เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 415 ไร่ เป็นพื้นน้ำ 263 ไร่ พื้นดิน 150 ไร่ อยู่ในเขตตำบลสะเดียง ติดกับเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ห่างจากชุมชนประมาณ 1.50 กม. บริเวณหนองน้ำเป็นแหล่งพันธุ์พืช ประเภทบัวนานาชนิด แหล่งพันธุ์ปลาต่าง ๆ ตลอดจนนกหลายสายพันธ์ ทั้งนกประจำถิ่น และนกที่อพยพจากถิ่นอื่นตามฤดูกาล พื้นดินมีสภาพเป็นป่าไม้ เนื้อที่ประมาณ 102 ไร่ มีพันธุ์ไม้ต่างๆ ขึ้นอยู่หนาแน่น มีทั้งไม้พันธุ์ท้องถิ่น และไม้ที่ปลูกเพิ่มเติม อาทิ ประดู่ ตะแบก จามจุรี และยูคา สำหรับพื้นที่ที่เหลืออีก 45 ไร่ เป็นถนนรอบหนองน้ำและสวนหย่อม ปัจจุบันได้มีผู้บุกรุกพื้นที่หนองนารี เพื่อเข้ามาหาผลประโยชน์ด้วยการปลูกอาคารบ้านเรือนและทำเพิงร้านค้า ประมาณ 200 ราย ในเนื้อที่ ประมาณ 102 ไร่ ซึ่งจากสภาพการบุกรุกมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดสภาพเสื่อมโทรม จากปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาขยะมูลฝอยและการทำลายพื้นที่ป่า ประกอบกับหนองนารีอยู่ในความครอบครองของกรมธนารักษ์ จึงทำให้การป้องกันการบุกรุกกระทำได้ไม่ทั่วถึง จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาหนองนารี โดยที่ประชุมได้มีมติให้ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบด้านการพัฒนาและดูแลรักษาความสะอาดเริ่มจากแนวของถนนรอบหนองนารีจนถึงพื้นที่หนองน้ำ คิดเป็นพื้นที่ ประมาณ 312 ไร่ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2542 เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ได้ศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางปรับปรุงหนองนารี โดยเน้นให้สอดคล้องกับความต้องการ ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ ผลจากการศึกษารวบรวมข้อมูลพบว่า สถานที่ตั้งของหนองนารี อยู่ใกล้ตัวเมืองเพชรบูรณ์ ใกล้สถานที่ราชการ สถานศึกษา ประชาชนสามารถเดินทางมาเที่ยวพักผ่อน ได้สะดวกประกอบสภาพรอบๆ หนองนารีมีร้านอาหารบริการผู้มาใช้บริการได้อย่างเพียงพอ จากข้อมูลดังกล่าวเทศบาลจึงเห็นควรที่จะปรับปรุงหนองนารี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทหนองน้ำขนาดใหญ่ ด้วยการพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อน หย่อนใจสำหรับใช้เป็นสวนสาธารณะ 4 ด้าน ดังนี้
1. สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ด้วยการจัดทำสวนดอกไม้ สนามหญ้า สนามเด็กเล่นศาลากลางน้ำสะพานแขวนน้ำพุขนาดใหญ่ ม้านั่งรอบบริเวณ ห้องน้ำ – ส้วม ไฟฟ้าแสงสว่าง ท่าน้ำ หอชมวิว เรียงหินใหญ่บริเวณหนองน้ำ พร้อมทำบันไดลงท่าน้ำและทำรั้ว 4 บริเวณ เปิด-ปิด เป็นเวลา
2. สถานที่ออกกำลังกาย สร้างถนนรอบหนองนารี จัดให้มีลานจอดรถเป็นจุดๆ สร้างลู่จักรยานลู่วิ่งรอบหนองน้ำ สวนสุขภาพ ลานเอนกประสงค์สำหรับออกกำลังกายอัฒจรรย์นั่งชมกีฬาทางน้ำ จัดบริเวณสนามแข่งจักรยานเสือภูเขา และป้ายแผนผังบริเวณรอบสวน
3.การจัดกิจกรรมและนันทนาการ จัดทำเวทีกลางแจ้ง ลานจัดกิจกรรม และอัฒจรรย์นั่งชมไฟฟ้า แสงสว่างบริเวณลานเอนกประสงค์
4. แหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สร้างนาฬิกาแดด หอดูดาว สถานีพลังลม สถานีสภาวะเรือนกระจก สถานีพลังงานแสงอาทิตย์ สถานีพืชดึกดำบรรพ์ สถานีเลเซอร์ สถานีหิน สถานีเรียนรู้ทางชีววิทยา อุทยานบัว และสถานีจำลองการเคลื่อนที่ ทางอากาศ’>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook