ในช่วงปลายหนาวเช่นนี้ สำหรับคนที่ต้องการความเย็นโค้งสุดท้าย อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ นั้นยังสามารถตอบสนองความต้องการข้างต้น และยังทำให้พวกท่านดื่มด่ำกับธรรมชาติอันงดงาม
ก่อนเที่ยวต้องทำความรู้จักกับอุทยานแห่งชาติแห่งนี้กันสักหน่อย มีเนื้อที่ทั้งหมด 603,750 ไร่ หรือ 966 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมหลายอำเภอ ได้แก่ อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
ตั้งอยู่บนเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเขตกั้นระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือ ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย ทั้งแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำเชิญ ไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์
เราเข้ามาเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวประมาณเดือนมกราคม ซึ่งอากาศเย็นมากๆ สมกับที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่หนาวเย็นมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ลานจอดรถอยู่หน้าที่ทำการของอุทยานฯ เลย ด้านข้างเป็นร้านค้าขายของและร้านอาหาร สะดวกสบายมากๆ เจ้าหน้าที่ออกมาต้อนรับอย่างเป็นกันเอง และให้คำแนะนำอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก ที่กางเต็นท์ อุปกรณ์กันหนาว รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่ควรไป เสร็จจากการจ่ายค่าธรรมเนียมแล้ว ก็แวะเดินดูสินค้า และนั่งรับประทานอาหารกัน
สำหรับลานกางเต็นท์ที่น้ำหนาว มีอยู่ 3 ลานใหญ่ๆ ให้เลือกใช้ แล้วแต่ว่าชอบใกล้-ไกลแค่ไหน แต่ละลานก็มีห้องน้ำเตรียมพร้อมไว้ ส่วนที่ร้านขายสินค้าก็มีอุปกรณ์กันหนาวเล็กๆ น้อยๆ เสื้อกันหนาว หมวกไหมพรม ถุงมือ รวมไปถึงเตาถ่าน แถมมันสดๆ ไว้เตรียมให้ไปเผาปิ้งกันได้ระหว่างผิงไฟตอนกลางคืน ถือว่าได้อารมณ์การแคมปิ้งจริงๆ
ช่วงค่ำๆ ระหว่างเพลิดเพลินกับการพูดคุย จะมีเจ้าหน้าที่มาสอบถามว่าต้องการไปชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นหรือไม่ เพราะหากแจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ไว้ ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่จะมาปลุกถึงหน้าเต็นท์เพื่อให้เดินทางไปยัง “ภูค้อ” จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามของน้ำหนาว
แต่ก่อนที่จะไปชมพระอาทิตย์ขึ้น เราก็ต้องนอนแช่ความหนาวเย็นให้ช่ำปอดกันซะก่อน กลางคืนที่นี่หนาวเหน็บเข้ากระดูกมากๆ เสื้อกันหนาวต้องหนามากพอ ผ้าห่มต้องหนาๆ ไม่งั้นอาจต้องนอนคางกระทบกันอยู่ในที่พัก
สำหรับคนที่ขี้หนาว เห็นอาการแล้วรู้สึกสงสาร โดยเฉพาะเพื่อนร่วมทริป เพราะเห็นเขามือชาและหน้าชา แต่ยังดีที่มีเตาผิงไฟกับมันเผาร้อนๆ ทำให้คลายหนาวไปได้มากมายเชียว
รุ่งเช้าพวกเราขึ้นไปยังภูค้อ ลานสำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้น ท่ามกลางเนินเขา ป่าไม้ และไอหมอก ได้เห็นสายหมอกลอยแซมอยู่บนยอดไม้
ที่นี่มีหอสำหรับการชมวิว ใครที่ไม่กลัวความสูงก็สามารถไต่บันไดขึ้นไปชมความสวยงามที่ไม่มีอะไรมาบดบังเราได้ข้างบน ส่วนด้านล่างมีร้านค้าเล็กๆ ไว้บริการ กาแฟ ไข่ลวก เล็กๆ น้อยๆ สำหรับแก้หนาวในระหว่างการชมวิว
เสร็จจากการชมวิว พวกเรากลับไปที่น้ำหนาว สั่งข้าวต้มร้อนๆ ควันฉุยมารับประทานกัน แก้หนาวได้มากโข จากนั้นเดินชมบริเวณรอบๆ มีจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติอยู่บริเวณนี้ 2-3 จุด แล้วแต่ว่าต้องการเดินลักษณะไหน ใกล้หรือไกล หรือต้องการพบเจออะไรบ้าง
แต่เราตั้งใจกันไว้ว่าจะไปเดินป่าแบบเล็กๆ กันที่น้ำตกเหวทราย ซึ่งอยู่เลยถัดขึ้นไปทางคอนสาร ไม่ไกลมากนัก จึงเดินเล่นชมวิวกันอยู่ในบริเวณอุทยานฯ และถ่ายรูปเก็บวิวสวยๆ
นอกจากนี้ ที่ทำการอุทยานฯ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งที่สวยงาม เช่น ถ้ำผาหงส์ สวนสนบ้านแปก สวนสนภูกุ่มข้าว ภูผาจิต
เสียดายที่พวกเรามีเวลาจำกัด ไม่สามารถเที่ยวชมได้ทั้งหมด โดยเฉพาะถ้ำผาหงส์ ที่ระบุว่ามีภาพพระอาทิตย์ตกดินสวยงามมาก
จึงได้แค่ไปชมน้ำตกเหวทราย ที่ต้องเดินเท้าเข้าไปไม่ไกลมากนัก ระหว่างทางก็ค่อนข้างสวยงาม ได้เห็นใบไม้เปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองแดง ได้เห็นป่าไผ่ ที่ตั้งตรงเป็นทิวแถวสวยงาม
ตัวน้ำตกเหวทรายช่วงที่เราเข้าไปชม มีน้ำไม่มากนัก แต่ก็สวยงามไม่น้อย เป็นน้ำตกหินชั้น ลดหลั่นกันลงมา สายน้ำเล็กๆ ไหลเทลงมาข้างล่าง บนก้อนหินเต็มไปด้วยมอสส์และไม้ชุ่มน้ำเล็กๆ เขียวขจี แอ่งน้ำด้านล่างก็ใสแจ๋ว เห็นปลาจำนวนมากแหวกว่ายอยู่ข้างล่าง แต่น้ำเย็นมากๆ แค่แหย่เท้าลงไปสัมผัสก็สะดุ้งแล้ว แต่บางคนยังใจเด็ด วักน้ำขึ้นมาล้างหน้าล้างตาได้ สักพักก็ชินกับความเย็น หย่อนเท้าลงไปนั่งแช่ได้สบายๆ
เราจบทริปที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวด้วยความหนาวเย็นไว้แค่นี้ และหากมีโอกาสจะมาเที่ยวให้ครบทุกจุด ก่อนจากกันอยากฝากคำแนะนำการท่องเที่ยวอุทยานฯ ตามแนวทาง 7 Greens ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.
โดยนักท่องเที่ยวไม่ควรนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม ถุงพลาสติก แก้ว อะลูมิเนียม เข้าไปในอุทยานฯ เพราะจะส่งเสียงดังหรือสร้างความรำคาญให้แก่สัตว์ป่าและผู้อื่น ที่สำคัญหากไม่นำออกไปทิ้งข้างนอก ก็จะสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามมาอีกด้วย
นอกจากนี้ ต้องไม่ไปเที่ยวในสถานที่เป็นอันตรายเพียงลำพัง หากต้องการไป ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อจะได้ดูแลควบคุมให้เกิดความปลอดภัย และต้องปฏิบัติตามป้ายคำเตือนที่ประกาศไว้อย่างเคร่งครัด
หากยึดถือปฏิบัติตามแนวทางนี้แล้ว จะทำให้การท่องเที่ยวในอุทยานฯ มีความปลอดภัย สามารถเก็บเกี่ยวความรู้ ความทรงจำประทับใจ และไม่ทำลายธรรมชาติอีกด้วย
สำหรับข้อมูลการเดินทาง เมื่อมาถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 เส้นเพชรบูรณ์-หล่มสัก ถึงสี่แยกหล่มสักประมาณ 39 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 12 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 50 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
หากเดินทางโดยรถประจำทาง สามารถขึ้นรถโดยสารสายชุมแพ-หล่มสัก จากอำเภอชุมแพ หรืออำเภอหล่มสัก ซึ่งมีรถออกทุกชั่วโมง รถจะผ่านหน้าทางเข้าที่ทำการอุทยานฯ ค่าโดยสารจากอำเภอหล่มสักมาถึงปากทางเข้าอุทยานฯ ประมาณ 40 บาท ในช่วงฤดูท่องเที่ยวระหว่างเดือนตุลาคมถึงมกราคม จะมีรถท้องถิ่นให้บริการจากที่ทำการอุทยานฯ ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในอุทยานฯ คิดราคาเช่าเหมา
หรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว โทร. 0-5672-9002 หรือสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขตบางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0-2562-0760.
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook