17เมษายน 2518 กรุงพนมเปญแตกสลายพ่ายแพ้ต่อกองกำลังเขมรแดงของพอลพต ถัดมาไม่กี่วันตอนสายของ 30 เมษายน 2518 กรุงไซ่ง่อนล่มสลายพ่ายแพ้แก่กองทัพเวียดนามเหนืออันเกรียงไกร ส่วนการรบในลาว 2 ธันวาคม 2518 กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวเอาชนะกองกำลังของรัฐบาลได้อีกหนึ่งสนามรบ
ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีชัยในสงคราม 3 ประเทศข้างบ้านของเรา
หลังจากสงครามยาวนานราว 30 ปีเศษ เขมร-ลาว-ญวน เปลี่ยนการปกครองเป็นสังคมนิยมแบบเข้มตกขอบทั้งหมด กองทัพเวียดนามอันเกรียงไกรภายใต้การสนับสนุนของลูกพี่ใหญ่จีนและโซเวียต เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดควบคุมลาวและเขมร กองทัพเวียดนามเหนือที่ชนะสงครามทำให้โลกตะลึง เวียดนามวางกำลังทหารส่วนหนึ่งในลาวและเขมรประชิดชายแดนไทยทางตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ต้องเผชิญหน้าตามลำพังกับกองกำลังของเวียดนามที่แข็งแกร่ง พร้อมจะแสดงแสนยานุภาพและยังมีกองกำลังเขมรแดงจ่ออยู่ที่รั้วข้างบ้านอีกต่างหาก
ในประเทศไทยเอง มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เชื่อมโยงกับจีน พื้นที่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และรวมทั้งภาคใต้ก็มีการสู้รบแบบดุเดือด พลเรือน ตำรวจ ทหารเสียชีวิตปีละหลายร้อยนาย ผู้เขียนเป็นนักเรียนนายร้อยไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงที่วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน มีคำถามในใจเสมอว่า “อะไรคือสาเหตุของการรบ?”
รู้แต่เพียงว่า ตอนนั้นคนไทยจับอาวุธฆ่ากันเองและเราต้องสู้กับคอมมิวนิสต์
ที่กระหน่ำซ้ำเติมให้บ้านเมืองบอบช้ำลงไปอีก คือในปี พ.ศ.2519 มีเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ นักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่กำลังเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทิ้งการเรียน หนีเข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศ ในที่สุดนักศึกษาเหล่านั้นออกมาจากป่าเมื่อปี พ.ศ.2523 ส่วนใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ มีชื่อเสียงกันทุกคน
สาเหตุที่ต้องรบราฆ่าฟันกันจริงๆ เป็นคำถามที่อยู่ในใจมานาน
ในปี พ.ศ.2518 หลังจากคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายมีชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นับเป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมที่สุดสำหรับประเทศไทยที่จะต้องเลือกยุทธศาสตร์นำพาประเทศชาติให้รอดจากการยึดครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกบรรจุในหลักสูตรทางทหารทั้งหมดเรียน-ฝึกเพื่อไปขจัดคอมมิวนิสต์ เพราะเราทราบเพียงว่าคอมมิวนิสต์กำลังแย่งชิงเอาแผ่นดินไทยแล้วเราจะไม่มีแผ่นดินอยู่
ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลไทยตัดสินใจร่วมมือกับสหรัฐส่งทหารไปร่วมรบในเวียดนาม บางส่วนไปรบในประเทศที่ 3 เพื่อดับไฟกองมหึมาที่กำลังลุกไหม้ข้างบ้าน เรียกกันว่า ออกไปยับยั้งการรบนอกประเทศ ส่วนในประเทศเองก็ต้องรบกับคนไทยที่หันไปจับปืนเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)
กองทัพบกเร่งผลิตนายทหารสัญญาบัตรโดยตัดสินใจออกคำสั่งให้นักเรียนนายร้อย (บางส่วน) จบการศึกษาในชั้นปีที่ 3 แล้วเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ติดดาวเป็นว่าที่ร้อยตรีแล้วบรรจุลงหน่วยทั่วประเทศทันที รีบฝึกทำการรบ ฝึกทหารแล้วเข้าสู่สนามรบที่ร้อนระอุไปทุกหย่อมหญ้า
วิกฤตของบ้านเมืองในช่วงนั้น เป็นประวัติศาสตร์ของไทยที่กำลังจะเลือนหายไปกับกาลเวลา
โรงเรียนนายร้อย จปร. เปิดสอบคัดเลือกเพื่อผลิตนายทหารสัญญาบัตรหลักสูตร 1 ปี มีเด็กหนุ่มจบปริญญาตรีเข้ามาฝึกอย่างเข้มข้นรวบรัด (เรียกว่านักเรียนนายร้อยหลักสูตรพิเศษ) แล้วส่งเข้าสนามรบ กองทัพระดมใช้ทหารทุกหน่วยออกสนามเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์
ผู้เขียนเป็นนักเรียนนายร้อย ติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์เสมอ ต้องขอฟื้นความทรงจำให้ลูกหลานปัจจุบันทราบว่า ในช่วงนั้นเศรษฐี นักธุรกิจ ผู้มีอันจะกินของไทยเริ่มทยอยไปตั้งหลักนอกประเทศ เรียกง่ายๆ ว่าหนีออกนอกประเทศ ไปไม่น้อย ไปหาซื้อบ้าน ห้องพักในต่างประเทศเพื่อเตรียมอพยพ เพราะโลกตะวันตกตั้งทฤษฎีโดมิโน ยืนยันว่าประเทศที่จะต้องตกเป็นคอมมิวนิสต์ต่อไป คือ ไทยแลนด์
สมรภูมิรบโหดในประเทศที่ดุเดือดเลือดพล่าน 1 ในนั้นคือสมรภูมิเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ครับ
ภาพเก่า…เล่าตำนาน ขอนำเสนอประวัติศาสตร์เพื่อให้ลูกหลานไทยได้ศึกษาครับ
ย้อนไปในปี พ.ศ.2503 พื้นที่บริเวณภูเขารอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์-พิษณุโลก-เลย เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าต่างๆ ซึ่งส่วนมากเป็นเผ่าม้ง กระจายกันตั้งหลักแหล่งบริเวณเทือกเขาค้อ เขาปู่ เขาย่า ภูทับเบิก ภูหินร่องกล้า ภูขี้เถ้า และเทือกเขาอื่นๆ ชาวเขาตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มๆ มีหัวหน้าบ้านปกครองกันเอง เช่น บ้านเล่าลือ บ้านเล่านะ บ้านเซาเน้ง บ้านเล่ากี
เขาค้อมีลักษณะเป็นภูเขาสูงปกคลุมไปด้วยป่ารกทึบ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยปักหลักเลือกพื้นที่รอยต่อสามจังหวัดบริเวณนี้มีเนื้อที่ราว 50 ตารางกิโลเมตร สถาปนาเป็นอาณาเขตของตน
ในราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2511 พคท.แข็งแกร่งขึ้น ดำเนินการจัดตั้งกำลังทหารหลัก แบ่งออกเป็น 3 ชุด ชุดที่ 1 พื้นที่ภูหินร่องกล้า ภูขี้เถ้า ทับเบิก ชุดที่ 2 พื้นที่เขาค้อ และชุดที่ 3 พื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง พร้อมทั้งโฆษณาชวนเชื่อ และชี้นำให้ชาวไทยภูเขาเข้าร่วมอุดมการณ์
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 พคท.ประกาศ “วันเสียงปืนแตก” ในพื้นที่เขาค้อ โดยนำกำลังเข้าตีหมู่บ้านเล่าลือและเข้าตีฐานของอาสาสมัครชุดคุ้มครองหมู่บ้านห้วยทรายเหนือ สังหารเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ พร้อมทั้งยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ไปได้
พคท.ประสบความสำเร็จอีกขั้นโดยการ ปจว.กับชาวเขาในพื้นที่ว่าทหารจะกลับมาแก้แค้น ทำให้ชาวเขาเผ่าม้งและเผ่าอื่นๆ พากันอพยพไปเข้าร่วมงานกับ ผกค.กลุ่มงานเขาค้อ
ข้อมูลที่เปิดเผยต่อมาระบุว่า งานโฆษณาชวนเชื่อทำให้มีชาวเขาราว 3,000 คน เข้าร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองและจากนั้น พคท.จึงได้ สถาปนาอำนาจรัฐประชาชนขึ้นในเขตที่มั่นของตน เป็นแห่งแรกในประเทศไทย มีคณะกรรมการบริหารเรียกว่า คณะกรรมการรัฐ มีสภาผู้แทนประชาชนปฏิวัติ ประกอบด้วยสมาชิก 55 คน ที่ได้รับเลือกจากราษฎร และทหารในเขตที่มั่น มีศาลประชาชนซึ่งประกอบด้วย ศาล ผู้พิพากษา และคณะกรรมการการกฎหมาย พื้นที่ตรงนี้ไม่ขอขึ้นกับการปกครองของรัฐไทย
25 ธันวาคม 2511 กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งกองบัญชาการผสม 394 ที่สนามบิน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เริ่มปฏิบัติการทางทหารอย่างต่อเนื่อง
เปิดยุทธการกวาดล้างที่สำคัญรวม 12 ครั้ง เช่น ยุทธการภูขี้เถ้า ยุทธการรามสูร ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 1-3 ยุทธการผาเมืองเกรียงไกร ฯลฯ ปี พ.ศ.2514-2515 ได้เริ่มสร้างถนนแยกจากถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 100 บ้านแคมป์สนไปยังบ้านเล่าลือ
ท่ามกลางความร้อนระอุของการรบในพื้นที่เขาค้อ 11 มิถุนายน พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมค่ายสฤษดิ์เสนา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เพื่อทรงพระราชทานกำลังใจแก่ทหารของกองพันพิเศษและชุดปฏิบัติการ 312 โดยมี พันเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ พันโท มนัส คล้ายมณี (ผบ.ค่าย) และพันโท หาญ เพไทย นำกำลังพลรับเสด็จ ต่อมาในระหว่างที่ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ เรือนรับรอง พลโท สมศักดิ์ ปัญจมานนท์ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เข้าเฝ้าฯและกราบบังคมทูลเรื่องเครื่องบิน F-5A ตกขณะปฏิบัติการในพื้นที่เขาค้อก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะเสด็จมาถึงค่าย
ทั้งสองพระองค์ทรงใช้แผนที่ส่วนพระองค์และรับสั่งถามถึงสถานการณ์เพิ่มเติมในพื้นที่การรบด้วยความห่วงใยและทรงรับสั่งถึงเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสีย พันโท เจริญ ทองนิ่ม ผู้บังคับกองพันส่งทางอากาศเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2519 ที่ผ่านมาในการปะทะกับ ผกค.บนเขาค้อ
เบื้องหลังเหตุการณ์เครื่อง F-5A ตกในวันนั้น เนื่องจากหน่วยทหารภาคพื้นดิน ลาดตระเวนพบที่มั่นขนาดใหญ่ของ ผกค.ในพื้นที่ป่าลึกในเขาค้อ จึงร้องขอกำลังทางอากาศเข้าทำลาย โดยเรืออากาศเอก ชวลิต ขยันกิจและ เรืออากาศโท พงษ์ณรงค์ เกสรศุกร์ เป็นนักบินนำเครื่อง F-5A จำนวน 2 ลำเข้าทิ้งระเบิดต่อที่หมาย เครื่องของเรืออากาศโทพงษ์ณรงค์ ถูกยิงจากภาคพื้นดินแล้วหายไป หน่วยส่งเครื่องบินตรวจการณ์เข้าค้นหาเพื่อถ่ายภาพทางอากาศพบว่าอากาศยานตกไฟไหม้ คาดว่านักบินดีดตัวออกจากเครื่องได้ จึงระดมกำลังขนาดใหญ่เข้าค้นหาเพื่อช่วยชีวิตนักบินทหารอากาศจากทุกทิศทาง
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริกับนายทหารที่เข้าเฝ้าฯ เรื่องที่จะต้องปรับยุทธวิธีใหม่ในการทำงาน ทรงพระราชทานคำแนะนำการนำราษฎรเข้าไปตั้งรกรากทำมาหากินในพื้นที่เขาค้อให้มั่นคง สร้างความเจริญเข้าไปทั่วบริเวณ
ตรงนี้คือจุดเปลี่ยนของประเทศที่เรียกกันต่อมาว่า ยุทธศาสตร์พระราชทาน ที่ทำให้เขาค้อสงบร่มเย็นมาจนกระทั่งบัดนี้
ผู้เขียนเดินทางไปในพื้นที่เขาค้อ มีการนัดพบทานอาหารของผู้ร่วมรบทุกฝ่ายในสมรภูมิแห่งนี้ นักรบทั้งนั้น มีใครบ้างโปรดติดตามตอนต่อไปครับ
เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
ขอบคุณข้อมูลจาก พลเอก มนัส คล้ายมณี พลเอก ชัชวาล ขำเกษม และพลโท บรรยงค์ สิรสุนทร อดีตทหารกล้าเขาค้อ
ที่มา
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook