ใบยาสูบ มิใช่เป็นเพียงพืชเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มันเป็นสัญลักษณ์ และจิตวิญญาณแห่งวิถีเพชรบูรณ์
ท่านทราบหรือไม่ว่า ตราประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ มีรูปแปลงปลูกพืชชนิดหนึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญในตรานั้น ซึ่งก็คือ รูปแปลงไร่ยาสูบนั่นเอง
ในสมัยอยุธยา ได้มีบันทึกในคำให้การขุนหลวงหาวัดไว้ว่า มีเรือหางเหยี่ยวจากเพชรบูรณ์นายม บรรทุกใบยาไปขายถึงกรุงศรีอยุธยา
ในบทเสภาวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ผู้แต่งคือ สุนทรภู่ กวีเอก ยังกล่าวว่า นางพิมพิลาไลย จัดยาเส้นเมืองเพชร รสเลิศ เตรียมให้ขุนแผน ผู้เป็นสามี
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการเมืองเพชรบูรณ์ พ.ศ.2447 ทรงบันทึกไว้ในหนังสือความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ว่า “ยาสูบเมืองเพชรบูรณ์ เลิศรสกว่ายาสูบที่อื่นหมดทั้งเมืองไทย ชาวเมืองเพชรบูรณ์จึงหาผลประโยชน์ด้วยปลูกยาสูบเป็นพื้น…”
จึงเป็นอันแน่นอนว่า ใบยาสูบเมืองเพชรบูรณ์นั้น เป็นใบยาสูบที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง และเป็นที่นิยมมาช้านานแต่โบราณกาลแล้ว ยาสูบจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ สร้างรายได้ให้กับคนเพชรบูรณ์มาโดยตลอด และยังเป็นพืชสัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์จวบจนทุกวันนี้
ยาสูบที่ปลูกกันในจังหวัดเพชรบูรณ์โดยทั่วไป แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ “ยาสูบพันธุ์พื้นเมือง” และ “ยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์”
ยาสูบพันธุ์พื้นเมือง คือ ยาพันธุ์ที่ชาวไร่คนเพชรบูรณ์ปลูกกันมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อเสียงที่ว่า ใบยาเพชรบูรณ์เลิศรสที่สุด และยังเป็นที่มาของรูปไร่ยาสูบที่ปรากฏอยู่ในตราประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ นั่นเอง
ใบยาพื้นเมือง บางครั้งเรียกว่า “ยาฟันหรือยาเส้น” ที่ชาวบ้านนำไปมวนสูบกับใบจาก จะนิยมปลูกกัน 2 พันธุ์ คือ “พันธุ์อีเหลือง” มีกลิ่นหอมหอม และ ”พันธุ์อีดำ” มีกลิ่นฉุน โดยพันธุ์อีดำปลูกเพื่อทำเป็นยาฉุนขาย ส่วนพันธุ์อีเหลืองปลูกไว้เพื่อเก็บไว้เพื่อมวนยาสูบเอง
ยาสูบเป็นพืชฤดูเดียว ลำต้นตั้งตรง มีขนซึ่งให้ความรู้สึกเหนียวเมื่อสัมผัส ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 50-60 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 25-30 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ส่วนมากจะไม่มีก้านใบ มีหูใบ ฐานใบจะหุ้มลำต้นไว้ครึ่งหนึ่ง ใบจะมีขนปกคลุม ดอกออกเป็นช่อที่ส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกหนึ่งจะมีดอกประมาณ 150 ดอก ดอกยาว 1.5-2 นิ้ว มีสีชมพู ขาวหรือแดง มีกลีบดอก 5 กลีบ โดยส่วนล่างของกลีบดอกเชื่อมติดกัน ทำให้ดอกมีรูปร่างเหมืองระฆัง เมล็ดมีขนาดเล็กมาก รูปไข่ สีน้ำตาลเข้ม ผิวเมล็ดมีเส้นสานกันเป็นร่างแห
การทำยาเส้นหรือยาฉุนนั้น หลังจากตัดใบยาจากต้นใหม่ ๆ ก็จะต้องทำการ “สร้อยยา” โดยต้องทำการดึงก้านของใบยาที่หนา ๆ ออก จากนั้น ก็จะนำมาม้วนเป็นก้อนกลม ๆ ยาว ๆ ก่อน แล้วจึงนำไป “ฟันยา” หรือหั่นให้เป็นเส้นที่ละเอียดโดย “ม้าฟันยา” แล้วจึงนำยาที่ฟันเป็นฝอย ๆ แล้วนั้นออกตากแดดบน “แผงตากยา” ที่ทำจากไม้ไผ่สานสี่เหลี่ยมยาว ๆ ทำการ “ปลิ้นยา” สลับด้านทุกวัน จนแห้งได้ที่แล้ว ก็ชั่งน้ำหนักใส่ถุง ติดอากรสรรพสามิต รอจำหน่ายต่อไป ส่วนคำว่า “ยาตั้ง” ก็คือยาพื้นเมืองที่ตากแห้งขายเป็นตั้ง มัดด้วยตอกไม้นั่นเอง
ส่วนใบยาที่จะนำมาเก็บไว้ใช้เองนั้น หลังจากตากยาเสร็จแล้ว ชาวไร่ก็จะเอายาเส้นที่แห้งแล้วนั้น มาพับให้เป็นก้อน เรียกว่า “กุ่ม” แล้วเอารวมเก็บใน “กะต้ายา” (ตะกร้า) ซึ่งทำจากไม้ไผ่สานห่างๆ แล้วกรุด้วย “ใบกุงหรือใบตองกุง” ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานโดยยาเส้นยังคงคุณภาพทั้งกลิ่นและรส
ปัจจุบันนี้ ที่หล่มสักหล่มเก่า ยังมีใบยาสูบพันธุ์พื้นเมืองคุณภาพดีส่งขายไปทั่วประเทศ เป็นสินค้าสำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อเนื่องมายาวนานแล้ว โดย อีดำ ปลูกกันมากที่ น้ำก้อ น้ำชุน น้ำเฮี้ย ฝายนาแซง ฯลฯ ส่วน อีเหลือง ปลูกกันที่ หนองสว่าง หนองยาว ฯลฯ ส่วนในที่อื่น ๆ จะปลูกยาสูบพื้นเมืองชนิดนี้กันน้อยลง เพราะชาวบ้านหันมานิยมปลูกยาสูบพันธุ์เบอร์เล่ย์ ส่งขายเพื่อนำไปทำบุหรี่ให้แก่สำนักงานไร่ยาสูบ เพราะได้ราคาดีกว่าใบยาพื้นเมือง
ส่วนยาสูบพันธุ์เบอร์เล่ย์ หรือที่เรียกว่า “ยาพันธุ์หรือยาใบ” นั้น มีรสชาติเข้มข้น กลิ่นฉุนเหมือนกลิ่นช็อคโกแลต เป็นพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศและส่งเสริมให้ปลูกกันในช่วงหลัง ๆ นี้เอง โดยเฉพาะที่เพชรบูรณ์นี้ จะส่งเสริมให้ปลูกเฉพาะพันธุ์เบอร์เลย์เท่านั้น เพราะป้องกันการผสมข้ามพันธุ์จนกลายพันธุ์ ปัจจุบันนี้ ชาวไร่ในเพชรบูรณ์นิยมปลูกยาพันธุ์เบอร์เลย์กันมาก เพราะกรรมวิธีไม่ยุ่งยากเหมือนยาพื้นเมือง และมีการส่งเสริมการปลูก มีโควต้าประกันราคา ทำให้ขายได้ราคาดีกว่า มีตลาดรองรับแน่นอน นั่นคือ โรงงานยาสูบของรัฐบาล
การปลูกยาสูบนั้น ชาวบ้านจะนิยมปลูกกันหลังการทำนา โดยมีการทำแปลงเพาะกล้า คลุมฟาง ใช้เวลาประมาณ 30 วัน เลี้ยงให้กล้าสูงประมาณ 1 คืบ แล้วจึงนำไปปลูก รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พ่นยา ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน โดยจะเลี้ยงให้ต้นมีใบไม่เกิน 18 ใบ แล้วทำการเด็ดยอด เพื่อให้ต้นมีความสมบูรณ์และมีรสชาติใบยาที่จะมีความเหมาะสมพอดี การเก็บเกี่ยวใบยานั้น ชาวไร่จะสามารถเก็บได้ 3 ครั้ง โดยเก็บจากใบยาชั้นล่างขึ้นไป คือ ยาตีน ยากลาง และยายอด โดยใช้วิธีการเก็บใบยามาสด ๆ จากต้น นำมาเสียบไม้ร้อยเป็นตับ แล้วบ่มให้แห้งโดยใช้วิธีการบ่มอากาศหรือบ่มลม โดยจะตากไว้ใต้ถุนบ้านหรือโรงตากยาประจำบ้าน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง จากนั้น จะทำการคัดเกรดแยกชั้นคุณภาพ ก่อนจะนำไปอัดเป็นก้อน ห่อกระสอบ แล้วนำไปขายให้กับโรงงานยาสูบ ที่มีสถานีรับซื้ออยู่ที่ บ้านนางั่ว และบ้านอมกง ท่าพล แล้วจึงส่งต่อไปโรงงานยาสูบ เพื่อผลิตเป็นบุหรี่ต่อไป
ในอดีตนั้น ที่สถานีรับซื้อใบยาทั้งที่นางั่วและที่อมกง ท่าพล จะมีโรงบ่มใบยาโดยใช้ความร้อนจากการสุ่มฟืน สร้างเป็นหลัง ๆ ไว้ทำการบ่มใบยาอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้เลิกใช้วิธีนี้ไปแล้ว
จริงอยู่ ที่สังคมปัจจุบันนี้ ได้มีการนำเสนอพิษภัยต่าง ๆ จากการสูบบุหรี่ และมีการประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้คนเลิกสูบบุหรี่ อีกทั้งยังมีมาตรการต่าง ๆ ที่จำกัดให้คนสูบบุหรี่น้อยลง แต่สำหรับคนเพชรบูรณ์แล้ว เรามิอาจปฏิเสธได้เลยว่า ใบยาสูบ เป็นวิถีแห่งชีวิต เป็นจิตวิญญาณของการทำการเกษตรของเรามาช้านาน ที่สร้างรายได้ สร้างครอบครัวให้อยู่ดีมีสุข ส่งเสียลูกหลานให้ได้ดิบได้ดีมารุ่นแล้วรุ่นเล่า .. จึงขอบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้เป็นอีกหนึ่งตำนานการทำมาหากินของคนเพชรบูรณ์
หมายเหตุ : ตำรายาไทย ใช้รากและใบยาสูบ เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน หิด กลากเกลื้อน เรื้อนกวาง ยาพื้นบ้าน ใช้ใบยาทำเป็นยาเส้นผสมกับปูนแดงและใบเนียม ปรุงเป็นยานัตถุ์ แก้หวัด คัดจมูก ใบยามีสารนิโคติน ใช้เป็นยาฆ่าแมลง จัดเป็นสารพิษชนิดหนึ่ง
ขอขอบคุณที่มา วิศัลย์-โฆษิตานนท์
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook