พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์
นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ณ สมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี นายเชวงศักดิ์ คำตา อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ในนามคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ,ผู้แทนหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง, นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์, นายกสมาคมชาวไร่อ้อยบึงสามพัน, ผู้แทนโรงงานไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม, และผู้แทนโรงงานไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล (บึงสามพัน),และเกษตรกรชาวไร่อ้อย ร่วมพิธี
นายเชวงศักดิ์ คำตา อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายร่วมกันในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยของจังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้กำหนดจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์ กับ สมาคมชาวไร่อ้อยและผู้ประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยผู้เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเพชรบูรณ์ (ฝ่ายทหาร) นายอำเภอทุกอำเภอ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยบึงสามพัน ผู้แทนโรงงานไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม และผู้แทนโรงงานไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล (บึงสามพัน)
กิจกรรมครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่เกิดปัญหาการเผาอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยว ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของจังหวัดเพชรบูรณ์ สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน ก่อให้เกิดปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับการเผาอ้อยในปีการผลิต 2562/2563 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีปริมาณอ้อยสด 42.88 % ,อ้อยไฟไหม้ 57.12 % //ซึ่งในปีการผลิต 2563/2564 กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้กำหนดมาตรการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ เหลือร้อยละ 20, ปริมาณอ้อยสดร้อยละ 80 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด จึงจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถดำเนินการ ให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook