จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้านธรณีวิทยาและวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งหลายประการ กล่าวคือ เพชรบูรณ์มีภูมิประเทศที่มีเทือกเขาขนาดใหญ่ขนาบอยู่ทั้ง 2 ข้าง ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ที่สำคัญคือ เป็นรอยต่อปะทะกันของอนุแผ่นผิวโลก (Micro Plate) สองผืนมาชนกัน ได้แก่อนุแผ่นผิวโลกเก่า อินโด-ไชน่า (Indo-China Micro Plate) ทางฝั่งตะวันออก และอนุแผ่นผิวโลกใหม่ ชาน-ไทย (Shan-Thai Micro Plate) ทางฝั่งะวันตก ก่อให้เกิดชั้นหินถูกบีบอัดจนทำให้มีลักษณะให้เห็นเป็นแนวหินตั้งขึ้น โดยสามารถสังเกตได้จากหน้าผาแนวหินสองข้างทางของถนนที่วิ่งผ่านบนเขาน้ำหนาว และผลจากการปะทะกันนี้ ยังทำให้มีการยกตัวขึ้นของอนุแผ่นผิวโลกทางฝั่งอีสาน ทำให้มองเห็นขอบแผ่นดินโบราณที่เป็นหินทรายได้ยกตัวสูงขึ้นมาเป็นหน้าผาสีแดง ที่เรียกกันว่า “ผาแดง” ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก อีกด้วย
ตลอดแนวบีบอัดของอนุแผ่นผิวโลกสองผืนดังกล่าว ยังก่อให้ก่อปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาอีกหลายอย่าง นั่นคือ มีเสาหินดึกดำบรรพ์ที่เป็นหินอัคนี ชนิดหินบะซอลต์ (Basalt) ที่เกิดจากลาวาภูเขาไฟที่อยู่ในเปลือกโลก เมื่อประทุขึ้นมาข้างบนผิวโลกแล้วค่อย ๆ เย็นลง ทำให้เกิดการแตกตัวตามธรรมชาติเป็นผลึกแท่ง 6 เหลี่ยม ยาวแทรกจากใต้ดินมาปรากฎบนผิวดิน พบที่น้ำตกซับพลู บ้านซับเจริญ ต.ยางสาว อ.วิเชียรบุรี นอกจากนั้น ตามรอยปะทะกันของอนุแผ่นผิวโลกนี้ ยังปรากฏน้ำพุร้อนหลายจุด เช่น น้ำพุร้อนที่บ้านน้ำร้อน อ.เมืองเพชรบูรณ์ หรือที่ ต.พุเตย ต.พุขาม ต.โคกปรง และต.น้ำร้อน อ.วิเชียรบุรี
ฝั่งอนุแผ่นผิวโลกอินโด-ไชน่า ซึ่งพื้นที่ต่อเนื่องกันมาของแผ่นดินโบราณที่ราบสูงโคราช มีรายงานเรื่องการพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืชคอยาวจำพวก ซอโรพอด ที่เขต อ.น้ำหนาว และมีรอยเท้าสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ บ้านนาพอสอง ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว โดยปรากฏมีประมาณ 300 กว่ารอย มี 3 แถว ความยาวของรอยเดินต่างกัน มีขนาดรอยทั้งใหญ่และเล็ก สันนิฐานว่ามีไม่ต่ำกว่า 3 ตัว อายุประมาณ 220-250 ล้านปี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นพวก อาร์โคซอร์ (archosaur) กินเนื้อเป็นอาหาร มีลักษณะและขนาดคล้าย ๆ จรเข้ตัวใหญ่ ๆ เพราะช่วงก้าวไม่เกิน 1 เมตร เดิน 4 ขาแต่หางสั้นพราะไม่มีรอยลากหาง รอยเท้าทั้งหมดปรากฏอยู่บนหน้าผาหินทรายมีความลาดเอียงมากกว่า 60 องศาและมีขนาดสูงเอียงประมาณ 100 เมตร และยาวประมาณ 300 เมตร กว้างใหญ่มาก
ด้านหลังวัดโคกมน ต.โคกมน อ.น้ำหนาว ปรากฏว่ามีหน้าผาหินทรายสีแดงขนาดใหญ่ กว้างและสูงชัน มีความลึกประมาณ 500 เมตร มีน้ำตกไหลลงมาสูงจากยอดหน้าผา รายล้อมด้วยผืนป่าอย่างสวยงาม ลักษณะของผาหินที่เกิดขึ้นนั้น สันนิษฐานว่า พื้นโลกเกิดการยกตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากแรงดันและความร้อนอันมหาศาล ภายใต้พื้นโลก ซึ่งการยกตัวของแผ่นดิน ทำให้ลำธารไหลผ่านลาดชันขึ้น พัดเอาทรายและตะกอนไปตามน้ำ เกิดการกัดเซาะลึกลงไปทีละน้อยๆในเปลือกโลก การสึกกร่อนจนเกิดการพังทลายของหิน บวกกับแรงลมและแสงแดดได้ดำเนินมานานหลายล้านปี จนเกิดความอัศจรรย์ของธรรมชาติ เป็นหุบผาสูงชันแห่งนี้ได้อย่างสง่างามน่าเกรงขาม ซึ่งมีลักษณะการเกิดคล้ายกับการเกิดภูมิประเทศที่เรียกว่า แคนยอน
เลยดั้น เป็นลานหินใหญ่มหัศจรรย์ บ้านห้วยกะโปะ ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว เป็นลานหินขนาดใหญ่ขวางทับแม่น้ำเลย ลักษณะหินเป็นก้อนกลมวางเรียงรายอยู่มากมาย เป็นหลุมเป็นบ่อเล็กใหญ่คล้ายครกหินเพราะถูกน้ำกัดเซาะเป็นเวลานานนับร้อยปี โดยน้ำจะไหลลอดใต้ลานหินแล้วทะลุออกไปอีกด้านหนึ่งของลานหินขนาดใหญ่นั้น ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้น ความสวยงามจะเห็นได้ชัดในฤดูแล้ง
ถ้ำใหญ่น้ำหนาว บ้านหินลาด ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว มีลักษณะเป็น เขาหินปูนสูงประมาณ 955 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความงามวิจิตรพิศดารโดยธรรมชาติ มีหินงอก หินย้อย และยังมีซากฟอสซิลสัตว์ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นใต้ท้องทะเลมาก่อน จนมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นพื้นดินและเป็นภูเขาในที่สุด ที่แปลกที่สุดคือ มีน้ำไหลหรือน้ำรินออกจากปากถ้ำ ภายในถ้ำยังเป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมากอีกด้วย โดยมีชนิด ที่เป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ ภายในถ้ำสามารถ แบ่ง ออกได้เป็น 3 ช่วง มีทางเดินเท้าไปตามคูหาต่างๆ ซึ่งมีหินงอกหินย้อยและเสาถ้ำ มีม่านหินงดงาม และมีลำธารน้ำรินไหล ถ้ำใหญ่น้ำหนาวมีความลึกประมาณ 4.5 กิโลเมตร
ส่วนฝั่งอนุแผ่นผิวโลก ชาน-ไทย ซึ่งเป็นผืนอนุแผ่นผิวโลกที่ใหม่กว่า ก็ปรากฏมีซากดึกดำบรรพ์เช่นกันแต่อายุน้อยกว่า เช่น สุสานหอยน้ำจืดกาบเดี่ยว (Gastropod) อายุประมาณ 13 ล้านปี วางตัวปิดทับบนหินบะซอลต์ ที่ ต.โคกปรง อ.วิเชียรบุรีและที่สระน้ำหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ มีการขุดพบซากฟอสซิลปลาน้ำจืดในยุคไมโอซีน (Miocene) 10 กว่าล้านปี ที่บ้านหนองปลา ต.น้ำเฮี้ย อ.หล่มสักและ ต.ท่าพล อ.เมืองเพชรบูรณ์ และคตข้าวสาร ซึ่งเป็นฟอสซิลสัตว์ทะเลเซลล์เดียวในหินปูน ที่วัดถ้ำเทพบันดาล ต.สามแยก อ.วิเชียรบุรี อีกด้วย
โนนหัวโล้น ที่ ต.บ้านติ้ว อ.หล่มสัก มีปรากฏการณ์สายน้ำกัดเซาะผ่านชั้นหินทรายแป้งนานนับแสนปี จนเกิดเป็นเนินดินลักษณะแปลกประหลาด ที่มีรอยถูกน้ำกัดเซาะลงไปจนมองเห็นเป็นชั้นหินทรายแป้งเป็นชั้น ๆ ซึ่งมีลักษณะการเกิดเป็นอย่างเดียวกับ แกรนด์แคนยอน และแพะเมืองผี และมีเนินดินแบบนี้อยู่ที่บ้านน้ำดุก ต.ปากช่อง ด้วย
ภูเขาหินปะการัง ต.ซับพุทรา อ.ชนแดน เขาลูกนี้จะเต็มไปด้วยหินแหลมคมสีขาวอมเทาโผล่ขึ้นมาทั่วบริเวณ ซึ่งเกิดจากหินปูนที่โดนกรดในน้ำฝนกัดกร่อนมานานนับล้านปี จนมีรูปร่างมองดูคล้ายปะการัง
บริเวณทางเดินไปน้ำตกธารทิพย์ ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก ปรากฏมีผนังหินปูนปนโคลนสีเทาดำ เป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่สำคัญที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงจากตะกอนสีเทาดำ เขียวขี้ม้า ไปสู่หินตะกอนสีน้ำตาลแดง นั่นคือ เป็นร่องรอยของการกัดเซาะเป็นริ้วทรายที่ถูกคลื่นซัดเหมือนชายหาด สันนิฐานว่าที่แห่งนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน จากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงทางผิวเปลือกโลก จากทะเลจนกลายเป็นบกและมีการทับถมเพิ่มเติมปรากฏหลักฐานหินเป็นชั้น ๆ ขึ้นมา มีการคดโค้งของชั้นหิน (Folds) และมีรอยชั้นไม่ต่อเนื่อง (Unconformity) ด้วย นัยะสำคัญของสถานที่นี้ ที่ไม่เหมือนที่อื่นคือ เป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของผิวเปลือกโลก จากทะเลกลายเป็นพื้นที่บกและภูเขาในที่สุด แสดงให้เห็นในสถานที่เดียวกันอย่างชัดเจน ซึ่งพบได้ไม่มากในประเทศไทย
ที่บริเวณเนินน้ำทิพย์ ต.นางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ได้พบหินคลอนหรือหินที่เขย่าแล้วมีเสียงดัง ซึ่งเกิดจากการที่ตะกอนจับตัวกันเป็นก้อนหินต่างชนิดกัน เมื่อมีการหดตัวเป็นก้อนหิน เกิดการหดไม่เท่ากัน ส่วนข้างในหดตัวมากกว่า จึงเป็นก้อนหลวม ๆ อยู่ข้างในเปลือกหินอีกที เขย่าจึงมีเสียงเนื่องจากไม่ได้ติดเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนที่เป็นเนื้อหินข้างใน เมื่อทุบดู จะมีหลายสี เช่น สีแดง เหลือง หรือขาว ชื่อทางวิชาการเรียกว่า มวลสารพอก (Concretion)
ตามแนวชนกันของอนุแผ่นผิวโลกนี่เอง ทำให้เกิดมีแร่ธาตุต่าง ๆ โดยเฉพาะแร่โลหะมีค่าเกิดขึ้นมากมาย เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี เป็นต้น โดนเฉพาะแร่ทองคำ เกิดเป็น Gold Belt พาดผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ทั้งหมด ส่วนเรื่องเหมืองแร่ขนาดใหญ่นั้น จังหวัดเพชรบูรณ์มีเหมืองทองคำที่ อ.วังโป่ง และมีบ่อน้ำมันดิบที่ อ.วิเชียรบุรีและ อ.ศรีเทพ และมีคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่เพื่อจะทำเหมืองโลหะมีค่าในจังหวัดเพชรบูรณ์กันมากมาย แต่ก็ได้รับการคัดค้านและต่อต้านจากชาวเพชรบูรณ์
ส่วนความน่าสนใจทางวิทยาศาสตร์ด้านอื่นนั้น เช่น ด้านดาราศาสตร์ ที่น่าสนใจคือมีอุกกาบาต “ร่องดู่” ที่ตกลงมาที่ อ.หล่มสัก เป็นก้อนโลหะขนาดใหญ่พอสมควรเป็นจุดที่น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง ด้านชีววิทยา ได้มีการค้นพบ “แมงกะพรุนน้ำจืด” ที่ลำน้ำเข็ก ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ เป็นความน่าสนใจเรื่องชีววิทยา น่าเป็นแหล่งศึกษาของเยาวชนในเรื่องวงจรชีวิตของสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีการขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบมีเพศและไม่มีเพศ ซึ่งมีพัฒนาการที่น่าสนใจในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเป็นดัชนีการชี้วัดความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม
นอกจากนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ร่วมกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ได้จัดสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์หนองนารี อย่างยิ่งใหญ่และครบครันในสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เช่น หอดูดาว ท้องฟ้าจำลอง โรงหนัง 3 มิติ อาคารพืชควบคุมอุณหภูมิและความชื้น สถานีเลเซอร์ อาคารเกี่ยวกับพืชและสัตว์โบราณ สิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา พลังงาน ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา ฯลฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
ปรากฏกาณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ล้วนแต่มีคุณค่าทางวิชาการทางธรณีวิทยาและวิทยาศาสตร์มหาศาล ซึ่งถือว่าของขวัญอันล้ำค่าที่ธรรมชาติได้มอบให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์ของเรา ที่พวกเราคนเพชรบูรณ์ควรจะได้เรียนรู้และตระหนักในความสำคัญ บทความนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกศักยภาพเหล่านี้ไว้ชั้นหนึ่งก่อน อันจะนำไปสู่การกระตุ้นเตือนในอนาคต ที่เราสามารถจะนำมาร้อยเรียงและนำเสนอ โดยจัดให้ทั้งจังหวัดเพชรบูรณ์เป็น อุทยานธรณีวิทยา (Geo Park) เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาและวิทยาศาสตร์ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่สำหรับผู้ที่สนใจด้านนี้อีกด้วย
ขอขอบคุณทีมา https://wisonk.wordpress.com
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook