LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
ข่าวเด่นเพชรบูรณ์

เพชรบูรณ์…..จังหวัดที่ธรณีมหัศจรรย์

๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ จังหวัดเพชรบูรณ์โดยนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ในขณะนั้น แถลงข่าวประกาศจัดตั้งเพชรบูรณ์เป็นอุทยานธรณี (จีโอพาร์ค) ที่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ โดยการประกาศพื้นที่ของอุทยานธรณีเพชรบูรณ์นั้นได้ประกาศครอบคลุมทั้งจังหวัด มีเป้าหมายว่าจะผลักดันให้อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ก้าวเข้าสู่การนำเสนอเป็นจีโอพาร์คกับยูเนสโกหรือเป็นอุทยานธรณีในระดับโลกต่อไป โดยให้เหตุผลถึงการเป็นดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้ว่าในราวประมาณ ๒๒๐ ล้านปี ล่วงมาแล้วได้เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก เรียกว่า แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน (Indo-China Plate) ทางฝั่งตะวันออก และอนุแผ่นผิวโลกใหม่ แผ่นเปลือกโลก ชาน-ไทย (Shan-Thai Plate) ทางฝั่งตะวันตก ทำให้แผ่นดินเกิดการยกระดับภาคอีสานกับภาคกลาง ทำให้เกิดร่องรอยทางธรณีมากมายขึ้นในฝั่งเพชรบูรณ์

 ปรากฏการณ์ทางธรณีเหล่านี้ ทำให้เกิดคุณค่าทางธรณีวิทยา การศึกษาค้นคว้าทั้งทางธรณี วิถีชีวิตของผู้คนและวัฒนธรรม โดยในเบื้องต้นของการจัดตั้งอุทยานธรณีระดับจังหวัดนั้น ได้นำเสนอแหล่งทางธรณี จำนวน ๒๒ แหล่ง หลังจากนั้นก็จะได้มีการประเมินข้อมูลทางธรณีวิทยาตามหลักเกณฑ์ แล้วคัดเลือกบางแหล่งที่สำคัญและมีศักยภาพ เพื่อเสนอให้เป็นอุทยานธรณีของประเทศไทยและของโลกต่อไป

แต่เดิมนั้นได้ประกาศให้พื้นที่ทั้งจังหวัดเป็นอุทยานธรณีทั้งหมด ด้วยว่ามีแหล่งสำคัญทางธรณีกระจายกันอยู่โดยทั่ว แต่หลังจากพบว่าพื้นที่กว้างเกินไปจนยากในการบริหารจัดการ จึงเลือกให้พื้นที่อุทยานธรณีเพชรบูรณ์เหลือแค่ ๓ อำเภอ คืออำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก และอำเภอน้ำหนาว ซึ่งจะเป็นอำเภอส่วนเหนือของจังหวัด ส่วนอำเภอทางด้านล่างซึ่งมีความโดดเด่นทางธรณีไม่ต่างกันนั้น ถือเป็นแหล่งธรณีที่น่าศึกษาและเรียนรู้ นั่นย่อมแสดงว่าจังหวัดเพชรบูรณ์ทั้งจังหวัดมีของดีทางธรณีที่กระจายกันอยู่โดยทั่วอันนับเป็นความมหัศจรรย์ของพื้นที่โดยแท้

หลักเกณฑ์หนึ่งอย่างในการจัดตั้งอุทยานธรณีคือชุมชน หรือผู้คนจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณี ดังนั้นจึงมีการรวมแหล่งที่มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมและเกี่ยวข้องกับผู้คนเข้าไปด้วย ตามหลักเกณฑ์ของอุทยานธรณี โดยแยกเป็นความโดดเด่นในแต่ละด้าน ได้แก่

แหล่งทางธรณีวิทยา ๒๒ แหล่งได้แก่ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว แคนยอนน้ำหนาว น้ำตกตาดใหญ่ ผารอยตีนอาร์โคซอร์ เลยดั้น ผาแดง ถ้ำผาหงส์ สะพานห้วยตอง ชั้นหินแบบฉบับหมวดหินน้ำดุก ฟอสซิลกระดูกโปรซอโรพอด โนนหัวโล้นแคนยอนหล่มสัก โคกเดิ่นฤาษี น้ำก้อ-น้ำชุน ห้วยร่อนทอง น้ำตกธารทิพย์ ฟอสซิลปลาน้ำจืด๑๕ ล้านปีบ้านหนองปลา ฟอสซิลปลาน้ำจืด๑๕ ล้านปีบ้านท่าพล ไม้กลายเป็นหิน สุสานหอยน้ำจืด หินกรวดมนบ้านนางั่ว ฟิวซูลินิดสำนักสงฆ์เต็มสิบ และอุกกาบาตร่องดู่

เลยดั้น ลานหินมหัศจรรย์
สะพานห้วยดอง

แหล่งทางธรรมชาติ ๙ แหล่งได้แก่ ผาสวรรค์ ผารอยพระบาท น้ำตกถ้ำค้างคาว น้ำตกพรานบา น้ำตกวงพระจันทร์ ป่าเปลี่ยนสี เส้นทางเดินป่าน้ำหนาว น้ำตกวังหินลาด และน้ำตกตาดหมอก

แหล่งทางวัฒนธรรม ๑๒ แหล่งได้แก่ วัดห้วยสนามทราย ศาลเจ้าพ่อผาแดง อนุสรณ์เมืองราด วัดท่ากกแก พิพิธภัณฑ์หล่มสัก อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ถ้ำฤาษีสมบัติ เสาหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ พุทธอุทยานเพชรบุระ อุทยานวิทยาศาสตร์หนองนารี หอโบราณคดีเพชรบูรณ์อินทราชัย และศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์

ศาลหลักเมือง

แม้ว่าอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัดไปแล้วโดยการนำเสนอแหล่งทางธรณีวิทยา ๒๒ แห่งที่มีความโดดเด่นแตกต่างกัน แต่แนวคิดเรื่องการจะประกาศให้จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอุทยานธรณีทั้งจังหวัดก็ยังคงอยู่ เนื่องด้วยแผ่นดินจังหวัดเพชรบูรณ์มีความโดดเด่นทางธรณีที่แตกต่างออกไปรวมกลุ่มกันอยู่ใกล้เคียงกันในจังหวัด สามารถเดินทางไปเที่ยวชมได้ไม่ยากนัก

วิเชียรบุรี….ดินแดนภูเขาไฟ

            อำเภอวิเชียรบุรีนับเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นมากทางธรณี เพราะเกือบทั้งอำเภอมีหลักฐานทางธรณีบ่งบอกว่าในอดีตนั้นเคยเป็นพื้นที่ภูเขาไฟได้ออกมาแสดงตัวตนอย่างชัดเจน และตัวตนที่เอ่ยถึงนั้นยังคงอยู่ในรูปแบบปรากฏการณ์ทางธรณีหลายอย่าง โดยอำเภอวิเชียรบุรีเคยถูกรวมเข้าในอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ในการจัดตั้งให้เป็นอุทยานธรณีในระดับจังหวัด แต่ถูกตัดออก เนื่องจากอำเภอวิเชียรบุรีคือหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าพื้นที่นี้เคยเป็นดินแดนของภูเขาไฟมาก่อน ทั้งยังมีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก สมควรไปตั้งเป็นอุทยานธรณีขึ้นใหม่อีกแห่ง

แหล่งรวมเสาหินเหลี่ยม อำเภอวิเชียรบุรี น่าจะเป็นอำเภอที่ปรากฏเสาหินเหลี่ยมมากที่สุดในประเทศไทย มีเสาหินเหลี่ยมปรากฏอยู่หลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีรูปแบบที่เด่นชัดจนเป็นเอกลักษณ์

 เสาหินเหลี่ยมเหล่านี้มาจากไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เสาหินเหลี่ยมเหล่านี้เป็นหลักฐานอย่างดีที่แสดงว่าพื้นที่นี้เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของภูเขาไฟมาก่อน เพราะเสาหินเหล่านี้ เป็นหินอัคนี ซึ่งหินบนโลกเรานั้นมีที่มาเพียง ๓ ที่มา อย่างแรกคือ หินอัคนี มาจากการเย็นตัวของแมกมาและลาวา เช่น หินบะซอลต์ ฯลฯ อย่างที่สองคือ หินชั้น ที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนวัตถุต่าง ๆ ทับถมกันเป็นชั้น ๆ เช่น หินทราย หินดินดาน หินกรวดมน หินปูน เป็นต้น และอย่างที่สามคือ หินแปร ที่แปรสภาพมาจากหินเดิมโดยมีความร้อน ความดัน และปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้โครงสร้างและแร่ประกอบมันเปลี่ยนไป เช่น หินอ่อน หินชนวน หินไนส์ ฯลฯ

ในส่วนของเสาหินเหลี่ยมนั้น เกิดมาจากหินหนืดจากใต้โลกหลอมเหลวที่เรียกว่า “แมกมา” หินเหลวเหล่านี้หาทางปะทุออกสู่พื้นโลก (ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นภูเขาไฟเก่า อาจจะเป็นรอยแตกบนพื้นโลกบริเวณใดก็ได้) เมื่อปะทุออกมาแล้วเรียกว่า “ลาวา” ลาวาเหล่านี้เมื่อเจอความเย็นจะมีแรงตึงผิวในแนวราบที่มีขนาดเท่ากันทุกทิศทาง จึงทำให้เกิดเป็นรอยแตกเป็นเหลี่ยม ๆ ที่ขนาดเท่า ๆ กัน ลงไปในแนวดิ่ง เช่นเดียวกับดินที่แตกระแหงในท้องนาซึ่งเราจะเห็นว่าแตกเป็นท่อนลึกลงไปในแนวดิ่ง เสาหินเหลี่ยมก็เช่นกัน แรงตึงผิวทำให้เสาแตกลงไปในแนวดิ่ง ปรากฏการณ์เสาหินเหลี่ยมโดยทั่วไปจึงปรากฏในแนวดิ่ง

แหล่งเสาหินเหลี่ยมที่มีชื่อเสียงของโลก คือ Giant’s Causeway (ทางเดินยักษ์) ที่เกาะ ไอร์แลนด์เหนือ หรือ The Devils Tower ในรัฐไวโอมิง หรือ The Devils Postpile ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในประเทศไทยเองก็มีแหล่งเสาหินเหลี่ยมหลายแห่ง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นในแนวดิ่ง เช่นที่ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี หรือที่ภูพระอังคาร จังหวัดบุรีรัมย์ หรือที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ทั้งสามแห่งนี้จะเป็นหินเหลี่ยมที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เห็นเป็นเสาหินไม่ชัดเจน แหล่งที่เห็นชัดเจนเป็นเสาหินอัคนีที่ตั้งตรง คือที่ม่อนหินพิศวง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และที่วัดเมืองเก่าแสนตุ่ม อำเภอเขาสมิง จังหวัดจันทบุรี

ส่วนความพิเศษของเสาหินใน อำเภอวิเชียรบุรีคือเป็นเสาหินที่มีการเอียงแทบทั้งนั้น หลายแห่งเอียงจนเกือบเป็นแนวระนาบก็มี

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น….นั่นก็เพราะเมื่อหินลาวาเหล่านั้นถูกแรงตึงผิวทำให้เกิดเป็นเสาเหลี่ยมในแนวตั้งตรงแล้ว ต่อมาเกิดความเปลี่ยนแปลงบนพื้นโลก มีการเบียด ชน ดันกัน ของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เสาหินเหลี่ยมที่เคยตั้งตรงนั้น ถูกดันจนทำให้เอียงไปในทิศทางอื่น เสาหินเหลี่ยมบางแห่งถูกแผ่นเปลือกโลกดันกันจนปูดโป่งขึ้นมาเป็นภูเขาจึงปรากฏเป็นภูเขาเสาหินเหลี่ยม ในบางแห่งทิศทางของเสาหินเหลี่ยม ไม่ได้ล้มไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด นั่นเป็นเพราะแผ่นเปลือกโลกที่เบียดดันกัน ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว หากแต่เกิดขึ้นหลายครั้ง เกิดครั้งหนึ่งก็ผลักเปลี่ยนทิศทางของเสาหินครั้งหนึ่ง หรืออาจเกิดเนื่องจากทิศทางการไหลของลาวา (การแตกของเสาหินมักจะตั้งฉากกับทิศทางการไหลของลาวา) ในพื้นที่ อำเภอวิเชียรบุรีที่เดียว มีสถานที่ที่เป็นเสาหินเหลี่ยมแบบนี้ถึง ๔-๕ แห่ง เช่น

อุทยานเสาหินอัคนี ตำบลโคกปรง ปรากฏเสาหินที่เอียงจนเกือบเป็นแนวราบ และอยู่ลงไปในร่องหุบเขา ตั้งอยู่เลยสุสานหอยในบ้านน้ำเดือด ตำบลโคกปรงไปราว ๑๕ กิโลเมตร สภาพทางเข้าเป็นทางลำลอง ในฤดูฝนจะเข้ายากพอสมควร ไปถึงจุดจอดรถแล้วเดินเท้าอีก ๑๐๐ เมตร

เสาหินอัคนี

ภูปราสาท บ้านวังวัด ตำบลยางสาว เป็นภูเขาลูกเตี้ย ๆ ที่ปกคลุมด้วยป่าไผ่และป่าเบญจพรรณ ทางเข้าจะเป็นทางเข้าไปในไร่ ในฤดูฝนอาจจะลำบากแต่สามารถจ้างรถอีแต๊กพาเข้าไปได้ ส่วนรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าไปได้จนถึงจุดเริ่มเดินเท้า เดินเท้าขึ้นเขาเตี้ย ๆ ไปราว ๑๕๐ เมตร บนยอดเขาจะเห็นเสาหินเหลี่ยม เอียงจนเกือบเป็นแนวราบ เสาหินบางต้นแตกแยกทะลุกลุ่มออกมาชัดเจน โดยมีลักษณะแบบนี้ทั้งยอดเขา

วัดเขาน้อยแสงอรุณ ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นสถานที่เดินทางไปดูเสาหินเหลี่ยมง่ายที่สุด เพราะอยู่ใกล้ตัวอำเภอวิเชียรบุรี และทางสะดวกที่สุด เมื่อรถไปถึงวัดแล้ว เดินขึ้นบันไดปูนขึ้นเขาไปจนสุดบันได แล้วเดินเท้าไปอีกราว ๗๐ เมตร จะพบเสาหินเรียงรายบนยอดเขา มีทั้งเอียงและตั้งตรง

แต่ที่นับว่าเป็นหนึ่งเดียวคือ น้ำตกเสาหิน หรือน้ำตกซับพลู ที่อยู่ที่บ้านซับเจริญ ตำบลยางสาว การเข้าไปที่นี่จะสะดวกมากในฤดูแล้ง เพราะสภาพทางเป็นถนนปูนไปครึ่งทาง นอกนั้นจะเป็นทางลูกรังที่มีหลุมบ่อในฤดูฝน บางช่วงจึงออกจะลำบากสำหรับรถเก๋ง แต่รถปิคอัพไปได้ตลอดปี เข้าไปจนสุดทางแล้วเดินเท้าราว ๒๐๐ เมตร

น้ำตกแห่งนี้เป็นน้ำตกผาหินสองชั้น สูงโดยรวมประมาณ ๑๐ เมตร แต่ที่น่าแปลกก็คือ หน้าผาหินของน้ำตกจะเป็นเสาหินเหลี่ยมทั้งหมด มีทั้งที่แตกออกเป็นเสาแยกจากกันชัดเจน และมีทั้งที่แตกระแหง แต่ยังไม่แยกออกจากกัน เสาเหล่านี้เอียงราว ๔๕ องศา กับพื้นราบ และมีลำห้วยสายเล็ก ๆ ไหลผ่านลงมาในร่องผาหินที่แตกระแหงนั้นพอดี จึงเป็นทั้งเสาหินเหลี่ยม และเป็นทั้งน้ำตกด้วย โดยยังไม่มีรายงานการพบสภาพแบบนี้แห่งใดในประเทศไทย

นอกจากนั้นยังมีภูเขาลูกเตี้ย ๆ อีกหลายแห่งที่เป็นเสาหินเหลี่ยมแบบนี้ บางที่ยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง อีกทั้งในเขตอำเภอวิเชียรบุรี สิ่งที่ชาวไร่ในพื้นที่จะต้องทำก็คือ การเก็บเศษซากหินที่กระจายอยู่ในพื้นดินเอามารวมกองกัน หินเหล่านั้นเป็นหินบะซอลต์ที่มีรูพรุน ซึ่งเป็นส่วนของลาวาที่อยู่ด้านบนจึงมีอากาศบนในเนื้อหิน การที่พบหินบะซอลต์กระจายอยู่ทั่วไปจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ในพื้นที่วิเชียรบุรีนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นดินแดนของภูเขาไฟมาก่อน ทำให้มีซากลาวาจากภูเขาไฟ

นอกจากนั้นการค้นพบบ่อน้ำพุร้อนในพื้นที่เขต บ้านน้ำเดือด ตำบลโคกปรง ก็ยิ่งตอกย้ำว่าพื้นที่ตรงนี้ยังมีหินหลอมเหลวอยู่ลึกลงไปใต้พื้นดิน เพราะน้ำที่ผุดออกมาบนพื้นมาจากน้ำใต้ดินจากแรงดันใต้พิภพหาช่องทางออกมา (เช่นเดียวกับแมกมา) น้ำใต้ดินเหล่านี้ไหลผ่านชั้นความร้อน ระหว่างการเดินทางจึงนำพาแร่ธาตุต่าง ๆ ออกมาด้วย

นอกจากนั้น ที่บ้านน้ำเดือด ตำบลโคกปรง อำเภอวิเชียรบุรี ยังพบ สุสานหอยดึกดำบรรพ์ ฟอสซิลของของหอยน้ำจืดที่มีลักษณะเหมือนหอยเจดีย์ (Gastropods) หอยฉัตรหรือหอยก้นแหลม อยู่ในวงศ์ Viviparidae สกุล Bellemya sp. ฝังอยู่ในชั้นหินดินดานแข็ง ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวเมื่อประมาณ ๑๓-๑๕ ล้านปี ตายทับถมและอัดแน่นเป็นชั้นหิน สันนิษฐานว่าในอดีตบริเวณนี้อาจจะเคยเป็นบึงใหญ่หรือทะเลสาบน้ำจืดมาก่อน จากนั้นอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางน้ำ ทำให้แหล่งน้ำเกิดการแห้งลงโดยฉับพลัน จนทำให้พวกหอยที่อาศัยอยู่ตายเป็นจำนวนมาก แล้วต่อมาถูกตะกอนต่าง ๆ ทับถม จนเวลาผ่านไปนับสิบล้านปี จึงเกิดการผสานเป็นชั้นแผ่นหินเดียวกัน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นโลก บริเวณที่เคยเป็นแอ่งน้ำที่หอยอยู่จึงถูกดันให้ขึ้นมาอยู่บนที่สูง เช่นเชิงเนินเขาอย่างนี้

สุสานหอยน้ำจืด

อย่างไรก็ตามแหล่งฟอสซิลหอยน้ำจืดแบบนี้ในเพชรบูรณ์นั้นยังพบเจอที่สระน้ำหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ และที่ในเขตตำบลนางั่ว ตำบลห้วยสะแก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ นอกจากนั้นในอำเภอวิเชียรบุรียังมีหลุมขุดบ่อน้ำมันดิบที่ดำเนินการสูบน้ำมันมาหลายปีอยู่ในพื้นที่ด้วย จึงนับเป็นแผ่นดินที่เกี่ยวโยงกับซากฟอสซิลและภูเขาไฟที่ชัดเจนแห่งหนึ่ง

การมาเที่ยวชมแหล่งธรณีต่าง ๆ ใน อำเภอวิเชียรบุรีนั้นค่อนข้างจะสะดวก แต่ละแหล่งจะอยู่ไม่ห่างไกลกัน ยิ่งถ้าหากเป็นรถยนต์ปิคอัพจะสามารถเดินทางไปได้ทุกแหล่งแม้กระทั่งในฤดูฝน

แคนยอนน้ำหนาว…แหล่งเรียนรู้ธรณีสัณฐาน

แคนยอนน้ำหนาว

เมื่อเราเดินทางมาจากทางแยกคอนสาร ตามถนนหมายเลข ๑๒ มุ่งหน้าไปหล่มสัก มาจนถึงสามแยกบ้านห้วยสนมทราย จะมีทางแยกขวามือเข้าไปตามถนนหมายเลข ๒๒๑๖ ไปยังอำเภอน้ำหนาว ชุมชนแรกที่พบเจอเมื่อขึ้นพ้นเนินเขาชันคือบ้านโคกมน จะเห็นวัดโคกมน ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว อยู่ทางขวามือ ให้เข้าไปในวัด แล้วขับเลยพระอุโบสถเข้าไปตามทางไปจนถึงหลังวัดราว ๕๐๐ เมตรจนถึงลานจอดรถ บริเวณน้ำตก นาคราชตาดหมอก หรือที่ถูกขนานนามว่า “แคนยอนน้ำหนาว” มีการให้นิยามว่านี่คือมหัศจรรย์ของเปลือกโลก

แท้จริงอาณาบริเวณอำเภอน้ำหนาว คือพื้นผิวโลกที่จากการศึกษาลักษณะและคุณสมบัติของหินพบว่า เป็นการแข็งตัวของตะกอนที่สะสมตัวในทะเลสาบเมื่อประมาณ ๒๐๐ ล้านปีก่อน มีความสูงจากพื้นราบทั่วไปมากกว่า ๕๐๐เมตร เมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่เบียด ดันกัน จนพื้นที่เกิดจากการยกตัวของชั้นหินทรายขึ้น ทำให้ชั้นหินเกิดการโก่งงอและแตกหักเป็นแนวยาวตามทิศทางการโก่งตัวของชั้นหิน ต่อมาผุพังจนกลายเป็นหน้าผาในที่สุด

หน้าผาดังกล่าวเกิดจากชั้นหินที่มีความทนทานต่อการผุพังที่แตกต่างกัน โดยชั้นหินทรายและทรายแป้งจะมีความทนทานจากการผุพังและกัดกร่อนได้ดีจึงยังคงสภาพ ในขณะที่ชั้นหินดินดานที่แทรกสลับอยู่จะเกิดการผุพังและถูกกัดกร่อนได้ง่ายกว่า ชั้นหินดินดานที่ผุพังและเกิดการกัดกร่อนจะถูกพัดพาไปตามแรงโน้มถ่วงของโลกตามกระแสน้ำ ลม เกิดเป็นช่องว่างเว้าเข้าไปในผาหิน เมื่อชั้นหินที่อยู่ด้านบนช่องเว้าไร้สิ่งรองรับจึงเกิดการแตกหัก เป็นผลให้หน้าผาดังกล่าวขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ แคนยอนน้ำหนาว จึงมีลักษณะเป็นเวิ้งหน้าผาสูงชัน มีความสวยงามคล้าย “แกรนด์แคนยอน” ที่มีชื่อเสียงระดับโลกของประเทศสหรัฐอเมริกาแต่ในขนาดย่อส่วนลงมา

พื้นที่อำเภอน้ำหนาวบริเวณหลังวัดโคกมนถูกธรรมชาติกัดกร่อนแปลงสภาพเป็นหลุมและผายุบขนาดใหญ่ พื้นก้นหลุมอยู่ต่างระดับกับพื้นด้านบนนับร้อยเมตร ในฤดูฝนสายน้ำลำธารเล็ก ๆ ไหลตกลงไปในหุบเวิ้งเบื้องล่างอย่างเช่นน้ำตกนาคราชตาดหมอก สายน้ำที่ไหลตกลงไปอยู่ชั่วนาตาปี ทำหน้าที่รังสรรค์ธรรมชาติจนเกิดเป็นปรากฏการทางธรณีดังกล่าว เพิ่งจะมาเหือดแห้งเมื่อผืนป่าด้านบนถูกแผ้วถางจนป่าต้นน้ำสูญสิ้นไปพร้อมกับสายน้ำที่เคยตกดิ่ง จะปรากฏให้เห็นอีกครั้งก็เมื่อเข้ากลางฤดูฝนแล้วเท่านั้น แต่เพิงหินขอบผาแห่งนี้ยังเผยให้เห็นชั้นหินที่สะสมซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จำลองให้เห็นภาพของธรณีสัณฐานของย่านนี้ได้เป็นอย่างดี

น้ำตกตาดใหญ่…คำอธิบายการเกิดแคนยอนน้ำหนาว

ถ้าหากยังนึกภาพไม่ออก ว่าหลุมลึกและหน้าผาของแคนยอนน้ำหนาวเกิดขึ้นได้อย่างไร ให้ออกจากวัดโคกมนมาแล้วใช้ถนนหมายเลข ๒๒๑๖ ไปทางน้ำหนาว ราว ๓๐๐ เมตร จะเห็นแยกทางเข้าบ้านโคกมน-บ้านดงมะไฟทางขวามือ เข้าไปตามทางจนถึงบ้านดงมะไฟ แล้วเลยทะลุออกไปท้ายหมู่บ้านตามทางลำลองไปจนถึงริมน้ำตกตาดใหญ่ จอดรถแล้วจึงเดินไปดูคำอธิบายนั้น

น้ำตกตาดใหญ่ เป็นน้ำตกที่สายน้ำไหลผ่านร่องของพื้นด้านบนที่มีดินกลบทับพื้นหินด้านล่าง จากด้านบนเริ่มต้นที่น้ำเริ่มไหลผ่าตลิ่งสองฝั่งยังมีความสูงต่างกับท้องลำห้วยไม่มาก ยิ่งน้ำในลำห้วยไหลลึกลงไปเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนสองฝั่งห้วยจะยิ่งเป็นหน้าผาหินที่สูงยิ่งขึ้นเท่านั้น สายน้ำได้ทำหน้าที่กัดกร่อนหินมาเป็นเวลานาน

น้ำตกแห่งนี้พื้นเป็นหินดินดานซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของหินตะกอน (เพราะเกิดจากการสะสมทับถมกันของชั้นตะกอนต่างๆ) หรือหินชั้น (เพราะสะสมตัวเป็นชั้น ๆ)ที่ซ้อนทับกันเป็นแผ่น ๆ ถูกยกตัวขึ้นมาจากการเบียด อัด ชน โดยแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดการคดโค้งและรอยแตกบนพื้นหินเกิดขึ้น ต่อมาน้ำจึงไหลลงตรงบริเวณนั้น นานเข้าก็กัดกร่อนร่องแตกเล็ก ๆ จนเป็นร่องธารกว้างและลึกลงไป

 เมื่อลองเดินลงไปตามลานหินในร่องหุบห้วยจะเห็นว่าหินดินดานที่ซ้อนทับกันเป็นแผ่น ๆ ชั้น ๆนั้น มีความคดโค้งอย่างเด่นชัด และเมื่อน้ำไหลไปจนสุดทางที่เป็นหน้าผาสูงชัน ตกลงไปในแนวดิ่งสูงราว ๖๐เมตร จะเห็นว่าบริเวณหน้าผาก็เป็นแนวโค้งเช่นกัน ร่องธารน้ำที่ไหลลงมานั้นค่อย ๆ กัดเซาะหินกร่อนไปทีละน้อย ใช้เวลานับหมืนนับแสนปี กว่าจะเป็นน้ำตกตาดใหญ่อันงดงามมหัศจรรย์ได้เช่นนี้

นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงกัน ยังมี น้ำตกตาดฟ้า น้ำตกตาดทิดมี ที่โชว์ชั้นหินตะกอนที่ซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ ให้เห็นอย่างชัดเจนอีกด้วย แต่ไม่ได้โค้งเว้าเหมือนที่น้ำตกตาดใหญ่

ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านดงมะไฟ ห่างออกไปเพียง ๓ กม. จะเป็นบ้านดงสะคร่าน ในเขต อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ที่นี่จะได้เห็นหย่อมภูเขาหินปูนลูกเล็ก ๆ กระจายกันอยู่บนพื้นราบคล้ายกับที่โล่วผิง ในมณฑลยูนนานของจีน นับเป็นความมหัศจรรย์ทางธรณีที่เชื่อมโยงกันได้

ภูผาจิต-ภูกระดึง ภูเขาหลังตัดแห่งน้ำหนาว

ถนนสาย ๒๒๑๖ ที่เริ่มต้นจากบ้านห้วยสนามทราย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ผ่านพื้นที่สูงในอำเภอน้ำหนาว ไปออกทางบ้านกกสะทอน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นถนนที่แบ่งภูเขาหลังตัดสองลูกออกจากกันคนละฝั่งถนน คือ ภูผาจิต อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ทางซ้ายมือ และ ภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อยู่ทางขวามือ ภูเขาสองลูกนี้มีขนาดที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เป็นภูเขาที่มีหลังตัดแบนราบนั้นเหมือนกัน

 ที่แท้ภูเขาหลังตัดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ทั้งภูผาจิต และภูกระดึง เป็นภูเขาที่เป็นหินทรายทั้งคู่ ซึ่งหินทรายเป็นหินตะกอนหรือหินชั้นประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากการสะสมของตะกอนเม็ดกรวด ดิน บนพื้นโลกที่ถูกน้ำพัดพามาทับถมกัน (ในหินทราย จึงมักปรากฏเป็นทางน้ำไหลที่เรียกว่าชั้นเฉียงระดับปรากฏ) ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ จนกลายเป็นหิน

แต่ในการทับถมกันนั้นไม่ได้มีวัตถุเพียงชนิดเดียวที่มาทับถมกันวัตถุที่มาทับถมกันเหล่านั้น มีทั้งต่างชนิดกันและชนิดเดียวกัน เมื่อมาซ้อนทับกันมันจึงเป็นชั้น ๆ แบบขนมชั้น ชนิดเดียวกันก็จะประสานเป็นเนื้อเดียวกัน ต่างชนิดกันก็จะประสานไม่สนิท

เมื่อเกิดกระบวนการเกิดขึ้นของภูเขา (แผ่นเปลือกโลกเบียดชนกันและดันส่วนหนึ่งให้โป่งขึ้นมาเป็นภูเขา) ภูเขาเหล่านี้ก็จะมีหลังที่แบนตามชั้นที่สะสม และฟอร์มของภูเขาหินทรายเหล่านี้ที่เห็นก็คือ เมื่อขึ้นไปถึงส่วนหลังแป จะพบชั้นที่หินหักถล่มลงมา หินที่ถล่มคือส่วนปลายของชั้นที่อยู่บนสุดและอยู่ริมสุด เมื่อมีความเปราะแตกและด้านล่างไม่มีชั้นหนุน ก็พร้อมจะหล่นลงมาได้ตลอดเวลา ชั้นหินทรายเหล่านี้ เมื่อมีการสึกกร่อนหรือผุพังทลาย ก็จะพังทลายไปเป็นชั้น ๆ เราจึงมักเห็นภูเขาหินทรายมียอดที่แบนราบดังกล่าว

น้ำตกธารทิพย์ ชั้นหินจากทะเลใต้ทะเลขึ้นมาเป็นภูเขา

น้ำตกธารทิพย์ อยู่ในหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขค.๑(ธารทิพย์) อุทยานแห่งชาติเขาค้อ ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์

อาจารย์นเรศ สัตยารักษ์ นักธรณีผู้มีชื่อเสียงของไทย ได้ให้ข้อมูลว่าหินที่วางตัวในร่องห้วยคลองน้ำคล้านั้นส่วนใหญ่จะเป็นหินดินดานกึ่งชนวน หินทรายแป้ง ชั้นบาง ชั้นหินถูกบีบอัดให้คดโค้งเป็นรูปประทุนคว่ำและหงายที่ซับซ้อน มีระนาบเลื่อนตัดผ่านให้เห็นมากมาย หินพวกนี้เทียบเคียงได้กับหมวดหินน้ำดุก ที่พบฟิวซูลินิดอายุคาร์บอนิเฟอรัสตอนปลาย ในหินปูนตะกอนพัดพา (allodapic limestone) ที่ถนนสายหล่มสัก – ชุมแพ แสดงถึงการสะสมตะกอนในทะเลลึก หินอีกกลุ่มที่พบในบริเวณนี้คือ หินดินดาน หินทรายแป้ง ชั้นบาง ชั้นหินมีการคดโค้งบ้างแต่ไม่มากและไม่ซับซ้อนเหมือนหินน้ำดุก ลักษณะเด่นที่พบก็คือ มีรอยริ้วคลื่นที่ไม่สมมาตร รอยระแหงโคลน แปลความหมายได้ว่าเป็นตะกอนที่เกิดในทะเลสาบน้ำจืด เทียบได้คล้ายกับหมวดหินห้วยหินลาด (เดิมให้เป็นหมวดหินหล่มสัก) ที่พบตามข้างถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก

หน้าผาของน้ำตกนั้นเป็นหินทราย ชั้นหนา เม็ดขนาดปานกลาง สีขาว หินทรายนี้เกิดจากแม่น้ำโบราณในตอนปลายของยุคไทรแอสสิก ส่วนอีกด้านของน้ำตกกลับเป็นหินภูเขาไฟ ซึ่งเนื้อหินน่าจะเป็นไรโอไรต์ (rhyolite) จากแนวของระนาบเลื่อนไปถึงหน้าผาน้ำตกนั้น คะเนด้วยสายตาแล้วคิดว่าจะเป็นระยะ ๘ เมตร นั่นคือน้ำตกจะเริ่มเกิดที่แนวระนาบเลื่อนก่อน จากนั้นสายน้ำจึงปฏิบัติการกัดเซาะทำลายหินให้สูญหายไปทางต้นน้ำ (headward erosion) ถ้าทราบอัตราการกัดเซาะต่อปีได้ ก็จะคำนวณได้ว่าน้ำตกธารทิพย์นี้เกิดขึ้นมากี่พันกี่หมื่นปีมาแล้ว

กล่าวโดยสรุปได้ว่า หินทั้งสี่กลุ่มที่พบเห็นที่น้ำตกธารทิพย์นี้ ก่อกำเนิดขึ้นมาในสี่ภูมิภพ นั่นคือ โลกแห่งทะเลลึก โลกแห่งทะเลสาบ โลกใต้ท้องแม่น้ำ และโลกแห่งอัคคีโลกันต์ ทุกอย่างมาผสมปนเปอยู่ที่เดียวกัน จึงนับเป็นความมหัศจรรย์ทางธรณีอีกอย่างหนึ่ง

เหล่านี้คือบางส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งยังมีแหล่งทางธรณีที่โดดเด่นอีกมากมาย บางแห่งบางพื้นที่ยังเดินทางค่อนข้างลำบาง ป้ายบอกทางไม่ชัดเจนและสภาพเส้นทางไม่ดี แต่อีกหลายแห่งก็เดินทางได้สะดวก การที่จังหวัดเพชรบูรณ์ประกาศตั้งอุทยานธรณีเพชรบูรณ์และกำลังจะผลักดันให้ไปสู่ระดับโลก และรวมถึงการจัดตั้งอุทยานธรณีอีกแห่งตามมาในอนาคตนั้น นั่นยอมหมายความว่ามีสิ่งโดดเด่นทางธรณีกระจายกันอยู่ทั่วไป และข้อเท็จจริงก็เป็นเช่นนั้น เหลือแต่เพียงผู้ที่จะมาเยี่ยมชมและซึมซับเรื่องราวทางธรณีเหล่านี้ นั่นจึงจะต้องตามวัตถุประสงค์ของการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานธรณี

เพชรบูรณ์ใกล้แค่นี้…ของดีทั้งจังหวัด……

ขอขอบคุณ

ดอกเตอร์วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีเพชรบูรณ์

อาจารย์นเรศ สัตยารักษ์ ปรมาจารย์ด้านธรณีวิทยาคนสำคัญของไทย

นางสาวชัญชนา คำชา นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรธรณี

อะไรคือ อุทยานธรณี
อุทยานธรณีตามที่ยูเนสโกกำหนดคือ”พื้นที่หรือขอบเขตที่มีแหล่งที่มีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์อย่างน้อย ๑ แหล่ง ไม่เฉพาะทางด้านธรณีวิทยา แต่ยังรวมถึงคุณค่าทางโบราณคดี นิเวศวิทยา หรือวัฒนธรรม” โดย UNESCO เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งอุทยานธรณีเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ เพื่อสนองความต้องการของนานาชาติในเรื่องการรับรู้ถึงแหล่งทางด้าน earth sciences อุทยานธรณี ๑๔๗ แห่ง ใน ๔๑ ประเทศ(ข้อมูล ณ. พฤศจิกายน ๒๕๖๒) มีการดำเนินงานภายใต้เครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลก(Global Geoparks Network หรือ GGN) International Network of Geoparks Program ของ Ecological and Earth Sciences Division และมีการประสานงานร่วมกับ World Heritages Center and Man and Biosphere (MAB) ปัจจุบัน มีสมาชิก จาก ๒๗ ประเทศ และมีอุทยานธรณี ๘๙ แห่งจากทั่วโลก การดำเนินงานของเครือข่ายอุทยานธรณีมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าและ อนุรักษ์แหล่งธรนีวิทยา สร้างงาน และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งตั้งเป้าให้มีสมาชิกอุทยานธรณีจำนวน ๕๐๐ แห่งจากทั่วโลก
แนวทางการจัดตั้ง
ประเทศต่างๆสามารถเสนอพื้นที่อุทยานธรณีของประเทศตนเองต่อ UNESCO เพื่อขอจัดตั้งอุทยานธรณีและเป็นสมาชิกเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลกได้ โดยมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ตามที่ UNESCO กำหนด คือ พื้นที่ที่เสนอต้องมีแหล่งธรณีวิทยา มีคุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม มีการบริหารจัดการและการอนุรักษ์แหล่งต่างอย่างมีบูรณาการ และมีการถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชน สำหรับประเทศไทยโดยกรมทรัพยากรธรณี ได้ปรับแนวทางและเกณฑ์อุทยานธรณีของ UNESCO และดำเนินการเพื่อให้เกิดการจัดตั้งอุทยานธรณีระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และพัฒนาไปสู่เครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลก หรืออุทยานธรณีระดับโลก โดยได้จัดทำแนวทางการจัดตั้งอุทยานธรณี และ หลักเกณฑ์การประเมินเพื่อกำหนดแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา และดำเนินงานตามกระบวนการ รวบรวมข้อมูลธรณีวิทยา ประเมินเพื่อกำหนดแหล่งธรณีวิทยา ประสานงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ (ข้อมูล : กรมทรัพยากรธรณี)

ที่มา https://osothoonline.com/amazing-petchabun/

‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ข่าวเด่นเพชรบูรณ์ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด