LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
ท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอน้ำหนาว

อำเภอน้ำหนาว 

 


ความเป็นมาของอำเภอน้ำหนาว

อำเภอน้ำหนาว เมื่อ พ.ศ.2400 เดิมเป็นเพียงกลุ่มบ้านเล็กๆ มีบ้านเรือนประมาณ 4 – 5 ครอบครัว ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านห้วยน้ำหนาวกลุ่มบ้านดังกล่าวเป็นชุมชนที่ยังไม่ถาวรมีการเคลื่อนย้ายหมู่บ้านเมื่อมีการเจ็บป่วยล้มตาย หรือเกิดโรคระบาดของคนในหมู่บ้านประชาชนจะอพยพครอบครัวหนีโรคร้ายเข้าไปอาศัยอยู่ตามป่าเขา ไร่นา เมื่อโรคร้ายสงบลงจึงอพยพกลับถิ่นเดิมหรือไปตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นใหม่โดยมีความเชื่อกันว่า ผีกิน หรือผีมารังควาน เมื่อย้ายหมู่บ้านคราใดก็เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านไปเรื่อยๆ ตามสภาพที่ตั้งของหมู่บ้าน เช่น บ้านห้วยขอนเปลือย บ้านโนนจำปาบ้านโคกลานกลอย บ้านห้วยตำแย บ้านห้วยน้ำหนาว และบ้านท่าไร่เป็นต้น หมู่บ้านทั้งหมดนี้ ขึ้นต่อการปกครองตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า ต่อมามีการตั้งหมู่บ้านขึ้น ได้แก่ บ้านนาพอสอง บ้านห้วยหอย ( บ้านวังกวาง ) บ้านตาดข่า บ้านกกกล้วยนวล ทำให้การตรวจตราและดูแลราษฎรของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก พ.ศ. 2457 ทางราชการได้แยกพื้นที่บ้านห้วยน้ำหนาวออกจากตำบลหล่มเก่าตั้งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอหล่มเก่า เรียกว่า “ ต.น้ำหนาว ” กำนันตำบลน้ำหนาวคนแรกคือ นายมูล คัมภีร์ อยู่ที่บ้านห้วยลาด ปี พ.ศ.2487 รัฐบาลได้ตราพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ได้มีการสำรวจและเกณฑ์แรงงานราษฎรจากจังหวัดต่างๆ สร้างเส้นทางจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สู่จังหวัดเพชรบูรณ์โดยเริ่มต้นทางเส้นทางที่บ้านศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ผ่านบ้านวังกวาง ภูผาลา บ้านหลักด่าน ป่าห้วยอีหม้อ บ้านตาดกลอย สู่เขตอำเภอหล่มเก่า บ้านกกกระทอน หัวหน้าคณะผู้สำรวจเส้นทางในสมัยนั้น คือ นายช่างเต็ม วิภาคย์จนกิจ การก่อสร้างเส้นทางดังกล่าว ผู้คนต้องมาเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บโดยเฉพาะไข้มาลาเรียในป่าน้ำหนาวเป็นจำนวน มาก ตรงบริเวณข้างสะพานห้วยผาลาเป็นสุสานที่ฝังศพของผู้เสียชีวิตเส้นทางสายนี้ก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องลาออก การก่อสร้างดังกล่าวจึงถูกยกเลิกไป
พ.ศ.2521 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศตั้งกิ่งอำเภอน้ำหนาว โดยแยกพื้นที่ตำบลน้ำหนาวออกจากอำเภอหล่มเก่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลคมนาคม เจ้าหน้าที่ของรัฐออกตรวจตราและเยี่ยมเยือนราษฎรไม่ทั่วถึง เพราะเป็นพื้นที่ชายแดนมีอาณาเขตติดต่อกับ 3 จังหวัด 4 อำเภอประกอบกับมีการแทรกซึมของผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์ และยากต่อการปราบปรามซึ่ง ผบ.พตท.1617 และผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์มีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่าควรจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น และกระทรวง มหาดไทยได้ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ตามประกาศ ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2521 โดยให้ขึ้นอยู่กับอำเภอหล่มเก่า
ในปีแรกใช้อาคารเรียนของโรงเรียนชุมชนบ้านนาพอสอง ( ปัจจุบันเป็นโรงเรียนอนุบาล น้ำหนาว ) เป็นที่ทำการชั่วคราว ต่อมาในปี พ.ศ.2523 ทางราชการได้ที่ว่าการกิ่งอำเภอสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2524 เป็นอาคาร 2 ชั้น และใช้เป็นที่ว่าการอำเภอถึงปัจจุบันนี้ นายเน็ด โฉมอุดม ปลัดอำเภอหล่มเก่าเป็นปลัดอำเภอเป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอคนแรก และได้ตั้งเป็นอำเภอตามพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2524 (ข้อมูล: 
http://www.konnamnao.com/)


รู้จักแหล่งท่องเที่ยว


อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์ ได้รับความนิยมในหมู่นักเดินทางที่ชอบการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ครอบคลุมพื้นที่ป่ารอยต่อสองจังหวัด คือ ในเขตอำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์และอำเภอคอนสาน จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่รวม 603,750 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิประมาณ 2-5 องศาเซลเซียส เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย มีสัตว์ป่าชุกชุมรวมทั้งนกชนิดต่าง ๆ ตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติบนเขาสูงผ่านจุดชมวิวริมหน้าผาสวยงาม อาทิ ผากลางโหล่น ผาล้อม ผากอง นอกจากนั้นยังมีถ้ำและน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาน จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 966 ตารางกิโลเมตร หรือ 603,750 ไร่ 
ฤดูกาลท่องเที่ยว
… ฤดูหนาว โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม – มกราคม ( พระอาทิตย์ยามเช้าสวยงามมาก )


ประวัติความเป็นมา :-


ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ให้กำหนดป่าน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2511 กรมป่าไม้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่บริเวณป่าน้ำหนาว ปรากฎว่ามีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2513 เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2513 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 143 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 กำหนดบริเวณป่าน้ำหนาวในท้องที่ตำบลบ้านโคก อำเภอเมือง ตำบลบ้านกลาง ตำบลบ้านติ้ว ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก ตำบลน้ำหนาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาน จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ รวมเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ ลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 89 ตอนที่ 71 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2515 เป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 5 ของประเทศไทย ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ (เดิม) กรมป่าไม้ ได้มีหนังสือที่ กส 0708/2214 ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2523 ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุกแห่งได้ตรวจสอบพิจารณาชื่อตำบลที่ตกหล่นในอุทยานแห่งชาติที่รับผิดชอบ ซึ่งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้มีหนังสือที่ กส 0708(นน)/223 ลงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2525 รายงานว่า ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 143 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ได้กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงท้องที่ตำบลปากช่อง และตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วย แต่มิได้ระบุชื่อตำบลทั้ง 2 ไว้ กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2523 ้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2523 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดขยายเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมตำบลที่ตกหล่นได้ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในท้องที่ตำบลท่าอิบุญ ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2525 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 88 ตอนที่ 137 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2525
ตามที่ กรมป่าไม้ ได้จัดงานวันสถาปนากรมป่าไม้ครบรอบ 104 ปี เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2543 โดยได้จัดประกวดอุทยานแห่งชาติดีเด่นด้านการท่องเที่ยวประจำปี 2543 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ปีท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ 2543 และคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกอุทยานแห่งชาติดีเด่นด้านการท่องเที่ยว ปี 2543 ปรากฎว่า อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ได้รับรางวัล ” รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ” ในการประกวด อุทยานแห่งชาติดีเด่น ประจำปี 2543 

สถานที่น่าสนใจ :-
ถ้ำผาหงษ์ ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 39 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ( ดอยหล่มสัก – ชุมแพ ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 300 เมตร มีลักษณะเป็นเขาสูง มีทางเท้าเดินขึ้นยอดเขาประมาณ 200 เมตร เพื่อ ชมทิวทัศน์และชมพระอาทิตย์ตกในตอนเย็น ภายในถ้ำมี หินงอกหินย้อย ที่สวยงาม 
สวนสนบ้านแปก ( ดงแปก ) ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 49 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ( ดอยหล่มสัก – ชุมแพ ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าสนสองใบ ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่เพียงชนิดเดียวตามธรรมชาติ ต้นไม้พื้นล่างประกอบด้วยทุ่งหญ้าและหญ้าเพ็กเป็นจำนวนมาก มีความสวยงาม 
สวนสนภูกุ่มข้าว ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 53 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ( ดอยหล่มสัก – ชุมแพ ) มีทางลูกรังมาตรฐานจากแยกกิโลเมตรที่ 53 ถึงสวนสนภูกุ่มข้าว ระยะทาง 15 กิโลเมตร เป็นป่าสนสามใบ มีต้นสนขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ 30 – 40 เมตร ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติอย่างหนาแน่นแทบไม่มีไม้อื่นปะปนอยู่ มีพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร ไม้พื้นล่างประกอบด้วย ทุ่งหญ้าคา หญ้าเพ็ก จำนวนมากเช่นเดียวกัน ในฤดูแล้งทุ่งหญ้าใต้ต้นสนจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลแก่ พอถึงฤดูฝนใหม่ทุ่งหญ้าเหล่านี้ก็จะกลับเขียวอีกครั้งหนึ่ง เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป โดยเฉพาะฤดูฝนตามทุ่งหญ้าจะมีพันธุ์ไม้หลากสีนานาพรรณขึ้นอยู่อย่างสวยงามมาก…. บริเวณสวนสนนี้ มีเนินเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง เรียกว่า ” ภูกุ่มข้าว ” สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 880 เมตร เป็นเนินเขาที่เป็นจุดเด่นจุดหนึ่งท่ามกลางสวนสน เมื่อขึ้นไปยืนบนเนินเขาภูกุ่มข้าว จะเห็นแนวยอดสนอยู่ในระดับสายตา สามารถมองเห็นแนวยอดสนเป็นแนวติดต่อกันเป็นพืดทั้งสี่ด้านของภูกุ่มข้าว ดูแล้วคล้ายๆ ท้องทะเลของยอดสน เมื่อมองไปทางทิศใต้จะเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ ( น้ำพรม ) ที่กว้างใหญ่ 


น้ำตกเหวทราย ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 67 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ( ดอยหล่มสัก – ชุมแพ ) ระยะทางเดินเท้า 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยสนามทราย ซึ่งมีต้นน้ำที่ป่าดงดิบชื่อ ดงแหน่ง ไหลผ่านป่าซำผักคาว ลำห้วยสนามทรายนี้เป็นแนวธรรมชาติที่แบ่งเขตแดนระหว่างกิ่งอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ กับอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ น้ำตกเหวทราย เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 20 เมตร บริเวณด้านใต้น้ำตกมีแอ่งน้ำลึก สามารถลงเล่นน้ำ และใต้น้ำตกมีชะง่อนหินขนาดใหญ่เป็นเพิงสามารถพักแรมหลบฝนได้ บรรยากาศบริเวณลำห้วยน่าเดินเล่น มีต้นไม้ปกคลุมตลอด ในฤดูฝน น้ำตกมีปริมาณน้ำมากและสวยงามมาก
น้ำตกทรายทอง เป็นน้ำตกที่อยู่ห่างจากน้ำตกเหวทรายประมาณ 500 เมตร มีความกว้างที่สุดประมาณ 30 เมตร สูง 4 เมตร มีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะในฤดูฝน น้ำตกมีปริมาณน้ำมากตกลงมาเป็นหน้ากว้าง 30 เมตร สวยงามมากเช่นเดียวกัน 
ภูผาจิต ( ภูด่านอีป้อง ) ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 69 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ( ดอยหล่มสัก – ชุมแพ ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 10 กิโลเมตร ทางค่อนข้างลำบาก ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 6 – 7 ชั่วโมง สภาพป่าสวยงามมาก ลักษณะเด่นตั้งโดดเดี่ยวบนที่ราบสูง ลักษณะสันฐานคล้ายภูกระดึงแต่เล็กกว่า เป็นภูเขาที่มียอดราบแบบโต๊ะ มีไม้สนขึ้นอยู่ประกอบด้วยป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้มีค่าหลายชนิด ภูเขานี้มี ยอดสูงสุด ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว สูง 1,271 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 
ผาล้อมผากอง ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 40 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย – อำเภอหล่มเก่า หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูผากลางดง ( ซำม่วง ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5 – 7 กิโลเมตร ลักษณะเป็นภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1,134 เมตร เป็นเขาหินปูน เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบๆ บริเวณได้ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยพรรณไม้ที่มีค่ามาก บริเวณใกล้เคียงยังมีผากลางโหล่น มีความสูงประมาณ 850 เมตร ผาต้นฮอม มีความสูงประมาณ 900 เมตร ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามมากเช่นเดียวกัน 


ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ( ภูน้ำริน ) ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 60 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย – อำเภอหล่มเก่า บ้านหินลาด มีทางลูกรัง รถยนต์เข้าถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวถ้ำใหญ่ถ้ำน้ำหนาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเขาหินปูนสูงประมาณ 955 เมตร ทำให้เกิดเป็นถ้ำน้ำหนาว เป็นถ้ำใหญ่มีความงามวิจิตรพิสดารโดยธรรมชาติ มี หินงอกหินย้อย และที่แปลกที่สุดคือ มีน้ำไหลหรือน้ำรินออกจากปากถ้ำ ภายในถ้ำยังเป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมากอีกด้วย ความลึกของตัวถ้ำ เนื่องจากเป็นถ้ำที่มีความลึกมากจึงไม่มีใครทราบแน่ชัด

น้ำตกตาดพรานบา ทางเข้าอยู่ใกล้ที่ว่าการกิ่งอำเภอน้ำหนาว กิโลเมตรที่ 20 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย – อำเภอหล่มเก่า เป็นทางลูกรัง รถยนต์เข้าถึงน้ำตก มีลักษณะเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ปานกลาง ตกจากหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตร น้ำตกจากหน้าผาสูงพุ่งเป็นลำสู่เบื้องล่างเป็นสองชั้น มีน้ำซึ่งเกิดจากลำน้ำเชิญตลอด สาเหตุที่น้ำตกมีชื่อว่า ” ตาดพรานบา ” เนื่องจากพรานบาเป็นผู้เข้าไปพบน้ำตกแห่งนี้เป็นคนแรก สำหรับคำว่า ตาด นั้นเป็นภาษาพื้นบ้านท้องถิ่นหมายถึง น้ำตก

จุดชมวิวภูค้อ ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 46 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ( ดอยหล่มสัก – ชุมแพ ) เป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวสามารถชม พระอาทิตย์ขึ้น ในยามเช้า นอกจากนี้ทางอุทยานฯ ยังได้จัดทำเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ป่าเปลี่ยนสี บริเวณกิโลเมตรที่ 63 -70 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ( ดอยหล่มสัก – ชุมแพ ) ในประมาณเดือน ธันวาคม – มกราคม ของทุกปี ผืนป่าบริเวณนี้ซึ่งเป็นป่าผสมผลัดใบ ก่อนที่พันธุ์ไม้จะผลัดใบจะมีปรากฎการณ์ธรรมชาติของป่าเปลี่ยนสีที่สวยงามน่าชมยิ่ง 


เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้จัดทำทางเดินเท้าสำหรับเที่ยวชมธรรมชาติในป่าไว้หลายสาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวผู้ชอบเดินป่าสามารถชมธรรมชาติได้ทั่วถึง ดังนี้
– เส้นทางเดินสายแรก เป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางแยกใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ระหว่างทางจะได้เห็นสัตว์ป่าบางชนิด ได้แก่ หมาไม้ และ นกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะในฤดูฝนจะพบรอยช้างจำนวนมาก เส้นทางนี้วนกลับออกมาสู่บริเวณทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ


– เส้นทางเดินชมป่าสายที่ 2 เริ่มจากทางเดินตรงข้ามที่ทำการอุทยานฯ ลัดเลาะผ่านป่าเต็งรัง ผ่านบ่อดินโป่ง ซึ่งมีช้าง กวาง และสัตว์อื่นๆ ไปกินอยู่เสมอ ทางสายนี้จะไปสิ้นสุดที่หน่วยพิทักษ์อุทยานซำบอน รวมระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร และถ้าเดินกลับที่พักต้องเดินต่ออีกประมาณ 5 กิโลเมตร หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินชมธรรมชาติต่อสามารถใช้เส้นทางเดินเท้าอันราบเรียบที่ทางอุทยานจัดไว้ โดยเริ่มต้นจากหน่วยพิทักษ์อุทยานซำบอน เส้นทางนี้ผ่านใจกลางอุทยานแห่งชาติ สุดทางจะเป็นจุดเด่นอยู่ท่ามกลางสวนสน เมื่อขึ้นไปยืนอยู่บนเนินภูกุ่มข้าวจะเห็นยอดสนในบริเวณสวนสนอยู่ในระดับสายตาเป็นแนวติดต่อกันเป็นพืดทั้งสี่ทิศ มองดูแล้วคล้ายๆ กับท้องทะเลยอดสนก็มิปาน และระหว่างทางเดินก็อาจจะได้พบสัตว์ป่า เช่น ช้าง กวาง เก้ง อีกด้วย ระยะทางจากหน่วยพิทักษ์อุทยานซำบอนถึงสวนสนประมาณ 12 กิโลเมตร
– เส้นทางชมธรรมชาติสายที่ 3 อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปประมาณ 800 เมตร เป็นทางเข้าชมป่าสน หรือภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ” ป่าแปก ” ทางสายนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมไม้สนขึ้นเรียงรายอยู่เป็นระยะๆ และอาจจะได้พบช้างป่า กวาง เก้ง รวมทั้งรอยเท้าเสือด้วย 
สภาพภูมิประเทศ :- 
ป่าน้ำหนาวเป็นเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง ทอดยาวผ่านจังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะภูผาจิต ภูกุ่มข้าว และเทือกเขาโดยรอบประกอบขึ้นเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของลำธารสายยาว เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำเขิญ ซึ่งไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์ 
สภาพภูมิอากาศ :-
โดยทั่วไปอากาศหนาวเย็นในตอนดึกและตอนเช้า ส่วนใหญ่ตอนกลางวันอากาศเย็นสบาย จึงกล่าวได้ว่า อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25 องศาเซลเซียส ในฤดูฝน จะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม ส่วนใหญ่ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก จนบางครั้ง น้ำค้างจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในเดือนธันวาคมและมกราคม ซึ่งในบางปีอุณหภูมิจะลดต่ำถึง 0 องศาเซลเซียส 


พรรณไม้ :-
ป่าน้ำหนาวเป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกัน ประกอบด้วยป่าหลายชนิด คือ ป่าเต็งรัง หรือป่าแดง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และทุ่งหญ้า 
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ประดู่ แดง มะค่า ชิงชัน เต็ง รัง ยาง ตะเคียน สนเขา ก่อ สมุนไพร และกล้วยไม้ต่างๆ 
สัตว์ป่า :-
เนื่องจากป่าส่วนหนึ่งเป็นป่าโปร่งสลับกับทุ่งหญ้าและป่าดิบ มีดินโปร่งและน้ำไหลผ่านตลอดปี จึงทำให้ป่านี้มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง กวาง เก้ง หมีควาย หมีคน เลียงผา หมาป่า กระจง เม่น หมูป่า และกระต่ายป่า สำหรับช้างป่านั้นมีอยู่ทั่วไป ซึ่งเราจะเห็นกองมูลช้างที่ถ่ายไว้ริมทางหลวงอยู่เสมอ นอกจากนี้ป่าน้ำหนาวยังมีเสือโคร่ง เสือดาว ค่าง 
นก ( Avian Fauna ) มีมากกว่า 200 ชนิด ตามทางเดินในป่าจะพบนกสีสวยๆ อยู่เสมอ เช่น นกแก้ว นกขุนแผน นกหก นกพญาปากกว้าง นกเดินดง นกแต้วแร้ว นกโพระดก นกหัวขวาน นกเงือก นกกระจ้อย นกกินแมลงชนิดต่างๆ ไก่ฟ้าพระยาลอ และไก่ป่า 
ผีเสื้อ มีความหลากหลายของผีเสื้อมากกว่า 340 ชนิด 


สถานที่พักแรม :-
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว มีบ้านพัก และสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :-
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ. เพชรบูรณ์ 67260 
โทรศัพท์056-810724,08-1962-6236
หรือที่เว็บไซต์ 
http://www.dnp.go.th/ 


ข้อควรปฏิบัติในการเที่ยวอุทยานฯ :-
1. ไม่ทำการยึดถือ ครอบครอง แผ้วถางป่า นำออกไปซึ่งแร่, ดิน, หิน, พรรณไม้ และสัตว์ป่า ตลอดจนของป่าทุกชนิด 
2.ไม่ล่าสัตว์และไม่นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ 
3.ไม่ทำเสียงดังจนเป็นที่รบกวนแก่นักท่องเที่ยวและสัตว์ 
4.ต้องช่วยระมัดระวังมิให้เกิดไฟไหม้ป่า หากมีความจำเป็นต้องก่อไฟ เมื่อเสร็จแล้วกรุณาช่วยดับให้เรียบร้อย 
5. หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ 


การเดินทาง :- การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว สามารถเดินทางได้ดังนี้
ทางรถยนต์ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 103 กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอหล่มสักประมาณ 55 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ตามทางหลวงหมายเลข 12 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 50 มีป้ายชี้ทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นทางลูกรัง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร 
ทางรถประจำทาง สามารถขึ้นรถจากขอนแก่นหรือหล่มสัก ซึ่งผ่านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ทุกวัน 
แผนที่ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว :-


ที่มา :: http://www.siamsouth.com

 

 

เขตปกครองตำบลของอำเภอน้ำหนาว
ประวัติความเป็นมา: ตำบลวังกวาง

บ้านวังกวาง ตั้งอยู่บนเทือกเขาเพชรบูรณ์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำหนาว มีลำน้ำห้วยหอยไหลผ่านลงไปสู่ลำน้ำพอง (น้ำฟองในภาษาถิ่น) บ้านวังกวางตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2385 โดยชาวบ้านท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก ที่ถูกเกณฑ์มาร่วมสงครามคราวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ (อาณาจักรล้านช้าง ประเทศลาวในปัจจุบัน) กับกองทัพเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อยบุญรัตพันธ์) สมุหนายก หลังเสร็จสงครามจึงอพยพครอบครัวขึ้นมาตั้งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เรียกว่าบ้านห้วยหอยตามชื่อลำน้ำห้วยหอยห่างจากบ้านวังกวางไปประมาณ 2 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2466 เกิดโรคไข้ทรพิษระบาดประชาชนอพยพหนีไปอยู่กับหมู่บ้านอื่นและตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่อีก 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านน้ำพาง บ้านไร่เหนือ (ไร่แปหรือบ้านไร่ใต้ในปัจจุบัน) และบ้านวังกวางซึ่งตั้งตามชื่อวังน้ำในลำน้ำห้วยหอยซึ่งไหลโค้งเป็นรูปเกือกม้า ก่อน พ.ศ. 2500 ที่ตั้งหมู่บ้านวังกวางเป็นป่าดิบเขามีสัตว์ป่าชุกชุม เช่น เก้ง กวาง เสือ หมูป่า ช้างป่า ฯลฯ มาหากิน ถูกฝูงหมาป่าไล่ตกลงไปในวังน้ำแห่งนี้กวางเป็นสัตว์เชื่องช้าช่วยตัวเองในน้ำไม่ได้ทำให้ชาวบ้านจับกวางได้ในวังน้ำนี้บ่อย ๆ จึงเรียกชื่อวังน้ำนี้ว่า วังกวางมาจนถึงทุกวันนี้ สถานที่ตั้งของตัวตำบลวังกวาง อยู่ในเขตหมู่ที่ 1, 2 บ้านชื่อว่าบ้านวังกวางในปี พ.ศ. 2524 ได้มีราษฎรได้อพยพมาอยู่กันมากขึ้น ภายใต้การนำของอดีตกำนันตำบลวังกวาง นายเสงี่ยม ทองอิฐ จึงได้ขอให้ทางราชการแยกหมู่บ้าน และได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้านและในปีเดียวกันนายเสงี่ยม ทองอิฐ และราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตหมู่บ้านต่าง ๆ ร่วมกันขอให้ทางราชการแยกเขตหมู่บ้านอีกจำนวน 10 แห่ง เพื่อตั้งเป็นตำบลและได้รับประกาศจัดตั้งเป็นตำบล เมื่อ พ.ศ. 2524 โดยใช้ชื่อตำบลวังกวาง อย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2542 ได้ยกฐานะสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีนายสว่าง พุทธิวงศ์ เป็นประธานกรรมการสภา นายเสงี่ยม ทองอิฐ เป็นประธานกรรมการบริหาร ส.ต.ท. พิมล สินประเสริฐรัตน์ เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล และกรรมการอีก 7 คน เป็นคณะบริหารชุดแรก (ข้อมูลเว็บ อบต.วังกวาง)






สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญขอแนะนำ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ( หน่วยหนองผักบุ้ง) เส้นทางขึ้นภูกระดึงทางด้านอ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความเป็นธรรมชาติ เพราะตลอดเส้นทางเดินเท้าเพือขึ้นไปสัมผัสธรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าตลอดเส้นทาง  การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางไม่สะดวกนัก จึงต้อง เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว มาที่อ.น้ำหนาว จากนั้นก็เดินทางต่อไปที่บ้านฟองใต้ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จะมีจุดบริการสำหรับนักท่องเที่ยว ของ อบต.วังกวาง สามารถฝากรถไว้ที่จุดบริการนี้ได้ และเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง(หน่วยหนองผักบุ้ง) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นปีนเขาขึ้นยอดภู จากนั้นต้องเดินเท้าอีก 5 กิโลเมตร จึงจะถึง “ป่าก่อ” ซึ่งเป็นจุดที่ให้นักท่องเที่ยวกางเต็นท์ แล้วจึงเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้นอีกประมาณ 500 เมตรก็จะถึงผาหล่มสักซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

• การติดต่อสอบถามข้อมูล โรงเรียนบ้านฟองใต้ 056-760122
  

ประวัติความเป็นมา : ตำบลหลักด่าน



ตำบลหลักด่าน แต่เดิมเป็นบ้านลัดด่านที่อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอหล่มเก่าชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางเดินทางไปจังหวัดเลย และตำบลวังกวาง จึงเรียกชื่อว่าบ้านลัดด่าน ต่อมามีการจัดตั้งอำเภอน้ำหนาว บ้านลัดด่านจึงขึ้นอยู่กับการปกครองของอำเภอน้ำหนาว กลายมาเป็นตำบลหลักด่านในปัจจุบัน




สภาพทั่วไปของตำบล :


ตำบลหลักด่านตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอน้ำหนาว โดยมีระยะห่างจากอำเภอโดยประมาณ 40 กม. พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงอยู่ในเขตอุทยานน้ำหนาวเป็นบางส่วนราษฎรประกอบอาชีพทำไร่  มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว  มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่าถ้ำแห่งนี้ มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในอดีตก่อนที่จะมีบ้านห้วยลาดบริเวณนี้มีหมู่บ้านเก่าแก่อยู่หมู่บ้านหนึ่ง ชาวหมู่บ้านนี้มีความศรัทธายิ่งในพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเดือนหก (เดือนพฤษภาคม)ของทุกปี จะมีการทำบุญเดือนหก สมัยนั้นมีความเชื่อกันว่าบริเวณถ้ำใหญ่มีทางเดินที่สามารถเข้าสู่เมืองบาดาลได้ ทุกๆปีพญานาคและบริวารจะแปลงกายเป็นมนุษย์รูปร่างงดงามทั้งชาย-หญิง และแต่งกายอย่างงดงามโดยทุกตนจะถือขันทองคำใส่อาหารมาร่วมทำบุญเดือนหกกับชาวบ้านที่วัดบ้านธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของถ้ำใหญ่ไปประมาณ 500 เมตร



แต่มาปีหนึ่งหลังการบุญเสร็จสิ้น ปรากฏว่าขันทองคำของพญานาคได้หายไปหนึ่งใบ พญานาคและบริวารต่างพากันออกค้นหา และสอบถามจากพระสงฆ์ สามเณร ชาวบ้าน แต่ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือนำขันทองคำไป ซึ่งตามตำนานระบุว่าความจริงแล้วมีสามเณรรูปหนึ่งเป็นผู้ขโมยขันทองคำไป


เมื่อพญานาคและบริวารไม่สามารถหาขันทองคำได้จึงโกรธและประกาศจะไม่มาทำบุญร่วมกับชาวบ้านตลอดไป พร้อมกับแปลงร่างจากมนุษย์กลายเป็นพญานาคพากันเลื้อยหายเข้าไปในถ้ำใหญ่เกิดเป็นเสียงก้องกัมปนาทและพื้นพสุธาหวั่นไหว ทำให้พระสงฆ์ สามเณรและชาวบ้านต่างพากันวิ่งหนี แต่แผ่นดินที่ตั้งของวัดบ้านธาตุและบริเวณใกล้เคียงได้ดูดกลืนผู้คน ทั้งพระสงฆ์ สามเณร พร้อมทั้งชาวบ้านอีก 50 ครัวเรือนหายไป ส่วนสามเณรที่ขโมยขันทองคำไป ได้วิ่งหนีอย่างสุดชีวิตไปทางหน้าถ้ำเพื่อที่จะขึ้นถ้ำใหญ่ เมื่อก้าวได้ 7-8 ก้าว แผ่นดินก็ได้ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว เป็นหลุมลึกมากซึ่งต่อมาจึงเรียกหลุมหรืออุโมงค์นี้ว่า “หลุมเณร” หรือ “หลุมหิน” มาจนถึงปัจจุบัน

และนั่นก็คือตำนานของถ้ำใหญ่ที่เล่าขานสืบต่อกันมา จนเกิดเป็นประเพณีท้องถิ่นขึ้น นั่นก็คือ งานบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญานาค(พระยาแถน) ที่จัดขึ้นในเดือนแปดของทุกๆปีเพื่อให้เจ้าพ่อปกปักรักษาและให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนี้ยังมีงานเลี้ยงประจำปี “เจ้าพ่อถ้ำใหญ่” ที่จัดขึ้นในเดือนหกของทุกๆปี เจ้าพ่อถ้ำใหญ่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งถ้ำใหญ่น้ำหนาวที่ชาวบ้านละแวกนั้นต่างเคารพศรัทธา ซึ่งเชื่อกันว่า เจ้าพ่อถ้ำใหญ่ก็คือพญานาคนั่นเอง นอกจากตำนานเกี่ยวกับพญานาคแล้ว ภายในถ้ำใหญ่น้ำหนาวยังเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยมากมาย อีกทั้งภายในถ้ำยังมี ลำธารธรรมชาติที่มีน้ำใสเย็นจัดตลอดทั้งปี ไหลออกมาจากปากถ้ำโดยไม่เคยเหือดแห้ง นอกจากนี้ยังมีถ้ำย่อยแยกออกไปเป็นจำนวนมาก แบ่งเป็น 3 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรกระยะทางประมาณ 400 เมตร มีทางเดินเท้าไปตามคูหาต่างๆ ซึ่งมีหินงอกหินย้อยและเสาถ้ำให้ชม โดยจะไปสิ้นสุดที่คูหาซึ่งมีม่านหินอันงดงาม


ช่วงที่ 2 จากระยะทาง 400-1,000 เมตร ภายในถ้ำมีหินเป็นก้อนเหมือนเศษหินที่ร่วงลงมาจากถ้ำแต่ก็ไม่พบที่มาแต่อย่างใด


ส่วนช่วงที่ 3 มีระยะทางจาก 1,000 เมตร เข้าไป ภายในจะมีลำธารน้ำรินไหล ถ้ำมีความลึกประมาณ 4.5 กิโลเมตร มีไฟติดไว้ตลอดทางทำให้สะดวกในการชมความงามภายในถ้ำ ซึ่งนี่ถือถือเป็นถ้ำหินปูนที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย


“ถ้ำใหญ่น้ำหนาว” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อุทยานฯน้ำหนาว บ้านห้วยลาด ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ทางเข้าสู่ถ้ำอยู่บริเวณ กม.60 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย-กกกะทอน โดยจากหน่วยพิทักษ์ของอุทยานฯจะมีเส้นทางเดินเท้าไปสู่ปากถ้ำในระยะทางประมาณ 200 เมตร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-5672-9002 (ข้อมูล: ผู้จัดการออนไลน์ 13 มกราคม 2551 )


ประวัติความเป็นมา : ตำบลโคกมน


จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2539 มีพื้นที่ 100.64 ตารางกิโลเมตร จำนวนหมู่บ้านมี 6 หมู่บ้าน อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 12 กม.

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ น้ำตกตาดฟ้า ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ.ดงมะไฟ ต.โคกมน เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่ตกจากหน้าผาสูงชันลงสู่เบื่องล่าง และเป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลตลอด

และน้ำตกเหวตาดหมอก ที่ตั้ง อยู่ท้ายวัดโคกมน หมู่ที่ 2 บ้านโคกมน ต.โคกมน อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูณณ์ มีลักษณะเป็นน้ำตกขนาดเล็กลดหลั่นเป็นชั้นๆ ไหลลงสู่เหวลึกขนาดใหญ่ การเดินทาง รถโดยสารประจำทางและรถยนต์์ส่วนตัว จากเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ชุมแพ – หล่มสัก) แยกห้วยสนามทรายเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2216 (ห้วยสนามทราย – กกกะทอน) ระยะทางประมาณ 11 กม.ถึงวัดโคกมนอีก400ม.ถึงน้ำตกเหวตาดหมอก(ข้อมูล: http://www.phufanamnao.com/kongmon.html)

นอกจากนี้ยังสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจตามรายละเอียดนี้ค่ะ

พาลุยต้นกำเนิดแม่น้ำพอง ลาดหินงาม (http://www.chalachalet.com/webboard/view.php?No=79)

สถานที่พักผ่อน ชรา ชาเลย์ (http://www.chalachalet.com/travel.html)
สถานที่พักผ่อน ศรีพฤกษา การ์เด้นโฮม (http://garden.pruksasri.net/
)

 

  

ประวัติความเป็นมา : ตำบลน้ำหนาว

มีเนื้อที่ส่วนหนึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว มีเนื้อราว 620 ตารางกิโลเมตร( 378,500ไร่ )จัดว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่อุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิดและป่าไม้นานาพรรณ ในป่าน้ำหนาวมีไม้พระพุทธเจ้าห้าพระองค์หรือไม้แสนตาล้อมซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่เชื่อว่ามีแห่งเดียวในประเทศไทยในเขตตำบลหลักด่านผลของไม้มีผล คล้ายรูปพระพุทธเจ้า 5 พระองค ์อันได้แก ่พระกกุสันโธ พระกัสสโป พระโคตาโมและพระอริยเมตไตรย


“น้ำหนาว” เป็นชื่อของลำน้ำที่ไหลออกมาจากถ้ำใหญ่น้ำหนาว บริเวณหมู่ 5 บ้านห้วยลาด ตำบลหลักด่าน ซึ่งไหลผ่าน อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในทิศเหนือ ในปี พ.ศ. 2500 ทุกฤดูหนาวลำน้ำแห่งนี้จะหนาวเย็นจัดจนผิวน้ำกลายเป็นแผ่นน้ำแข็ง แม้กระทั่งน้ำค้างที่จับตัวอยู่บนยอดหญ้าและหลังคาก็จับตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็ง จึงเป็นตำนานที่เล่าขานกันสืบต่อกันมา และเป็นที่มาของ คำว่าน้ำหนาวในอดีตอำเภอน้ำหนาวเป็นที่หนีภัยสงครามคราวปราบ ขบถเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่3 ครั้งที่กองทัพของเจ้าพระยาอภัยภูธร ( น้อยบุญยรัตพันธ ์) สมุหนายกยกทัพมาปราบที่เมืองหล่มเก่า รวมทั้งเป็นแหล่งหลบซ่อนของผู้กระทำความผิดทางอาญาในสมัยโบราณ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าเขาที่สูงชันไม่เอื้ออำนวยในการค้นหาและติดตาม


สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ  http://namnao.go.th/default.php?bmodules=html&html=place

‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ท่องเที่ยว ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด