LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันอังคารที่ 7 มกราคม 2025
ข่าวเด่นเพชรบูรณ์

คอลัมน์หมายเลข 7 : สนามกีฬา จังหวัดเพชรบูรณ์ 150 ล้านบาท ตอนที่ 1-3


คอลัมน์หมายเลข 7 : สนามกีฬา จังหวัดเพชรบูรณ์ 150 ล้านบาท ตอนที่ 3

ช่างควบคุมโครงการรับปากจะซ่อมแซมสนามกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว สตง.ตั้งข้อสังเกต โครงการนี้มีการเบิกจ่ายเงินไปเกือบครบแล้วขาดเพียง 105 บาท ขณะที่งานก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบ ต้องแก้ไขหลายรายการ ใครต้องรับผิดชอบกับการบริหารสัญญาแบบนี้

ผลจากการกีฬาแห่งประเทศไทยทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU เมื่อปี 2555 ให้กรมทางหลวงก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้งบประมาณผูกพันปี 2555-2558 รวม 150,888,400 บาท แต่งานก่อสร้างไม่มีคุณภาพอย่างที่เห็น และยังก่อสร้างล่าช้ากว่าที่กำหนดใน MOU ต้องแล้วเสร็จวันที่ 30 กันยายน 2558 ส่งผลให้ราชการเกิดความเสียหาย ไม่สามารถเรียกค่าปรับได้ เพราะไม่ได้จัดจ้างตามระเบียบของทางราชการ อีกทั้งประชาชนเสียโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากสนามกีฬาแห่งนี้

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตั้งข้อสังเกต งานก่อสร้างนี้ไม่ใช่ลักษณะดำเนินการเอง โดยศูนย์สร้างทางหล่มสักไปจ้างผู้รับเหมาอีกทอดหนึ่ง เจตนาหลบเลี่ยงการตรวจสอบของ สตง.

ส่วนสปริงเกลอร์พร้อมกุญแจวาล์ว 4 ชุด มีการจัดซื้อมาในราคาชุดละ 80,000 บาท รวมวัสดุและค่าแรงงาน 416,000 บาท สตง.ขยายผลสืบค้นราคาจำหน่ายจากอินเทอร์เน็ต พบสปริงเกลอร์รุ่น, คุณสมบัติ และรหัสสินค้าเดียวกันกับที่ศูนย์สร้างทางจัดซื้อมาราคาอยู่ที่ 13,000 บาท

สตง.ตรวจพบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 อนุมัติในหลักการให้ก่อสร้างสนามกีฬาระดับจังหวัด แต่การกีฬาแห่งประเทศไทยไม่ดำเนินการจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอน ใช้วิธีทำ MOU ให้กรมทางหลวง ซึ่งมอบหมายศูนย์สร้างทางหล่มสักก่อสร้าง แต่ไปจ้างเอกชนดำเนินการอีกทอดหนึ่ง

ยังมีสนามกีฬาอีก 7 แห่งที่การกีฬาแห่งประเทศไทยทำ MOU ไว้กับกรมทางหลวง สตง.และคอลัมน์หมายเลข 7 จะขยายผลตรวจสอบต่อไป

โครงการนี้น่าจะสะท้อนการบริหารงานว่า การทำ MOU ในลักษณะดำเนินการเอง แทนการประกวดราคาหาผู้รับจ้าง ส่งผลให้งานไม่มีคุณภาพ และยังเปิดช่องให้สามารถหลบเลี่ยงการตรวจสอบของ สตง.

คอลัมน์หมายเลข 7 : สนามกีฬา จังหวัดเพชรบูรณ์ 150 ล้านบาท ตอนที่ 2

อาคารอเนกประสงค์ 1,000 ที่นั่ง ก่อสร้างในปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 47.7 ล้านบาท ภายในประกอบด้วย แป้นบาสเกตบอล เสาแบดมินตันพร้อมตาข่าย เสาตะกร้อ เครื่องจับเวลา เครื่องขยายเสียง แต่จากการลงพื้นที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะ เมื่อวันที่ 18 มกราคม พบเพียงโครงเหล็กอัฒจรรย์ พับได้ มูลค่า 3.7 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้ประกอบ และเครื่องขยายเสียง

ส่วนงานหลังคาพ่นโฟมฉนวนกันความร้อน ตามสัญญาระบุความหนาไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว สตง.ตรวจพบความหนาเฉลี่ย 1 นิ้ว

ผอ.กกท.เพชรบูรณ์ ระบุ งานก่อสร้างพื้นอาคาร แม้จะใช้วัสดุตรงตามแบบ แต่การออกแบบนี้น่าจะมีปัญหา

เฉพาะงานก่อสร้างภายในอาคารอเนกประสงค์ สตง. ตรวจพบว่ามีการตั้งงบประมาณไว้สูงกว่าราคาที่จัดซื้อจริงกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีสนามกีฬา อีก 7 แห่ง ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ทำบันทึกข้อตกลงความ ร่วมมือ หรือ MOU (Memorandum of Understanding) ให้กรมทางหลวงก่อสร้าง ซึ่ง สตง.ตรวจพบหลักฐานว่ามีการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการอีกทอดหนึ่ง

โครงการนี้เลยกำหนดส่งมอบงานตามที่ระบุใน MOU 455 วัน ใครต้องรับผิดชอบ

คอลัมน์หมายเลข 7 : สนามกีฬา จังหวัดเพชรบูรณ์ 150 ล้านบาท ตอนที่ 1
สนามเทนนิส 6 คอร์ท พร้อมอาคารบริการ วงเงิน 12 ล้านบาท ศูนย์สร้างทางหล่มสัก กรมทางหลวง ก่อสร้างเมื่อปี 2555  ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 18 มกราคม โดยมีคอลัมน์หมายเลข 7 ร่วมขยายผล แม้จะมีการซ่อมแซมพื้นสนามเดิมที่ทรุดตัวแล้ว แต่ฟังจากเสียงสะท้อนของพื้นผิว งานซ่อมแซมนี้น่าจะยังมีปัญหา

ส่วนสนามเทนนิส 2 คอร์ท พบรอยแตกร้าวและมีคราบน้ำ บ่งบอกพื้นผิวไม่เสมอกัน ช่างควบคุมงาน ชี้แจงสามารถเกิดขึ้นได้กับผิวคอนกรีตขนาดใหญ่

ก่อนที่จะนำเครื่องมือเจาะพื้นผิวคอนกรีตว่ารอยร้าวลึกไปถึงคอนกรีตชั้นล่างหรือไม่ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคุณสมโภชน์ โตรักษา ได้ทดลองตีเทนนิส สนามเทนนิสที่ไม่ได้มาตรฐานยังส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในเกมการแข่งขัน

สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 10 สตง. ยังตรวจพบมีการนำไม้เนื้ออ่อนมาใช้ในการทำอัฒจันทร์ผู้ชม ทั้งที่จ่ายเงินค่าไม้เนื้อแข็งแล้วกว่า 1,000,000 บาท และมีขนาดเล็กกว่าที่กำหนดในสัญญา

โครงการสนามกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ การกีฬาแห่งประเทศไทย ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU (Memorandum of Understanding)  กับกรมทางหลวง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 2555 ให้ก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด จำนวน 8 แห่ง โดยศูนย์สร้างทางหล่มสัก รับผิดชอบสนามกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์

การทำ MOU นี้เองที่เปิดช่องให้มีการเบิกจ่ายเงินไปเกือบ 100% ขาดเพียง 105 บาท ทั้งที่งานยังไม่แล้วเสร็จ

ยังมีสิ่งปลูกสร้างและครุภัณฑ์อีกหลายรายการ เช่น ประตูอลูมิเนียม ได้รับงบประมาณต่อชุด 100,000 บาท จำนวน 4  บาน .

 

‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ข่าวเด่นเพชรบูรณ์ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด