เทศบาลตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
ประเพณีบุญบั้งไฟ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทยในภาคอีสาน ตามตำนานเล่าขานกันว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ ถือกำเนิดเป็นคางคกอาศัยอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดีในกาลนั้น พญาแถนผู้ยิ่งใหญ่ในมวลหมู่เทพโกรธเคืองมนุษย์ จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกถึง 7 เดือน สร้างความลำบากยากเข็นให้กับสรรพชีวิตมนุษย์ สัตว์ และ พืชพากันล้มตายจำนวนมากที่รอดตายก็พากันมาชุมนุมที่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่อยู่กับคางคก หารือถึงวิธีการแก้อาถรรพณ์และวิธีการปราบปรามพญาแถน ครั้งแรกให้พญานาคยกกองทับไปทำสงครามแต่ก็พ่ายแพ้กลับมา ครั้งที่สองให้พญานาคต่อแตนยกทัพไปทำสงคราม แต่ก็สู้ไม่ได้ จนกระทั้งพญาคางคกอาสาไปเอง วางแผนให้ปลวกสร้างจอมปลวกเป็นถนนไปถึงเมืองพญาแถนให้มดเจาะด้ามอาวุธให้แมงป่อง ตะขาบซ่อนอยู่ตามกองเสื้อผ้ากัดไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด และ กองทัพระส่ำระส่ายจนสามารถจับตัวพญาแถนได้ พญาแถนต่อรองได้ขอให้ปล่อยตัวโดยมีข้อต่อรองว่า หากเป็นสัญญาณจะให้สั่งให้เป็นฝนตกลงในโลกมนุษย์ (สัญญาณคือการจุดบั้งไฟ) และหากได้ยินเสียงกบ เขียดร้องให้รับรู้ว่าฝนตกลงมาแล้ว นอกจากนี้ถ้าได้ยินเสียงธนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือ เสียงของโหวด จึงสั่งให้ฝนหยุดตก ซึ่งยึดถือเป็นสัญญาเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
ตำนานเก่าแก่ที่เล่าขานถึงประเพณีบุญบั้งไฟ ว่า เป็นเรื่องของความรักอมตะในวรรณกรรมพื้นบ้านเป็นเรื่องราวของท้าวผาแดง-นางไอ่ เมื่อครั้งพญาแถนครองเมืองหนองหาร มีพระธิดารูปโฉมงดงาม ยามถึงเวลามีคู่ครองได้ประกาศไปยังเจ้าเมืองต่าง ๆ ให้มาแข่งจุดบั้งไฟเลือกคู่ เมื่อท้าวภังคีแห่งเมืองภังคีทราบ สั่งให้โอรสแปลงร่างเป็นมนุษย์นำบั้งไฟมาจุดแข่งขันด้วย แต่แพ้ท้าวผาแดงนางไอ่ จึงเข้าพิธีอภิเสกสมรสกับท้าวผาแดง ถึงกระนั้นเจ้าชายพญานาคยังหลงใหลความงามไม่เสื่อมคลาย จึงแปลงร่างเป็นกระรอกเผือกแอบดูนางไอ่บนต้นไม้ใหญ่ใกล้ตำหนักทุกวัน นางไอ่เห็นกระรอกก็นึกรักจึงบอกให้สวามีจับมาให้ ท้าวผาแดงสั่งให้นายพรานใช้ธนูยิงกระรอกหมายให้เพียงแค่บาดเจ็บ แต่นายพรานยิงลูกธนูพลาดไปถูกจุดสำคัญถึงตาย ความทราบถึงท้าวภังคีทรงพิโรธจึงยกไพร่พลบุกเมืองหนองหารจนราบคาบกลายเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่ ท้าวผาแดงพานางไอ่หนีแต่ไม่รอด นางไอ่บาดเจ็บ และ ถึงแก่ความตาย ทำให้ท้าวผาแดงเศร้าโศก จุดบั้งไฟระลึกถึงชายาทุกปีจวบจนสิ้นอายุขัย จนกลายเป็นประเพณีที่ชาวอีสานปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อย่างเข้าสู่เสาร์ และ อาทิตย์ที่ 3 ของเดือน 6 หรือ เดือนพฤษภาคมของทุกปี ชาวพุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสานต่างใจจดใจจ่อกับงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ ” ประเพณีบุญบั้งไฟ ” ซึ่งเป็นประเพณีที่ทางเทศบาลตำบลพุเตยได้จัดติดต่อกันเป็นประจำทุกปี จนก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 17 แล้ว จนกลายเป็นประเพณีที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวเทศบาลพุเตยและยิ่งไปกว่านั้นประเพณีบุญบั้งไฟพุเตยนับเป็นประเพณีบุญบั้งไฟที่ “ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ”
งานประเพณีบุญบั้งไฟของเทศบาลตำบลพุเตย เป็นภาพที่ยืนยันได้ถึงความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนแห่งความสามัคคีร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนชาวเทศบาลตำบลพุเตย ซึ่งก่อนที่จะมีการจัดงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่อลังการได้นั้นชาวบ้านทุกชุมชน ต่างทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจช่วยกันประดับประดา และ ตกแต่งริ้วขบวนรถบั้งไฟของแต่ละชุมชนอย่างสวยงาม พร้อมทั้งได้มีการซุ่มซ้อมนางรำทั้งรุ่นเล็ก และ รุ่นใหญ่ เพื่อเข้าร่วมการประกวดขบวนบั้งไฟ ขบวนแฟนซี และ วิถีไทยที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคนในชุมชนทำให้งานประเพณีบุญบั้งไฟกลายเป็นงานที่มีสีสัน และ สร้างความสนุกสนานอยู่ตลอดงาน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวเทศบาลตำบลพุเตยที่มีประเพณีท้องถิ่นที่ได้กลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีของคนในท้องถิ่น ซึ่งความสามัคคีนี้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืนต่อไป
นางจินตนา ทองใจสด นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ชาวชุมชนเขตเทศบาลตำบลพุเตย โดยส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสาน ตามหลักความเชื่อที่ว่าผู้ที่ทำให้ฝนตกลงมา คือ เทพผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีการคิดกุสโลบายด้วยการสร้างบั้งไฟ เพื่อจุดขึ้นฟ้าเป็นเสมือนสื่อกลางและทำหน้าที่แจ้งข่าวให้เบื้องบนทราบว่าถึงฤดูทำการเกษตรแล้ว และ ขอให้ท่านบันดาลฝนให้ตกลงมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของพี่น้องประชาชนชาวพุเตย ซึ่งนอกจากการสร้างขวัญและกำลังใจแล้วยังก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี และ ความร่วมมือร่วมใจที่เกิดขึ้นในชุมชน จึงก่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง
เทศบาลตำบลพุเตย จึงร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และ ชุมชนทั้ง 9 ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลพุเตย กำหนดจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2559 ขึ้น ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม นี้ ณ บริเวณสนามหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลพุเตย ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และ ในปี 2559 เข้าสู่ปีที่ 17 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย เสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพ ปลุกจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน และ ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของประเพณีท้องถิ่น อีกทั้งเพื่อบูชาพระยาแถน ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าพระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และ การส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบูรณ์ให้เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
นางจินตนา กล่าวต่ออีกว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้บรรจุงานประเพณีบุญบั้งไฟของเทศบาลตำบลพุเตย เข้าสู่ปฏิทินการท่องเที่ยวของจังหวัด ส่งผลให้งานประเพณีบุญบั้งไฟพุเตยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น ” ประเพณีอีสานยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ” ซึ่งปีนี้มีขบวนรถบั้งไฟ (เอ้บั้งไฟ) ส่งเข้าร่วมการแข่งขันถึง 11 ขบวน อาทิ จาก 9 ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลพุเตย อบต.สระประดู่ และ อบต.ซับสมบูรณ์ เข้าร่วมชิงชัย
กำหนดการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟนั้นแบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกเริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น.เป็นต้นไป ชมการประกวดขบวนบั้งไฟที่แต่ละชุมชนในเขตเทศบาลตำบลพุเตย และ ท้องถิ่นใกล้เคียงที่ตกแต่งริ้วขบวนไว้อย่างสวยงาม พร้อมทั้งขบวนนางรำที่มีท่ารำอ่อนช้อยสวยงาม โดยทุกขบวนจะเคลื่อนมารวมตัวกันที่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อพุเตย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มแรกของงาน เวลา 12.00 น. คณะนางรำของแต่ละชุมชนก็จะมาร่ายรำถวายเจ้าพ่อพุเตย เวลา 16.00 น. ขบวนรถบั้งไฟ (เอ้บั้งไฟ) ริ้วขบวนรำ (เซิ้ง) ขบวนแฟนซี และ ขบวนการละเล่นพื้นบ้าน(วิถีไทย) จะเคลื่อนขบวนจากจุดแรกไปตามถนนสายหลักของเทศบาลตำบลพุเตย ไปยังบริเวณสถานที่จัดงานด้านหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลพุเตย
โดยวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 เวลา 17.00 น. จะทำพิธีเปิดงานอย่างเป็นทาง เวลา 20.00 น. ประกาศผลการประกวด และ มอบถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และ เงินรางวัล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ฉลองบั้งไฟประเพณี ในวันที่สอง ตั้งแต่เวลา 09.00 น. มีพิธีเปิดการแข่งขันจุดบั้งไฟในงานประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2559 พร้อมชมการแข่งขันจุดบั้งไฟสูงและแข่งขันจุดบั้งไฟแสน ชิงรางวัลเงินสด พร้อมถ้วยรางวัล ส่วนไฮไลท์ของงานประเพณีบุญบั้งไฟพุเตย ที่นักท่องเที่ยวต่างเฝ้าตารอคอยนั่น คือ โชว์การจุดบั้งไฟแสน เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้เข้าร่วมงานได้ชมอย่างตื่นตาตื่นใจ
ดังนั้น จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาเที่ยวชมงานประเพณีบุญบั้งไฟชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ตามวันและเวลาดังกล่าวโดยทั่วกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานเทศบาลตำบลพุเตย โทร.0-5679-7650 , 0-5679-7678.
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook