LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
คอลัมน์วันนี้

ท่องวิถี 4 มรดกโลกมิติใหม่ ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อเติมเต็มทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ของจังหวัดเพชรบูรณ์

มิติใหม่ ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อเติมเต็มทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ของจังหวัดเพชรบูรณ์

จุดเริ่มต้น .. เมื่อวันที่ 1 ตค. 2559 ท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พร้อมด้วยคณะ อันประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ ได้เดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และได้มีการประชุมสอบถามความต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาล ในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ด้านต่าง ๆ

สภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ได้เสนอ 3 เรื่อง คือ
1. เมืองโบราณศรีเทพสู่มรดกโลก
2. เส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 4 มรดกโลก
3. ประตูสู่ล้านช้างหลวงพระบาง และการจัดสร้างศูนย์วัฒนธรรมหล่มเก่า

IMG_94001. เมืองโบราณศรีเทพสู่มรดกโลก (Si Thep Ancient City to World Heritage Site)
เมืองโบราณศรีเทพ หรือพื้นที่เป็นบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพและเขาถมอรัตน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นพิเศษยิ่งกว่าพื้นที่อื่น ๆ กล่าวคือ มีร่องรอยทางโบราณคดีหลายยุคหลายสมัยอยู่ในสถานที่เดียวกัน นั่นคือ โครงกระดูกมนุษย์ปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณพุทธศตวรรษที่ 5-10 จนมาเป็นสมัยที่ก่อตั้งเป็นรัฐแรกเริ่ม ที่ปรากฏมีศิลาจารึกอักษรปัลลวะและเทวรูปเคารพฮินดูรุ่นเก่าพุทธศตวรรษที่ 11-12 และมีโบราณสถานทางพุทธศาสนาสมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 จนกระทั้ง มีโบราณสถานศาสนาฮินดูสมัยขอมประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-18 แล้วจึงล่มสลายกลายเป็นเมืองร้างไป ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาที่ปรากฏร่องรอยที่มีมนุษย์มาตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่บริเวณนี้ จะมีเวลาต่อเนื่องทางวัฒนธรรมกันมายาวนานนับ 1000 ปี
คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของเมืองโบราณศรีเทพนั้น คือ นอกจากจะมีโบราณวัตถุและโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เช่น เขาคลังนอก เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และเขาถมอรัตน์แล้ว ยังเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาความชาญฉลาดของคนสมัยโบราณ ที่เลือกเอาบริเวณเมืองโบราณศรีเทพ ที่มีคุณลักษณะของพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพิเศษ ให้เป็นที่ตั้งหลักแหล่งต่อเนื่องกันมาช้านาน จนปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่า มีอารยธรรมหลายยุคหลายสมัยซ้อนทับต่อเนื่องกันมาในสถานที่เดียวกัน
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นรอยต่อทางวัฒนธรรมสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ “แอ่งวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก”และเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนกับ “แอ่งอารยธรรมอีสาน” เป็นจุดเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนสินค้าและเส้นทางการค้าพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ และอยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาแบบทวารวดีจากภาคกลางไทยและวัฒนธรรมเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาแบบมหายาน จึงมีบทบาทสำคัญและสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์แสดงออกถึงภูมิปัญญาความรู้และความเชี่ยวชาญฝีมือช่างที่พัฒนาขึ้นจนมีรูปแบบเฉพาะของตนเอง เรียกว่า “สกุลช่างศรีเทพ”
จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์และผลักดันให้เป็นมรดกโลกของมวลมนุษยชาติต่อไป

Screen Shot 2016-11-12 at 11.01.38 32. เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง 4 มรดกโลก ( 4 World Heritage Tourism Route)
เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะนำนักท่องเที่ยวเริ่มต้นจาก กทม. – เมืองมรดกโลกอยุธยา – อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ (กำลังอยู่ในขั้นตอนขอขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก) – เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง – เมืองมรดกโลกสุโขทัย … โดยจังหวัดเพชรบูรณ์จะเล่นบทเป็นศูนย์กลางของเส้นทางและเป็นที่พักกึ่งกลางระหว่างการเดินทาง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถเลือกพักได้ทั้งที่เพชรบูรณ์ เขาค้อ หล่มสัก หล่มเก่า ก็ได้
เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง 4 มรดกโลกนี้ จะเริ่มต้นที่กรุงเทพมหานคร และเดินทางมาเที่ยวเมืองมรดกโลกอยุธยา แล้วเดินทางต่อขึ้นมาใช้เส้นทางหลวง 21 เที่ยวเมืองโบราณศรีเทพ แล้วแวะพักแรมที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นตัวเมืองเพชรบูรณ์ หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ หรือภูทับเบิก จากนั้น ก็เดินทางต่อไปโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 21 จากเพชรบูรณ์ หล่มสักหล่มเก่า แล้วแยกใช้ 2014 ผ่านเมืองด่านซ้ายไปใช้สาย 2114 ต่อ 2195 ไปยัง “ด่านนากระเซ็ง” ของอำเภอท่าลี่ ข้ามไปยังเมืองแก่นท้าว แล้วใช้ถนนหมายเลข 4 ไปยัง ปากลาย น้ำปุ๋ย ไซยะบุลี สะพานท่าเดื่อ เชียงเงิน และเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ซึ่งตลอดเส้นทางนี้ นอกจากจะตรง ใกล้ สะดวก และใช้เวลาน้อยกว่าเส้นทางอื่น ๆ แลัว ก็มีทัศนียภาพอันสวยสดของธรรมชาติแล้ว ยังมีวิถีชีวิตชาวบ้านตามวัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบางอันงดงามที่สามารถแวะสัมผัสได้ตลอดเส้นทาง
หลังจากเที่ยวเมืองมรดกโลกหลวงพระบางแล้ว ขากลับนักท่องเที่ยวก็อาจเลือกเดินทางไปเที่ยวที่เมืองมรดกโลกสุโขทัยโดยผ่านทางด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ได้
ฉะนั้น จึงต้องมีการจัดกิจกรรม ประชาสัมพันธ์ สื่อสารการตลาด ไปสู่สาธารณะ กลุ่มเป้าหมายและบริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ เพื่อเปิดเส้นทางใหม่สายนี้ ในการเดินทางไปท่องเที่ยวหลวงพระบางโดยผ่านจังหวัดเพชรบูณ์

ศูนย์วัฒนธรรมหล่มเก่า3. ประตูสู่ล้านช้างหลวงพระบาง (Gateway to Lan Chang Luang Prabang)
วัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบาง เป็นวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์สูง มีความละเอียดอ่อนงดงาม และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลกหลายแสนคนต่อปี ดินแดนที่เป็นพื้นที่ของวัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบางนี้ กินอาณาเขตลงมาที่แขวงไชยะบุลี และเข้ามาในประเทศไทยที่ท่าลี่ ด่านซ้าย นาแห้ว นครไทย บ้านโคก ท่าปลา และที่เข้ามาลึกที่สุดในเขตแดนประเทศไทยก็คือที่ หล่มสัก หล่มเก่า จึงเปรียบเสมือนว่า ดินแดนแห่งนี้เป็นประตูสู่ดินแดนล้านช้างหลวงพระบาง นั่นเอง ซึ่งผู้คนยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ภาษา อาหาร วิถีชีวิต ศิลปกรรม ศาสนสถาน ไว้ได้เป็นอย่างเดียวกับวัฒนธรรมหลวงพระบาง นอกจากนั้น ประชาชนในดินแดนวัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบางเหล่านี้ ก็ยังได้เดินทางไปมาหาสู่กัน ทำการค้าขายกันติดต่อกันอยู่เป็นประจำ เพราะมีด่านชายแดนและทางหลวงที่สร้างเสร็จแล้วทั้ง 2 ประเทศเชื่อมต่อกันได้ที่ “ด่านนากระเซ็ง” อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย
ฉะนั้น จึงต้องทำการประชาสัมพันธ์สื่อสารการตลาด ไปสู่สาธารณะ กลุ่มเป้าหมายและบริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่า หล่มสัก หล่มเก่า เป็นประตูสู่ล้านช้างหลวงพระบาง ที่สามารถมาแวะเที่ยว พัก ทานอาหาร และหาข้อมูลก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมืองหลวงพระบางได้โดยสะดวก
นอกจากนั้น จะต้องมีการจัดสร้าง ศูนย์วัฒนธรรมหล่มเก่า : ประตูสู่ล้านช้างหลวงพระบาง ( Lomkao Cultural Center : Gateway to Lanchang Luang Prabang) เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องหล่มเก่าและวัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบาง อีกทั้งยังเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่จะต้องแวะมาชมก่อน เพื่อศึกษาเส้นทางและเรียนรู้ข้อมูลในการท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในดินแดนวัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบางทั้งฝั่งประเทศไทยและฝั่ง สปป.ลาว

สภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์เห็นว่า โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมทั้ง 3 โครงการนี้ จะเป็นการเปิดประตูการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบูรณ์มิติใหม่ ที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้เข้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์มากขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ใช้เวลาในการอยู่ท่องเที่ยวในพื้นที่ที่นานกว่า จึงเป็นกลุ่มที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์ได้เพิ่มขึ้น อันจะเป็นการเติมเต็มและอุดช่องว่างของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เรามีอย่างโดดเด่นอยู่แล้ว ทั้ง 3 โครงการนี้ หากทำสำเร็จ จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเพชรบูรณ์ได้ทั้งปี และจับจ่ายใช้สอยเงินเพิ่มขึ้น กระจายรายได้ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น อันจะนำมาซึ่งรายได้เพิ่มขึ้น นำความสมบูรณ์พูนสุขมาสู่คนเพชรบูรณ์นั่นเอง

บั้นหนึ่ง ปูนแนวน้าว เฮาจอดขวัญสมาน
บั้นหนึ่ง ปานแสงดาว ส่องสีแสงฟ้า
แขวนขวัญไว้ คือไหมมัดหมี่
ทางหนี่งเป็นไหม ทางหนึ่งเป็นน้ำแต้ม งามหย้องค่องตา นี้แล้ว
ของก้ำพู้นแม่นต้น ของก้ำพี่แม่นลำ
ปูมไทย – ลาว ดอกผลคุงฟ้า
ฮักกันไว้ไทย – ลาวมั่นแก่น
เชื้อพี่น้อง แม่นสิอยู่ฟากฟ้า กะคือใกล้จอดกัน ดอกนาพี่น้องเอ้ย…..

๛ งามไทหล่ม ๛
๛ เป็นไทหล่ม เว้าจา ภาษาถิ่น
งามยลยิน ถิ่นสุข สนุกสนาน
ประเพณี วัฒนธรรม ย้ำตระการ
ร่วมสืบสาน อนุรักษ์ จักยืนยง
๛ งามหล่มเก่า หล่มรัก ประจักษ์ชื่น
งามร่มรื่น สงบ สบประสงค์
งามหล่มสัก หล่มสุขี โสภีคง
เยือนแล้วหลง แน่ไซร้ ไทยหล่มงาม
๛๛๛๛๛๛๛๛๛๛๛๛๛๛

IMG_0873          พื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่มีความมหัศจรรย์ในประเด็นที่เป็นแนวเชื่อมต่อของปรากฏการณ์และเหตุการณ์หลายอย่าง หลายมิติ และหลายยุคหลายสมัย ดังนี้
          1. เมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ปรากฏร่องรอยของวัฒนธรรมหลายยุคหลายสมัยทับซ้อนอยู่ในที่เดียวกัน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงยุคก่อตั้งรัฐแรกเริ่ม ที่มีร่องรอยของวัฒนธรรมอินเดียโบราณและทวารวดี จนมาสิ้นสุดในสมัยวัฒนธรรมเขมรโบราณ ซึ่งเป็นระยะเวลานับ 1000 ปีที่มีผู้คนตั้งหลักแหล่งในเมืองศรีเทพนี้อย่างต่อเนื่องกัน
         ทั้งนี้ เพราะที่ตั้งของเมืองโบราณศรีเทพ เป็นรอยเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ “แอ่งวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก”และเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน กับ “แอ่งอารยธรรมอีสาน” เป็นจุดเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนสินค้าและเส้นทางการค้าพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญ และยังเป็นเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้ง อันเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสานการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในและระหว่างภูมิภาค ซึ่งในขณะนี้ เมืองโบราณศรีเทพ กำลังอยู่ในขั้นตอนที่จะประกาศเป็นมรดกโลก ของ UNESCO

         img_0399          2. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2486-2487 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้ออกพระราชกำหนดโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งเพชรบูรณ์ให้เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “นครบาลเพชรบูรณ์”  โดยให้เหตุผลว่า “เพชรบูรณ์มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เพราะมีชัยภูมิเหมาะสม มีภูเขาล้อมรอบ มีเส้นทางคมนาคมเข้าออกเพียงทางเดียว มีภูมิประเทศสวยงาม อากาศดี อยู่ตรงกลางของประเทศ เป็นศูนย์กลางภาคเหนือกับภาคอีสาน และกรุงเทพฯ … “
          ทั้งนี้ หากพิจารณาตามแผ่นที่ที่แสดงทำเลที่ตั้งของจังหวัดเพชรบูรณ์ในประเทศไทยแล้ว จะเห็นว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่อยู่บริเวณใจกลางประเทศ และระยะทางจากจังหวัดเพชรบูรณ์ไปภาคเหนือ ภาคอีสาน  ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และ กรุงเทพมหานคร จะมีระยะทางพอ ๆ กัน

       

3. การแบ่งพื้นที่การปกครองของประเทศไทย ที่แบ่งออกเป็นภาคต่าง ๆ คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้นั้น จะเห็นได้ว่า จุดที่ตั้งของจังหวัดเพชรบูรณ์ จะเป็นจุดที่อาณาเขตของภาคทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง มาเชื่อมต่อกันพอดี
          นอกจากนั้น จังหวัดเพชรบูรณ์ยังเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือและภาคอีสานที่สำคัญ กล่าวคือ การเดินทางโดยตรง จากภาคเหนือไปภาคอีสานหรือภาคอีสานไปภาคเหนือนั้น ระยะทางที่ใกล้ที่สุด คือ จะต้องเดินทางผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์

         IMG_1281          4. ตามแผนที่แสดง ASEAN Road Network  มีเส้นทาง 2 เส้นที่สำคัญ คือ เส้นสีน้ำตาลเข้ม คือ สาย East-West Corridor เชื่อต่อฝั่งพม่า จาก เมาะลำไย เมียวดี แม่สอด ตาก สุโขทัย พิษณุโลก หล่มสัก ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สะหวันนะเขด และ เว้ ดานัง ของเวียดนาม และเส้นสีน้ำตาลอ่อน คือ สาย Northeastern Corridor เริ่มจาก กทม. สระบุรี เพชรบูรณ์ ด่านซ้าย ท่าลี่ และ แก่นท้าว ไชยะบุรี หลวงพระบาง ของลาว เชื่อมต่อไปยังเวียดนามและจีน  จะเห็นได้ว่า สายสีน้ำตาลเข้มและสายสีน้ำตาลอ่อน ได้มาตัดกันเป็นสี่แยกใหญ่ที่ “หล่มสัก” พอดี ซึ่งปัจจุบันนี้ ได้มีการตั้งชื่อทางแยกนี้ว่า “สี่แยก ASEAN” แล้ว
          ฉะนั้น การพัฒนาเส้นทางทั้ง 2 สายนี้ในระดับ ASEAN นั้น แสดงให้เห็นว่า ในอนาคต หล่มสัก-เพชรบูรณ์ จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อของการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอาเซียนกับจีนตอนใต้ อย่างแท้จริง

          5. พื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกันของ 2 วัฒนธรรมสำคัญที่แตกต่างกันในอดีตของดินแดนอุษาคเนย์ นั่นคือ วัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบางจากทางเหนือ และวัฒนธรรมสยามจากทางใต้
          วัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบาง เป็นวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์สูง มีความละเอียดอ่อนงดงาม มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว กินอาณาเขตลงมาที่แขวงไชยะบุลี และเข้ามาในประเทศไทยที่ท่าลี่ ด่านซ้าย นาแห้ว นครไทย บ้านโคก ท่าปลา และที่เข้ามาลึกที่สุดในเขตแดนประเทศไทยก็คือที่ หล่มสัก หล่มเก่า ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งผู้คนในดินแดนเหล่านี้ ยังคงพูดภาษาลาว และยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี อาหาร การแต่งกาย วิถีชีวิต ศิลปกรรม ศาสนสถาน ไว้ได้เป็นอย่างเดียวกับวัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบาง
          ส่วนวัฒนธรรมสยาม ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อยุธยาในอดีตและกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ซึ่งได้แผ่ขยายขึ้นเหนือมาถึงเพียงแค่ตัวเมืองเพชรบูรณ์ ไม่สูงขึ้นไปกว่านี้ ดังจะเห็นได้จากภาษาที่ผู้คนพูดกันอยู่นั้น เป็นภาษาไทย และปรากฏร่องรอยสิ่งก่อสร้างโบราณสถาน เช่น เจดีย์โบราณ พระพุทธรูป กำแพงเมือง ล้วนแต่เป็นแบบอย่างอยุธยาและรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น

         Screen Shot 2016-11-12 at 11.01.38 3          6. ในส่วนของวัฒนธรรมล้านช้างที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่หล่มสักและหล่มเก่าเองก็ดี ปรากฏว่า เป็นการเชื่อมต่อกันของวัฒนธรรมล้านช้างอีสานจากทิศตะวันออก กับวัฒนธรรมล้านนาทางเหนือจากทิศตะวันตก ดังจะเห็นได้จากภาษาพูดของคนหล่ม ที่จะมีสำเนียงอ่อนหวานแบบทางล้านนา แต่ศัพท์ที่ใช้พูดกันนั้น จะเป็นแบบเดียวกันกับทางอีสาน
          นอกจากนั้น สิ่งก่อสร้างและศิลปกรรมทางศาสนาพุทธศาสนาในพื้นที่เมืองหล่ม จะพบว่า มีการผสมผสานกันระหว่างสกุลช่างล้านนาและสกุลช่างล้านช้างในหลาย ๆ แห่งอีกด้วย

          7. จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในแนวการชนกันของ 2 อนุทวีป คือ อินโดไชน่า (Indochina Micro Plate) ทางตะวันออก และ ชาน-ไทย (Shan-Thai Micro Plate) ทางตะวันตก จึงเกิดสิ่งมหัศจรรย์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่หลากหลายขึ้นมากมาย โดยกระจายอยู่ทั่วพื้นที่บนแผ่นดินเพชรบูรณ์ เช่น ท้องทะเลดึกดำบรรพ์ยุคเพอร์เมียน ซากดึกดำบรรพ์ของปะการัง ฟิวซูลินิด หอยตะเกียง หอยงวงช้าง หอยน้ำจืดฝาเดียว กระดูกไดโนเสาร์โปรซอโรพอด รอยตีนอาร์โคซอร์  น้ำตกเสาหินอัคนี  ตลอดจนลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะของหินและชั้นหินต่าง ๆ ที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติทางธรณีวิทยามากมาย

          จังหวัดเพชรบูรณ์จึงได้ประกาศจัดตั้ง “อุทยานธรณีเพชรบูรณ์” Phetchabun Geopark เพื่อผลักดันให้ผู้คนในท้องถิ่น ได้เกิดการร่วมกันศึกษา ตระหนักในคุณค่า ร่วมรักษาและพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยว และเป็นสมบัติอันล้ำค่าของจังหวัดเพชรบูรณ์ ของประเทศไทย และของมวลมนุษยชาติของโลก ต่อไป

p2abpta4mV0qThhX7I0-o

Phetchabun province has magnificent phenomena in many ways of natural and human being relationships.

  1. Si thep Ancient City has performed as multi-cultural complexity history of prehistoric era to primitive Thai community with relics of ancient Indian and Dvaravati cultures to the end of ancient Khmer culture.
  2. During the period of second world war, the Prime Minster made the announcement to promote Phetchabun to be the new capital of Thailand in order to be away from the invading of enemy troops. The name Phetchabun Metropolitan was announced.
  3. Phetchanbun nowadays is located in triple junction of central, northern, and northeastern regions and performs as a shortcut from northern to northeastern region.
  4. Phetchabun in the future, it will perform as junction of Asean East-West Corridor and Asean Northeastern Corridor.
  5. Phetchabun is a combination of human being of Lanchang culture from the north and Siam culture from the south.
  6. On the other hand, the Lanchang – Luang Prabang culture in Phetchabun is a combination of primitive Lanchang from Laos PDR and Lanna from northern Thailand.
  7. For the geological point of view, Phetchabun is located in the collision zone of the Shan-Thai micro plate to the west and the Indochina micro plate to the east. The eastern part of current Phetchabun basin shows evidences of continental margin (shelf) of the Indochina micro plane while the western part of Phetchabun basin shows characteristic similarity of the Shan-Thai micro plate.

For those of the above significances, Phetchabun Province has, therefore, announced the establishment of the Phetchabun Geopark in order to promote the significant peaceful relationships of human being and nature.

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เมื่อตั้งศาลครั้งแรก 2443.jpg

 

     เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ มีความพิเศษยิ่งกว่าเสาหลักเมืองในที่อื่น ๆ นั่นคือ เป็นเสาหลักเมืองแห่งเดียวที่ทำด้วยหิน และยังเป็นศิลาจารึกที่มีการจารึกครั้งแรกไว้นานนับพันปีมาแล้ว …

     จากบันทึกการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โบราณวัตถุของกรมศิลปากร สันนิษฐานได้ว่า ศิลาจารึกนี้ ครั้งแรกน่าจะถูกนำมาจากเมืองโบราณศรีเทพ มาไว้ที่วัดมหาธาตุก่อน หลังจากนั้น ก็ได้นำมายกเป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ โดยหลวงนิกรเกียรติคุณ เมื่อ พ.ศ. 2443 โดยได้เลือกนำมาปักไว้ที่ป้อมกำแพงเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแนวกำแพงเมืองโบราณ เพราะเป็นบริเวณที่อยู่หน้าศาลากลางจังหวัด

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เมื่อ 2486

     เมื่อ พ.ศ. 2548 เมื่อมีการปรับปรุงก่อสร้างอาคารศาลหลักเมืองครั้งใหญ่ ได้มีการค้นพบว่า เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นศิลาจารึก ทำด้วยแท่งเสาหินทรายสีเทา มีลักษณะปลายป้านโค้งมน มีความสูงจากฐานล่างถึงปลายยอด 184 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 15-16 เซนติเมตร ปลายฐานด้านล่างสุดมีลักษณะแผ่ขยายออกคล้ายวงกลมแบน

  KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA     กรมศิลปากรได้ทำการอ่านและแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสรุปได้ความว่า เป็นการจารึกลงในเสาหินใน 2 ยุคด้วยกัน คือ ครั้งแรกเป็นการจารึกในด้านที่ 1 เป็นอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต มีข้อความ 22 บรรทัด จารึกเมื่อมหาศักราช 943 ตรงกับพุทธศักราช 1564 เป็นข้อความการสรรเสริญพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ ส่วนการจารึกครั้งที่ 2 เป็นการจารึกใหม่ใน 3 ด้านที่เหลือ เมื่อจุลศักราช 878 ตรงกับพุทธศักราช 2059 เป็นอักษรขอม ภาษาไทย บาลีและเขมร เป็นข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และมีข้อความที่ให้ช่วยกันสืบสานพระพุทธศาสนาให้ได้ 5000 ปี 

     กระดาษลอกลายและสำเนาคำอ่านและแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ดังกล่าว สามารถชมได้ที่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์นั่นเอง

     ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ปรับปรุง พ.ศ.2503     ศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นจุดรวมใจรวมศรัทธาของคนเพชรบูรณ์ ที่มากราบไหว้ขอพร บนบานศาลกล่าวได้ตามที่ปรารถนา ข้าราชการและคนทั่วไป เมื่อเดินทางมาถึงเมืองเพชรบูรณ์ ก็จะต้องมากราบสักการะศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์เป็นอันดับแรก

     ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเมื่อ 2513

     Phetchabun City Pillar is a unique city pillar in Thailand.  It is a stone inscription which was first inscribed about a thousand years ago.
     From the document of Fine Arts Department, we can presume that this stone inscription was first taken from Si Thep Ancient City to Wat Mahathat in Phetchabun city long time ago and then was placed to be the city pillar in B.E. 2443 on the southwest fort of Phetchabun ancient wall.
     Phetchabun City Pillar is a  gray sandstone pillar, 184 cm. high, 30 cm. wide and 15-16 cm. thick.  It was discovered to be a stone inscription while the major reconstruction of the shrine in B.E. 2548.  The Fine Arts Department has already read and translated the stone inscription and concluded that it was inscribed in two different times.

  KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

     In B.E. 1564, the front side of the pillar was inscribed with 22 lines of ancient Khmer alphabets in Sansakrit language  to praise to Shiva in Brahmanism.  The second inscription was made in B.E. 2059 on the rest three sides of the pillar, also with Khmer alphabets but in Thai, Pali and Khmer languages.  The texts asked to preserve Buddhism until 5,000 years.

  แผ่นกระดาษลอกลายตัวอักษรบนศิลาจารึก     Tracing papers, copy of the word reading and translation of the stone inscription can be viewed at Nakornban Phetchabun Cultural Hall which is just opposite the Phetchabun City Pillar Shrine.

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เมื่อ 2562

แถลงการณ์

การต่อต้านการขุดเจาะน้ำมันดิบใกล้บริเวณเขาคลังนอก !!

     ทำไมคนเพชรบูรณ์ต้องรวมพลังกันคัดค้านการขุดเจาะน้ำมันดิบ (STN-2) ของบริษัทต่างชาติที่จะดำเนินการห่างจากอาณาบริเวณโบราณสถานเขาคลังนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพียง 100 เมตร

1. เขาคลังนอก เป็นโบราณสถานสมัยทวารวดี ที่มีอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียโบราณ อายุกว่า 1300 ปี เป็นโบราณสถานทวารวดีที่ใหญ่ที่สุด สมบูรณ์ที่สุด และสวยงามที่สุด ในประเทศไทย เป็น “เพชรเม็ดเอก” แห่งเมืองโบราณศรีเทพ ที่เสนอให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ  และที่สำคัญ บริเวณเขาคลังนอกนี้ เป็นมหาสถูปขนาดใหญ่มาก ซึ่งประกอบด้วยเจดีย์บริวารอีกหลายองค์ที่กินพื้นที่บริเวณกว้างมากที่ยังไม่ได้มีการขุดสำรวจ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะพบโบราณสถานอีกจำนวนมาก  ฉะนั้น เราคงยอมไม่ได้ที่จะให้มีการทำอะไรที่เสี่ยงต่อความเสียหายต่อเขาคลังนอกและพื้นที่โดยรอบโดยเด็ดขาด แม้จะมีการรับปากรับคำที่จะป้องกันปัญหาต่าง ๆ แต่เราก็เห็นตัวอย่างมามากมายแล้วว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้น มันก็ต้องเสียเวลาแก้ไข ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว แล้วเหตุไฉนเราจะต้องไปเสี่ยงเช่นนั้น เราต้องตัดไฟแต่ต้นลม ป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มเลยดีกว่า

2. หากมีการขุดเจาะน้ำมันดิบใกล้เขาคลังนอกเกิดขึ้นจริง เฉพาะเพียงปัญหาที่รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะต้องวิ่งเข้าวิ่งออกขนส่งน้ำมันตามเส้นทางคมนาคมบริเวณเมืองโบราณศรีเทพนั้น ก็จะสร้างปัญหาการจราจร ปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาถนนชำรุด ปัญหามลพิษ ตามเส้นทางในพื้นที่มากมายมหาศาลอยู่แล้ว ไหนจะยังปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา คือ ปัญหาแรงสั่นสะเทือน ปัญหาภูมิทัศน์ ปัญหาสิ่งแปลกปลอมและมลพิษต่าง ๆ ปัญหาดินยุบ ปัญหาเหล่านี้ ล้วนแต่มีผลกระทบด้านลบต่อการขึ้นทะเบียนและการดูแลรักษามรดกโลกทั้งสิ้น นอกจากนั้น วิถีชีวิตความสงบสุขของชุมชนโดยรอบก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ดูตัวอย่างหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบที่มีอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ดีขึ้นแต่ประการใด

3. วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของเมืองโบราณศรีเทพนั้น ปัจจัยสำคัญคือ การอนุรักษ์ การบริหารจัดการให้ยั่งยืน ส่วนผลประโยชน์เรื่องการท่องเที่ยวก็จะตามมา ฉะนั้น หากเราปล่อยให้มีการอนุญาตขุดเจาะน้ำมันดิบที่ห่างจากบริเวณเขาคลังนอกเพียง 100 เมตร ก็จะเป็นการแสดงถึงการไร้ศักยภาพ ไร้ความสามารถและมีความบกพร่องในการดูแลอนุรักษ์และบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก เช่นนี้ เมืองโบราณศรีเทพก็จะพลาดจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรืออาจจะถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียนในอนาคต อย่างแน่นอน .. ใครจะรับผิดชอบ และรับผิดชอบต่อผลกระทบไหวไหม ??

4. ทุกวันนี้ เมืองโบราณศรีเทพ ก็มีโรงงานน้ำตาลมาตั้งใกล้ ๆ ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่าง ๆ มากมายอยู่แล้ว เช่น ปัญหาการจราจร อุบัติเหตุ ถนนชำรุด และเถ้าจากการเผาอ้อย  ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้สอดคล้องกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ถึงกับต้องเสียงงบประมาณนับร้อยล้านบาทที่จะต้องทำทางเข้าเมืองโบราณศรีเทพอีกทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้ผ่านโรงงานน้ำตาล โดยเข้าทางบ้านมอดินแดง นาตระกุด ศรีเทพน้อย โดยผู้ประกอบการไม่ได้ออกมารับผิดชอบอะไรเลย ฉะนั้น หากมีการขุดเจาะน้ำมันดิบในพื้นที่ซ้ำเติมขึ้นมาอีก ปัญหาเดิม ๆ ก็จะยิ่งต้องหนักขึ้นไปอีก ซึ่งเราไม่สามารถที่จะเสี่ยงให้มีการทำไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ที่หลังได้อีกแล้ว

5. การขุดเจาะน้ำมันดิบจากใต้แผ่นดินเพชรบูรณ์ มีมาช้านานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นแต่อย่างใดเลย กลับมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในการดำเนินงานตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการรับผิดชอบและการตอบแทนให้สังคม ตลอดจนปริมาณที่แท้จริงของน้ำมันดิบที่ขุดเจาะขึ้นมาได้  ในทางกลับกัน การอนุญาตให้บริษัทต่างชาติมาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรใต้ดินของแผ่นดินเพชรบูรณ์ สร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของกิจการมากมายตลอดเวลาที่ผ่านมา ตรงนี้ ชาวเพชรบูรณ์ก็เสียประโยชน์มากมายมหาศาลอยู่แล้ว  กลับมีเหตุการณ์ย่ามใจ จะมาขอขุดเจาะในพื้นที่ที่จะมีผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของเมืองโบราณศรีเทพ ที่ชาวเพชรบูรณ์ร่วมกันผลักดันมาโดยตลอด จนมีการประชุมผ่านขั้นตอนตามลำดับแล้ว และมติ ครม.สัญจรที่จังหวัดเพชรบูรณ์ก็รับทราบแล้วนั้นอีก ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจและเป็นความหวังร่วมกันของชาวเพชรบูรณ์ทั้งในด้านอนุรักษ์โบราณสถาน วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่จะมีอานิสงส์ต่อผู้คนทั้งจังหวัดเพชรบูรณ์ .. เราจะยอมได้หรือ ??

เหตุการณ์นี้ เสมือนเป็นการเอามีดมากรีดดวงใจของคนเพชรบูรณ์ !! ผู้ประกอบการและผู้อนุญาต ไม่ได้ให้เกียรติคนเพชรบูรณ์ ไม่เข้าใจบริบท ขาดสามัญสำนึก และไม่เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข  .. ซึ่งเราคนเพชรบูรณ์คงยอมไม่ได้ จึงขอคัดค้านสุดกำลัง และจะดำเนินการต่อต้านทุกวิถีทางทั้งทางข้อเท็จจริง ทางข้อกฎหมาย ทางการเมือง และทางมวลชน และหากยังไม่ได้รับการตอบสนอง เราจะยกระดับการต่อต้านขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีการยุติเรื่องนี้ …. เราเอาจริง !!

สภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์
หอการค้าจังหวัดเพชรบูรณ์
สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์
องค์การโลกสีเขียวจังหวัดเพชรบูรณ์
เครือข่ายสื่อมวลชนทุกฝ่าย ในจังหวัดเพชรบูรณ
สมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข็มแข็งจังหวัดเพชรบูรณ์


พระพุทธมหาธรรมราชา-1     “พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเพชรบูรณ์ องค์จริงที่ประดิษฐานอยู่บนศาลาวัดไตรภูมิ ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์ เป็นพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะลพบุรี (ขอม แบบบายน)  เนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน มีพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระเศียรทรงเทริด ปลายยอดจุลมงกุฎเป็นทรงชฎา ทรงสร้อยพระศอ  พาหุรัด และประคต  มีลวดลายงดงาม แลดูเข้มขลังยิ่งนัก 

      ชาวเพชรบูรณ์มีความเชื่อตามตำนานว่า พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (อ.หล่มสัก) ได้รับพระราชทานพระพุทธรูปองค์นี้จาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมแห่งเมืองพระนคร  โดยให้นำไปประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ร่วมกับพระขรรค์ชัยศรี และพระนาม “กมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์”  พร้อมทั้งให้ทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาคือพระนางสิขรมหาเทวี แต่หลังจากพ่อขุนผาเมืองร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง (อ.นครไทย) ได้ร่วมกันตีเมืองสุโขทัยคืนจากขอม กอบกู้อิสรภาพให้กับคนไทยและตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ทำให้พระนางสิขรมหาเทวี แค้นเคืองถึงกับเผาเมืองราดจนย่อยยับ ไพร่พลต้องพากันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงแพล่องไปตามแม่น้ำป่าสักเพื่อหลบหนีภัยความวุ่นวายไป แต่ปรากฏว่าแม่น้ำป่าสักมีความคดเคี้ยว และกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ทำให้แพที่อัญเชิญองค์พระมานั้นแตก จนองค์พระจมดิ่งลงสู้ก้นแม่น้ำหายไป กระทั่งต่อมา คนหาปลาชาวเพชรบูรณ์ได้ไปพบ และเกิดเป็นตำนานมหัศจรรย์ “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” ขึ้นมา

    1043892_10151439386287168_333382101_n     ตำนานเล่าว่า  เมื่อประมาณ 500 กว่าปีล่วงมาแล้ว คนหาปลาชาวเพชรบูรณ์ ที่พากันไปหาปลาในแม่น้ำป่าสัก บริเวณ “วังมะขามแฟบ” พลันอากาศที่สงบเงียบอยู่ดี ๆ กลับแปรปรวน มีลมฟ้าลมฝน ฟ้าร้องฟ้าผ่า แล้วเกิดมีวังน้ำวนขึ้นในลำน้ำ หมุนวนเอาพระพุทธรูปสีทองอร่ามขึ้นมา  จึงได้โดดน้ำไปอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวมามอบให้กับเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ และอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ ครั้นในปีถัดมา เมื่อวันแรม 15 ค่ำเดือน 10  องค์พระได้หายไปจากวัด ชาวเมืองต่างพากันช่วยหาไปทั่วทั้งเมือง แต่ก็ไม่มีผู้ใดพบเลย จึงพากันไปยังวังมะขามแฟบ ก็ได้พบองค์พระดำผุดดำว่ายอยู่กลางลำน้ำ อีกเช่นเดิม  ชาวเมืองจึงได้อัญเชิญองค์พระกลับมาวัดไตรภูมิอีกครั้ง แล้วร่วมตกลงกันว่า ทุกวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี  เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะได้อัญเชิญองค์พระไปดำน้ำ ที่วังมะขามแฟบ พร้อมทั้งร่วมกันขนานนามองค์พระศักดิ์สิทธิ์ว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์แต่นั้นมา

        อนึ่ง พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นกษัตริย์ขอมที่นับถือศาสนาพุทธ ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปลักษณะเช่นเดียวกันกับพระพุทธมหาธรรมราชาขึ้นมาหลายองค์ ซึ่งได้โปรดให้เป็นพระพุทธรูปประธานประดิษฐานไว้ในอโรคยาศาล (โรงพยาบาล) ที่สร้างไว้ตามรายทางเป็นระยะของราชมรรคาซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างนครธมมายังพิมาย โดยมีชื่อว่า “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา” ซึ่งบนพระหัตถ์จะมี “หม้อยาหรือหม้อน้ำมนต์”  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นถึงการรักษาโรคของผู้คนในสมัยนั้น เมื่อรักษาทั้งทางกายจากหมอน้ำมัน หมอนวด หมอสมุนไพร แล้วยังต้องรักษาทางจิตใจด้วย โดยการกราบไหว้และขอรับน้ำมนต์จากพระพุทธรูปไปดื่มกิน ไปอาบที่บ้าน .. พระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้จึงได้รับการนับถือเปรียบเสมือน “หมอยา” หรือ “เภสัช” ในปัจจุบันนั่นเอง 

     พระพุทธมหาธรรมราชาจึงมีพุทธคุณทางการป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การรักษาสุภาพแข็งแรง และการแคล้วคลาดปราศจากเภทภัยอันตรายใด ๆ ทั้งปวง

             พุทธมะหาธัมมะราชา เพชะบุระมหิทธิกา
             สัพเพ เต อะนุรักขันตุ อะโรคะเยนะ สุเขนะจะ เอเตนะ
             สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา

หล่มเก่า เป็นอำเภอที่อยู่ตอนเหนือสุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมลำน้ำพุงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก มีภูเขาขนาบ 3 ข้างคือ ทิศตะวันออก ตะวันตกและทิศเหนือ บริเวณนี้มีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก 

ประวัติความเป็นมา คือ ตามทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร ที่ขึ้นทะเบียนไว้นานแล้ว นั่นคือ เมืองลมหรือเมืองลุ่ม อยู่บริเวณบ้านหินกลิ้ง ต.หล่มเก่า เป็นเมืองโบราณสมัยสุโขทัย มีกำแพงเมืองด้านทิศเหนือยาว 24 เส้น ด้านทิศใต้ 27 เส้น 10 วา ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกยาวเท่ากันคือ 87 เส้น

จากหลักฐานเอกสารการขึ้นทะเบียนนี้ มีนัยสำคัญที่บอกว่า เมืองหล่ม หรือหล่มเก่าในปัจจุบัน เป็นเมืองโบราณที่มีผู้คนตั้งหลักแหล่งมาช้านานแล้ว ซึ่งก็สอดคล้องกับศิลาจารึกในสมัยสุโขทัย จารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหง ปรากฏชื่อ ลุมบาจาย สะค้า จารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม มีคำว่า เมืองราดเมืองลุม และเมืองราด เมืองสคา จารึกหลักที่ 8 เขาสุมนกูฏ ปรากฏชื่อ เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย และจารึกหลักที่ 286 วัดบูรพารามก็มีชื่อ ลุมบาจาย เช่นเดียวกัน .. ที่กล่าวถึงเมืองลุม ลุมบาจาย อันเป็นชื่อตามภาษาพื้นถิ่นที่มีความหมายเดียวกันกับ เมืองลม เมืองลุ่ม และเมืองหล่ม นั่นเอง 

ในอดีต การเรียกชื่อเมืองหล่มเก่า ก็ปรากฏว่ามีการเรียกชื่อหลายอย่าง เช่น เมืองลุม เมืองลุ่ม เมืองลม เมืองล่ม เมืองหล่ม เมืองล่มสัก เมืองหล่มศัก นอกจากนั้น ปรากฏมีหลักฐานเป็นหนังสือใบลานที่เก็บรักษาไว้ที่เมืองหลวงพระบาง ที่จารึกไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2158 ที่กล่าวถึงเมือง “ลมสัคอัคคบุลี” หรือ เมืองหล่มสักอัคคบุรี ที่มีวัดหินกลิ้ง วัดภู และวัดตาล แสดงให้เห็นว่า เมืองหล่มเก่าในปัจจุบันนี้ ในสมัยก่อนก็มีชื่อว่า “เมืองหล่มสัก” ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น จากเอกสารใบลานที่จารึกด้วยอักษรธรรมลาวนี้ แสดงให้เห็นว่า เมืองหล่มสักอัคคบุรี ในสมัยก่อนมีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาและการศึกษา ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและการปกครองแบบ “อาชญาสี่” ที่แนบแน่นกับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางอีกด้วย

สำหรับผู้คนที่มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองหล่มตั้งแต่โบราณกาลนี้ ก็น่าจะเป็นคนเชื้อสายลาวล้านช้างในกลุ่มลาวหลวงพระบาง ที่อยู่อาศัยตั้งหลักแหล่งแผ่ขยายลงมาตามลำน้ำโขง มาที่ไชยบุลี ปากลาย แก่นท้าว ท่าลี่ นาแห้ว ด่านซ้าย บ้านโคก ฟากท่า นครไทย และเข้ามาลึกสุดในดินแดนประเทศไทย ก็คือที่เมืองหล่ม หรือหล่มเก่าหล่มสัก จึงสามารถเรียกได้ว่า เมืองหล่มเก่าหล่มสักนี้ เป็น “ประตูสู่ดินแดนวัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบาง” ซึ่งผู้คนในดินแดนแถบนี้ทั้งหมด ก็ยังคงมีภาษาพูด วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ศิลปกรรม เป็นแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันอยู่ แม้ต่อมาภายหลัง ก็อาจจะมีกลุ่มคนลาวเวียงจันทน์หรือกลุ่มอื่น ๆ ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยร่วมด้วย ตามเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ หรือรวมทั้งถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ด้วย จึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมเกิดเป็น “วัฒนธรรมไทหล่ม” อันเป็นอัตลักษณ์ขึ้นมา

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเล่าเรื่องการตั้งเมืองหล่มเก่าว่า เมื่อผู้คนจากดินแดนล้านช้างจะตั้งเมืองขึ้นในบริเวณบ้านหนองขี้ควาย ริมน้ำพุงนั้น ก็ได้ทำการเสี่ยงทายจุดที่จะตั้งวัดและวังเจ้าเมือง โดยทำการกลิ้งหินก้อนใหญ่ ๆ 2 ก้อนลงมาจากเขานมนางทางด้านตะวันออก หินก้อนแรกตกที่ไหน ก็เป็นจุดสร้างวัด อันได้แก่ จุดที่เป็นวัดศรีมงคล บ้านหินกลิ้งในปัจจุบัน และหินก้อนหลังตกที่ไหน ก็เป็นจุดสร้างวัง อันได้แก่ศาลเจ้าพ่อวังเสื้อแดงในปัจจุบันนี้ และหมู่บ้านหนองขี้ควายจึงได้ชื่อว่า บ้านหินกลิ้ง เป็นจุดกำเนิดเมืองหล่มแต่นั้นเป็นต้นมา

แม้จะมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นเมืองโบราณ แต่ไม่ปรากฏสิ่งก่อสร้างโบราณสถานที่สำคัญให้เห็นในเมืองหล่มเก่า ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะถูกเผาทำลายไป เมื่อครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเมืองหล่มแห่งนี้ มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับศึกครั้งนี้เป็นอย่างมาก ในเมืองหล่มเก่า จึงมีวัดร้างหลายแห่ง เช่น วัดจอมแจ้ง วัดกู่แก้ว วัดป่าไชโย เป็นต้น

 

 

 

ต่อมา หลังเสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์แล้ว เมื่อประมาณ พ.ศ. 2372 พระสุริยวงษาฯ (คง) เจ้าเมืองหล่มเห็นว่า การติดต่อค้าขายและการคมนาคมได้เปลี่ยนทิศทางไปโดยให้ความสำคัญกับการติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองทางใต้ซึ่งใช้เส้นทางแม่น้ำป่าสักแทน จึงทำการสร้างเมืองหล่มสักขึ้นใหม่ที่ริมแม่น้ำป่าสัก และเมืองหล่มเดิมนี้จึงถูกเรียกว่า หล่มเก่า นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันนี้ เมืองหล่มเก่าและดินแดนอำเภอหล่มเก่า เป็นพื้นที่ที่หล่อเลี้ยงด้วยลำน้ำสักและน้ำพุง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก สามารถทำการเกษตรได้หลายอย่างซึ่งล้วนแล้วแต่ได้ผลผลิตดี เช่น ข้าว ข้าวโพด ใบยา ฯลฯ โดยเฉพาะเป็นถิ่นกำเนิดมะขามหวานพันธุ์หมื่นจง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ คือ ภูทับเบิก และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม คือเป็นดินแดนวัฒนธรรมไทหล่ม ที่ผู้คนมีวัฒนธรรมประเพณี ภาษา อาหารการกิน วิถีชีวิต ศาสนสถาน ตลอดจนศิลปกรรม ที่คล้ายคลึงกับชาวล้านช้างหลวงพระบาง โดยมีประเพณีที่สำคัญ คือ การแข่งเรือยาวลาพรรษาวัดทุ่งธงไชย และงานวัฒนธรรมไทหล่ม ขนมเส้นหล่มเก่า ในตัวเมืองหล่มเก่า ก็มีเสน่ห์ด้วยอาคารไม้โบราณที่ชั้น 2 มีระเบียงด้านหน้าที่สร้างต่อเนื่องกันไป นับเป็นเอกลักษณ์ของเมืองหล่มเก่าที่ทรงคุณค่ายิ่ง

เสน่ห์อีกอย่างของหล่มเก่าที่ที่อื่นไม่มี นั่นคือชื่อหมู่บ้านและตำบลต่าง ๆ ที่เป็นศัพท์พื้นเมือง แต่ฟังดูแล้วแปลกหูและเป็นเสน่ห์ให้น่าค้นหาความหมาย เช่น ตาดกลอย ศิลา แก่งโตน อุ่มกะทาด วังก้นหวด สงเปลือย โป่งสามขา หินฮาว ปาฝา ท่าผู ภูผักไซ่ โนนผักเน่า หินกลิ้ง นาขี้หูด นาเกาะ และโจะโหวะ เป็นต้น

ที่สำคัญคือ หล่มเก่ากำลังจะมีบทบาทสำคัญด้านการท่องเที่ยว ตามแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เรียกว่า เส้นทางเชื่อมโยง 4 มรดกโลกทางวัฒนธรรม อันได้แก่ อยุธยา ศรีเทพ หลวงพระบาง และสุโขทัย โดยหล่มเก่าจะเป็นศูนย์กลางของเส้นทางท่องเที่ยวดังกล่าวนี้

ในด้านผู้คนนั้น ไทหล่มเก่าเป็นคนที่มีจิตใจดี อัธยาศัยดี มีวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านที่เรียบง่าย ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาควบคู่กันไปกับการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำแต่ละหมู่บ้าน นับว่าเป็นดินแดนที่อบอวลไปด้วยเสน่ห์ของวิถีไทหล่มอันงดงาม สมกับคำขวัญที่ว่า หล่มเก่า : เมืองหลบ เมืองสงบ เมืองเสน่ห์

 

.. ขนมเส้นหล่มเก่า ..
แข่งเรือยาวลาพรรษา ..
จิตรกรรมฝาผนังล้ำเลิศ ..
ถิ่นกำเนิดมะขามหวาน ..
นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ..
แดนวัฒนธรรมไทหล่ม ..
ชมหมอกหนาวภูทับเบิก ..

 

สักการะ 4 สิมโบราณ

นมัสการ 5 หลวงพ่อใหญ่

ไหว้ 10 พระธาตุ หล่มเก่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จมาบนแผ่นดินเพชรบูรณ์ ถึง 13 ครั้ง 14 วัน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวเพชรบูรณ์อย่างหาที่สุดมิได้ .. ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

13 ครั้ง 14 วัน …

1. วันที่ 17 มิถนายน พ.ศ.2506

2. วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2507

3. วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2511

4. วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2512

5. วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2515

6. วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2516

7. วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2516

8. วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2519

9. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521

10. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2522

11. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524

12. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527

13. วันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2528

ภาพประวัติศาสตร์ .. เป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่พระมหากษัตริย์เสด็จบนแผ่นดินเพชรบูรณ์
เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิย. พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมหน่วยฝึกธนะรัชต์ กองกำลังแทงโก้ สนามบินหล่มสัก ต.สักหลง อ.หล่มสัก และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ราษฎร ลูกเสือ และนักเรียนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยทั่วถึงและด้วยความใกล้ชิด … เป็นการเสด็จมาจังหวัดเพชรบูรณ์ครั้งที่ 1 … 

ครั้งที่ 2 .. วันจันทร์ที่ 23 พย. 2507 เวลา 9.45-16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โดยเครื่องบินพระที่นั่งลงที่สนามบินหล่มสัก จากนั้นประทับเฮลิคอปเตอร์เสด็จไปทรงเยี่ยมชมกิจการไร่นายจุล คุ้นวงศ์ที่สามแยกวังชมภู แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่งมายังตัวเมืองเพชรบูรณ์ และทรงโปรดฯให้รถยนต์พระที่นั่งมาวนผ่านย่านชุมชนต่าง ๆ เพื่อเยี่ยมราษฎรในเมืองเพชรบูรณ์ ที่มีการประดับซุ้มและธงทิว มีประชาชนทุกหมู่เหล่ามาเฝ้ารับเสด็จกันตลอดทางอย่างเนืองแน่น ทรงรับมอบของที่ระลึกจากตัวแทนคณบดีเมืองเพชรบูรณ์ที่วงเวียนน้ำพุ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดตึกสูติกรรมที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ .. จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเฮลิคอปเตอร์ที่สนามหน้าโรงเรียนวิทยานุกูลนารี กลับไปยังสนามบินหล่มสัก ประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จกลับ การเสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดเพชรบูรณ์ของทั้ง 2 พระองค์ในครั้งนี้ ได้มีประชาชนมาคอยเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่นในทุกสถานที่ที่เสด็จพระราชดำเนินไป ทั้งที่ ไร่กำนันจุล คุ้นวงศ์ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ ที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ที่โรงเรียนวิทยานุกูลนารี และที่สนามบินหล่มสัก ซึ่งพระองค์ท่านก็ได้ทรงเยี่ยมราษฎรในทุก ๆ แห่งอย่างทั่วถึงเช่นกัน ยังความปลาบปลื้มใจแก่พสกนิกรชาวเพชรบูรณ์เป็นยิ่งนัก

ครั้งที่ 3 .. วันจันทร์ที่ 30 ธค. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติราชการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ณ สถานีอนามัยศูนย์การแพทย์หล่มสัก อ.หล่มสัก และสถานีอนามัยชั้นหนึ่งหล่มเก่า อ.หล่มเก่า และได้พระราชทานรถพยาบาล เครื่องเอ็กซ์เรย์สนาม เครื่องให้ออกซิเจน เครื่องมือผ่าตัด เครื่องเวชภัณฑ์และยารักษาโรคต่าง ๆ ให้กับสถานีอนามัยทั้ง 2 แห่ง ประมาณราคา 75000 บาท พร้อมทั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรที่มาคอยเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาอย่างทั่วถึงกัน

ครั้งที่ 4 .. วันอาทิตย์ที่ 12 มค. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ มายังสถานีอนามัยหล่มเก่า อ.หล่มเก่า ทรงเยี่ยมเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้พระราชทานเครื่องมือแพทย์และเงินสำหรับจัดซื้อโลหิตจำนวน 13000 บาทให้กับสถานีอนามัยหล่มเก่า และยังได้พระราชทานรถยนต์แลนด์โรเวอร์ จำนวน 1 คัน เพื่อใช้ออกงานสนาม เพื่อนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการรักษาผู้ป่วยตามแหล่งทุรกันดาร ได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้น ยังพระราชทานเครื่องมือแพทย์อีกชุดหนึ่งให้กับนายจำรูญ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อนำไปมอบให้โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ก่อนเสด็จ ฯ กลับ ทั้ง 2 พระองค์ยังได้ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาคอยเฝ้ารับเสด็จจำนวนมากที่สนามหน้าโรงเรียนบ้านหล่มเก่าอย่างทั่วถึงอีกด้วย

ครั้งที่ 5 .. วันอังคารที่ 25 มค. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ มายังสนามบิน ต.ท่าโรง อ.วิเชียรบุรี อันเป็นสถานที่ตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกอบพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดใกล้เคียงมาคอยเข้าเฝ้ารับเสด็จกันอย่างมากมาย ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ก็ทรงเยี่ยมอย่างทั่วถึง ยังความปิติยินดีมาสู่ประชาชน ณ ที่นั้นเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งได้พระราชทานเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 15 แรงม้าไว้ให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อใช้สำหรับสูบน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งในการทำการเกษตรของประชาชน ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ มีผู้จงรักภักดีได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินสดโดยเสด็จพระราชกุศลและมีผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายพระพุทธรูปบูชา กรุวัดมหาธาตุ อายุประมาณ 600 ปีอีกด้วย

ครั้งที่ 6 .. วันพฤหัสบดีที่ 25 มค. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินทรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ มายังโรงพยาบาลสนามที่ 3 ใกล้กับสนามบินหล่มสัก อ.หล่มสัก เพื่อทรงเยี่ยมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ทรงมีพระราชปฏิสันถารอย่างใกล้ชิดกับผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างทั่วถึง และยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อเป็นการบำรุงขวัญแก่ผู้บาดเจ็บ 

ครั้งที่ 7 .. วันศุกร์ที่ 21 ธค. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินทรเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทรงเยี่ยมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ณ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ฐานปฏิบัติการกองร้อยที่ 1 ต.น้ำชุน อ.หล่มสัก พระองค์ได้พระราชทานสิ่งของแก่ตัวแทนทหารและราษฎรอาสาสมัคร พระราชทานเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษาแก่ตัวแทนนักเรียน และพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมากอีกด้วย 

ครั้งที่ 8 .. วันศุกร์ที่ 12 มีค. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ มายังกองบังคับการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 1617 (พตท.1617) ต.สักหลง อ.หล่มสัก เพื่อทรงเยี่ยมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ พระองค์ได้พระราชทานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้กับแม่ทัพภาคที่ 3 เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานไว้กองบังคับการผสม ฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ และได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านและประชาชนที่มารอเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก อย่างใกล้ชิด 

ครั้งที่ 9 .. วันศุกร์ที่ 10 กพ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังฐานบ้านสมเด็จเขาค้อ ต.แคมป์สน อ.หล่มสัก (อ.เขาค้อ ในปัจจุบัน) ทรงเยี่ยมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้พระราชทานสิ่งของให้แก่ ทหาร เจ้าหน้าที่ และตัวแทนโครงการทุ่งสมอ ทรงตรวจเยี่ยมพระราชทานคำแนะนำการพัฒนาโครงการทุ่งสมอซึ่งเป็นโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรกองหนุนอาสาสมัคร พระราชทานสิ่งของให้ครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านเหล่าหญ้า จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ไปที่ตัวเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อทรงประกอบพิธีตัดหวายลูกนิมิตพระอุโบสถ วัดเพชรวราราม 2 ลูกด้วยกัน คือลูกหน้าพระอุโบสถและลูกประธานภายในพระอุโบสถ ทรงมีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระญาณสังวรและถวายปัจจัยเพื่อบูรณะปฏิสังขรวัดแก่พระกิติสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดเพชรวราราม และทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ภายในวัดด้วย

ครั้งที่ 10 .. วันพฤหัสบดีที่ 1 กพ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้เสด็จไปยังชุดปกครองพัฒนาทุ่งสมอ 2 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก ได้ทรงฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก แล้วเสด็จไปยังโรงเรียนเจริญทองนิ่ม พระราชทานอุปกรณ์การเรียน เครื่องใช้ต่าง ๆ แก่ผู้แทนครูและนักเรียน ทอดพระเนตรการแสดงของเยาวชนเขาค้อ เสวยพระกระยาหารกลางวันที่เรือนร่มเกล้า แล้วเสด็จเยี่ยมเจ้าหน้าที่และราษฎรอาสาที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ฐานยิงสนับสนุนทุ่งสมอ พระราชทานถุงของขวัญและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แก่ผู้มีส่วนช่วยเหลือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก ในการเสด็จครั้งนี้ พระองค์โปรดเกล้าฯให้หน่วยแพทย์หลวงเคลื่อนที่ไปล่วงหน้าเพื่อตรวจรักษาและแจกจ่ายยารักษาโรคให้กับบรรดาราษฎรที่โรงเรียนเจริญทองนิ่ม อีกด้วย

ครั้งที่ 11 วันอังคารที่ 24 กพ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนสุดา สยามบรมราชกุมารี ไปยังชุดปกครองและพัฒนาทุ่งสมอ 2 ต.แคมป์สน อ.หล่มสัก (อ.เขาค้อในปัจจุบัน) ได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศและพระราชทานพระราชดำริเรื่องวางแผนในการพัฒนาพื้นที่เขาค้อทั้งด้านแหล่งน้ำและการทำกินให้กับราษฎรอาสาสมัครที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในโครงการฯ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังชุดปกครองและพัฒนาทุ่งสมอ 3 ทรงเยี่ยมราษฎรชาวเผ่าม้งที่มารอเฝ้ารับเสด็จ แล้วกลับมาโรงเรียนเจริญทองนิ่ม ทอดพระเนตรการแสดงของชาวเผ่าลีซอ ได้ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จจำนวนมากอย่างใกล้ชิดที่บริเวณสนามหน้าอาคารเรียน ซึ่งได้โปรดเกล้าฯให้หน่วยแพทย์หลวงเคลื่อนที่ได้เดินทางล่วงหน้ามาทำการรักษาและแจกจ่ายยาให้กับราษฎรด้วย จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลสนาม ทรงเยี่ยมทหารและอาสาสมัครที่บาดเจ็บจากการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และพระราชทานถุงของขวัญแก่ผู้แทนหน่วยพลเรือนตำรวจทหาร ที่ร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก

ครั้งที่ 12 วันจันทร์ที่ 20 กพ. 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ไปยังสนามบินเขาค้อ ต.นางั่ว อ.เมืองเพชรบูรณ์  เสด็จไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์อาวุธสงคารม แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อซึ่งจัดสร้างขึ้นเพื่อสดุดีวีรกรรมของผู้ร่วมปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชัยชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในบริเวณพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2511-2525 ที่ได้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ได้ทรงพระราชทานของที่ระลึกให้กับผู้สนับสนุนการก่อสร้างอนุสรณ์ฯ ทรงปลูกต้นชัยพฤกษ์ ทรงเยี่ยมทายาทผู้เสียชีวิต และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับทรงงานที่พลับพลาบริเวณน้ำตกศรีดิษฐ์ ทรงปลูกต้นสน 2 ใบ จากนั้น เสด็จไปเรือนร่มเกล้า ได้ทรงปล่อยปลาลงในอ่างเก็บน้ำ พระราชทานพันธุ์ปลาและทอดพระเนตรการแสดงของสมาชิกศูนย์เยาวชนเขาค้อ

ครั้งที่ 13 วันที่ 25-26 กพ. 2528

วันจันทร์ที่ 25 กพ. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร มายังพระตำหนักเขาค้อ บ้านเขาย่า ต.นางั่ว กิ่ง อ.เขาค้อ ที่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกันก่อสร้างน้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นที่ประทับแรม ได้พระราชทานของที่ระลึกให้กับผู้ที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างพระตำหนักเขาค้อ จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินมายังโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทรงทอดพระเนตรภูมิประเทศบริเวณโครงการ ฯ และพระราชทานพระราชดำริให้เป็นโครงการยุทธศาสตร์พัฒนาแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่เขาค้อ และในโอกาสนี้ ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักเขาค้อ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีพระมหากษัตริย์เสด็จมาประทับแรมบนแผ่นดินเพชรบูรณ์ .. และธงมหาราช ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มาโบกสะบัดพริ้วไสวอย่างสง่างามบนแผนดินเพชรบูรณ์ เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์เพชรบูรณ์

ครั้งที่ 13 วันที่ 25-26 กพ. 2528

วันอังคารที่ 26 กพ. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักเขาค้อ บ้านเขาย่า ต.นางั่ว กิ่ง อ.เขาค้อ จากนั้น รุ่งเช้า ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรฐานยิงสนับสนุนอิทธิ ซึ่งได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธและการสู้รบในพื้นที่เขาค้อ เสด็จไปวางพวงมาลาที่อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ เสด็จไปทอดพระเนตรกิจการของสถาบันเกษตรที่สูง ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกป่า 3 ชนิดคือ ไม้ใช้สอย ไม้ฟืน และไม้ผล แล้วเสด็จไปสำรวจพื้นที่ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กและได้มีพระราชดำริให้สร้างแหล่งน้ำเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในหลายแห่ง เพื่อวางแผนในการพัฒนาต่อไป เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มารอเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมากที่บริเวณที่ว่าการกิ่ง อ.เขาค้อ

‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

คอลัมน์วันนี้ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด