LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
ข่าวเด่นเพชรบูรณ์

“การเผาอ้อย” คนร้ายตัวจริงหรือแพะรับบาปกรณี “PM 2.5”

ในช่วงปีที่ผ่านมา “PM 2.5” กลายเป็นประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของสังคมไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ปัญหาคุณภาพอากาศที่มีระดับอันตรายต่อสุขภาพ ได้แพร่กระจายไปในวงกว้างเกือบทั่วประเทศ หลายภาคส่วนต่างพยายามหาต้นตอของปัญหาฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง ควันจากรถยนต์ และหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายก็คือ “การเผาอ้อย ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสาน ในรูปของ “หิมะดำ” ควันพิษ ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 และยังเป็นตัวเร่งให้เกิดภัยแล้งหนักยิ่งขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีการเผาอ้อยซึ่งก่อให้เกิด PM 2.5 นี้ เรากลับยังไม่เห็นมาตรการที่ชัดเจนของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประชาชนทำได้เพียงสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน ส่วนชาวไร่อ้อยก็ยังคงไม่มีทางเลือกในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และตกเป็น “จำเลย” ที่ก่อมลภาวะและสร้างความเดือดร้อน ทว่าที่จริงแล้ว การเผาอ้อยนั้นเป็นผู้ร้ายตัวจริงในกรณีนี้หรือไม่ และเราจะแก้ปัญหานี้ที่ต้นเหตุได้อย่างไรกัน

ทำไมต้องเผาอ้อย

ในช่วงปี 2557-2562 มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 8,456,000 ไร่ เป็น 11,469,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 3,013,000 ไร่ จากนโยบายประชารัฐ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านการเกษตร อย่างการส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยและข้าวโพดอาหารสัตว์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนในรูปปลอดดอกเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งการสนับสนุนเงินให้เปล่าแก่เกษตรกรไร่ละ 2,000-3,000 บาท/ไร่ นอกจากนี้ ยังมีโรงงานน้ำตาลที่กำลังจะเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 29 แห่ง ซึ่งหมายความว่าจะมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มอีกราว 5 ล้านไร่ทีเดียว

อ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการปลูกอ้อยเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำตาลว่า เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่ภายใต้ระบบโควตา กับกลุ่มเกษตรกรรายเล็ก ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

“การปลูกอ้อยมันอยู่ภายใต้ระบบโควตา ซึ่งเป็นระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างหนึ่ง ก็คือการที่ประเทศไทยไปขายน้ำตาลทรายในตลาดโลกล่วงหน้าที่นิวยอร์กกับลอนดอน เมื่อขายแล้ว แปลว่าปีหน้าเราต้องส่งน้ำตาลให้ได้ตามนั้น ทั้งน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว ที่ขายได้นี่เรียกว่าโควตานะ แล้วเอาโควตานี้มาจัดสรรให้โรงงานน้ำตาลต่างๆ แล้วโควตาก็จะไปรับมาจากโรงงานอีกที โรงงานต่างๆ ก็จะมีเขตการปลูกอ้อยและสมาคมชาวไร่อ้อย โควตาใหญ่ก็จะให้โควตาย่อย แล้วโควตาย่อยก็จะให้มายังลูกไร่ เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย กลุ่มที่สองก็คือพวกปลูกอ้อยรายเล็กๆ ที่ไม่ต้องการขึ้นทะเบียน ก็มีความเสี่ยงต่อการถูกเผาเพื่อบังคับขาย”

โดยทั่วไป การเก็บเกี่ยวอ้อยจะเริ่มขึ้นในฤดูเปิดหีบอ้อย คือราวเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ในปีถัดไป ซึ่งวิธีการเก็บเกี่ยวที่นิยมใช้มากที่สุดก็คือ “การเผาอ้อย” จากรายงานของมูลนิธีชีววิถี พบว่าพื้นที่ปลูกอ้อย 40-60% ล้วนมีการเผา แม้ว่าการตัดอ้อยสดส่งโรงงานจะได้ราคาดีกว่าก็ตาม สำหรับสาเหตุที่เกษตรกรเลือกเผาอ้อยแทนการตัดอ้อยสด อ.ดร.ไชยณรงค์อธิบายว่าสามารถแบ่งออกได้เป็นกรณีของอ้อยแปลงใหญ่ ซึ่งอยู่บริเวณภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคเหนือตอนล่าง และกรณีของผู้ปลูกอ้อยเสรี ซึ่งมักจะอยู่ในภาคอีสาน

กรณีของอ้อยแปลงใหญ่ มีพื้นที่เป็นพันๆ ไร่ ปัญหาใหญ่ก็คือการขาดแคลนแรงงาน ปกติก็จะใช้แรงงานจากอีสานและกลุ่มชาติพันธุ์กูย ที่ศรีษะเกษ แต่ตอนนี้คนอีสานเองก็เลิกตัดอ้อยเยอะ ก็จะใช้วิธีการตกเขียวแรงงาน คือเจ้าของไร่อ้อยจ่ายเงินไปก่อน แล้วก็ให้คนตัดอ้อยไปตัดอ้อยใช้หนี้พร้อมดอกเบี้ย ทีนี้ทุกวันนี้แรงงานก็ต่อรองมากขึ้น เพราะฉะนั้น กลุ่มชาวไร่อ้อยกลุ่มนี้ก็จะขาดแคลนแรงงาน แล้วก็เกษตรกรไม่มีเงินไปซื้อรถตัดอ้อยหรอกครับ แพงมาก บางส่วนก็ไม่นิยมใช้รถตัดอ้อย เพราะว่ามีน้ำหนักมาก แล้วจะทำให้ดินแน่น เพราะฉะนั้น ก็ยังนิยมใช้แรงงานคนมากกว่า พอแรงงานคนไม่พอก็ใช้การเผา”

“เงื่อนไขที่สองก็คือ การเผาอ้อยโดยกลุ่มผู้ปลูกอ้อยเสรี หรือชาวไร่อ้อยที่ไม่ไปขึ้นทะเบียน ที่เรียกว่าการขึ้นโควตาปลูกอ้อย เนื่องจากการขึ้นโควตาปลูกอ้อยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกปรับ ถ้าหากว่าได้ผลผลิตไม่ถึงเกณฑ์ที่เขากำหนด เพราะฉะนั้น กลุ่มนี้ก็หันมาปลูกอ้อยเสรี ทำให้ชาวไร่อ้อยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เช่น ถ้าอ้อยสมบูรณ์ เขาก็สามารถโก่งราคาให้สูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศรับซื้อจากชาวไร่อ้อย เพราะฉะนั้น กลุ่มนี้ก็จะมีความเสี่ยงเรื่องการถูกเผาอ้อยโดยกลุ่มโควตา เพื่อที่จะบังคับให้ขายอ้อย อ้อยเมื่อถูกเผาแล้วต้องรีบขาย และขายในราคาถูกมาก อย่างปีที่แล้วอ้อยตันละ 800 บาท ถ้าอ้อยถูกเผา จะเหลือ 350 บาท คือไม่ขายก็ต้องขาย ต่อรองอะไรไม่ได้เลย”

อ.ดร.ไชยณรงค์ ยังเล่าอีกว่า เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเสรีอาจจะมีการขาย “อ้อยตกเขียว” ให้แก่กลุ่มโควตา คือเมื่อปลูกอ้อยได้ราว 2 เดือน เกษตรกรจะรู้ว่าอ้อยแปลงนั้นจะสมบูรณ์หรือไม่ หากสมบูรณ์ก็จะมีโควตามาซื้ออ้อยล่วงหน้า โดยจ่ายเงินไว้ส่วนหนึ่ง และจะจ่ายเงินอีกส่วนให้ครบตามจำนวนเมื่อถึงฤดูตัดอ้อย ดังนั้น เมื่ออ้อยพร้อมเก็บเกี่ยวแล้ว ผู้ซื้อยังไม่มาตัด ชาวไร่อ้อยก็อาจจะแอบเผาอ้อยของตัวเอง เพื่อที่จะให้คนที่ซื้ออ้อยรีบมาตัดอ้อย เพื่อที่ตัวเองจะได้เงินตามที่ตกลงกันไว้

นอกจากการเผาอ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวแล้ว การเผาใบอ้อยหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรถูกพูดถึง เนื่องจากใบอ้อยที่กองสุมอยู่ที่พื้นหลังเก็บเกี่ยวจะกักเก็บความชื้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรค ประกอบกับเครื่องจักรที่จะช่วยกำจัดใบอ้อยมีราคาแพง ดังนั้น การกำจัดใบอ้อยด้วยวิธีเผาจึงเป็นทางออกที่เกษตรกรเลือก

“หลังจากที่มีการตัดอ้อยแล้ว เอาอ้อยไปเข้าโรงงานแล้ว ก็จะมีการเผาใบอ้อยด้วย อันนี้ส่วนใหญ่คือจงใจเผาโดยชาวไร่อ้อยเอง เพราะว่าเครื่องจักรที่จะใช้กำจัดใบอ้อยมันแพงมาก มันขาดแคลน อย่างในภาคอีสาน จะมีการปลูกอ้อยเป็นแปลงเล็กๆ เพราะฉะนั้น เขาไม่มีทางที่จะมีเครื่องจักรทั้งตัดอ้อยและกำจัดใบอ้อย แล้วเครื่องจักรก็ใหญ่ แปลงเล็กก็ไม่คุ้ม ไม่เหมือนการจ้างรถเกี่ยวข้าว และบางทีมีตรอกซอกซอยเล็กๆ บางทีรถเข้าไม่ได้ เรื่องการเผาอ้อยมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก” อ.ดร.ไชยณรงค์กล่าว

มาตรการที่ไม่เคยสำเร็จ

เมื่อการเผาอ้อยเป็นปัญหาเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในหลายพื้นที่ แต่มาตรการของรัฐในการจัดการปัญหานี้กลับมีเพียงการผ่อนผันให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยเผา โดยค่อยๆ ลดปริมาณการซื้ออ้อยเผาไปจนถึงปี 2565 ไม่ใช่การห้ามซื้ออ้อยเผาอย่างเด็ดขาด สิ่งที่ตามมาก็คือชาวไร่อ้อยยังคงเผาอ้อยอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ได้ประโยชน์คือโรงงานน้ำตาล ที่สามารถซื้ออ้อยได้ในราคาถูก

“แน่นอนว่าอ้อยที่ไม่ถูกเผามันดีกว่า ผมไม่ได้บอกว่าโรงงานชอบอ้อยที่เผานะ แต่อ้อยที่ถูกเผา โรงงานจะได้ประโยชน์มากกว่าเกษตรกร เพราะเขาก็ไปหักค่าเผา ค่ากำจัดฝุ่น เมื่อโรงงานหักเงินจากเกษตรกร เกษตรกรเป็นคนเสียประโยชน์ โรงงานมีแต่ได้กับได้ การค่อยๆ ลดการซื้ออ้อยเผา แปลว่ารัฐบาลเห็นประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลมากกว่าสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม” อ.ดร.ไชยณรงค์ระบุ

นอกจากผลประโยชน์ของโรงงานแล้ว อ.ดร.ไชยณรงค์ยังมองว่า การผ่อนผันให้โรงงานรับซื้ออ้อยเผายังเท่ากับเป็นใบเบิกทางให้ข้าราชการระดับจังหวัดไม่เข้ามาดูแลไม่ให้มีการเผาอย่างเข้มงวด เนื่องจากรัฐบาลก็ผ่อนผันอยู่แล้ว และการฝุ่นจากการเผาก็จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

ส่วนมาตรการ 12 ข้อในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบนั้น อ.ดร.ไชยณรงค์มองว่ายังเป็นเพียงมาตรการที่มุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ซึ่งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับระดับภูมิภาคมีเพียงมาตรการเดียวคือการห้ามเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นคำพูดที่กว้างมาก

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคเป็นเรื่องการเผาพืชอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาอ้อย ซึ่งเกิดขึ้นในหลายจังหวัดตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จะบอกว่าเป็นการเผาในพื้นที่โล่งก็ได้ แต่เราก็ไม่ได้เห็นมาตรการอะไรที่รัฐนำมาใช้แก้ปัญหาการเผาพืชอุตสาหกรรม ปัญหาการเผาอ้อยมันเป็นปัญหาที่เฉพาะ ซึ่งมันต้องมีมาตรการเฉพาะออกมา ไม่ใช่การผ่อนผัน มันอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล รัฐบาลต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเรื่องนี้ ต้องบอกว่าห้ามเผาอ้อย ห้ามรับซื้ออ้อยเผา”

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชน อ.ดร.ไชยณรงค์ระบุว่ารัฐบาลไม่ได้ปกป้องสิทธิในการมีอากาศที่ดี หรือสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง

หยุดเผาอ้อย ทำได้อย่างไร

ถ้าไม่ใช้วิธีการเผาอ้อย เกษตรกรควรจะใช้วิธีเก็บเกี่ยวอย่างไร อ.ดร.ไชยณรงค์ตอบว่า วิธีการที่ทดแทนการเผาทุกวันนี้ต้องลงทุนสูงมาก และภาระค่าใช้จ่ายมักจะตกเป็นของเกษตรกรชาวไร่อ้อยเท่านั้น โดยที่ฝ่ายโรงงานและสมาคมชาวไร่อ้อยไม่ได้มีส่วนในการแบ่งรับค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมา ปัญหาก็คือว่าโดยส่วนใหญ่ การเก็บเกี่ยวมันขึ้นอยู่กับเกษตรกร แต่การปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการเก็บเกี่ยวโดยไม่ใช้การเผา มันต้องร่วมมือกัน 3 ฝ่าย คือโรงงาน สมาคมชาวไร่อ้อย และตัวชาวไร่อ้อยเอง และต้องมีการพัฒนาเครื่องจักรที่ไม่แพง ตอนนี้โรงงานมีหน้าที่อย่างเดียวคือรอรับซื้อที่โรงงาน ซึ่งอันนี้มันไม่ครบวงจร โรงงานเองเขาก็รู้ว่าไร่อ้อยตรงไหนอยู่ในความรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น โรงงานก็ต้องลงมาร่วมรับผิดชอบตรงนี้ จริงๆ แล้วมันต้องถึงขั้นลงไปจัดการเก็บเกี่ยวร่วมกับชาวไร่อ้อยด้วย” อ.ดร.ไชยณรงค์กล่าว

นอกจากนี้ อ.ดร.ไชยณรงค์ยังได้เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาอ้อย เพื่อหยุดยั้งการเกิด PM 2.5 บนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ มาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะกลาง และมาตรการระยะยาว ดังนี้

มาตรการเร่งด่วน

  • โรงงานน้ำตาลรวมทั้งโรงกลั่นเอทานอลต้องร่วมรับผิดชอบการเผาด้วยโดยต้องควบคุมไม่ให้ลูกไร่ของโรงงานเผาอ้อยโดยเด็ดขาด รวมทั้งหาวิธีการตัดอ้อยให้ชาวไร่อ้อยโดยไม่ต้องเผา เช่น การจัดหาเครื่องจักรมาแทนแรงงานที่ขาดแคลน และต้องไม่รับซื้ออ้อยเผาโดยเด็ดขาด
  • โรงงานต้องไม่รับซื้ออ้อยเผาจากกลุ่มโควตาที่ลักลอบเผาอ้อยของผู้ปลูกไร่อ้อยเสรี
  • ชาวไร่อ้อยทุกเขตหรือจังหวัดที่มีการปลูกอ้อย ต้องร่วมรับผิดชอบไม่ให้สมาชิกเผาอ้อย
  • รัฐบาลต้องบังคับให้โรงงานน้ำตาลและสมาคมชาวไร่อ้อยหาวิธีการในการจัดการใบอ้อยที่ไม่ใช่เผาโดยเร่งด่วน และต้องเอาผิดเจ้าของไร่อ้อยที่ปล่อยให้ไฟไหม้ใบอ้อย หรือจงใจเผาใบอ้อยหลังตัด
  • รัฐบาลต้องควบคุมโรงงานน้ำตาลไม่ให้กระบวนการผลิตปล่อยมลพิษสู่อากาศอย่างเข้มงวด โรงงานที่ปล่อยมลพิษต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
  • รัฐบาลต้องยุติการอนุมัติโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ รวมทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะพ่วงมากับโรงงานน้ำตาล

มาตรการระยะกลาง

  • โรงงานน้ำตาลและสมาคมชาวไร่อ้อยต้องปรับเปลี่ยนการผลิตอ้อยในพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อยอยู่แล้วให้เป็นการผลิตอ้อยอินทรีย์
  • รัฐบาลต้องทำให้ผลประโยชน์จากการผลิตอ้อยตกกับเกษตรกรร้อยละ 70 ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีผลกำไรและนำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงการผลิตไปสู่การผลิตอ้อยอินทรีย์
  • รัฐบาลต้องจำกัดพื้นที่การปลูกอ้อย ไม่อนุญาตให้อุตสาหกรรมน้ำตาลและโรงกลั่นเอทานอลขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่ม และหยุดการขยายอุตสาหกรรมที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ

มาตรการระยะยาว

  • รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ เช่น Bio-Hub รวมถึงทบทวนการส่งเสริมพืชอุตสาหกรรมอื่น เช่น ข้าวโพด และหันมาส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และสอดคล้องกับหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม อ.ดร.ไชยณรงค์กล่าวว่า อ้อยไม่ใช่พืชชนิดเดียวที่ก่อให้เกิด PM 2.5 แต่ยังมีพืชอุตสาหกรรมอย่าง “ข้าวโพด” ที่มีการส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่สูง ในภาคเหนือ หรือในภาคอีสานแถบจังหวัดเลย รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างรัฐฉานหรือรัฐกะเหรี่ยง รวมไปถึงการเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพด ซึ่งส่งผลให้เกิดหมอกควันพิษข้ามพรมแดน

“ข้าวโพดพวกนี้ก็จะนำมาทำอาหารสัตว์ที่มีโรงงานอยู่ในประเทศไทย และส่วนใหญ่ก็ใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา เพราะฉะนั้น เจ้าของโรงงานก็จะบอกว่าเขาไม่เกี่ยว เพราะเขารับซื้ออย่างเดียว คนที่ส่งเสริมก็ไม่ใช่เขา แต่ก็คือพ่อค้าที่ไปทำเกษตรพันธสัญญากับคนที่ปลูกข้าวโพด เราไปไล่โรงงาน เขาก็บอกว่าเขาไม่เกี่ยว” อ.ดร.ไชยณรงค์เล่า พร้อมเสริมว่ารัฐบาลควรหยุดสนับสนุนการปลูกพืชเหล่านี้ และภาคธุรกิจเองก็ควรจะให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น

รัฐควรหยุดสนับสนุนการปลูกพืชพวกนี้ โดยเฉพาะการปลูกอ้อยกับข้าวโพด ส่วนภาคธุรกิจ เราก็ต้องเรียกร้องให้ธุรกิจทำธุรกิจแบบยึดหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ใช่ว่าทุนบอกว่าไม่เกี่ยวแล้วเราไม่เรียกร้องต่อทุน เราต้องกดดันให้ทุนมีการทำธุรกิจโดยยึดหลักนี้ ไม่อย่างนั้นทุกคนก็ตาย ทุนก็รวยอย่างเดียว ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมว่ามันจะเสียหายอย่างไร และกระทบต่อสิทธิของคนอื่น” อ.ดร.ไชยณรงค์กล่าว

ขอขอบคุณที่มา https://www.sanook.com/news/8022654/

‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ข่าวเด่นเพชรบูรณ์ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด