อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
ประวัติความเป็นมา
อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เป็นอำเภอหนึ่งในสิบเอ็ดอำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำป่าสัก มีสภาพเมืองมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งปรากฎมีหลักฐานป้อมปราการสร้างไว้แต่โบราณ ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรม สลักหักพังเกือบหมดสภาพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงเรื่องเมืองเพชรบูรณ์ไว้ในหนังสือ ” สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมดำรง-ราชานุภาพและงานทางปกครองของพระองค์ “(จัดพิมพ์โดยกองวิชาการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2505) เรื่อง ความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ว่า ” ตัวเมืองเพชรบูรณ์ เป็นเมืองมีป้อมปราการสร้างแต่โบราณ เห็นได้ว่าเป็นเมืองหน้าด่าน โดยเลือกสกัดทาง ทำปราการทั้งสองฟาก เอาลำน้ำสักไว้กลางเมืองเหมือนเช่นเมืองพิษณุโลก สังเกตุตามรายที่ ปรากฎเห็นได้ว่าสร้างเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรก สร้างเมื่อสมัยสุโขทัยแนว ปราการขนานราวด้านละ 200 เส้น เดิมเป็นแต่ถมดินปักเสาเพนียดข้างบน มาสร้างใหม่ในที่อันเดียวกัน เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ร่นแนว ย่อเข้ามาแต่ทำปราการก่อสร้างด้วยหินและมีป้อมรายรอบสำหรับสู้ข้าศึก ซึ่งจะยกมาแต่ลานช้าง ข้างในเมืองมีวัดมหาธาตุกับพระปรางค์เป็นสิ่งที่สำคัญอยู่กลางเมือง”
เดิมอยู่ในความปกครองของ มณฑลพิษณุโลก ต่อมาได้แยกมาตั้ง เป็นมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2442 โดยรวม จังหวัดหล่มสัก อยู่ในปกครอง เมื่อ พ.ศ.2447 ยุบ มณฑลเพชรบูรณ์ ไปอยู่ในปกครองของ มณฑลพิษณุโลกตามเดิมอีกครั้ง ต่อมาได้ประกาศตั้งเมืองขึ้นเป็น มณฑลเพชรบูรณ์ อีกครั้งเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2450 จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2458 จึง ยุบ มณฑลเพชรบูรณ์ ไปขึ้นกับ มณฑลพิษณุโลก ตามเดิมต่อมาเมื่อทางราชการให้ยุบเลิกมณฑล จึงมีฐานะเป็นจังหวัดเพชรบูรณ์เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ
เมื่อ พ.ศ.2487 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดระเบียบทางราชการ นครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 เมืองเพชรบูรณ์จึงถูกยกฐานะเป็น ” นครบาลเพชรบูรณ์ ” ซึ่งได้ย้ายที่ทำการของรัฐบาลบางส่วนมาตั้งที่เมืองเพชรบูรณ์เป็นการชั่วคราว ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง รัฐสภาไม่ผ่านพระราชกำหนดนี้ เมืองเพชรบูรณ์จึงกลับมามีฐานะเป็นจังหวัดเพชรบูรณ์ตลอดมาตราบจนทุกวันนี้
สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมือง
วัดมหาธาตุ
ตั้งอยู่บนถนนนิกรบำรุง ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ มีพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย สูงประมาณ 3 วา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า วัดนี้คงสร้างมาแต่ในสมัยกรุงสุโขทัย
เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์
ประดิษฐานอยู่ที่ศาลเทพารักษ์ หลักเมือง ถนนหลักเมือง ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์ เป็นเสมาหินที่สมเด็จกรมพระยาดำเรงราชานุภาพ ทรงนำมาจากเมืองศรีเทพ เมื่อปี พ.ศ. 2447 เป็นเสาหลักเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
วัดไตรภูมิ
ตั้งอยู่บนถนนเพชรรัตน์ เป็นวัดเก่าแก่ที่ประดิษฐานของพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะสมัยลพบุรี ชาวบ้านพบในแม่น้ำป่าสักบริเวณหน้าวัด จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดนี้
ต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ได้หายไป และมีผู้พบในแม่น้ำตรงที่พบครั้งแรกอีก จึงถือกันเป็นประเพณีของจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า เมื่อถึงเทศกาลสารทไทย จะมีการแห่พระพุทธมหาธรรมราชาไปรอบเมือง จนถึงบริเวณที่พบพระพุทธรูป จากนั้นตัวแทนของชาวเมืองเพชรบูรณ์ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้อุ้มพระพุทธรูปลงดำไปยังก้นแม่น้ำ แล้วโผล่ขึ้นมา ทำเช่นนี้จนครบทั้ง 4 ทิศ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด และถ้าไม่ได้กระทำพิธีอุ้มพระดำน้ำจะเกิดฝนแล้ง พิธีอุ้มพระดำน้ำนี้จะทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
“จากอดีตกาล สืบสานถึงปัจจุบัน ร่วมรังสรรค์สู่อนาคต” “ประเพณี อุ้มพระดำน้ำ”
ประเพณี “อุ้มพระดำน้ำ” เป็นประเพณีที่แปลกแห่งเดียวในจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่นอกจากจะมีเรื่องราวปาฏิหาริย์แล้ว ยังเป็น มรดกทางวัฒนธรรม ที่แฝงไว้ด้วย ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง โดยจุดกำเนิดของพิธีกรรม อุ้มพระดำน้ำประเพณีที่มีตำนานความเชื่อเล่าขานสืบทอดมาว่า สมัยเมื่อราว 400 ปี ที่ผ่านมามีชาวเพชรบูรณ์กลุ่มหนึ่ง ได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก และในวันนั้นได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดคือ ตั้งแต่เช้ายันบ่ายไม่มีใครจับปลาได้สักตัวเดียว เลยพากันนั่งปรับทุกข์ริมตลิ่ง ที่บริเวณ “วังมะขามแฟบ” ขณะที่กำลังนั่งปรับทุกข์อยู่นั้น จู่ๆสายน้ำที่ไหลเชี่ยวได้หยุดนิ่ง พร้อมกับมีพรายน้ำค่อย ๆ ผุดขึ้นมา และกลายเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ รวมทั้งมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอย ขึ้นมาเหนือน้ำ แสดงอาการดำผุดดำว่ายอย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านจึงลงไปอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ จากนั้นในปีต่อมาซึ่งตรงกับ “วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10” พระพุทธรูปองค์นี้ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย และมีผู้พบอีกครั้งแสดงอาการดำผุดดำว่ายอยู่กลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณเดียวกับที่พบครั้งแรก ชาวบ้านจึงร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน ณ วัดไตรภูมิ เป็นครั้งที่ 2พร้อมร่วมกันถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” จากนั้นเป็นต้นมา เจ้าเมืองเพชรบูรณ์สมัยนั้น จะต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ไปประกอบพิธี อุ้มพระดำน้ำ เป็นประจำทุกปี ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ณ บริเวณวังมะขามแฟบ (ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ในปัจจุบัน) สืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน หลังการประกอบพิธีเชื่อกันว่า องค์พระจะไม่หายไปดำน้ำเอง ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองจะมีแต่ความสงบสุข
สำหรับ “พระพุทธมหาธรรมราชา” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน พุทธลักษณะพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน พระกรรณยาวย้อยจดถึงพระอังสา พระเศียรทรงชฎาเทริด มีกระบังหน้า ทรงสร้อยพระศอพาหุรัด และรัดประคตเป็นลวดลายงดงาม
ส่วนประวัติการสร้างไม่ปรากฏเด่นชัด เชื่อกันว่า “พ่อขุนผาเมือง” เจ้าเมืองราด ได้รับพระราชทานจาก “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” กษัตริย์นครธม ผู้เป็นพ่อตา ให้นำพระไปประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ภายหลังอภิเษกสมรสกับ พระนางสิงขรมหาเทวี ราชธิดา แต่หลังจาก พ่อขุนผาเมือง ร่วมกับ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง (อ.นครไทย จ.พิษณุโลก) พระสหาย ยกทัพเข้ายึดครองกรุงสุโขทัย ทำให้ “พระนางสิงขรมหาเทวี” โกรธแค้นและเผาเมืองราด จากนั้นพระนางได้โดดลงแม่น้ำป่าสักปลงพระชนม์ชีพ เหล่าเสนาอำมาตย์ได้พากันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ลงแพล่องไปตามแม่น้ำป่าสัก เพื่อหนีเปลวเพลิง แต่เนื่องจากแม่น้ำป่าสักมีความคดเคี้ยวและเชี่ยวกราก ทำให้แพอัญเชิญแตก องค์พระเลยจมลงในแม่น้ำ กระทั่งต่อมากลุ่มคนหาปลาไปพบตามตำนานดังกล่าว
การจัดงาน “อุ้มพระดำน้ำ” ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น พิธีบวงสรวงเทพยาดาและสิ่งศักดิ์ ขบวนแห่งพระพุทธมหาธรรมราชาทางบก และทางน้ำอย่างสวยงามและยิ่งใหญ่ การแข่งขันพายเรือทวนน้ำ การแสดงแสงเสียงเกี่ยวกับตำนานความเป็นมาของพระพุทธมหาธรรมราชา พร้อมกับมีการออกร้านจำหน่ายอาหารเรียกว่า “เทศกาลอาหารอร่อย” การจัดแสดงมหรสพต่าง ๆมากมาย โดยไฮไลท์ของงาน ซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 จะมีการอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา แห่ทางน้ำจากท่าน้ำวัดไตรภูมิ ไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร
“ขออำนาจบารมี แห่งองค์พระพุทธมหาธรรมราชา โปรดได้มาบันดาลดล ให้ประชาชนอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรทั้งหลาย ปราศจากอันตราย และภัยธรรมชาติทั้งปวง ลุล่วงสู่ความสงบร่มเย็นเป็นทีวีคูณแก่ชาวเมืองเพชรบูรณ์ ด้วยเทอญ”
– ขออำนาจบารมี แห่งองค์พระพุทธมหาธรรมราชา โปรดได้มาบันดาลดล ให้ฟ้าฝนแห่งเมืองเพชรบูรณ์ ได้ตกต้องเกื้อกูลตามฤดูกาล เพื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร อุดมสมบูรณ์ แก่ชาวเพชรบูรณ์ด้วยเทอญ
– ขออำนาจบารมี แห่งองค์พระพุทธมหาธรรมราชา โปรดได้มาบันดาลดล ส่งผลให้การคมนาคม ตลอดจนสาธารณูปโภคทั่วไป มีความเพียบพร้อมทุกแห่งหน ส่งผลให้มีความสุข สะดวกสบายแก่หญิงชายชาวเมืองเพชรบูรณ์ด้วยเทอญ
– ขออำนาจบารมี แห่งองค์พระพุทธมหาธรรมราชา โปรดได้มาบันดาลดลส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าขาย และการอุตสาหกรรม นำความร่ำรวย มั่งคั่งเพิ่มพูนมาสู่ชาวเพชรบูรณ์ด้วยเทอญ
– ขออำนาจบารมี แห่งองค์พระพุทธมหาธรรมราชา โปรดได้มาบันดาลดล ให้เกิดผลความรุ่งเรืองพระพุทธศาสนา ชาวประชามีศรัทธาเลื่อมใส ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม จงบังเกิดมีแก่ชาวเพชรบูรณ์ด้วยเทอญ
– ขออำนาจบารมี แห่งองค์พระพุทธมหาธรรมราชา โปรดได้มาบันดาลดล ให้ประชาชนชาวเพชรบูรณ์ทั่วหน้า ร่วมรักษาความสามัคคี มีความขยันหมั่นเพียรในการเรียนรู้และทันต่อเหตุการณ์อันเที่ยงตรง ดำรงอยู่ในความเสียสละและปฏิบัติตามกฎหมายแห่งบ้านเมือง นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เมืองเพชรบูรณ์ ด้วยเทอญ”
นี่คือคำอธิฐานที่ชาวเพชรบูรณ์ เชื่อว่า เมื่ออัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ ไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ จะบังเกิดผลในสิ่งที่หวัง แต่หากปีใดไม่นำองค์พระฯไปดำน้ำ จะเกิดเหตุอาเพศ จากความนี้เอง ชาวเพชรบูรณ์ จึงได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันสารทไทยทุกปี จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน หลังจากเสร็จพิธีอุ้มพระดำน้ำ จะมีกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคน เช่น การโยนข้าวต้มลูกโยน และอาหารให้กันระหว่างขบวนเรือของผู้ที่แห่ไปร่วมพิธี ให้กับประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นถึงการพึ่งพาและรู้จักแบ่งปันกัน
วัดพระแก้ว วัดพระสิงห์และวัดเสือ
ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่เรียงกัน โดยวัดพระสิงห์อยู่ทางทิศเหนือ วัดพระแก้วอยู่ตรงกลาง และวัดพระเสืออยู่ทางทิศใต้ มีโบราณสถานสำคัญคือ “พระปรางค์” ที่วัดพระแก้ว และพระเจดีย์หลังพระอุโบสถในวัดพระสิงห์ กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่า พระพุทธรูปที่ขุดพบนั้นสร้างมานานกว่าเจ็ดร้อยปี ขณะนี้พระปรางค์และพระเจดีย์ยังมีให้เห็นอยู่ นอกจากนี้ยังมีกรุและโอ่งพระพุทธรูป และของสำคัญต่างๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูปทองคำเนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อเงิน แผ่นทองคำ และพระผงดินเผา แบบสุโขทัย
บริษัทจุลไหมไทย จำกัด
หรือ ที่เีรียกกันว่า ไร่นายจุล คุ้นวงศ์ (ไร่กำนันจุล) ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบูรณ์ ประมาณ 21 กิโลเมตร ใกล้สามแยกวังชมภู เป็นผู้บุกเบิกการทำไร่ส้มเขียวหวานส่งออกขายทั่วประเทศและประเทศเพื่อนบ้านรายแรก ๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2479 ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรบนเนื้อที่กว่า 10,000 ไร่ มีลักษณะเป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน มีพื้นที่บ่อปลา 3,000 ไร่ มีสมาชิกเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 2,600 ราย ใน 26 จังหวัดของประเทศ มีสวนผลไม้ อาทิ สวนส้ม 1,200 ไร่ 200,000 ต้น มีส้มโชกุน(ส้มเขียวกำนันจุล) 90% ส้มโอ(ขาวกำนันจุล) และ ส้มเช้ง 10% สวนสละพันธุ์หม้อ ที่ปลูกรายใหญ่ที่สุดของประเทศ บนพื้นที่ 200 ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตตลอดทั้งปี เป็นบริษัทที่ผลิตเส้นใยไหม กรรมวิธีการผลิตยังคงใช้แรงงานเป็นหลัก เริ่มจากการฟักไข่ไหมเป็นตัวหนอนและเข้าดักแด้ จากนั้นจึงนำมาสาวใยไหมออกเป็นเส้น นอกจากนี้ยังมีไร่หม่อนกว่า 2,000 ไร่ นักท่องเที่ยวสามารถขอเข้าชมการผลิตเส้นใยไหมได้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม นอกจากนี้ยังมีสวนสละ ส้ม ส้มโอ และมีการเลี้ยงปลาน้ำจืดหลายชนิด ผลิตภัณฑ์ทั้งสดและแปรรูปมีนำมาวางขายที่ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ด้านหน้าไร่ทุกวัน
กิจกรรมท่องเที่ยว
1. ชมประวัติกำนันจุล และการสืบทอดเจตนารมณ์ของคนรุ่นหลัง
2. ชมขั้นตอนการผลิตเส้นไหม ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในโลก
3.ชมการเลี้ยงไส้เดือนแบบอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสารเคมีในสวน
4. ชมสวนสละ และสาธิตวิธีการผสมเกสรสละ
5. ชมการเลี้ยงไหมของเกษตรกร
6. ชมการทำประมงน้ำจืดขนาดใหญ่บนพื้นที่ 3,000 ไร่
7. ชมสวนส้มโชกุน, ส้มโอ, ส้มเช้ง
8. กิจกรรมการตกปลา
กิจกรรม 1 – 4 สามารถชมแบบเช้าไป เย็นกลับได้
กิจกรรม 1 – 8 แบบค้างคืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0 5677 1101 – 4, 08 9960 3481 หรือ [url]www.chulthai.com[/url]
เขารัง
เป็นจุดชมวิวที่กว้างไกล อากาศดี ตั้งอยู่บนเส้นทางสายเพชรบูรณ์-ตะพานหิน ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเปิดเมืองเพชรบูรณ์ ถนนสายนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนที่สร้างทางจำนวนมาก โดยเสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรีย
สวนรุกขชาติผาเมือง
ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อ “หนองนารี” ตั้งอยู่ริมถนนนารีพัฒนา หมู่ที่ 5 ตำบลสะเดียง ห่างจากตัวเมือง 2 กิโลเมตร มีบึงน้ำขนาดใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น มีร้านอาหาร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเพชรบูรณ์ ในปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์และเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการก่อสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นแหล่งการเรียนรู้ของประชาชนโดยทั่วไป โดยจัดแบ่งพื้นที่ ดังนี้
1.สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ด้วยการจัดทำสวนดอกไม้ สนามหญ้า สนามเด็กเล่นศาลากลางน้ำสะพานแขวนน้ำพุขนาดใหญ่ ม้านั่งรอบบริเวณ ห้องน้ำ – ส้วม ไฟฟ้าแสงสว่าง ท่าน้ำ หอชมวิว เรียงหินใหญ่บริเวณหนองน้ำ พร้อมทำบันไดลงท่าน้ำและทำรั้ว 4 บริเวณ เปิด-ปิด เป็นเวลา
2.สถานที่ออกกำลังกาย สร้างถนนรอบหนองนารี จัดให้มีลานจอดรถเป็นจุดๆ สร้างลู่จักรยานลู่วิ่งรอบหนองน้ำ สวนสุขภาพ ลานเอนกประสงค์สำหรับออกกำลังกายอัฒจรรย์นั่งชมกีฬาทางน้ำ จัดบริเวณสนามแข่งจักรยานเสือภูเขา และป้ายแผนผังบริเวณรอบสวน
3.การจัดกิจกรรมและนันทนาการ จัดทำเวทีกลางแจ้ง ลานจัดกิจกรรม และอัฒจรรย์นั่งชมไฟฟ้า แสงสว่างบริเวณลานเอนกประสงค์
4.แหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สร้างนาฬิกาแดด หอดูดาว สถานีพลังลม สถานีสภาวะเรือนกระจก สถานีพลังงานแสงอาทิตย์ สถานีพืชดึกดำบรรพ์ สถานีเลเซอร์ สถานีหิน สถานีเรียนรู้ทางชีววิทยา อุทยานบัว และสถานีจำลองการเคลื่อนที่ ทางอากาศ
อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยป่าแดง
เป็นอ่างเก็บน้ำที่กรมชลประทานสร้างกั้นห้วยป่าแดง ในเขตตำบลป่าเล่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2006 ประมาณ 8 กิโลเมตร
ชาวเมืองเพชรบูรณ์ เรียกอ่างเก็บแห่งนี้ว่า “ทะเลสาบเพชรบูรณ์” เป็นสถานที่พักผ่อนที่มีความสวยงามมากอีกแห่งหนึ่ง ภายในบริเวณอ่างเก็บน้ำ มีเพิงขายอาหารประเภทข้าวเหนียวส้มตำ และที่มีชื่อที่สุดคือ ปลานิลทอดและปลานิลเผา ห้วยป่าแดง
อุทยานแห่งชาติตาดหมอก
อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 20 กันยานน 2541 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนที่ 78 ก ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 87 ของประเทศ
สถานที่ตั้ง ที่ทำการอยู่ที่อำเภอเมือง จ.เพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ครอบคลุม 3 ตำบล คือตำบลนาป่า ตำบลบ้านโคก ตำบลห้วยใหญ่ มีเนื้อที่ 290 ตารางกิโลเมตร หรือ 181,250 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นน้ำลำธารของลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำชี เป็นผืนป่าเดียวกันกับป่าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ ทางด้านทิศเหนือเป็นภูเขาสูงชัน พื้นที่บริเวณฝั่งแม่น้ำเลย มีสภาพอุดมสมบูรณ์ตลอดแนวทิศใต้เป็นภูเขาที่มีความสูงชันไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหัวโล้น ทางด้านทิศตะวันออกเป็นภูเขาสูงชัน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ด้านทิศตะวันตกเป็นภูเขาสูงชัน ความสูงของพื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลางอยู่ระหว่าง 800 – 900 เมตร
ลักษณะภูมิอากาศ ภูมิอากาศเฉลี่ยต่ำสุด 7.3 องศาเซลเซียส และสูงสุด 32.4 องศาเซลเซียส ฝนตกมากในเดือนเมษายน-ตุลาคม ส่วนเดือนพฤษภาคม ฝนจะตกมากที่สุด และช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ฝนจะตกน้อยที่สุด
พันธุ์ไม้ ประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หนาแน่นด้วยพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ตะเคียน ยาง แดง สัก ก่อ ประดู่ตะแบบ ไผ่ มะม่วงป่า ยมหิน ทะโล้ หว้า มะขามป้อม พะยอม ฯลฯ เป็นต้น
สัตว์ป่า สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา หมู่ป่า เก้ง ลิง ชะนี อีเห็น ตัวนิ่ม เม่น ค่าง นกนานาชนิด สัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และปลาชนิดต่าง ๆ มากมาย
น้ำตกตาดหมอก มีต้นกำเนิดจากเขาตาดหมอก เป็นน้ำตกสูงเด่นไหลลงจากหน้าผาสูงประมาณ 750 เมตร ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นน้ำตกที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีชั้นเดียวโดด ๆ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีน้ำตกสวยงาม บริเวณน้ำตกมีอาณาเขต 6 กิโลเมตร สภาพป่าโดยรอบเป็นป่าสมบูรณ์เต็มไปด้วยไม้ใหญ่นานาชนิด ระหว่างทางเข้าสู่ตัวน้ำตกนั้นจะลัดเลาะเลียบไปตามลำธารสองข้างทางมีความร่มรื่นเย็นสบายตลอดเส้นทาง
น้ำตกสองนาง ต้นกำเนิดจากเขาห้วยบง มีทั้งหมด 12 ชั้น มีขั้นความสูงตั้งแต่ 5-100 เมตร ซึ่งสามารถเดินชมทั้ง 12 ชั้น ได้ภายในวันเดียว
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติทางอุทยานฯ ได้จัดเส้นทางเดินเท้า เพื่อศึกษาธรรมชาติในระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวก ปัจจุบันทางอุทยานฯ ยังไม่มีบ้านพัก และร้านค้าจำหน่ายอาหารบริการให้แก่นักท่องเที่ยว แต่ได้จัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ไว้ให้ โดยไม่อนุญาตให้เข้าไปกางเต็นท์ใกล้บริเวณน้ำตก นักท่องเที่ยวควรเตรียมเต็นท์ อาหาร น้ำดื่ม ของใช้ ที่จำเป็นไปเอง โดยทางอุทยานฯ คิดอัตราค่าธรรมเนียมเด็ก 10 บาท และผู้ใหญ่ 20 บาท
การเดินทางสู่งอุทยานแห่งชาติตาดหมอก ใช้เส้นทางสายหน้าศาลากลาง ไปทางทิศตะวันออก (ทางหลวงหมายเลข 2271) ผ่านบ้านเฉลียงลับ จนกระทั่งบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 2275 (บ.ห้วยใหญ่-บ.น้ำร้อน) ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร เมื่อถึงสามแยกให้เลี้ยวขวาไปทางบ้านน้ำร้อนประมาณ 300 เมตร (ทางหลวงหมายเลข 2275) จะพบทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติตาดหมอก อยู่ทางด้านซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายตามเส้นทางสาย รพช. (บ้านเฉลียงลับ-น้ำตกตาดหมอก) เป็นทางลาดยางถนนแคบและคดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามไหล่เขาที่ค่อนข้างสูงชันประมาณ 20 กิโลเมตร จะถึงบริเวณลานจอดรถ จากนั้นต้องเดินเท้าอีกประมาณ 1,800 เมตร จึงจะถึงบริเวณน้ำตก
หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์
เป็นหอประชุมขนาดใหญ่ ใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจัดเป็นการแสดงภาพและของเก่าจากกรมศิลปาการ บางส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคต่างๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนที่ 2 จัดเวทีการแสดงทางด้านประวัติศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์
หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ |
วัดช้างเผือก
เป็นที่ประดิษฐานศพของพระครูพชราจารย์ หรือหลวงพ่อทบ ที่บรรจุศพอยู่ในโลงแก้ว ซึ่งศพของท่านไม่เน่าเปื่อย และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์และผู้ที่เดินทางผ่าน ในเดือนมีนาคมจะมีงานประจำปีครบรอบวันมรณภาพของหลวงพ่อทบเป็นประจำทุกปี การเดินทาง จากตัวเมืองเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ถึงสามแยกวังชมพูเลี้ยวซ้านไปตามเส้นทางอำเภอหนองไผ่ อยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 118 ก่อนถึงสามแยกบ้านนายมซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าวัดไปอีกประมาณ 700 เมตร
ประวัติหลวงพ่อทบ:http://www.luangporthob.com/index.php?option=com_content&task=view&id=28&Itemid=52
วัดช้างเผือก ที่มีร่างหลวงพ่อทบ ที่ไม่เน่าเปื่อย |
พ่อเมืองประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ในวันสารทไทย |
งานแสดงแสงสีเสียงอุ้มพระดำน้ำ |
เสาหลักเมือง อายุมากที่สุดในประเทศไทย |
อุทยานวิทยาศาสตร์หนองนารี แหล่งพักผ่อน |
บรรยากาศของอ่างเก็บน้ำป่าแดง |
หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ แหล่งเรียนรู้ชีวิตชาวเพชรบูรณ์ |
อีกมุมของหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ |
หอนาฬิกาเขาค้อ-เขาทราย ใจกลางเมือง |
หลวงพ่อทบ เกจิดังเมืองเพชรบูรณ์ |
วัดไตรภูมิ สถานที่ประดิษฐ์ฐานพระพุทธมหาธรรมราชา ที่ใช้ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ |
จวนผู้ว่าเก่า ที่ดัดแปลงเป็นสวนสาธารณะเพชบุระ ที่มีตำราพิชัยสงครามให้ดู |
ซุ้มประตูนครบาลเพชรบูรณ์ |
ขอขอบคุณที่มาจากเว็บ http://phetmedia.blogspot.com‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook