หลวงพ่อใหญ่วัดตาล
วัดตาล ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭٭
ประวัติวัดตาล
วัดตาลตั้งอยู่เลขที่ 73 หมู่ที่ 3 ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า จ. เพชรบูรณ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินที่ตั้งวัด เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา ตาม น.ส.4 จ .เลขที่ 14005 อาณาเขต.ทิศเหนือยาว 45 วา ติดต่อทางสาธารณะ ทิศใต้ยาว 45 วา ติดต่อกับหมู่บ้าน ทิศตะวันออก ยาว 40 วา ติดต่อกับซอยสาธารณะ ทิศตะวันตก ยาว 40 วา ติดต่อกับทางสาธารณะ มีที่ดินที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 1
แปลง เนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 3 ตารางวา อยู่ริมหมู่บ้าน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นทุ่งนามีเนื้อที่ 11 ไร่ ตาม นส. 4 จ. เลขที่ 32077
วัดนี้ได้รับวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ.2403
ปัจจุบันวัดตาลมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา 1 รูป สามเณร 2 รูป
อดีตเจ้าอาวาสภายหลังที่พอจะสืบทราบนามได้ได้แก่ ครูบาสิงห์, ครูบาหม, ครูบาคำ, ครูบาจันนา,พระมหาเกษม,
ครูบาศร, พระอธิการทองรักษ์สุทันฺโต,หลวงตาจันทร์แจ่ม
เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือพระครูสถิตพัชรธรรม พ.ศ.2538 –ปัจจุบัน
วัดตาล เดิมมีชื่อว่า “วัดตาลสราญรมณ์” แต่คนทั่วไปมักเรียกกันสั้นๆ
วัดตาล มี “หลวงพ่อใหญ่วัดตาล” เป็น พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองหล่มเก่า สร้างด้วยปูนปั้น ปางมารวิชัย ศิลปลานช้าง ขนาดหน้าตักกว้าง 2.95 เมตร สูง 4.19 เมตร ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร ประชาชนทั่วไปตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันศรัทธาสักการะบูชาเป็นที่พึ่งด้านจิตใจ ต่างพากันมากราบขอพร ขอให้คุ้มครองรักษาอำนวยพรให้ครอบครัวลูกหลานของตนได้อยู่ดีมีสุข,ขอบนให้ขายที่ดินได้ง่าย เร็ว ราคาดี, ทำงาน, รับราชการ, ทำการค้า ให้มีความเจริญรุ่งเรือง, ขอบนให้ลูกของตนสามารถเข้าสอบเรียนต่อ เข้าทำงาน รับราชการ เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานได้ ประสบผลที่ดี,ขอบนให้พ้นผิด ชนะคดีความในศาล,ขอบนมิให้ถูกติดเกณฑ์ทหาร, สาบานตนให้พ้นผิดเกี่ยวกับการลักขโมยสิ่งของ, กล่าวร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน แล้วมาแสดงความบริสุทธิ์,สาบานตนเลิก ลด ละยาเสพติดอื่นๆ
มีตำนานเล่าขานของชาวบ้านปากต่อปากจากรุ่นปู่ย่าตายายถ่ายทอด สู่ลูกสู่หลานสืบต่อๆกันมาถึงปัจจุบัน ได้เล่าเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “มีพระเถระผู้ใหญ่เดินทางนั่งเรือมาจากทางใต้ ลงเรือที่ท่าน้ำหน้าวัด แล้วมานำพาประชาชนในละแวกนี้ พัฒนาวัดและได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้ขึ้นมา วันที่นำพาช่างและประชาชน ปั้นแต่งพระเศียรพระพักตร์ของพระพุทธรูปนั้น ยังไม่ทันได้แต่งพระเศียร พระพักตร์ พระนาสิก พระเนตร ก็ได้เวลาพักเที่ยง พากันมาหุงหาอาหารกันที่ป่าไผ่ด้านตะวันออก (บริเวณต้นหางนกยุงปัจจุบัน) ขณะนั้น ได้พากันเห็นคนแก่นุ่งขาวห่มขาวเดินไป – เดินมาระหว่างบ่อน้ำ (บริเวณใต้ต้นจันทร์ เป็นบ่อน้ำที่สร้างขึ้นมา พร้อมกับการสร้างหลวงพ่อใหญ่ แต่ปรากฏไม่มีตาน้ำใหลออกมาเลย ปัจจุบันทางเทศบาลได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่)กับพระพุทธรูปคือหลวงพ่อใหญ่วัดตาลที่กำลังได้รับการบูรณะในครั้งนั้น หลังจากที่รับประทานอาหารกันเรียบร้อยแล้ว ก็พากันมาจะปั้นแต่งพระพุทธรูปกันต่อ แต่ปรากฏว่า พระพักตร์ พระเศียรของพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้ ได้รับการปั้นแต่งพระพักตร์แล้วเสร็จบริบูรณ์งดงามแล้วและบ่อน้ำนั้นก็ปรากฏว่า มีน้ำผุดขึ้นมาพร้อมกับการปั้นแต่พระพักตร์ของหลวงพ่อใหญ่สำเร็จ)ก็เลยพากันเข้าใจว่าเทวดามาช่วยสร้าง (นางคำผัด ภักดีสาร ลูกหลานชาวบ้านวัดตาล) ย้อนหลังไปนับตั้งแต่พ.ศ.2516 ก่อนที่วิหารอันเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่วัดตาลหลังเดิม จะถูกรื้อแล้วสร้างหลังใหม่ขึ้นมาแทนดังที่เห็นปัจจุบันนี้นั้น ภายในวิหารหลังเดิม มีศิลาจารึกอักขระภาษาไทยโบราณปรากฏอยู่ แต่ผู้เขียนไม่อาจสามารถจะอ่านจับใจความได้ เนื่องจากอยู่ในสภาพหักบิ่นอยู่ครึ่งหนึ่งแต่รุ่นปู่ย่าสมัยนั้นได้ยืนยันข้อความที่ปรากฏอยู่ในแผ่นศิลาจารึกทั้งหมดว่า“พระพุทธรูปหน้าตาขี้รี้วขี้เหล่องค์นี้ มิใช่องค์จริง เป็นเพียงองค์ครอบเท่านั้น องค์จริงตั้งอยู่ภายในทำด้วยทองสำริด” เรื่องนี้เท็จจริงอย่างไรก็ไม่อาจพิสูจน์ได้เนื่องจากเกรงบารมีองค์พระและมีคำขานกันมา สมัยผู้เขียนยังเด็กเล็กๆ ชาวบ้านวัดตาลและใกล้เคียงทั้งผู้ใหญ่และลูกหลานกล่าวขานกันมา
ว่า “หินกลี้งเป็นที่ตั้งของทหาร วัดตาลเป็นวัดสาบาน” (วัดบ้านหินกลิ้งหรือวัดศรีมงคลบ้านหินกลี้งปัจจุบัน ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือ ประมาณครึ่งกิโลเมตร (พระครูสถิตพัชรธรรม)
นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ คนที่ 36 1 กันยายน 2546 ) สืบค้นประวัติเมืองเพชรบูรณ์และพ่อขุนผาเมือง เขียนเป็นหนังสือชื่อ “พ่อขุนผาเมือง วีรกษัตริย์นอกประวัติศาสตร์เมืองราด-เพชรบูรณ์”ไว้ ใจความตอนหนึ่งว่า “ตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองหล่มสัก เมืองหล่มเก่า เล่าขานตกทอดกันว่า พ่อขุนผาเมืองนั้น มีพระชายาที่เป็นคนไทยอยู่ที่เมืองหล่มเก่าองค์หนึ่งชื่อ “พระนางเนาวรงค์เทวี” เป็นลูกพ่อเมืองหล่มเก่า (เมืองล่ม) เมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่อยู่ในการดูแลของเมืองราด พระนางเนาวรงค์เทวีนั้นอยู่ที่วังตาล ปัจจุบันคือบริเวณวัดตาล เขตอำเภอหล่มเก่า นักประวัติศาสตร์บางคนระบุว่า พระชายาคนไทยของพ่อขุนผาเมืองชื่อ “พระนางปัทมาเทวี” เป็นราชวงค์สุโขทัย ซึ่งผิดข้อเท็จจริง กล่าวคือพ่อขุนผาเมืองออกจากกรุงสุโขทัยมาเป็นเวลานาน รบทัพจับศึกมาตลอดจนยึดนครเดิดได้ และไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นคือ เมืองราด ช่วงนั้นพ่อขุนผาเมืองไม่ได้กลับกรุงสุโขทัย เพราะอยู่ระหว่างสร้างเมืองราดให้เข้มแข็ง ดังนั้น การที่จะไปมีพระชายาที่สุโขทัยและนำมาไว้ที่วังตาล เมืองหล่มเก่า (เมืองล่ม) นั้นจึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
ที่วัดตาล อำเภอหล่มเก่าปัจจุบันมีศาลาของพระนางเนาวรงค์เทวีอยู่ในวัด ชาวบ้านเรียกว่า ศาลาแม่เข็มทองกับพ่อขุนผาเมือง เข็มทองเป็นชื่อเดิมของพระนางเนาวรงค์เทวี และมีศาลเก่าๆของแม่เข็มทองอยู่ 1 แห่ง “ตำนานเมืองหล่มเก่าที่เกี่ยวข้องกับแม่เข็มทอง เล่ากันว่า พระนางเนาวรงค์เทวีเป็นผู้กล้าหาญ เฉลียวฉลาด และร่วมออกรบกับพ่อขุนผาเมือง เมื่อครั้งเข้าตีกรุงสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพงด้วยพระนางจึงเป็นที่รักของพ่อขุนผาเมืองยิ่งนัก
ท่านได้เขียนหนังพ่อขุนผาเมือง เพื่อเป็นหลักฐานเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของพ่อขุนผาเมืองให้เป็นเรื่องราวไปในทางเดียวกัน และได้สร้างอนุสรณ์สถานเมืองราด ก็คือ บ้านของผู้สร้างชาติไทย จัดทำสวนดอกไม้ใหญ่สุดในเพชรบูรณ์ ที่บ้านหวาย อ.หล่มสัก งบประมาณ 900,000 โดยคุณนิลวรรณ เพชรบูชรณิน เป็นผู้ออกค่าดำเนินงาน โดยเกี่ยวข้องกับวัดตาลหรือวังตาล เป็นเมืองของชายาองค์หนึ่งของพ่อขุนผาเมือง คือเจ้าแม่เข็มทอง
ท่านผู้ว่าฯ ได้สร้างศาลเจ้าแม่เข็มทองและหล่อพระรูปองค์เจ้าแม่เข็มทองได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มคนรักหล่มเก่า เป็นผู้บริจาค โดยมีการอัญเชิญพระรูปองค์เจ้าแม่เข็มทองมาประทับที่ศาลในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2548 และศิษย์หลวงพ่อทบโดยการนำของของท่านผู้ว่าดิเรก ถึงฝั่ง จะบริจาคเงินทุนให้วัดตาล 100,000 บ.(หนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยเชิญ อบต. เทศบาล ชุมชนร่วมกันทำงาน ช่วยกันบูรณะวัดตาลให้เป็นวัดที่สวยงามมีศักดิ์ศรี อวดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากราบไหว้หลวงพ่อใหญ่วัดตาล สักการะเจ้าแม่เข็มทองให้ได้รับความสุข ความสมหวัง ประทับใจกลับไป
และตามที่ทางวัดและคณะกรรมการวัดตาล ได้ตรวจพบว่า หลวงพ่อใหญ่วัดตาลที่มีอายุยาวนานมา วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างองค์พระนั้นได้เกิดเสื่อมสภาพลง มีรอยแตกร้าว และผุกร่อนเกือบทั่วทั้งองค์ จึงได้มอบความไว้วางใจให้กรมศิลปากรมาให้การอนุรักษ์ (ซ่อม) และลงรัก-ปิดทอง อยู่ในขณะนี้นั้น (2551) โดยเริ่มทำการเปิดพื้นผิวฐานพระเพื่อระบายความชื้นนั้น ได้พบฐานชุกชี(ฐานพระหรือแท่นพระ)ดั้งเดิม เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายไม่มีลวดลาย ที่องคองค์หลวงพ่อใหญ่ที่ข้างขาก็มีรอยปูนถลอกลึกเข้าไปในเนื้อองค์พระข้างในประมาณ 1 ซ.ม. พบว่ามีองดำและเศษแผ่นทองติดอยู่ ซึ่งพอจะวิเคราะห์ได้ว่า องค์ดำข้างในของค์หลวงพ่อใหญ่วัดตาล คงจะเป็นองค์ที่แผ่นศิลาจารึกบันทึกไว้ว่า “หน้าตาขี้รี้วขี้เหล่” คู่กับฐานชุกชีดั้งเดิมที่น่าจะสร้างขึ้นในยุคสุโขทัย ประมาณ 600 กว่าปี ต่อมาไม่ทราบว่านานเท่าใด ที่มีตำนานปากต่อปากของชาวบ้านที่บอกว่า “พระอินทร์มาสร้าง” อันนี้น่าจะเป็นการอนุรักษ์ครั้งแรก เพราะที่ฐานชุกชีดั้งเดิมระดับฐานทางด้านทิศใต้ทรุดเอียงต่ำลงและที่กลางฐานก็ปรากฏมีรอยแตกแยกของฐานปรากฏอยู่ คงจะเนื่องจากพื้นดินทรุดตัว พอมีการอนุรักษ์องค์พระก็คงจะสร้างฐานชุกชีอันใหม่ขึ้นมาค้ำยันฐานอันเดิมและได้สร้างพระพุทธสาวกยืนซ้าย-ขวา จำนวน 2 องค์ ฐานที่โบราณได้สร้างขึ้นมาในยุคนั้นเป็นฐานที่สร้างขึ้นมาในสมัยอยุธยาตอนต้น ประมาณ 400 กว่าปี และในยุคไม่เกิน 100 ปีที่ผ่านมา จากคำบอกเล่าของชาวบ้านนายช่างชื่อ “หลุม” เป็นคนบ้านวังเวิน ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เป็นคนปั้นพระนอนในอิริยาบถพักผ่อนสบาย ขึ้น
ด้วยเหตุดังกล่าว และจากรูปถ่ายขาวดำหลวงพ่อใหญ่วัดตาล ถ่ายเมื่อปี 2514 จึงได้สร้างฐานจำลอง ฐานชุกชีสมัยอยุธยาตอนต้นและจัดแสดงให้ฐานชุกชียุคต่างๆ ขึ้นมา เพื่อการศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปกรรมขึ้นมา นอกจากนี้ทางวัดและคณะกรรมการยังได้บูรณะปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาทจำลอง และสร้างยักษ์ทวารบาลขึ้นมาทดแทนยักษ์ที่เคยมีอยู่ในภายในวิหารหลังเดิมที่ถูกรื้อไปเมื่อ พ.ศ.2516
พระครูสถิตพัชรธรรม
เจ้าอาวาสวัดตาล
087-2029039 Email:dangail@windowslive.com เรียบเรียง 24 กันยายน 2551
ประวัติเมืองหล่มเก่า
หล่มเก่าที่จะกล่าวถึงในที่นี้ มิได้หมายถึงอำเภอหรือตำบลที่จัดตั้งเป็นทางราชการ แต่จะกล่าวถึงความเป็นมาของนามว่า “หล่มเก่า” นั้น มีประวัติเป็นมาอย่างไร
จากการสืบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่พอจะทราบเรื่องราวของหล่มเก่า ซึ่งเล่ากันต่อๆมา และจากหนังสือเอกสารที่ท่านผู้รู้จดบันทึกไว้ เช่นขุนสำรวจธุรกิจ ท้าวบัวไข จันทร์พิลา อดีตปลัดอำเภอหล่มเก่าและคุณตาชื่น หอมจันทร์ อดีตศึกษาอำเภอหล่มเก่า พอสรุปความเป็นมาของหล่มเก่าได้ดังนี้
“หล่มเก่า” เป็นคำเรียกหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นชื่อตำบลและอำเภอ อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเพชรบูรณ์ ณ บริเวณพื่อที่นี้ เดิมชื่อ “เมืองลม” หรือ “เมืองลุ่ม” หรือเมืองหล่ม” ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า เมืองหล่มนี้ มิใช่เป็นเมืองทางราชการตั้งขึ้น แต่เป็นเมืองที่เกิดขึ้นโดยประชาชนร่วมกันสร้าง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและขุนวิจิตรมาตรา (จากหนังสือหลักไทย ฉบับขุนวิจิตรมาตรา) สันนิษฐานว่า เดิมทีพื้นที่นี้เป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองที่เรียกว่า ลัวะ ต่อมาได้มีชนชาวไทยน้อยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงที่เรียกว่า เมืองศรีสัตนาหุต (เวียงจันทน์) กลุ่มหนึ่ง อพยพมาหาหลักแหล่งทำมาหากิน และพบว่าพื้นที่ที่ชาวลัวะอาศัยอยู่มีทำเลดีเพราะเป็นที่ราบลุ่มล้อมรอบด้วยเทือกเขา มีลำน้ำพุงไหลผ่าน เหมาะแก่การเพราะปลูก ชาวไทยกลุ่มนี้ จึงได้จัดตั้งบ้านเมืองขึ้นในพื้นที่หมู่บ้านหนองขี้ควาย (บ้านหินกลี้งปัจจุบัน) และได้ยกผู้นำในการอพยพขึ้นมาเป็นเจ้าเมือง แต่ครั้งนั้นไม่เรียกว่าเจ้าเมือง เรียกว่า “อุปฮาด” ตามแบบยอย่างภาษาของชาวเมืองศรีสัตนาหุต อุปฮาดคนแรกชื่อว่า จ้าวปู่เฒ่า จ้าวปู่เฒ่าได้สร้างจวนที่อาศัยบนริมฝั่งน้ำพุงด้านตะวันตก และได้สร้างวัดคู่บ้านคู่เมืองขึ้นบนริมฝั่งน้ำพุงด้านตะวันออก ปัจจุบันคือวัดศรีมงคลหินกลี้ง
๑.วัดป่า หรือวัดป่าไชโย วัดนี้ตั้งอยู่บนฝั่งน้ำพุงด้านเดียวกับกับวัดศรีมงคลหินกลี้ง ถัดลงมาตอนใต้ห่างกันประมาณ ๒๐๐ เมตร ปัจจุบันเป็นวัดร้างแต่ยังมีหลักฐานคือพระประธาน สร้างด้วยอิฐถือปูนปรากฏอยู่
๒.วัดจอมแจ้ง วัดนี้ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำพุงด้านกันกับวัดป่าไชโย ห่างกันประมาณ ๑ กม. ปัจจุบันเป็นวัดร้างแต่มีหลักฐานปรากฏอยู่
๓.วัดตาล ตั้งอยู่บนฝั่งน้ำพุงด้านเดียวกันกับวัดป่า ห่างกัน ๑๕๐ เมตร วัดนี้มีพระพุทธรูปปั้นองค์ใหญ่เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ถือว่าเป็นพระประจำเมืองหล่มที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในวิหารที่สร้างใหม่
๔.วัดกู่แก้ว วัดนี้ตั้งอยู่บนฝั่งน้ำพุงด้านเดียวกันกับวัดตาล ห่างกันประมาณ ๓๐๐ เมตร ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ทางราชการได้ใช้สถานที่เป็นที่ตั้งของสภาตำบลหล่มเก่า
อุปฮาดต่อจากจ้าวปู่เฒ่าลงมาที่พอทราบชื่อจากคำบอกเล่าคือ อุปฮาดจ้าวหนองขาม อุปฮาดจ้าวอานนท์ อุปฮาดจ้าวคุก ในสมัยอุปฮาดจ้าวคุกได้ย้ายจวนจากบ้านหนองขี้ควาย(หินกลี้ง) มาตั้งอยู่บนฝั่งน้ำพุงด้านตะวันออก ในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างกลางวัดสองวัดคือวัดตาลกับวัดกู่แก้ว ณ จวนอุปฮาดบ้านกลางนี้ อุปฮาดท่านนี้ ต่อมาได้เสียชีวิตในระหว่างนอนหลับ ประชาชนจึงพากันเรียกท่านว่า อุปฮาดจ้าวนอนตาย หลักฐานที่พอจะเชื่อถือได้ในช่วงระยะเวลาต่อจากอุปฮาดจ้าวนอนตายถึงก่อนปี พ.ศ. ๒๓๗๐ เกิดมีกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ (สมัยนั้นบ้านเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองขึ้นของไทย) เจ้าอนุวงศ์ได้ส่งเจ้าราชวงศ์ให้คุมกองทัพ
กบฏส่วนหนึ่งมายึดเมืองหล่ม อุปฮาดเมืองหล่มในครั้งนั้นมีกำลังน้อย จึงจำต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้าราชวงศ์ เมื่อทางทางเมืองหลวงของไทย (กรุงเทพฯ) ทราบว่า ได้ส่งพระยาอภัยภูธรและพระยาพิชัย นำกำลังพลมาเมืองหล่ม เมือพระยาทั้งสองเดินทางมาถึงเมืองหล่ม มีชายไทยตนหนึ่งชื่อ นายคง ได้อาสานำทัพของพระยาอภัยภูธรและพระยาพิชัย ติดตามทัพกบฏเจ้าอนุวงษ์เวียงจันทน์ ตามไปทันกันที่เมืองหนองบัวลำพู เขตของเมืองอุดรราชธานี ทัพไทยจับอุปฮาดเมืองหล่มได้แล้วสำเร็จโทษ ตำแหน่งอุปฮาดเมืองหล่มจึงว่างลง ทางกรุงเทพฯได้พิจารณาความดีความชอบของนายคงผู้กล้าหาญมีความซื่อสัตย์ จึงปูนบำเหน็จรางวัลด้วยตำแหน่งอุปฮาดเจ้าเมืองหล่ม โดยมีบรรดาศักดิ์ราชทินนามว่า “พระยาสุริยะวงศาสงครามรามภักดีวิริยกรมพาหนะ”
ครั้งหนึ่ง พระยาสุริยะวงศาฯ ได้กลับจากธุระที่เมืองหลวง (กรุงเทพฯ) ได้เดินทางเรียบมาตามล้ำน้ำสักจากสระบุรีเรื่อยมา ก่อนถึงเมืองหล่มได้ผ่าหมู่บ้านหมู่หนึ่ง คือบ้านท่ากกโพธิ์ ซึ่งคนไทยอาศัยอยู่ประปราย บ้านท่ากกโพธิ์นี้อยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองหล่ม พระยาสุริยะวงศาฯ ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่ท่ากกโพธิ์เป็นที่อุดมสมบูรณ์ มีชัยภูมิเหมาะที่จะเป็นเมืองอย่างยิ่ง จึงได้ตัดสินใจย้ายเมืองหล่มมาสร้างขึ้นใหม่ที่บ้านท่ากกโพธิ์ซึ่งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแควป่าสัก และได้สร้างจวนเจ้าเมืองขึ้นที่สวนฝ้ายตาโปร่งเหล่ง ส่วนจวนเจ้าเมืองเก่าได้จัดสร้างเป็นวัด เรียกว่า “วัดกลาง” ปัจจุบันคือวัดศรีสุมังค์และพระยาสุริยวงศาฯได้เรียกเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นนี้ว่า “หล่มสัก” เพราะตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควป่าสัก ส่วนเมืองเดิมเรียกว่า “หล่มเก่า”
ฉะนั้น คำว่า “หล่มเก่า” จึงเกิดมีขึ้นตั้งแต่สมัยของพระยาสุริยวงศาสงครามรามภักดีวิริยกรมพาหะ ราวปี พ.ศ.๒๓๗๓ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อานนท์ แจ่มศรี
ผู้ค้นคว้าและเรียบเรียง
๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook