูทับเบิกแบบอุ่นหนาฝาคั่ง ทำให้เกิดสภาพการจราจรติดขัดนับ 10 กิโลเมตร 
 
หลายคนถึงกับแอบเหน็บว่า นี่คือปรากฏการณ์ปากว่าตาขยิบของคนไทย 
 
พื้นที่ภูทับเบิกเป็นพื้นที่ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2509 กรมประชาสงเคราะห์แต่เดิม (ปัจจุบันคือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พม.) ได้ขอต่อกรมป่าไม้เพื่อใช้พื้นที่ 47,000 ไร่ สำหรับจัดสรรให้ชาวไทยภูเขาประมาณ 500 ครัวเรือน เข้าไปอยู่อาศัยและใช้พื้นที่สำหรับทำมาหากิน ซึ่งเดิมทีชาวไทยภูเขาที่ได้รับการจัดสรรที่ให้ก็จะปลูกกะหล่ำปลี ภูทับเบิกในอดีตจึงได้ขึ้นชื่อว่า ดินแดนดงกะหล่ำปลีสุดลูกหูลูกตา
 
ไร่กะหล่ำปลีบนภูสูงบวกกับอากาศเย็นตลอดทั้งปี รวมกับทิวทัศน์งดงามของทะเลหมอกและดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์ตก ภูทับเบิกจึงได้ขึ้นชื่อว่าดินแดนที่มีความสวยงามเป็นพื้นที่ในฝันที่หลายคนปรารถนาจะไปเยือนและสัมผัสกับบรรยากาศ ในยุคแรกๆ นักท่องเที่ยวจะขึ้นไปชมความงามช่วงเช้า และกลางวัน เย็นก็กลับลงมานอนด้านล่าง เมื่อการท่องเที่ยวบูมมากขึ้น เริ่มมีนายทุนหัวใสเข้าไปขอเช่า หรือซื้อที่ต่อจากชาวบ้านเพื่อสร้างรีสอร์ตรองรับนักท่องเที่ยว จาก 1 แห่ง เป็น 2 แห่ง เป็น 3 แห่ง เผลอแป๊บเดียวไร่กะหล่ำปลีที่เคยกว้างไกลสุดลูกหูลูกตากลายเป็นรีสอร์ตหลากสี ถูกสร้างอย่างไร้ทิศทางและไร้การควบคุม อ้างกันว่าเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ประกอบกับที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประกาศให้ภูทับเบิกเป็นเมืองต้องห้ามพลาด
 
จากการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ของกรมป่าไม้และ พม.พบสารพัดปัญหา 
 
สําคัญที่สุดคือใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์จากเดิมที่กรมประชาสงเคราะห์กำหนดเอาไว้ คือเป็นที่อยู่อาศัยและสำหรับทำการเกษตร โดยพบว่าจากเดิมที่เคยจัดสรรให้กับชาวไทยภูเขาทั้ง 500 ครัวเรือนที่เข้าไปอยู่ บัดนี้จาก 500 ครัวเรือนได้ขยายออกไปเป็น 4 พันกว่าครัวเรือนแล้ว มีรีสอร์ตรูปร่างต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวตึก เป็นห้องแถว เป็นกระท่อม รวมทั้งอาคารรูปร่างแปลกๆ (เช่น บ้านหุ่นไดโนเสาร์ ที่ต่อมาถูกทุบทิ้งเพราะดูแปลกแยก ไม่เข้ากับพื้นที่) ผุดขึ้นมามากมาย ทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกนับไม่ถ้วน ได้มาตรฐานบ้างไม่ได้บ้าง (ส่วนใหญ่ไม่ได้) 
 
หน่วยพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกันตรวจสอบ พบแต่เรื่องน่าปวดหัว นับตั้งแต่การซื้อขายและให้เช่าที่ดินกันแบบบอกปากเปล่า ไม่มีสัญญา ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น ได้ที่ดินมาครอบครองก็ลงมือสร้างรีสอร์ต หลายที่ก็สร้างกันอย่างลวกๆ เสาเข็มไม่ต้องตอก แต่ก่อร่างสร้างให้มีฝาผนังให้มีหลังคา แล้วทาสีสวยๆ พร้อมโฆษณาให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการ ที่น่าเป็นห่วงคือ พื้นที่ทางขึ้นลงบริเวณภูทับเบิกถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำก้อ น้ำชุน ซึ่งบ่อยครั้งมีเหตุการณ์ดินถล่ม ในบริเวณดังกล่าวก็มี
 
รีสอร์ตสร้างอยู่เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำเสียและการจัดการขยะ ที่กำจัดได้ไม่หมดและเหลือตกค้างจำนวนมาก 
เรื่องดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านสื่อเกือบทุกสื่อ แสดงให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น คนที่รับสื่อก็ดูเหมือนจะตอบรับและสนับสนุนการเข้าไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ หลายคนสนับสนุนให้รื้อรีสอร์ตทั้งหมดทิ้ง ให้เหลือแต่ภูเปล่าๆ กับไร่กะหล่ำปลีเสียด้วยซ้ำ 
 
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์กลับตรงกันข้ามกับกระแสสังคมที่เรียกร้องให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ภูทับเบิก เพราะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศแห่กันไปเที่ยวที่นั่นแบบมืดฟ้ามัวดิน ถึงขั้นรถติดหนัก น้ำไม่พอ ที่พักไม่พอ 
 
ปรากฏการณ์นี้แปลว่าเรากำลังสนับสนุนการกระทำที่ไม่ถูกต้องใช่หรือไม่
 
ยิ่งสับสนหนักเข้าไปอีก เมื่อ นางกอบกาญจน์ 
 
วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปตรวจพื้นที่ภูทับเบิกแล้วประกาศว่าจะทำให้ภูทับเบิกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ไม่ได้พูดถึงปัญหาที่หน่วยงานอื่นๆ พยายามที่จะหาทางแก้ไขกันอยู่เวลานี้ ขณะที่ทั้งกรมป่าไม้และ กอ.รมน.พยายามที่จะบอกว่าไม่ควรสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประกาศว่าปัญหาภูทับเบิกจะต้องแก้ให้เสร็จสรรพภายใน 2 เดือน 
 
พ.อ.พงเพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ และผู้เชี่ยวชาญฝ่ายแผนงานสิ่งแวดล้อม กอ.รมน. บอกว่า พื้นที่ภูทับเบิกเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม อากาศดี และเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ อดีตเคยเป็นที่ปลูกฝิ่น เมื่อก่อนคนก็ไปเที่ยวกัน แต่จะพักอยู่ด้านล่าง ขึ้นไปเที่ยวบนภู ตอนเย็นก็กลับลงมานอนด้านล่าง ซึ่งอันนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง แต่เวลานี้มีการขึ้นไปสร้างรีสอร์ตมากมาย อ้างว่านักท่องเที่ยวต้องการความสะดวกสบาย
 
“ในมุมมองของผม ตัวนักท่องเที่ยวเองต้องปรับทัศนคติสำหรับการท่องเที่ยวเสียใหม่ ไปเที่ยวสถานที่ประวัติศาสตร์อาจจะต้องยอมลำบากบ้าง ที่สำคัญคืออะไรที่ไม่ถูกต้อง ที่ผิดกฎหมายต้องไม่สนับสนุน ในขณะที่บ้านเมืองเรากำลังต้องการแก้ปัญหาทั้งเรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณะ นายทุนบุกรุกป่า แต่ในเวลาเดียวกันก็กลับมีข่าวว่านักท่องเที่ยวแห่กันไปเที่ยวในพื้นที่ที่เรากำลังจะเข้าไปแก้ปัญหา มันก็แปลกๆ เรื่องนี้เราจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย”
 
ถึงตอนนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ภูทับเบิกนั้น เราได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาหรือเปล่า
 
 
ที่มา : มติชนรายวัน 31 ต.ค. 2558

‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ข่าวเด่นเพชรบูรณ์ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด