LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 9 มกราคม 2025
ข่าวเด่นเพชรบูรณ์

กรมป่าไม้ ยันให้ความเป็นธรรม ‘ม้งภูทับเบิก’ทุกราย ชี้ยังมีสถานะ พท.ป่า

กรมป่าไม้ยันให้ความเป็นธรรมและโปร่งใสกับ ‘ม้งภูทับเบิก’ ทุกราย หลังอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นหนังสือต่อ ผวจ.เพชรบูรณ์ ให้ชะลอคำสั่งให้เจ้าของรีสอร์ตออกจากพื้นที่ป่า

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงกรณีที่ นายยุพราช บัวอินทร์ อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำกลุ่มตัวแทนเจ้าของรีสอร์ตบนภูทับเบิกเตรียมเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อขอให้ชะลอการปฏิบัติตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 35/59 กรณีมาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก โดยระบุว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ที่ครอบครองทำประโยชน์มิใช่ป่าตามมาตรา 4 (1) พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 แต่เป็นที่ดินที่ครอบครองสืบสิทธิต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิม และขณะนี้ชาวบ้านเกิดความสับสนต่อนโยบาย 3-8-8 ที่ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง เหลือไว้แต่สิ่งปลูกสร้างที่มั่นคงแข็งแรง แต่ภายหลังกลับมาถูกมาตรา 44 ให้รื้อถอนทั้งหมดทั้งที่ยังไม่ได้ขึ้นศาล และยังไม่ทราบว่ามีความผิดเช่นไร แต่กลับถูกปิดประกาศไม่ให้เปิดบริการ ว่า พื้นที่ป่าภูทับเบิกยังคงมีสถานะเป็นพื้นที่ป่า ตามคำนิยามศัพท์ของคำว่า ”ป่า” ตามมาตรา 4 (1) พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่ให้ความหมายไว้ว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน

อธิบดีกรมป่าไม้ ชี้แจงว่า ดังจะเห็นได้จากการพิจารณาในชั้นศาลเพื่อวินิจฉัยสถานะของพื้นที่ในบริเวณภูทับเบิกตามคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลกเมื่อวันที่ 29 ก.พ.2555 โดยอำนาจหน้าที่ในการควบคุม ดูแล ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าเป็นของกรมป่าไม้ ฉะนั้นการปฏิบัติการใดๆ จึงเป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบของกฎหมาย

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า เมื่อมีคำสั่งที่ 35/2559 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 5 ก.ค.2559 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการกับผู้ที่เข้ามายึดถือครอบครองที่ดินบนภูทับเบิก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 จำนวน 19 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ แต่เมื่อไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล จึงได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งดังกล่าวดำเนินการรื้อถอน ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 เจ้าหน้าที่ได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งที่ 35/2559 ของ คสช. และแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก (3 – 8 – 8) มาใช้เป็นแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา โดยในกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มาร้องเรียนนั้น ได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ถือครองที่ดินจากหลักฐานของกรมประชาสงเคราะห์เดิม และลักษณะการก่อสร้างรีสอร์ต พบว่ามีจำนวน 19 ราย อยู่ในพื้นที่กรมป่าไม้ 18 ราย และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 1 ราย โดยใน 18 ราย เป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนดไว้ จำนวน 10 ราย ซึ่งได้ดำเนินการรื้อถอนไปแล้ว อีก 8 รายอยู่ในชั้นการพิจารณาของอัยการ

สำหรับกลุ่มที่ 3 จำนวน 64 ราย ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาตามคำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ 1519/2559 ลงวันที่ 7 ก.ค.2559 ผลปรากฏว่า 14 รายขาดคุณสมบัติ และอีก 50 ราย เป็นราษฎรในพื้นที่ที่มีคุณสมบัติ จึงจะได้รับการพิจารณาให้ใช้ประโยชน์ตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก “สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มม้งทั้ง 8 รายนั้น ทางคณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการรื้อถอนและเก็บทรัพย์สินของกลาง ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก เป็นหัวหน้าคณะทำงาน จะเสนอให้มีการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนดไว้หรือไม่ พร้อมทั้งจะดำเนินการชี้แจงกับราษฎรชาวไทยภูเขา ผู้นำชุมชน และตัวแทนผู้ร้องเรียนให้เข้าใจถึงมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกที่ถูกต้องต่อไป ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการด้วยความโปร่งใสและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว.

อ่านข่าวต่อได้ที่    อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/976355‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ข่าวเด่นเพชรบูรณ์ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด