ประเพณีฟันตรุษ ตีขนมส่งผีของชาวบ้านบ้านน้ำเลา อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เป็นประเพณีที่แปลก ทำสืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ต้อนรับสิ่งใหม่ในเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง สิ่งสำคัญที่ใช้ประกอบพิธี คือต้นตรุษ ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายต้นข่า พบได้ในป่าลึกเหนือหมู่บ้านน้ำเลา โดยเฉพาะในหุบเขาที่มีน้ำไหลและความชุ่มชื้น โดยนำมามัดติดกับไม้ที่ตั้งเป็นคู่ กลางลานวัดน้ำเลา ลักษณะเหมือนกำแพง ข้างๆจะก่อกองทราย 1 กอง ประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียนไปประดับ ในช่วงเย็นทุกคนจะมารวมตัวกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน และแห่ดอกไม้ที่จัดไว้อย่างสวยงามไปตามเส้นทางในหมู่บ้าน สิ้นสุดที่วัดน้ำเลา และแห่รอบต้นตรุษ 3 รอบ ปักธูปเทียนบนกองทราย พร้อมถวายดอกไม้ จากนั้นจะมีชายแต่งกายด้วยชุดโจงกระเบน ออกมารำดาบรอบต้นตรุษ คล้ายกับเพชฌฆาต ก่อนจะลงมือฟันต้นตรุษ ซึ่งเหมือนเป็นการตัดสิ่งชั่วร้ายออกจากปีเก่าต้อนรับสิ่งใหม่ในปีต่อไป และยังเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นจึงเป็นการรำถวายดอกไม้ กิจกรรมการตีกินขนม และการส่งผี เป็นพิธีคล้ายกับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งให้ผีกิน โดยจะมีเด็กและหนุ่มสาวแต่งกายเป็นผีชนิดต่างๆ รวมตัวกันเหนือหมู่บ้านจัดเป็นขบวนผี โห่ร้องผ่านหมู่บ้าน และทำท่าเหมือนมาขอส่วนบุญ ขณะที่ชาวบ้านก็จะจัดกระทงขนมไว้ให้กับขบวนผี พร้อมกับจุดไฟจุดประทัดและยิงปืน เพื่อขับไล่ผีออกจากหมู่บ้าน ไม่ให้กลับมารบกวน ประเพณีฟันตรุษเป็นประเพณีที่แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการแสดงออกถึงความร่วมมือของชาวบ้าน การสอนให้คนรุ่นหลังรู้ถึงบาปบุญคุณโทษรักสามัคคี มีความเอื้ออาทรต่อกัน.-สำนักข่าวไทย
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook