รมว.พัฒนาสังคมฯ ร่วมกับ ผวจ.เพชรบูรณ์ลงพื้นที่ตรวจปัญหาการบุกรุกทับเบิก ตามแผนปฏิบัติการ 3-8-8 มี 3 หน่วยงานร่วมกัน แก้ปัญหาใน 8 ขั้นตอน ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน พร้อมเตรียมรับ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาช่วงวันหยุดยาว…
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 58 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยนายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผวจ.เพชรบูรณ์ นายอรรถพล เจริญชันษา ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่ากรมป่าไม้ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.เพชรบูรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามความคืบหน้า โครงการแก้ไขปัญหาภูทับเบิก 3-8-8 โดย รมว.ได้นำผ้าห่มจำนวน 1,000 ผืน ไปมอบให้ชาวม้งในพื้นที่ พร้อมมอบทุนการศึกษาให้นักเรียนจำนวน 50 ทุน และมอบทุนประกอบอาชีพ 2 กลุ่ม จากนั้น ได้ออกตรวจตามจุดต่างๆ ที่มีการก่อสร้างรีสอร์ตบนภูทับเบิก
สำหรับแผนปฏิบัติการ 3-8-8 ในการแก้ไขปัญหาภูทับเบิก ย่อมาจากตัวแรกคือ เลข 3 หมายถึง หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการเข้ามากำกับดูแลและแก้ไขปัญหาภูทับเบิกประกอบด้วย จังหวัดเพชรบูรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จนท.ลงพื้นที่ภูทับเบิก เพชรบูรณ์ เดินหน้าแผน 3-8-8
เลข 8 ตัวที่สองหมายถึง ขั้นตอนของการแก้ปัญหา 8 ข้อ ประกอบด้วย
1. ให้มีการเร่งรัดสำรวจรีสอร์ตทั้ง 62 แห่ง บนเนื้อที่ 1,000 ไร่ ว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่ แบ่งเป็นรีสอร์ตนายทุนกี่แห่ง หรือนายทุนแฝงกี่แห่ง และเป็นของชาวม้งกี่แห่ง
2. คัดกรองผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินภูทับเบิกว่า เป็นเจ้าของตัวจริงหรือไม่ สำรวจประชากรม้งโดยละเอียดว่ามีเท่าใด มีพื้นที่ทำกินเท่าใด
3. ออกแบบแผนผังการใช้ที่ดิน หรือการจัดโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมการท่องเที่ยว
4. สำรวจทำผังรวมทั้งหมดของที่ดิน 4.7 หมื่นไร่เศษ ให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 8 เดือน
5. ประกาศผังเมืองรวม และบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
6. รับผิดชอบดูแลคดีความ และรีบเร่งดำเนินการกับผู้ประกอบการรีสอร์ตที่ถูกดำเนินคดี และป้องกันมิให้ก่อสร้างใหม่ หากรีสอร์ตใดถูกศาลสั่งให้หยุดแล้วยังฝ่าฝืนก่อสร้างอีก ก็จะให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปควบคุมกำกับให้ปฏิบัติตามคำสั่ง และแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี
7. เร่งฟื้นฟูระบบนิเวศ ป้องกันการเกิดภัยพิบัติ ไม่ให้มีการก่อสร้างรีสอร์ตในพื้นที่ทางน้ำผ่าน สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดดินสไลด์
8. ดูแลการจัดการขยะ สุขอนามัย ระบบสาธารณูปโภค ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ เพราะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ
ส่วนเลข 8 ตัวสุดท้ายหมายถึง กรอบระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาโครงการเร่งด่วน
ทั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ ได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหา คือ จะต้อง 1. ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 2. สำรวจผู้ครอบครองที่แท้จริง 3. ทำโซนนิ่งพื้นที่ให้ชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มพื้นที่การเกษตร พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว 4. ให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลพื้นที่ภูทับเบิกและชาวเขา
5. ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้หลงเชื่อกลุ่มนายทุนที่เข้ามายุยงปลุกปั่นสร้างความสับสนเข้าใจผิด และจะได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานภาครัฐโดยไม่ต่อต้านในแบบต่างๆ 6. รักษาป่าต้นน้ำในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ และห้ามมิให้มีการบุกรุกโดยเด็ดขาด ซึ่งมีความมั่นใจว่ามาตรการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าภูทับเบิกนั้น จะสามารถทวงคืนพื้นที่คืนกลับจากผู้บุกรุกเก่าและผู้บุกรุกใหม่ได้อย่างแน่นอน
ด้านนายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผวจ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางมาเที่ยวพักผ่อนในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวต่างๆ ในช่วงฤดูท่องเที่ยวปีนี้ โดยได้เตรียมจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกดูแลการจราจรและความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการรีสอร์ตต่างๆ บนภูทับเบิกขนย้ายขยะลงมาทิ้งที่อำเภอหล่มเก่า และประชาสัมพันธ์แจกถุงดำให้กับนักท่องเที่ยว ช่วยนำขยะของตนเองมาทิ้งที่จุดที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาขยะล้น ทำป้ายเตือนโค้งอันตรายและเส้นทางลาดชันตลอดเส้นทางขึ้นภูทับเบิก.
ที่มา https://www.thairath.co.th/content/544661’>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook