สุจิตต์ วงษ์เทศ : หมาศักดิ์สิทธิ์ สัตว์เลี้ยงใกล้ชิดคนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว พบซากคนกับหมาฝังร่วมกันในหลุม ที่เมืองศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์
หมาตัวผู้ เป็นสัญลักษณ์ของบรรพชนผู้ให้กำเนิดมนุษย์ คนดั้งเดิมแถบที่ราบสูงโคราชเมื่อหลายพันปีมาแล้วเคารพยกย่อง จึงเขียนรูปหมาศักดิ์สิทธิ์ตัวผู้ (เน้นเป็นพิเศษตรงอวัยวะเพศผู้) พร้อมบุคคลสำคัญของชุมชนไว้บนหน้าผา ศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์ของคนหลายกลุ่มใช้ทำพิธีเซ่นสังเวยร่วมกันในศาสนาผี แต่ชุมชนดั้งเดิมอีกหลายแห่งในยุคเดียวกัน ยกย่องหมาเป็นผู้วิเศษที่นำพันธุ์ข้าวจากฟ้าลงมาให้คนปลูกกินเป็นอาหารหลักสืบจนทุกวันนี้ หมาศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี ราว 2,500 ปีมาแล้ว ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร จากภาพเขียนสีที่หน้าผาบนเขาจันทน์งาม อ. สีคิ้ว จ. นครราชสีมา
หมาเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดคน แล้วได้รับยกย่องเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม เช่น เป็นผู้ให้กำเนิดคน, เป็นผู้นำพันธุ์ข้าวให้คนปลูกกิน, เป็นพาหนะนำขวัญคนตายไปสู่สถานศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ
ขณะเดียวกันคนกินหมาด้วย แต่ไม่กินเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน หากกินในพิธีกรรม
ส่วนหมาที่ฝังรวมกับศพคนที่เมืองศรีเทพ (อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์) ไม่ได้ถูกฆ่าให้คนกินก่อนตาย แต่ฆ่าให้ผีกิน (เรียก เซ่นผี) เพื่อเป็นพาหนะนำขวัญของคนตายที่ฝังดินอยู่นั้นไปรวมกับบรรพชนบนที่สิงสถิต ซึ่งไม่รู้ว่าที่ไหน? แต่เชื่อว่าบนฟ้า
ด้วยเหตุนี้จึงพบประเพณีฆ่าหมาเซ่นผีบรรพชน แล้วฝังรวมกับศพที่เพิ่งตาย และบริเวณที่ทำพิธีกรรมกับที่ฝังศพบนเพิงผาหลายแห่ง มีภาพเขียนสีเป็นรูปหมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญ เช่น อยู่ท่ามกลางผีบรรพชน, กำลังหันหัว (เหาะเหิน) ลงจากฟ้ามาดิน ฯลฯ
เหล่านี้เป็นพิธีกรรมเนื่องในความเชื่อของคนชาติพันธุ์ต่างๆ โดยไม่ได้มีใครนั่งๆ นอนๆ มโนขึ้นเอง (ตามที่นักโบราณคดีไทยมักมองคนอื่นในแง่ร้าย เพราะคิดต่างจากตน)
แต่มีข้อมูลและมีรายละเอียดอีกมาก ถ้าอยากรู้ให้ดูในบทความวิชาการเรื่อง บทบาทของ “หมา” ในตำนาน และพิธีกรรมของชาติพันธุ์ต่างๆในอุษาคเนย์ โดย ปฐม หงษ์สุวรรณ (อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) พิมพ์ใน วารสารอักษรศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [ปีที่ 35 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2549) หน้า 213-241]
พบโครงกระดูกสุนัข อายุ 2 พันปี-ฝังคู่คน
เชื่อถูกฆ่าอุทิศผู้ตาย ที่อุทยานเมืองศรีเทพ
พบโครงกระดูก “สุนัข” ฝังพร้อมศพมนุษย์ราว 2,000 ปีก่อนที่อุทยานฯ เมืองศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ นักโบราณคดีเชื่อถูกฆ่าอุทิศให้ผู้ตาย
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการพบโครงกระดูกสุนัขถูกฝังร่วมกับศพ โดยมีภาชนะดินเผาและเครื่องใช้อีกจำนวนหนึ่ง
(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 หน้า 1)
โบราณคดีสากล เป็นส่วนหนึ่งของมานุษยวิทยา
ในทางสากล เป็นที่รู้ในหมู่นักวิชาการระดับสูงของทั้งโลก ว่าวิชาโบราณคดีเป็นสาขาหนึ่งของมานุษยวิทยา
ดังนั้น หลักฐานที่นักโบราณคดีขุดพบเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ล้วนมีขึ้นด้วยความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งของยุคนั้นๆ ถ้าจะทำความเข้าใจต้องใช้แนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยาเป็นหลัก และมีอื่นๆ ประกอบ
แต่โบราณคดีในไทยจำนวนหนึ่ง (ซึ่งมีไม่น้อย) ที่ควบคุมอำนาจการอธิบายในกระทรวงวัฒนธรรม ล้วนมีวิธีคิดและวิธีทำสวนทางกับโบราณคดีทางสากล จนไปกันไม่ได้
ส่งผลให้คำอธิบายโบราณศิลปวัตถุสถานในไทย เต็มไปด้วยศัพท์เทคนิคของ “เทคนิเชียน” (คือผู้ขุดค้นทางโบราณคดี) โดยไม่มีวิถีชีวิตทางสังคมวัฒนธรรม และความเชื่อของคน, สัตว์, สิ่งของ
กรณีกระดูกหมาที่พบในหลุมฝังศพคน จึงไม่มีคำตอบมากไปกว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง โดยอ้างว่าไม่พบหลักฐานจะอธิบายมากกว่านั้น (ทั้งๆ มีพยานแวดล้อมอยู่เต็มไปหมด ถ้ารู้และเข้าใจมานุษยวิทยา)
ซึ่งขัดกับพฤติกรรมเคยทำมานานมาก ที่ไม่พบหลักฐานโบราณคดี แต่นักโบราณคดีอธิบายน้ำท่วมทุ่งว่าถิ่นกำเนิดของคนไทยอยู่เทือกเขาอัลไต, อาณาจักรน่านเจ้าเป็นของคนไทย, สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก, อยุธยามีขึ้นเมื่อสุโขทัยเสื่อมสลายแล้ว, นางนพมาศเป็นสนมพระร่วงประดิษฐ์กระทงใบตอง แล้วลอยกระทงในตระพังกลางเมือง (ทุกวันนี้ก็ยังไม่เลิก) ฯลฯ
ทางแก้ไข
แนวทางแก้ไขปรับปรุง เคยมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากแนะนำนานแล้วว่าต้องเปิดกว้างทางวิชาการโบราณคดีในไทยเข้าสู่ระบบสากล
แต่ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และผู้นำรัฐบาลไทย ล้วนอนุรักษนิยมสุดโต่ง พากันกลัวความเปลี่ยนแปลง เลยรักษาสภาวะเดิมของตนไว้ เพราะได้เปรียบสังคมอย่างสมบูรณ์พูนสุขแล้ว
มีผู้บอกว่าโบราณคดีในไทยเลยยากจะเยียวยา หาทางไปยังไม่พบ’>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook