ศรีเทพคืออะไร? เป็นส่วนไหนของประวัติศาสตร์ไทย? อยุธยาใช่ไหม? ใช่สุโขทัยหรือเปล่า? สมัยทวารวดีเหรอ.. คืออะไรกัน? มันอยู่ตรงไหนของประเทศไทย?
ที่นี่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่ชวนพิศวงที่สุด แม้ไม่ใช่เมืองโบราณที่สวยที่สุด แต่เร้าจินตนาการที่สุดในเมืองไทย
เมื่อมาถึงศรีเทพ สิ่งแรกที่จะได้เห็นคืออุทยานประวัติศาสตร์ที่ต้นไม้เยอะชะมัด กับปรางค์ทรงตะคุ่มๆ ที่ไม่ใหญ่โตเท่าไหร่นัก มีภูเขากองอิฐขนาดมหึมา และกองอิฐน้อยๆ ประปรายทั่วไป
มันคงเป็นภาพที่คล้ายกันกับที่ผู้ค้นพบคนแรกได้เห็นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นเพชรบูรณ์เป็นเมืองป่าที่ไม่มีข้าราชการคนไหนอยากมา ถ้าจำเป็นต้องมาก็ให้พกหม้อดินมาเผื่อไว้ใส่กระดูกตัวเองกลับบ้านได้เลย เพราะเมืองนี้ขึ้นชื่อนักเรื่องไข้ป่าชุกชุม
แต่เจ้านายองค์หนึ่งซึ่งผู้สนใจประวัติศาสตร์ต้องรู้จักดี คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านเป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 5 รั้งตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทย ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมเมืองเพชรบูรณ์ตามบัญชาของพระเชษฐา เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ข้าราชการท่านอื่น ว่าถ้าท่านมาได้(และรอดกลับไปได้) ใครๆ ก็ย่อมมาได้
ด้วยจิตวิญญาณของบิดาแห่งนักประวัติศาสตร์ ขณะเดินทางกลับ ท่านได้แวะตามหานครโบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกเอ่ยชื่อในสมุดปกดำสมัยรัชกาลที่ 3
แต่ไม่มีใครรู้จักเมืองที่ชื่อ “ศรีเทพ” ว่าอยู่ตรงไหน เพราะนครโบราณนี้สาบสูญไปหลายร้อยปี ตั้งแต่ก่อนมีกรุงสุโขทัยเสียอีก ทราบเพียงว่าเป็นเมืองสมัยทวารวดีที่ใหญ่ไม่แพ้นครรัฐใดๆ ในสมัยนั้น และในการสำรวจครั้งนั้นก็ได้ค้นพบซากเมืองเก่าในป่าใหญ่ ที่พอจะนำไปปะติดปะต่อเรื่องราวจนเป็นที่มาของข้อสันนิษฐานที่ค่อนข้างแน่ชัดถึงการค้นพบเมืองศรีเทพ นครโบราณแห่งทวารวดีที่สาบสูญ
เมื่อมาถึงศรีเทพ สิ่งแรกที่จะได้เห็นคืออุทยานประวัติศาสตร์ที่ต้นไม้เยอะชะมัด กับปรางค์ทรงตะคุ่มๆ ที่ไม่ใหญ่โตเท่าไหร่นัก มีภูเขากองอิฐขนาดมหึมา และกองอิฐน้อยๆ ประปรายทั่วไป
มันเป็นความบังเอิญเกินไปหรือเปล่า เพราะทุกครั้งที่ผมมาถึงศรีเทพ จะเป็นวันที่อากาศขมุกขมัว ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ช่างแลดูคลุมเครือเหมือนเรื่องราวของนครรัฐโบราณแห่งนี้ นครรัฐที่เก่าจนอยุธยากลายเป็นเมืองใหม่ไปเลย นครรัฐที่ยังท้าทายการค้นหา การค้นพบ การตีความ และการตีความใหม่อยู่เสมอ
ผมจำได้ถึงครั้งแรกที่มาสำรวจเมืองศรีเทพเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง กับการเดินเที่ยวเล่นไปท่ามกลางซากอิฐซากปูนกับนักโบราณคดีท่านหนึ่ง ซึ่งต้องขอเอ่ยนามคือ คุณสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ที่เล่าเรื่องราวสารพัดจนทำให้หัวใจผมเต้นแรงกับซากอิฐซากปูนพวกนี้ได้เป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเรื่องราวทางประวัติศาสต์และโบราณคดีอย่างสิ้นเชิง
เวลาผ่านไปสิบกว่าปี การเดินทางครั้งหลังสุดนี้ ผมมากับคณะทำงาน ททท. และเพิ่งได้ทราบว่า พี่เด่น จารุเชษฐ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว ที่ผมได้มีโอกาสร่วมงานกันมาหลายปีนั้น ท่านเคยเป็นนักโบราณคดีที่ทำงานขลุกอยู่กับลวดลายหลายร้อยพันปีบนซากอิฐซากปูนเหล่านี้ที่ศรีเทพ ซึ่งนั่นก็ทำให้การเดินทางครั้งนี้มีความหมายขึ้นอีกครั้ง
เทรนด์สุดท้าย ก่อนเลือนหายไปตลอดกาล
ศิลปะเป็นเพียงความนิยมชมชอบ มันอาจเชื่อมโยงกับอิทธิพลทางสังคม ศาสนา แต่มิได้หมายถึงการขึ้นตรงต่อเจ้าของศิลปะเสมอไป
รถของอุทยานฯ พาเราแล่นผ่านดงไม้ มาหยุดอยู่ใกล้ๆ สิ่งก่อสร้างทรงตะคุ่ม นี่คือโบราณสถานของเมืองศรีเทพที่พอจะคุ้นตาคนทั่วไปมากที่สุด ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง สองปรางค์ทรงเขมรโบราณที่แทรกตัวอยู่กลางหมู่ไม้ใหญ่ นี่คือส่ิงก่อสร้างฝีมือชาวศรีเทพรุ่นหลังสุด ก่อนที่เมืองนี้จะสาบสูญไปกับกาลเวลาตั้งแต่สมัยก่อนจะมีกรุงสุโขทัยเสียอีก
ปราสาทรูปทรงปรางค์ แลละม้ายกับโบราณสถานที่เราพบบ่อยครั้ง แม้กระทั่งศาลพระภูมิข้างบ้านของเราก็ยังมีที่ทำเป็นทรงปรางค์ รูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรมเช่นนี้คงอยู่กับสังคมของเรามานานปีดีดัก ถ้าย้อนไปในสมัย 700-1,000 ปีที่แล้ว ความนิยมในการสร้างปรางค์แบบขอมนี้คงเป็นเทรนด์หลักที่นิยมใช้กันไปทั่ว ตั้งแต่นครเขมร ผ่านที่ราบสูงภาคอีสาน มาถึงที่ราบลุ่มภาคกลาง และบางทีก็เลยไปถึงแดนตะวันตก
เชื่อว่าสมัยนั้นยังไม่ได้มีรูปแบบการปกครองแบบรวมศูนย์กลางอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แม้สมัยนั้นจะมีนครเขมรที่เรืองอำนาจและยิ่งใหญ่ แต่ก็มิได้หมายความว่าเมืองใดที่สร้างปรางค์ปราสาทเอาอย่างขอมนั้นจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไปด้วย
แล้วอะไรทำให้ชุมชนเมืองนับร้อยๆ แห่งทั่วภูมิภาคสร้างปราสาททรงเดียวกัน? สิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวความคิดและจิตวิญญาณของผู้คนในสมัยนั้นได้ก็คงเป็นศาสนา ศาสนาฮินดูที่นับถือเทพเจ้าเป็นจุดศูนย์กลางและจุดสูงสุด
อย่างเพิ่งคาดหวังความสวยสมบูรณ์แบบของปราสาทศรีเทพ แต่โปรดใช้จินตนาการร่วมกับการชมสิ่งที่เหลืออยู่ อย่างแปลนฐานพื้นอิฐทรงกากบาทนั่นคงเคยเป็นบันไดนาค ที่ปรากฏอยู่ตามเทวาลัยแทบทุกแห่ง เพราะเชื่อว่าพญานาคเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำซึ่งไหลมาจากที่สูงและไกล คงไกลพอๆ กับสวรรค์ บันไดนาคจึงเปรียบเสมือนทางเชื่อมโลกมนุษย์กับเทวาลัย = โลกของเทพเจ้า
อีกความน่าสนใจของบรรดาปราสาทในเมืองศรีเทพนี้ยังอยู่ที่การซ้อนทับกันของรูปแบบ ที่นี่มีหลักฐานที่ชัดเจนของการสร้างปราสาทตามความเชื่อของศาสนาฮินดู มีศิวะลึงค์ ฐานโยนี และที่สำคัญคือทับหลังรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ในขณะเดียวกันก็ค้นพบสิ่งของเหล่านี้บางชิ้นถูกนำไปทิ้งไว้ในบ่อน้ำ ศาสนสถานถูกสร้างทับแทนที่ด้วยสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน ซึ่งน่าจะเป็นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งทรงนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน
เรียกได้ว่า เมื่อผู้นำที่ยิ่งใหญ่เปลี่ยน โลกรอบตัวก็เปลี่ยนตาม
จินตนาการ กับข้อความที่ขาดหายไป
ปรางค์ปราสาทต่างๆ ที่เก่าคร่ำ แท้จริงแล้วกลับเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหม่ที่สุดในเมืองศรีเทพต่างหาก
เพราะเมืองนี้มีมาก่อนหน้าที่นครเขมรจะแผ่อำนาจทางความเชื่อมาถึงเสียอีก ก่อนหน้าที่จะสร้างปรางค์ศรีเทพ กับปรางค์สองพี่น้อง กลางเมืองศรีเทพจึงมีศูนย์กลางทางจิตใจ ซึ่งบัดนี้เหลือไว้เพียงกองอิฐที่ใหญ่โตดั่งภูเขา
ความสนุกอย่างหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์โบราณคดี คือการใช้ความรู้คู่จินตนาการ
แต่ไหนแต่ไรมา ชาวบ้านในแถบนี้เรียกโบราณสถานกลางเมืองแห่งนี้ว่า เขาคลังใน คงเพราะรูปทรงที่ไม่คล้ายสถูป เจดีย์ หรือปราสาทที่เคยพบเห็น แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่โต และบวกกับจินตนาการว่า คงสร้างขึ้นเพื่อเป็นคลังเก็บทรัพย์สมบัติ จึงเรียกว่าเขาคลังใน
นักท่องเที่ยวอย่างเราก็คงเชื่อเช่นนั้น ถ้าไม่เดินเข้าไปพินิจภูเขาเก็บสมบัติลูกนั้นใกล้ๆ และได้เห็นลวดลายปูนปั้นรูปคนแคระกำลังแบกฐานภูเขาลูกนั้นเอาไว้
เอาความคุ้นเคยจากการได้เห็นโบราณสถานมามากมาย คงเดาได้ว่า สิ่งที่คนแคระกำลังแบกเอาไว้นั้น คงเป็นสิ่งที่สูงค่าทางจิตใจมากกว่าทรัพย์สินมีค่า
นักโบราณคดีอธิบายว่า กองอิฐขนาดมหึมา อายุกว่า 1,200 ปีนี้ไม่ใช่ภูเขา ไม่ได้เอาไว้เป็นสมบัติ แต่เป็นส่วนฐานของเจดีย์สมัยทวารวดี สมัยที่ขอมยังแผ่อำนาจมาไม่ถึง แต่ชุมชนเมืองในภูมิภาคนี้ได้รับเอาศาสนาพุทธแบบเถรวาทมาจากอินเดีย ธรรมจักรศิลาขนาดใหญ่อันเป็นสัญลักษณ์ของการปฐมเทศนา ที่ถูกค้นพบอยู่ใกล้ๆ ยิ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ดี
ที่นี่คือโบราณสถานยุคทวารวดีที่สมบูรณ์แบบที่สุด ผมยังจำได้ถึงความรู้สึกแรกที่ได้เห็นลายปูนปั้นคนแคระอายุพันกว่าปีเหล่านี้ เนื่องจากไม่เคยได้เห็นรูปแบบศิลปะที่เก่าแก่และเหลือให้เห็นน้อยเต็มที แม้นี่จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวของส่วนที่เคยมี แต่ก็เพียงพอที่จะเร้าให้เรามองเห็นสิ่งที่ขาดหายไป รวมถึงองค์เจดีย์ที่ไม่เหลือให้เห็นแล้ว
เมื่อมีเขาคลังใน และเขาคลังนอกล่ะอยู่ไหน? ผมเคยสงสัยเมื่อครั้งมาเยือนเมืองศรีเทพเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว
ถ้าเรามองเมืองศรีเทพจากฟ้า จะเห็นกำแพงดินและคูน้ำล้อมเมืองไว้เป็นรูปวงกลมสองชั้น เขาคลังในอยู่ในวงกลมชั้นใน ตรงจุดที่เป็นศูนย์กลางแทบจะพอดี แต่อาณาเขตของเมืองศรีเทพที่แท้จริงนั้นกว้างกว่าแนวกำแพงวงกลมสองชั้นของเมือง เพราะนอกแนวกำแพงเมืองไปทางเหนือ ยังมีเขาคลังนอก
เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ผมใช้เวลาเดินเที่ยวเมืองศรีเทพทั้งวัน แต่แวะไปดูเขาคลังนอกแค่ 5 นาที เพราะสภาพที่เห็นในเวลานั้นก็ไม่ต่างจากภูเขาดินที่มีต้นไม้ปกคลุมไปทั่ว แม้จะมองออกว่านี่คือร่องรอยทางอารยะธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็หาใช่ประโยชน์ที่นักท่องเที่ยวคนหนึ่งจะพยายามขุดคุ้ยหาสิ่งที่คลุมเครือเช่นนี้
แต่ใครจะเชื่อว่าพลังขุดค้นของนักโบราณคดีจะพลิกฟื้นสิ่งที่เคยจมอยู่ในกองภูเขาดิน และเผยสิ่งที่ถูกเก็บงำมานานนับพันปีให้เห็น
การขุดค้นเขาคลังนอกเพิ่งเสร็จสิ้นไปไม่นาน ภาพที่เห็นคือ ส่วนฐานของมหาสถูปอายุพันกว่าปีที่ไม่เคยพบที่ใดในเมืองไทย ลวดลายยกเก็จเพิ่มมุมและซุ้มบัญชรอันวิจิตร ทำให้นึกไปถึงมหาเจดีย์รุ่นราวคราวเดียวกันในอินเดีย ร่วมสมัยและร่วมรูปแบบกับมหาเจดีย์บุโรพุทโธ และถึงแม้ว่าองค์เจดีย์จะพังทลายไปมากแล้ว แต่ก็ยังเห็นได้ถึงเค้ารางของเจดีย์ทรงโดมกลมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย
คนศรีเทพมาจากไหน?
ทำไมจึงเป็นชุมชนที่แข็งแกร่งถึงขั้นที่สามารถสร้างมหาสถูปใหญ่โตเช่นนี้เมื่อพันกว่าปีที่แล้ว หรือเขาไม่เคยมาจากไหนเลย?
ประวัติศาสตร์อาจไม่ได้เชื่อมโยงกับการย้ายเมืองเสมอไป เราประจักษ์แล้วว่าคนไทยไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไต แต่พวกเราอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ไหนแต่ไร พวกเราอยู่อาศัยในทุกๆ ที่ ที่มีแม่น้ำ มีอาหาร ปลูกข้าวได้ หรือปลูกไม่ได้ก็ปลูกอย่างอื่นมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับบ้านเมืองอื่นๆ ได้แล้วไซร์ ที่นั่นก็คงมีผู้คนอยู่อาศัย ที่ไหนอยู่แล้วดีก็มีคนอยู่เยอะจนกลายเป็นเมือง ยิ่งเมืองไหนอยู่แล้วดี อุดมสมบูรณ์ เดินทางสะดวก ค้าขายมั่งคั่ง ที่นั่นคือเมืองใหญ่
ศรีเทพเป็นเมืองที่สูญสลายไปก่อนมีกรุงสุโขทัย ยุคสมัยนั้นเราเรียกว่าสมัยวัฒนธรรมลพบุรี บ้างเรียกว่าละโว้ นับถือฮินดู ตอนหลังเปลี่ยนเป็นมหายาน มีต้นแบบทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรเขมรโบราณ ย้อนหลังไปอีก คือยุคสมัยทวารวดีที่คนศรีเทพนับถือพุทธ และยุคสมัยก่อนหน้าที่เราเรียกว่าทวารวดี ที่ศรีเทพยังมีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว
โครงกระดูกหลายโครง ที่ค้นพบใต้พื้นดิน ในขอบเขตคูน้ำและคันดินของเมืองศรีเทพ บอกเราเช่นนั้น
เราเรียกสมัยที่ยังไม่มีหลักฐานจารึกว่าเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่คนสมัยนั้นไม่รู้หรอก ว่าเขาเป็นมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เขาแค่เลือกสถานที่ตรงนี้เพราะเชื่อว่าอยู่แล้วดี มีน้ำใช้ มีอาหารกิน และเมื่อตายลง ญาติสนิทมิตรสหายก็ฝังร่างเขาเอาไว้ใต้พื้นดิน แต่เมื่อมนุษย์ยุคนี้ไปพบเข้า และมองชั้นดินที่เป็นสีแตกต่างกันตามยุคสมัย ก็บอกได้ว่าพวกเขาได้ทอดร่างอยู่ตรงนี้ตั้งแต่ 1,500 – 2,000 ปีที่แล้ว เขาบอกได้เพียงแค่ว่า ภาชนะดินเผาที่ฝังอยู่ข้างๆ ยืนยันได้ว่าพวกเขามีชีวิตอยู่ในยุคที่มนุษย์รู้จักการเลี้ยงสัตว์ เพาะปลูก หุงหาอาหาร และเครื่องประดับสีสวยที่สวมติดร่างกายอยู่นั้น ก็บอกว่า บ้านเมืองของเขานั้นมีการติดต่อค้าขายไปยังแดนไกล จึงสามารถซื้อหาสิ่งของเหล่านี้มาสวมใส่ได้
น่าเสียดายที่เขาไม่ได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น แต่สิ่งที่เขาเหล่านั้นได้บอกกับเรานั้น เป็นข้อความสำคัญที่ปะติดปะต่อเรื่องราวของการมีอยู่ของเมืองนี้ ที่ย้อนความเป็นมาได้ถึง 2,000 ปี และแม้จะล่วงลับไปแล้ว แต่ก็เป็นหน้าประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของแผ่นดินของเรา ./
TIPS
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อยู่ใกล้ตัวอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง
อุทยานฯ มีรถนำเที่ยว และเจ้าหน้าที่นำชม ทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเที่ยวชมโบราณสถานที่นี่
ไม่ควรพลาดศูนย์ข้อมูล และนิทรรศการของอุทยานฯ เพราะนอกจากจะเป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้น เพิ่มความสนุกและความเข้าใจในการเที่ยวชม และที่นี่ยังมีวัตถุโบราณชิ้นสำคัญที่ขุดพบในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เทวรูปพระสุริยะเทพ ซึ่งมีอายุพันกว่าปี
ขอขอบคุณที่มาภาพบทความ http://www.beautifulsundae.com
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook