วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.30 น. นายณรงค์ศักดิ์ หอมมาลัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการผลิตปิโตรเลียมพื้นที่ผลิตท่าโรงตะวันออก และพื้นที่ผลิตวิเชียรบุรีตะวันออกเฉียงเหนือ แปลงสำรวจบนบกหมายเลขที่ L44/43 อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ของบริษัทอีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส(ประเทศไทย) จำกัด ณ ห้องประชุมเพชรบูรณ์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ อาคาร 1 อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ผู้แทนสถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ ผู้แทนหน่วยงานราชการ สำนักงานพลังงานจังหวัดเพชรบูรณ์ องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดเพชรบูรณ์ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน ร่วมประชุมประมาณ 60 คน
การประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการเบื้องต้น ร่างขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะนำมาใช้ประกอบการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ต่อไป
โดยบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 3/2546/60 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีแผนที่จะดำเนินการผลิตปิโตรเลียม ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข LG 44/43 จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ฐานหลุมผลิต TRE-1 และTRE-2 ในพื้นที่ผลิตท่าโรงตะวันออก/และฐานหลุมผลิต WBNE -F ในพื้นที่ผลิตวิเชียรบุรีตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลท่าโรง และตำบลบ่อรัง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวบริษัทฯ จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเริ่มดำเนินการ รวมถึงจะต้องจัดให้มีกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างน้อย 2 ครั้ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น และการตอบข้อซักถาม โดยข้อซักถามส่วนใหญ่เป็นเรื่อง ข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยหลังจากการประชุมในเวทีระดับจังหวัดครั้งนี้แล้ว ในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ทางบริษัทฯ จะทำการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ศึกษา ซึ่งประกอบด้วยการประชุมในระดับอำเภอ และการประชุมในระดับหมู่บ้านที่ตั้งฐานหลุมผลิตปิโตรเลียม เพื่อให้ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดโครงการ และร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อร่างขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อทางบริษัทฯ จะได้นำมาประกอบการกำหนดขอบเขตของการศึกษา ให้ครอบคลุมครบถ้วนต่อไป
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook