พ้นโค้งสุดท้ายสู่ทางตรง นับถอยหลังชั่วโมงตัดเชือก การเลือกตั้งท้องถิ่น นายกองค์องค์การบริหารส่วนจังหวัด 20 ธันวาคม 2563
ศึกการเมืองบ้านใหญ่ ชน การเมืองคลื่นลูกใหม่ อย่างคณะก้าวหน้า ที่ส่ง 42 ผู้สมัครนายก อบจ.
ศึกสายเลือดคนพรรคเดียวกัน ฟัดกันเดือด ไม่ว่าเพื่อไทยในศึกแดงเดือดภาคเหนือ หรือสงครามสีฟ้า สายเลือดประชาธิปัตย์แท้ – เทียม ในพื้นที่ภาคใต้
การเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นในรอบ 7 ปี เล่นเอาพรรคการเมืองปั่นป่วนไปทั้งองคาพยพ แต่ที่ไหวตัวทัน ไม่มีพรรคแตก คือพรรคพลังประชารัฐ ที่ปล่อยมือไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค ไม่ถือหางใคร ให้ใช้ฝีมือสู้กันเอง
เมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่น นายก อบจ.อันถือเป็น “รากฐาน” ของการเมืองระดับชาติ ที่เว้นว่างตั้งแต่คณะรัฐประหารยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557
การแข่งขันจึงนำทุกกลเม็ดเด็ดพรายขึ้นมาสู่กันทั้งบนดิน – ใต้ดิน บรรดาผู้สมัครนายก อบจ.ต่างออกมาโวยผ่านสื่อถึงการแจกซื้อเสียง ทั้งในจังหวัด สงขลา นครศรีธรรมราช พิจิตร ฯลฯ
กระทั่งก่อนถึงคืนหมาหอน “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า เรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาในขณะนี้ทั้งหมด 93 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความปรากฏ โดยทางสำนักงาน กกต.จังหวัดก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเมื่อแล้วเสร็จก็จะทยอยส่งมายัง กกต.กลาง ซึ่ง กกต.ก็จะพยายามพิจารณาเรื่องให้เสร็จสิ้นก่อนการประกาศผล
พร้อมกับ “ชี้ช่อง” การจับทุจริตเลือกตั้งท้องถิ่น “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” กล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้กฎหมายกำหนดให้มีสินบนรางวัลให้กับผู้ที่นำพยานหลักฐานมายื่นให้ กกต. หากสามารถเก็บหลักฐานได้ การถ่ายคลิปวิดีโอ หรือถ่ายภาพผู้ที่มาแจกเงินซื้อเสียง หรือทำทุจริตเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
เช่น มีการแจกเงิน 500 บาท หรือ 1,000 บาท โดยหลักฐานนั้นสามารถนำไปสู่การที่ กกต.ระงับสิทธิ์สมัคร ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสั่งเลือกตั้งใหม่ ผู้ให้เบาะแสจะได้รับเงิน 1 แสนบาท “เงินซื้อเสียง 1,000 บาท ก็จะเปลี่ยนเป็น 100,000 บาทได้ และเป็นสินบนรางวัลนำจับที่ถูกต้องตามกฎหมาย”
ต้นทาง เรื่อง “รางวัลสินบน” การจับทุจริตเลือกตั้งนั้น บังคับใช้จริงครั้งแรกตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ 24 มีนาคม 2562
ก็เพราะ กกต.ชงให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณา ในคราวร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559
ที่สุดแล้วก็บัญญัติอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 47 ที่ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนหรือไต่สวน ให้คณะกรรมการมีอํานาจจัดตั้ง งบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทําใดอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไป โดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมตลอดทั้งให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแส การกระทําการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง”
ต่อมา กกต.ได้ออกระเบียบ กกต.อีกหนึ่งฉบับชื่อว่า ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562
กำหนดขั้นตอนการ “ชี้เบาะแส”ตามข้อ 22 ของระเบียบดังกล่าว ว่า จะต้องชี้เบาะแสการทุจริตด้วยตนเองต่อพนักงานสืบสวนและไต่สวนหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมาย ที่สำนักงาน กกต.กลาง หรือ สำนักงาน กกต.จังหวัด โดยผู้ชี้เบาะแสจะต้อง
1. ระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ชี้เบาะแส
2. ชื่อและที่อยู่ของผู้กระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ผู้เกี่ยวข้อง และบุคคลที่อาจเป็นพยาน เท่าที่สามารถระบุได้
3.ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งที่ชัดเจนเพียงพอ
4.ลายมือชื่อผู้ชี้เบาะแสทุกหน้าของเอกสาร และจะได้รับรางวัลสินบนนำจับตามข้อ 22 ต่อเมื่อ 1. คณะกรรมการมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว
2.ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัคร หรือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี
3.ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
4.คณะกรรมการมีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงประชามติใหม่
ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ระบุรางวัลนำจับ ในการทุจริตเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี (เทศบาลนคร) นายกเทศมนตรี (เทศบาลเมือง) ได้รางวัลนำจับ
แต่ก่อนจะได้รับสินบนนำจับ ต้องผ่านคณะการพิจารณาให้รางวัลนำจับจะผ่านการกลั่นกรองของ “คณะกรรมการพิจารณารางวัล” เสียก่อนจึงจะได้รับรางวัล
องค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าว มีเลขาธิการ กกต.เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย รองเลขาธิการที่ได้รับมอบหมาย ผู้อำนวยการสำนักการคลัง ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักวินิจฉัยและคดี เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวน เป็นกรรมการและเลขานุการ
การ “ลงมติ” ให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก โดยประธานในที่ประชุมและกรรมการที่มาประชุมต้องลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติ ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้น อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
การตบรางวัลให้คนชี้เบาะแสทุจริตเลือกตั้งจะไม่นับ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.เป็นผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งที่มีการชี้เบาะแส
ในคืนหมาหอนเงินซื้อเสียงอาจปลิวว่อน แต่สามารถนำมาแลกเป็นเงินรางวัลนำจับได้เช่นกัน’>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook