สนาม ส.ส.เมือง “มะขามหวาน”
ลดลงเหลือ 5 เก้าอี้ “ใครดีใครอยู่”
จังหวัดเพชรบูรณ์ การเลือกตั้ง ส.ส. นับว่าเป็นสนามใหญ่อีกสนามหนึ่ง เมื่อปี 2554 เคยมีเก้าอี้ ส.ส. 6 ที่นั่ง แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2562 จะเหลือ ส.ส.เพียง 5 ที่นั่งเท่านั้น
ดินแดนเมือง”มะขามหวาน” แห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นสนามที่มีอุณหภูมิการเมืองร้อนแรงไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงพื้นที่ ครั้งหนึ่งมีตำนานหลายปีก่อนในวันรับสมัครรับเลือกตั้งเสียงขึ้นลำกล้องอาวุธปืน นับ 10 กระบอก พร้อมกันดังกลบศาลากลาง แต่ไร้เสียงลั่นไก ทว่าบรรยากาศช่างเงียบสงัดวังเวงยิ่ง
การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 พรรคเพื่อไทย สามารรถยึดครองพื้นที่ไว้ได้ 5 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย คือ 1.นายสุทัศน์ จันทร์แสงศรี 2.นายจักรัตน์ พั๊วช่วย 3.นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ 4.นายวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ 5.นายเอี่ยม ทองใจสด นอกจากนั้นยังมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออีก 1 ที่นั่ง คือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่ง คือ นายยุพราช บัวอินทร์ แม้ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต.พื้นที่ยังไม่ชัดเจน แต่แบบที่แย้มพรายออกมาให้เห็นบ้างแล้วดังนี้
เขตเลือกตั้งที่ 1 นายสุทัศน์ จันทร์แสงศรี พรรคเพื่อไทย บุตรเขยเจ้าของสัมปทานเส้นทางเดินรถทัวร์ “เพชรประเสริฐ” เส้นทางระยอง – กรุงเทพมหานคร – เพชรบูรณ์ – ภูเรือ- เลย ซึ่งมีฐานทางการเงิน”ทุนหนา” ไม่น้อยหน้าใครในจังหวัดเพชรบูรณ์ สำหรับนายสุทัศน์ ปี 2550 เคยลงเลือกตั้ง ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และชนะเลือกตั้ง แต่ต้องมาถูกใบเหลือง ทำให้มีการเลือกตั้งใหม่ พ่ายแพ้ให้กับนายณรงค์กร ชวาลสันตติ พรรคพลังประชาชน ต่อมา ปี 2554 นายสุทัศน์ ย้ายมาลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย สามารถเอาชนะนายวิจิตร พรพฤฒิพันธุ์ อดีต ส.ส.ปชป.ปี 2544 และปี 2550 พรรคชาติไทยพัฒนา ครั้งหน้าคาดว่าค่ายเพื่อไทย จะย้ายยกขโยงไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ
เขตเลือกตั้งที่ 2 นายจักรัตน์ พั๊วช่วย อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชน ปี 2550 และพรรคเพื่อไทย ปี 2554 นับว่า “พั๊วช่วย” เป็นตระกูลการเมืองที่เก่าแก่ยึดครองพื้นที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มาเป็นระยะเวลาช้านาน เพราะนายจักรัตน์ เป็นบุตรชายนายประวัติ พั๊วช่วย อดีตนายกเทศมนตรีเมืองหล่มสัก ชนิดผูกขาด และนายประวัติเป็นพี่ชายนายจรัส พั๊วช่วย อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์หลายสมัย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ต่อมานางฐิตินันท์ พั๊วช่วย มารดานายจักรัตน์ เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองหล่มสัก ปัจจุบันดันให้บุตรชายนายกิตติ พั๊วช่วย พี่ชายนายจักรัตน์นั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีเมืองหล่มสักแทน โดยนางฐิตินันท์ ผันตนเองไปนั่งเก้าอี้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์(ส.อบจ.)เขตอำเภอหล่มสัก นอกจากนั้นน้องชายนายจักรัตน์ คือ นายณัฐวุติ พั้วช่วย อีกคนดำรงตำแหน่ง ส.จ.เขตอำเภอหล่มสัก การเลือกตั้งปี 2554 นายจักรัตน์ เอาชนะนายณรงค์กร ชวาลสันตติ อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ ปี 2548 ,2550 การเลือกตั้งครั้งหน้านายจักรัตน์ ยังมั่นคงกับพรรคเพื่อไทย
ในเขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอหล่าเก่า อำเภอน้ำหนาว และอำเภอหล่มสัก 17 ตำบล รวมทั้งเขตเทศบาลเมืองหล่มสัก การเลือกตั้งในปี 2562 ส.ส.เพชรบูรณ์ เหลืองเพียง 5 ที่นั่ง ทำให้นายจักรัตน์ต้องชนกับนายยุพราช บัวอินทร์ อดีต ส.ส.พรคประชาธิปัตย์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้นี้ยืดหยัดอย่างทรนงแลกหมัดกับค่ายเพื่อไทย นักการเมืองหนุ่มติดดินคลุกคลีกับมวลชน มีพื้นที่เหนียวแน่น คือบ้านเกิด อำเภอหล่มเก่า เป็นขวัญใจบรรดา “ชนเผ่า” อำเภอหล่มเก่า และอำเภอน้ำหนาว คะแนนนิยมฝังรากลึกยากยิ่งที่ใครจะมาขุดรากถอนโคน ประกอบกับมีความโดดเด่นบทบาทการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร นับว่าเป็นหน้าตาและความภูมิใจของปัญญาชนคนจังหวัดเพชรบูรณ์
เขตเลือกตั้งที่ 3 อำเภอชนแดน อำเภอวังโป่ง และอำเภอเมือง เฉพาะตำบลวังชมพู ป่าเลา บ้านโตก ตะเบาะ น้ำร้อน ระวิง และห้วยสะแก นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์” อดีต ส.จ. และอดีต ส.ส.2 สมัย ปี 2550 และ 2554 สังกัดพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย แม้จะไม่ใช่ถิ่นกำเนิดเกิดเพชรบูรณ์ แต่ตอกตาปูยี่ห้อ “สันติ พร้อมพัฒน์” จึงมีความพร้อมอย่างรอบด้าน ทว่าในเขตนี้กลับปรากฎกาย “ดร.ยชญ์สุธา วิชัยธนพัฒน์” ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบูรณ์ และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ เตรียมสวมเสื้อ”พรรคภูมิใจไทย” ลงสนามในครั้งหน้า
“ดร.ยชญ์สุธา วิชัยธนพัฒน์” ในแวดวงกล่าวกันว่าชื่นชอบกับการเมือง แม้จะถูกหวงห้ามจากญาติผู้ใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า อาจมีสายเลือดทางการเมือง เพราะคงเป็นหลานคุณตา “ชาญ โฆษิตานนท์” นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ที่ไร้คู่แข่งครองเก้าอี้อย่างยาวนาน และเป็นหลานคุณน้า “วิศัลย์ โฆษิตานนท์” ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ 2 สมัย และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ สำหรับตระกูล “วิชัยธนพัฒน์” มีเชื้อสายอดีตนายตำรวจระดับนายพล”ผู้บัญชาการ” และ “ผู้บังคับการตำรวจจังหวัด” อย่างไรก็ตาม ถ้าภาษาการเมืองระหว่าง ดร.หนุ่มน้อย กับนางวัญเพ็ญ “กระดูกคนละเบอร์” แต่รับรองว่าศึกครั้งนี้อาจมี “หืดขึ้นคอ”
ประการสำคัญคงสร้างความอึดอัดใจให้กับนายวิศัลย์ และนายสันติ พร้อมพัฒน์ สามีนางวันเพ็ญ ที่ยึดครองพื้นที่อยู่อย่างสบายใจ สายสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายที่เคยแนบแน่น “มองตา”ก็รู้ใจ อาจสะบั้นลงก็เป็นได้ เมื่อฝ่ายหนึ่ง “หลาน” และอีกฝ่ายหนึ่ง “เมีย” ทั้งคู่ยังมีอิทธิพลและบารมีทางการเมืองในจังหวัดเพชรบูรณ์
เขตเลือกตั้งที่ 4 อำเภอหนองไผ่ อำเภอบึงสามพัน และอำเภอวิเชียรบุรี (เฉพาะตำบลโคกปรง)โดยมี “นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เจ้าของพื้นที่ และเป็นอดีต ส.ส. เพชรบูรณ์ ปี 2539,2544,2548,2550 และ 2554 มีกระแสมาว่าครั้งหน้าไปสังกัด”พรรคพลังประชารัฐ” นายสุรศักดิ์ มีบุคลิกภาพ “ถึงลูกถึงคน” กล้าได้กล้าเสีย สามารถแก้ปัญหาและเข้าไปนั่งอยู่ในใจของคนเพชรบูรณ์ ฐานเสียงจึงแข็งแกร่งดุจปราการเหล็ก นอกจากนั้นยังมีน้องชาย คือ นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคไทยรักไทย ปี 2544 และ 2548 และเลื่อนขึ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในปี 2555
ในเขตนี้คู่แข่งที่เข็มแข็งพอจะฟัดเหวี่ยงกับนายสุรศักดิ์ คือ “ส.จ.ตู่” นายศุภวัฒน์ เมธาวัชรินทร์ อดีต ส.จ.เขตอำเภอหนองไผ่ ที่เคยลงสมัครในค่ายประชาธิปัตย์ ปี 2554 “นายศูภวัฒน์ เมธาวัชรินทร์” มีความมานะพยายามออกงานทำกิจกรรมพบปะเยี่ยมเยียนเดินเก็บเกี่ยวคะแนนมาโดยตลอด แม้ว่าจะสิ้นบุญพี่ชาย ขณะเตรียมงานวันลอยกระทง เมื่อปี 2555 คือ “นายเชน แซ่เล้า” อดีต ส.จ.หนองไผ่ 3 สมัย และอดีตนายก อบต.หนองไผ่ โดยถูกคนร้ายถล่มด้วยอาวุธสงคราม จนบัดนี้ยังไม่ทราบเบาะแสและไร้ร่องรอย ซึ่งเคยมีพลังช่วยออกแรงแข็งขัน ครั้งหน้าแว่วมาว่า“ ส.จ.ตู่” จะย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ทั้งความขยันและลูกติดดิน มีกิจกรรมในพื้นที่อำเภอหนองไผ่ และอำเภอบึงสามพัน อย่างต่อเนื่อง ในนาม “ชมรมคนไทยไม่ทิ้งกัน” คงสร้างความหวั่นไหวให้กับ “นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์” ได้อย่างไม่บันเบาเช่นเดียวกัน
ในเขตที่ 5 อำเภอศรีเทพ และอำเภอวิเชียรบุรี ยกเว้นตำบลโคกปรง เป็นฐานที่มั่นของ “นายเอี่ยม ทองใจสด” อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ปี 2529 พรรคชาติไทย ปี 2531,2535,2538 พรรคความหวังใหม่ ปี 2539 และ ปี 2548,2550,2554 พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ตามลำดับ นับว่านายเอี่ยม เป็นนักการเมืองอาวุโส ที่มีความผูกพันคุ้นเคยกับประชาชนในพื้นที่อย่างยาวนาน แต่มาเสียประวัติทางการเมืองในปี 2544 สอบตกพ่ายแพ้ให้กับนายแก้ว บัวสุวรรณ ผู้ล่วงลับ อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ ปี 2531, 2535, 2538,2539 และ2544 แต่ต่อมานายเอี่ยมสามารถสกัดไม่ให้นายแก้ว กลับเข้ามาในสภาได้เช่นเดียวกัน
นายเอี่ยม ทองใจสด เป็นบิดานายอัครเดช ทองใจสด หรือ “ด๊อย” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เพชรบูรณ์ ขณะนี้ถูกมาตรา 44 ประกาศให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายก อบจ.เพชรบูรณ์ นายเอี่ยม คงจะย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ คงไม่มีตัวที่จะมาต่อกร ภายหลังที่หมดยุคนายแก้ว บัวสุวรรณ ไปแล้ว
ทว่าใครจะปล่อยให้ใครเดินเข้าสภาอย่างลอยนวล เมื่อปรากฏร่างเงา “บัวสุวรรณ” มาหลอกหลอน คือ อดีต ส.จ. “เก่ง” นายกฤษฎา แก้วบัวสุวรรณ หลานชายนายแก้ว บัวสุวรรณ จะใส่สีเสื้อ”ภูมิใจไทย” ทำกิจกรรมในหมู่ผู้ป่วยและผู้ยากไร้ ในนามมูลนิธิแก้ว บัวสุวรรณ โดยควงแขนกับ “ส.จ.ตู่” นายศุภวัฒน์ เมธาวัชรินทร์ ที่จะลงพรรคภูมิใจไทย ในเขตอำเภอหนองไผ่ อำเภอบึงสามพัน และอำเภอวิเชียรบุรี (เฉพาะตำบลโคกปรง) นอกจากนั้นนายกฤษฎา เคยชิมลางลงสมัคร นายก อบจ.เพชรบูรณ์ แข่งกับนายอัครเดช ทองใจสด บุตรชายนายเอี่ยม มาแล้ว
หากมองย้อนกลับมาโฟกัส สนามที่มีต้องมีการแข่งขันกันมันหยด คือ เขตเลือกตั้งที่ 1 ที่มีนายสุทัศน์ จันทร์แสงศรี พรรคเพื่อไทย นั่งครองพื้นที่ การแบ่งพื้นที่เลือกตั้งครั้งหน้า ในปี 2562 อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เขตเทศบาลเมือง และอีก 7 ตำบล คือ ท่าพล ดงมูลเหล็ก ห้วยใหญ่ บ้านโคก นาป่า ชอนไพร และสะเดียง รวมกับอำเภอเขาค้อ และอำเภอหล่มสัก 5 ตำบล คือ บ้านกลาง ช้างตะลูด บุ้งคล้า บุ่งน้ำเต้า และลานบ่า โดยเฉพาะตำบลสะเดียง อำเภอเมือง บริเวณกว้างรอบตัวเมืองติดเขตเทศบาล มีทั้งส่วนราชการ และเขตทหาร คือกองพลทหารม้าที่ 1
ในเขต 1 นี้ กระดูกชิ้นใหญ่ขวางคอหอยของนายสุทัศน์ คือ นายวิจิตร พรพฤฒิพันธุ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ปี 2544 และอดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ปี 2550 การเลือกตั้งในปี 2554นายวิจิตร ลงพรรคชาติไทยพัฒนา แต่นายสุทัศน์ ชนะผ่านนายวิจิตร มากว่า 5,000 คะแนน แวดวงการเมืองเพ่งกระสินธ์แล้วว่า “นายสันติ พร้อมพัฒน์” และ “นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์” อดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ ปี 2529 และ 2531 ร่วมกันถือหางนายสุทัศน์ โค่นนายวิจิตร จนสำเร็จเสร็จสิ้น ในขณะที่ภรรยานายวิจิตร คือ นางธีรพร พรพฤฒิพันธุ์ ยังดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์
สำหรับนายวิจิตร มีฐานเสียงอยู่ในระดับการเมืองท้องถิ่นจำนวนไม่น้อย ทั้งญาติและคนสนิทใกล้ชิดนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโคก และตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 อีกทั้งมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เขตอำเภอเมือง 2 คน ที่เป็น “พรพฤฒิพันธุ์” ประกอบกับนายวิจิตร ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม มีเสียงลอดออกมาว่า “บิ๊ก”การเมืองเพชรบูรณ์ พยายามอย่างยิ่งที่จะดึงนายวิจิตร ออกมาจากอกพรรคชาติไทยพัฒนาไปอยู่ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่นายวิจิตร ยังเจ็บปวดกับการถูกบีบ ในปี 2555 โดยไม่ยอมให้ส่งภรรยานางธีรพร พรพฤฒิพันธุ์ ลงนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ต่ออีกสมัย เพื่อหลีกทางให้กับนายเสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นเด็กในคาถาของนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ และอดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ ซึ่งวางมือทางการเมืองไปแล้ว
เพราะหาไม่แล้วจะไล่ทุบทิ้งทุกตำแหน่งในเครือข่าย “พรพฤฒิพันธุ์” และนางธีรพร ได้ไปนั่งเพียงตำแหน่งที่ปรึกษานายก อบจ.เพชรบูรณ์ นายอัครเดช ทองใจสด อีกประการหนึ่งการตัดสินใจไม่สามารถสลัดทิ้งพรรคชาติไทยพัฒนาอย่างปัจจุบันทันด่วนของนายวิจิตร ยังคงมีเงื่อนงำและสัญญาใจกับพรรคชาติไทยพัฒนา ในขณะนี้กองเชียร์รอบข้างของนายวิจิตร อยากให้ย้ายไปพลังประชารัฐ ซึ่งจะทำให้การหาเสียงง่ายดายขึ้น รวมทั้งนายประทิน นาคสำราญ นายก อบต.สะเดียง ที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายวิจิตร อย่างล้ำลึกจะหายอึดอัดในบัดดล
หากสถานการณ์เปลี่ยนไปเช่นนั้น นายสุทัศน์ จันทร์แสงศรี มีทีท่าจะถูกลอยแพ และอาจกลับไปลงพรรคเพื่อไทย เหมือนเดิม เท่ากับว่า”การเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” แต่บนเส้นทางการเมืองไม่ได้โปรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป
เพราะทั้งนายวิจิตร และนายสุทัศน์ ต้องพบนักการเมืองสดใหม่ไฟแรง เปิดตัวเดินไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ประกาศตัวขี้นคัทเอาท์ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายยุพราช บัวอินทร์ เป็นพี่เลี้ยง ว่ากันว่าเขาคือ “ทันตแพทย์” “ชัยณรงค์ สืบสุรีย์กุล” ที่มาเอาดีด้านบริหารธุรกิจเก่าแก่ของครอบครัว ทายาทเจ้าของโรงงานผลิตเส้นหมี่ “กิจเจริญ” อำเภอหล่มสัก ซึ่งส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางบางส่วน ว่ากันว่าเป็นครอบครัวมีฐานะในการสู้ศึกเลือกตั้ง และมีน้องชายเป็นจักษุแพทย์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ “นายแพทย์ชัยชาญ สืบสุรีย์กุล” ปัจจุบันลาออกจากราชการมาเปิดคลินิกส่วนตัวแล้ว
“ชัยณรงค์ สืบสุรีย์กุล”มีฐานเสียงในพื้นที่หล่มสัก เฉพาะ 5 ตำบล คือ บุ้งคล้า บุ่งน้ำเต้า ลานบ่า บ้านกลาง และช้างตะลูด อำเภอเขาค้อ และพื้นที่อำเภอเมือง ยกเว้นตำบลวังชมพู ป่าเลา บ้านโตก ตะเบาะ น้ำร้อน ระวิง และห้วยสะแก อย่างไรก็ตามในเขตเลือกตั้งที่ 1 เมื่อปี 2554 คะแนนพรรคประชาธิปัตย์ เคยมีมากว่า 10,000 คะแนน ซึ่งสนามเลือกตั้งเขต 1 เพชรบูรณ์ จึงจะเป็นสนามศักดิ์ศรีคะแนนเสียงจะเบียดแทรกกันชนิด “หายใจรดต้นคอ” แบบใครดีใครอยู่
อีกสนามหนึ่ง ในเขตเลือกตั้งที่ 2 รับรองว่ามันหยดไม่แพ้เขตใดในจังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่าง “นายยุพราช บัวอินทร์” ค่ายประชาธิปัตย์ และ “นายจักรัตน์ พั๊วช่วย” สังกัดเพื่อไทย บรรดาสภากาแฟ และคอการเมืองเฝ้าจับตาวิเคราะห์กันเป็นภาษาถิ่นว่า “ หัวแตกเลือดอาบ”กันทั้งคู่
อย่างไรก็ตามในเขตนี้ ต้องมีทนายความชื่อ “ณรงค์กร ชวาลสันตติ” อดีต ส.ส.เพชรบูณ์ ปี 2548 และ2550 ครั้งนี้ มีข่าวว่าจะลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย ฐานเสียงอยู่ในพื้นที่อำเภอหล่มสักจะต้องแย่งชิงคะแนนเสียงนายจักรัตน์ หายไปเป็นจำนวนไม่น้อย อีกทั้งคู่แข่งที่เป็น ส.จ.และนายกเทศมนตรีเมืองหล่มสัก ของคนในตระกูล”พั๊วช่วย” จะหันไปช่วยใครระหว่างนายยุพราช และนายณรงค์กร
ทว่า การเลือกตั้ง ส.ส.สามารถพลิกสถานการณ์ในนาทีสุดท้าย ปัจจัยและกลไกที่เอื้อต่อการชิงดำในพื้นที่ “ตัวเต็ง” เคยร่วงหล่นหายไปจากสนามเลือกตั้งให้เห็นมาแล้วทุกยุคทุกสมัย
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook