เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ศูนย์ประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ สาขาเพชรบูรณ์ นายยุพราช บัวอินทร์ อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนายชัยณรงค์ สืบสุรีย์กุล ทีมงานฯ และ น.ส.ฐิตารีย์ ถาวรวงศ์ ตัวแทนเกษตรกรบ้านดงหลง ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ ลูกหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาเพชรบูรณ์ นับล้านบาททั้งที่ไม่เคยกู้ยืม ร่วมกันแถลงข่าว“วงจรอุบาทว์ ขบวนการทุจริตเงินคนจน” โดยนายยุพราชกล่าวว่า เป็นกรณีศึกษา ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯควรเข้ามาดูแลด้วยตนเอง เพราะนอกจากเกิดความเสียหายขึ้นโดยตรงกับเกษตรกรที่ถูกปลอมแปลงสัญญาแล้ว ยังทำให้ภาครัฐเกิดความเสียหาย เงินงบประมาณที่นำมาช่วยเกษตรกรผ่านกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะเป้าหมายของกองทุนฯเพื่อจัดการหนี้เสียให้เกษตรกรโดยคาดหวังให้มีชีวิตความอยู่ที่ดีขึ้น
นายยุพราช กล่าวว่า สำหรับเส้นทางทุจริตที่ขบวนการทุจริต เริ่มตั้งแต่การจัดประชุมสัมมนากองทุนฟื้นฟูฯ พร้อมเสนอให้เกษตรกรกู้รายละ 5,000 บาท ผ่อน 5 งวดๆละ 1,100 บาทต่อปี แจากนั้นจัดเก็บสำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านเกษตรกร นำไปสู่การปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้เงินของเกษตรกรกับสหกรณ์ จากนั้นทำให้เป็นหนี้เสียหรือ NPL เพื่อขายหนี้ให้กองทุนพื้นฟูฯ ต่อมามีการส่งเรื่องเข้าส่วนกลางเพื่อของบประมาณจากรัฐบาลในการแก้ปัญหา และส่งเงินก้อนกลับมายังสหกรณ์อีกครั้ง ส่วนใครเป็นผู้รับเงิน และเงินไปไหน รวมทั้งเส้นทางการเงินเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการทราบข้อเท็จจริง
“รัฐบาลสมัยนั้นมีนโยบายแก้ไขหนี้สินให้เกษตรกร โดยปลดหนี้ให้เกษตรกรกึ่งหนึ่งคือ 50% ของเงินที่เกษตรกรเป็นหนี้ เมื่อขั้นตอนจากเพชรบูรณ์เข้าไปถึงส่วนกลาง อยากทราบว่ากองทุนฟื้นฟูร่วมกับใครหรือไม่ในการกระทำผิดครั้งนี้ มีผู้เกี่ยวข้องเป็นใครบ้าง ตั้งข้อสังเกตว่าสำนักงานจัดการหนี้สินเกษตรกร ผู้ตรวจสอบสัญญาระดับภาพ-ส่วนกลาง มีส่วนร่วมรู้เห็นหรือไม่ ต้องชี้แจงให้สังคมรับรู้รับทราบถึงขบวนการจัดการหนี้เสียเหล่านี้” นายยุพราช กล่าว และว่า
อยากฝากถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า เหตุผลหนึ่งที่เข้ามาบริหารแผ่นดิน คือ ต้องการปราบการทุจริตคอรัปชั่น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เกี่ยวข้องกับการทุจริตภาครัฐ ซึ่งเงินของรัฐเสียหายไปกับโครงการนี้อย่างมากมาย เชื่อว่าขบวนการนี้ไม่ได้เกิดที่บ้านดงหลงเพียงแห่งเดียว แต่อาจเกิดในอีกหลายพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ และมีผู้กระทำผิด มีเครือข่ายเกี่ยวข้องมากมาย รวมถึงเชื่อว่าขบวนการทุจริตเหล่านี้กระจายไประดับประเทศอีกด้วย ดังนั้น เจ้าหน้าที่ส่วนกลางต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลเท็จจริงในพื้นที่ ให้ประสานงาน ทำงานควบคู่กันไป
“ในการตรวจสอบทั้งที่อำเภอเขาค้อหรือจังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องปกปิดข้อมูลหรือทำให้เรื่องเงียบที่สุด ในทางตรงกันข้ามเรื่องนี้เป็นการฝีมือและผลงานของส่วนราชการทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด การตรวจสอบการทุจริตและขบวนการโกงให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและสากลให้เกิดความชัดชัดเจนและเป็นธรรม ในการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต้องไม่แต่งตั้งผู้เคยดำรงตำแหน่งในห้วงที่เกิดการทุจริต และ สืบค้นสัญญาย้อนหลังที่หัวหน้ากองทุนฟื้นฟูสาขาเพชรบูรณ์ทำสัญญาไว้ทุกฉบับ เพื่อขยายผลว่ามีเครือข่ายที่ไหนบ้าง และรมว.เกษตรฯในฐานะผู้ควบคุมดูแลและรับผิดชอบโดยตรง ต้องรายงานให้ประชาชนทราบวิธีการ ตลอดจนเส้นทางการทุจริตของขบวนการทุจริตกองทุนฟื้นฟู เพื่อถอดบทเรียนไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก”
ขอขอบคุณที่มาข่าว มติชน https://www.matichon.co.th/region/news_1055679 ‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook