LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2025
ข่าวเด่นเพชรบูรณ์

เหมืองทองเพชรบูรณ์และพิจิตร ยังไม่จบกระแสข่าวประเทศไทยอาจจะแพ้คดีไม่เป็นความจริง

กรณีการปิดเหมืองทองที่เป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วประเทศ หลังจากที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 ปิดเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2559 จนเวลาล่วงเลยมาหลายเดือนจนวันนี้ใกล้จะสิ้นปี 2561 เหมืองทองที่ถูกปิดไปแล้ว ก็ยังไม่มีความชัดเจน

การโต้แย้ง และตั้งข้อกล่าวหาต่างๆ ผุดขึ้นมา จนหลายคนเกิดความสับสน ซึ่งล่าสุดทางบริษัทอัครา รีซอร์สเซส หรือบริษัท คิงส์เกตฯ ขอตั้งคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อขอค่าชดเชยความเสียหายจากการสั่งปิดเหมืองทองของรัฐบาลไทย และขณะที่รัฐบาลไทย คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับทางอนุญาโตตุลาการที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตั้งขึ้นจนครบเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว จากนี้เป็นขั้นตอนที่ทางอนุญาโตตุลาการจะพิจารณาต่อไป
แต่ปัจจุบันก็ยังไม่จบ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นแบบยังไม่มีบทสรุป ด้านรัฐบาลไทยเองก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ตนเป็นผู้ชนะ หากจะต้องไปตัดสินชี้ชะตาในเวทีโลก ขณะที่ทางเหมืองเองก็ทำทุกวิธีทางเช่นกัน ที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และถูกกล่าวหาโดยมิชอบ
โดยเบื้องต้นได้มีการเสนอผลการศึกษาชุด ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ ที่ศึกษาโครงการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่มีมติว่า “บ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส บริษัทลูกคิงส์เกตฯ มีการรั่วซึม” เชื่อเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของโลหะหนัก เพิ่มเติมจากโลหะหนักที่อาจเกิดอยู่แล้วตามธรรมชาติไปด้วย
ซึ่งก็ตรงกับปัญหาที่ถูกกล่าวมา ว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยโดยรอบเขื่อน กระทบกับปัญหาสุขภาพ ทำให้เป็นโรคเรื้อรัง ขณะที่ทางอัคราชี้แจงว่า บริษัทพร้อมผู้เชี่ยวชาญและวิชาการจากหลายภาคส่วนมีข้อคิดเห็นแย้งหลายประเด็น ที่ปรากฏในรายงานของคณะทำงานย่อย ซึ่งได้แสดงเหตุผลไว้อย่างละเอียดในรายงานโครงการการสำรวจตรวจสอบโอกาสบ่อกักกากแร่ที่ 1 ของเหมือง ที่ดำเนินการโดยคณะผู้วิจัย ที่ระบุว่า “อย่างไรก็ตามมีข้อคิดเห็นของคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญบางท่านมีความเห็นต่างจากรายงานฉบับสมบูรณ์ ซึ่งสามารถพิจารณารายละเอียดข้อคิดเห็นของผู้ที่มีความเห็นแตกต่างดังกล่าวในภาคผนวกของรายงานฉบับสมบูรณ์ควรนำผลนำข้อมูลไปใช้ด้วยความระมัดระวัง”

จึงเป็นการตีความว่า การลงมติดังกล่าวไม่ถูกบรรจุไว้ในวาระการประชุม จึงไม่มีความเหมาะสมและไม่เป็นธรรม ทั้งยังขาดหลักวิชาการรองรับ เนื่องจากลักษณะการลงมติ เป็นเพียงการถามคณะกรรมการที่มาเข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นส่วนน้อยจากคณะกรรมการทั้งหมด 52 คน และบางคนไม่ได้อยู่ในคณะทำงานย่อยไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ทางด้านเทคนิคในเรื่องที่ถูกขอให้ลงมติ และเรื่องดังกล่าวก็ถูกถกเถียงกันอีกรอบ แต่ยังไม่มีการลงมติ

ขณะที่ข่าวล่าสุดมีประเด็นกระแสข่าวว่า ประเทศไทยอาจจะแพ้คดีเหมืองทองอัคราที่ฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้ต้องจ่ายเงินชดเชยแก่บริษัท คิงส์เกตฯ นั้น นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท  คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ออกมากล่าวว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยรัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และความปลอดภัยของประชาชนอย่างทันท่วงที จากการร้องเรียนถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รัฐบาลมีความมั่นใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยเพื่อคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบเฉพาะหน้าด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนอย่างทันท่วงทีดังกล่าวนั้น เป็นไปตามมาตรฐานสากลสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และพร้อมสู้คดีต่อไป โดยคาดว่าคณะอนุญาโตตุลาการจะพิจารณาออกคำชี้ขาดในช่วงเวลาประมาณ 1-2 ปีข้างหน้า
เรื่องนี้คงต้องรอความชัดเจนว่า สรุปแล้วประเทศไทยจะมีวิธีการใดในการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี หรือจะพูดคุยกันจนสามารถเกิดข้อยุติลงอย่างดีได้ แต่ถ้าหากประเทศไทยและเหมืองอัคราไม่สามารถเจรจากันได้ลงตัว จนนำไปสู่การที่รัฐบาลไทยแพ้คดี อาจจะทำให้ต้องสูญเสียเงินกว่าหลายพันล้านบาท และก็จะส่งผลกระทบไปยังความมั่นคงของประเทศอีกด้วย.

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า’>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ข่าวเด่นเพชรบูรณ์ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด