วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 ตำบลบ้านโตก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเชิญอุปกรณ์เครื่องเขียนพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปมอบแก่นักเรียน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนที่เรียนหลักสูตรประกอบอาชีพ ประกอบอาหารพระราชทานเลี้ยงนักเรียนในโรงเรียนด้วย ซึ่งสร้างขวัญและกำลังใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้
>>>โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 57 จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นโรงเรียนแบบสหศึกษาประเภทอยู่ประจำ จัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส เช่น เด็กกำพร้า เด็กที่อยู่ในชนกลุ่มน้อย เด็กเด็กเร่ร่อน เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด ฯลฯ อยู่ในเขตพื้นที่บริการของจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดชัยภูมิ มีนักเรียนรวม 841 คน โดยโรงเรียนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสถานศึกษาจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านต่างๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านเกษตรกรรม อาทิ โครงการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ พืชสวนครัว ไม้ผลกินได้ ศูนย์การเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ อาทิ โครงการผลิตอิฐบล็อก โครงการช่างมุ้งลวด โครงการช่างไฟฟ้า ศูนย์การเรียนรู้การบริการและพาณิชย์ อาทิ โครงการสหกรณ์ร้านค้า โครงการร้านกาแฟ รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ธนาคารขยะ และศูนย์การเรียนรู้โครงการพระราชดำริ อาทิ โครงการเครื่องเงินพระราชทาน และโครงการสวนพฤกษศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและผู้เรียนอย่างต่อเนื่องจนประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งยังได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติมากมาย จนสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของนักเรียน ชุมชนท้องถิ่น มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสนใจเข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก
>>>จากนั้นเวลา 11.00 น. คณะฯ เดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ และสรุปผลการดำเนินงานอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง ที่มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง เฉลี่ย 25 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และสร้างประโยชน์ในการเก็บกักน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตตำบลป่าเลา ตำบลสะเตียง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ รวมพื้นที่ 12,637 ไร่ และยังสามารถบรรเทาอุทกภัยด้านท้ายเขื่อนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งน้ำในการผลิตน้ำประปา เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ อีกด้วย
>>>ต่อมาเวลา 14.00 น. เดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยท่าพล ตำบลท่าพล อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อรับฟังการรายงานผลการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำป่าสัก
>>>อ่างเก็บน้ำห้วยท่าพล เป็นโครงการชลประทานขนาดเล็ก เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2558 แล้วเสร็จปี 2560 มีขนาดความจุที่ระดับเก็บกัก 12.30 ล้านลูกบาศก์เมตร ประโยชน์เพื่อบรรเทาอุทกภัย เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งโดยมีพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับประโยชน์ในเขตพื้นที่ชลประทานประมาณ 10,000 ไร่ ปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ 3 กลุ่ม สมาชิกรวม 60 ราย พื้นที่กลุ่ม จำนวน 10,000 ไร่
เผยแพร่โดย : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook