วันเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ว่า หน่วยงานอยู่ระหว่างการจับตาไวรัสโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ใหม่ “มิว” ที่เริ่มพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบีย ภูมิภาคอเมริกาใต้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. และเพิ่งได้รับการบรรจุให้เป็นตัวกลายพันธุ์ที่กำลังจับตา (VOI) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.โดยได้ระบาดลุกลามไปยัง 39 ประเทศแล้วทั้งในภูมิภาคอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา จนถึงอังกฤษ สหรัฐฯ ฮ่องกง เบื้องต้นตรวจสอบพบตัวกลายพันธุ์มิว มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับตัวกลายพันธุ์เบตา (จากแอฟริกาใต้) โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยล้มป่วยจากโควิดปกติมาก่อน ทั้งนี้ โควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการจับตาหรือวีโอไอ มีอยู่ 5 ตัว คือเอตา (พบครั้งแรกในอังกฤษ ไนจีเรีย) ไอโอตา (สหรัฐฯ) แคปปา (อินเดีย) แลมบ์ดา (เปรู) และมิว (โคลอมเบีย) ขณะที่ตัวกลายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล (VOC) มีอยู่ 4 ตัวคืออัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) แกมมา (บราซิล) และเดลตา (อินเดีย)
องค์การอนามัยโลกจับตาไวรัสโควิด-19 “มิว” ตัวกลายพันธุ์ ใหม่ตัวที่ 5 ของโลก กำลังลุกลามระบาดใน 39 ประเทศ ด้านหัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์รามาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุยังไม่พบในไทยและในเอเชีย แต่เป็นการดีที่เฝ้าระวังไว้ก่อนและให้เข้มงวดโดยเฉพาะโครงการ “แซนด์บ็อกซ์” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยถึงเหตุที่ไทยมีตัวเลขติดเชื้อใหม่ลดลง หนุ่มผวาถูกนำมากักตัวที่ศาลาพักศพในวัดต้องนอนข้างเมรุ หลับตาไม่ลงทั้งคืน หลังโวยผ่านโซเชียลเจ้าหน้าที่รีบพาย้าย ตำรวจเชียงแสนกักตัวเกือบหมดโรงพัก แม่ฮ่องสอนเยี่ยม 415 หมู่บ้านทั้งจังหวัดไร้โควิด
สถานการณ์โควิด-19 ของไทยอยู่ในระดับทรงตัว ยอดผู้ติดเชื้อแม้ว่าลดลงต่อเนื่องแต่ยังอยู่ในหลักหมื่น ส่วนยอดผู้เสียชีวิตยังหลักร้อยต่อเนื่องหลายวัน ขณะเดียวกันมีผู้เกิดความวิตกกังวลกับเชื้อไวรัสโควิดตัวใหม่ สายพันธุ์มิว
ดับ 262 ติดเชื้อเหลือ 1.4 หมื่น
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 2 ก.ย. ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยประจำวัน ว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 14,956 ราย ผู้ป่วยอยู่ระหว่างรักษา 163,680 ราย อาการหนัก 4,841 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,030 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 262 ราย เป็นชาย 140 รายหญิง 122 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 183 ราย มีโรคเรื้อรัง 52 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 80 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,234,487 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 12,103 ราย
ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ก.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 827,462 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 33,427,463 โดส สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิดใหม่สูงสุด วันที่ 2 ก.ย.ได้แก่ กทม. 3,322 ราย สมุทรปราการ 1,220 ราย ชลบุรี 881 ราย สมุทรสาคร 733 ราย พระนครศรีอยุธยา 494 ราย นราธิวาส 428 ราย ราชบุรี 349 ราย นครปฐม 341 ราย ระยอง 340 ราย สระบุรี 310 ราย
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า
ตามที่กรมการกงสุลเปิดให้ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในไทย ทุกกลุ่มอายุ ทุกจังหวัด ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ expatvac.consular.go.th ขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-1 ก.ย.64 มีชาวต่างชาติลงทะเบียนแล้ว 58,505 คน แยกเป็นอายุ 60 ปีขึ้นไป 12,502 คน อายุต่ำกว่า 60 ปี 46,003 คน สตรีมีครรภ์ 275 คน ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเสี่ยง 4,189 คน เป็นกลุ่มสำคัญสูงในการรับวัคซีนก่อน กระทรวงสาธารณสุขจัดส่งรายชื่อชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนสำเร็จให้โรงพยาบาลทั่วประเทศอีก 15,489 คน รวมส่งชื่อแล้ว 34,155 คน กรมควบคุมโรคยืนยันเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนและลำดับการฉีดวัคซีนขึ้นอยู่กับเกณฑ์จัดกลุ่มลำดับความสำคัญ เช่นเดียวกับคนไทย
วันเดียวกัน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กรณีที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ยกระดับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์มิว (Mu) รหัสพันธุกรรม B.1.621 ให้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest ว่าสายพันธุ์มิวถูกพบครั้งแรกที่ประเทศโคลอมเบียเมื่อเดือน ม.ค.2564 ในฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISAID มีการเผยแพร่ข้อมูลที่พบการแพร่ระบาดมากขึ้น มีการถอดรหัสพันธุกรรมพบการกลายพันธุ์ที่ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นมากถึง 50-60 ตำแหน่ง ทำให้องค์การอนามัยโลกพิจารณายกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังตัวที่ 5 หลังจากมี 4 สายพันธุ์ที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง คืออีตา ระบาดในหลายประเทศ ไอโอตา ระบาดในสหรัฐอเมริกา แคปปา ระบาดในอินเดีย และแลมบ์ดา ระบาดในเปรู ความรุนแรงสายพันธุ์เหล่านี้ยังต่ำกว่าสายพันธุ์ที่ต้องระวังหรือ Variants of Concern มี 4 ตัวที่ระบาดขณะนี้ คือ เดลตา, อัลฟา, เบตา และแกมมา
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าวด้วยว่า สายพันธุ์มิวยังไม่พบในไทย ขณะนี้ระบาดในประเทศไกลบ้านเรา แถบเอเชียก็ยังไม่พบ จึงไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่รหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่าอาจจะหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ ความกังวลที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง ส่วนใหญ่พิจารณาจากภูมิคุ้มกัน จะเกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกัน เนื่องจากเกรงว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าไปหรือแอนติบอดีสังเคราะห์ที่ฉีดเข้าไปจะไม่ตอบสนอง จึงต้องรีบศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่ได้หมายความว่าในร่างกายมนุษย์จริงๆจะเป็นเช่นนั้น บ่อยครั้งที่เรากังวลใจทำให้เกิดการเฝ้าระวังเป็นสิ่งที่ดี เช่น สายพันธุ์เบตาที่ระบาดใน จ.นราธิวาส เมื่อศึกษาพบการแพร่ระบาดไม่ได้เพิ่มจำนวนมากเท่าเดลตาหรืออัลฟา กระทรวงสาธารณสุขควบคุมจนเรียกได้ว่าเอาอยู่ การเฝ้าระวังสายพันธุ์มิวสำหรับประเทศไทย คงต้องเข้มงวดระบบการเฝ้าระวังคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งในสถานกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและในโครงการแซนด์บ็อกซ์
ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงเรื่องที่ทีมชมรมแพทย์ชนบทระบุสาเหตุที่ไทยมีตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ลดลง เกิดจากการตรวจหาเชื้อที่น้อยลงว่า การตรวจหาเชื้อโควิดที่ผ่านมาใช้วิธี RT-PCR โดยห้องปฏิบัติการในเครือข่ายกรมวิทย์กว่า 300 แห่ง ช่วงพีกการระบาดตรวจเฉลี่ยวันละ 9 หมื่นราย แล็บที่ตรวจหาเชื้อไม่ว่าจะให้ผลบวกหรือลบ ต้องรายงานเข้าระบบใน 3 ชั่วโมง แต่บางครั้งอาจจะบันทึกข้อมูลไม่ทัน การประชุมเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ได้กำชับไปแล้วว่าให้รายงานการตรวจทันทีเพื่อตัดยอดการรายงานผลรายวันได้ทัน ตรงความเป็นจริง ปัจจุบันมีวิธีการตรวจด้วย ATK ที่ทีมแพทย์ชนบทลงพื้นที่ตรวจช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจไปกว่า 3-4 แสนราย เฉลี่ยวันละ 2-3 หมื่นราย ส่วนนี้เรากำหนดเซตระบบรายงานผล เนื่องจากบางครั้งตรวจแล้วไม่ได้รายงานเข้าระบบ ส่วนประชาชนที่ตรวจด้วยตนเองกำลังหาวิธี เช่น รายงานผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อรวบรวมข้อมูลส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้ยอดการตรวจไม่ได้ลดลง เพียงแต่เปลี่ยนวิธีตรวจและพยายามนำตัวเลขเข้าระบบให้รวดเร็วตรงตามจริง
วันเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจาก สปสช.เปิดให้ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. จนถึง
วันที่ 27 ส.ค. มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามารวม 3,888 คน อยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มอีก 99 คน คณะอนุกรรมการระดับเขตพิจารณาจ่ายเงินชดเชยแล้ว 2,875 คน พิจารณาไม่จ่าย 914 คน รวมเงินที่จ่ายชดเชยเบื้องต้น 110 ล้านบาท หลัก เกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการ ระดับ 1.มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่องจ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 2,641 คน ระดับ 2.เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มีผู้รับเงินช่วยเบื้องต้น 12 คน ระดับ 3.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท มีญาติผู้เสียชีวิตรับเงินช่วยเบื้องต้นแล้ว 222 คน
นพ.จเด็จกล่าวด้วยว่า ผู้ยื่นคำร้องเข้ามามากที่สุดอยู่ใน กทม. 840 คน รองลงมาเชียงใหม่ 559 คน อุบลราชธานี 451 คน การจ่ายเงินไม่ใช่การพิสูจน์ถูกผิดหรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีน แต่เป็นเงินเยียวยาลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชน แม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากวัคซีนก็ไม่เรียกเงินคืน สถานที่ยื่นเรื่อง ได้แก่ หน่วยบริการที่ไปฉีดวัคซีน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สปสช.เขตพื้นที่ หรือสอบถามโทร.1330
หนุ่มใหญ่ติดโควิดเครียดจัดกินยาตาย ถูกเปิดเผยเมื่อเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยกู้ชีพชนแดนสงเคราะห์ อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ นำนายสมศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 54 ปี มาฌาปนกิจที่วัดเขาน้อย ต.ลาดแค อ.ชนแดน เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ส่วนสาเหตุการติดโควิด-19 ของนายสมศักดิ์ ชาวบ้านเชื่อว่าติดจากรถขายกับข้าวหรือรถพุ่มพวงที่วิ่งมาขายกับข้าวใน 6 หมู่บ้านของ ต.ลาดแค โดยคนขายกับข้าวได้ติดโควิด หลังนายสมศักดิ์รู้ตัวว่าติดเชื้อก็เกิดอาการเครียดจนตัดสินใจกินยาฆ่าแมลงและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ชาวบ้านยังเผยว่า ก่อนหน้านี้พี่สาวนายสมศักดิ์ก็ป่วยโควิดและเสียชีวิต เพิ่งเผาไปได้ 2 วันน้องชายก็มาตายตาม
ที่ท่าอากาศยานจังหวัดพิษณุโลก มีการทำความสะอาดอาคาร ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคภายในท่าอากาศยาน หลังต้องปิดไปนาน 2 เดือนจากเหตุโควิด ไม่ว่าจะเป็นห้องประชุม ห้องผู้โดยสารทั้งขาเข้า-ขาออก ห้องรับรองพิเศษ ห้องน้ำ ห้องโถงและบริเวณโดยรอบอาคารที่พักผู้โดยสาร ทั้งนี้ ท่าอากาศ-ยานพิษณุโลกได้เปิดรับไฟลท์แรกในวันที่ 3 ก.ย. เส้นทางบินดอนเมือง-พิษณุโลก เที่ยวบินเวลา 11.15 น. และเส้นทางบินพิษณุโลก-ดอนเมือง เวลา 13.15 น. เป็นสายการบินไลอ้อนแอร์และสายการบินนกแอร์ ผู้โดยสารที่เดินทางมา จ.พิษณุโลก ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน รวมทั้งต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันติดตามตัวและต้องกักตัวที่ปลายทาง 14 วันทุกกรณี
ที่ จ.ลำปาง นายธวัชร จรัสวรภัทร นอภ.วังเหนือ เผยถึงเรื่องที่มีชาวบ้านทุ่งฮั้ว หมู่ที่ 4 ต.ทุ่งฺฮั้ว อ.วังเหนือ ติดเชื้อโควิด-19 บ้านเดียว 16 คนรวด มากเป็นประวัติการณ์ของลำปาง จึงให้ปิดหมู่บ้านห้ามเข้าออกตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.วังแก้ว ติดกับ ต.ทุ่งฮั้ว ได้รับความเดือดร้อน เพราะเป็นเส้นทางเดียวที่ใช้เดินทางเข้า อ.วังเหนือไป จ.ลำปาง ไม่มีเส้นทางอื่นเลี่ยง จึงจำเป็นต้องเปิดเส้นทางให้ผ่านได้ปกติตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. แต่การเดินทางต้องผ่านจุดคัดกรองของหมู่บ้านและปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ส่วนที่หลายฝ่าย วิจารณ์ว่า รพ.วังเหนือ ทําไมมีเตียงรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้เพียง 8 เตียง เป็นเพราะอาคารผู้ป่วยใหม่กำลังสร้างยังไม่เสร็จ ส่วนชาวบ้านทุ่งฮั้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอวังเหนือกับเจ้าหน้าที่ อบต.ทุ่งฮั้ว นำไปตรวจหาเชื้อโควิดแล้ว
ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พ.ต.อ.ถนัด ชุ่มมะโน ผกก.สภ.เชียงแสน มีหนังสือให้ข้าราชการตำรวจในโรงพักกักตัวรวม 15 คน รวมทั้งตัว พ.ต.อ.ถนัด ด้วย พ.ต.อ.ถนัดเผยว่า ตนและตำรวจต้องกักตัวเฝ้าดู อาการทั้งหมด เป็นเพราะมีความเสี่ยงสูงจากผู้ติดเชื้อที่ได้เข้าร่วมประชุม ร่วมปฏิบัติหน้าที่และร่วมรับประทานอาหารกันเมื่อวันที่ 29 ส.ค. แม้ทุกคนจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบ 2 เข็มแล้ว แต่เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อจึงมีคำสั่งให้ทุกคนกักตัวที่บ้านและให้ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด- 19 ที่โรงพยาบาลเชียงแสนต่อไป
นายสิธิชัย จินดาหลวง ผวจ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านนี้ไม่มีโควิด-19” โดยได้มอบธงสีฟ้าให้หมู่บ้านที่ปลอดโควิดหมู่บ้านแรกของจังหวัดคือ บ้านในสอย หมู่ที่ 4 ต.ปางหมู และบ้านทบศอก หมู่ที่ 8 ต.หมอกจำแป่ นอกจากนี้ยังขยายโครงการไป 7 อำเภอ รวม 415 หมู่บ้านและพบว่า ทั้ง 415 หมู่บ้าน ไม่มีผู้ ติดเชื้อโควิด-19 หรือเคยมีผู้ติดเชื้อแต่รักษาหายแล้วและประชาชนมีการปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ ว่าที่สิบเอกจารุวงศ์ นิลบรรพต” โพสต์คลิปภาพความวังเวงในวัดแห่งหนึ่งที่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ พร้อมคำบรรยายถึงการเข้ากักตัว 14 วัน หลังรักษาโควิด-19 หายแล้วว่า ถูกเจ้าหน้าที่ที่นำตัวมากักตัวที่ศาลาพักศพภายในวัดลำพังคนเดียว มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นล้นหลาม ผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบพบเป็นที่วัดบ้านใหม่สระขุด ต.ทุ่งกระเต็น ผู้ถูกกักตัวคือนายจารุวงศ์ นิลบรรพต อายุ 35 ปี ชาวชัยภูมิ ซึ่งมาได้ภรรยาที่ อ.หนองกี่ และติดเชื้อโควิด-19 ที่ อ.หนองกี่ เล่าว่าหลังรักษาโควิดหายถูกให้กักตัว 14 วันที่บ้าน แต่เนื่องจากบ้านคับแคบ อบต.ทุ่งกระเต็นจึงจัดหาสถานที่กักตัวให้ พอมาเห็นถึงกับอึ้ง เพราะเป็นศาลาพักศพอยู่ติดกับเมรุ ที่สำคัญการเข้ากักตัวครั้งนี้ต้องอยู่คนเดียว จึงถ่ายคลิปไว้และพยายามทำให้ได้ แต่ยิ่งค่ำยิ่งวังเวงมีแต่ความเงียบสงัด ยอมรับว่านอนไม่หลับ ตั้งใจจะขับรถหนีออกไปจากวัดแต่กลัวผิดกฎหมาย จึงพยายามข่มตานอน แต่ทำไม่ได้เพราะมีทั้งเสียงจิ้งหรีด เรไรร้องดังระงม กว่าจะหลับตาลงได้ก็ปาเข้าไปตี 4
ขณะที่นายบุญธรรม นนตานอก นายก อบต.ทุ่งกระเต็น เผยว่า สาเหตุที่เอามากักตัวที่นี่ เพราะเป็นเหตุเร่งด่วน ไม่สามารถไปกักตัวที่บ้านได้ เนื่องจากมีสมาชิกครอบครัวหลายคนและสภาพบ้านไม่เอื้ออำนวย หลังเล็กและคับแคบ แต่จะหาที่อยู่ใหม่ให้ ส่วนนางสุมาลี อาสานอก พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.ทุ่งกระเต็น เผยว่า เคสนี้เป็นเคสสุดวิสัยได้รับมาแบบฉุกเฉิน จึงประชุมกันกับทีมงานและได้แจ้งให้ภรรยานายจารุวงศ์ทราบแล้ว ทุกคนยอมรับจึงนำตัวมากักตัวไว้ที่นี่ เย็นวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายจารุวงศ์ไปกักตัวที่ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ด้านนางปิยวรรณ ปักษาโก ภรรยานายจารุวงศ์ กล่าวว่า สามีจะไปกักตัวที่ไหนก็ได้ไม่ติดใจแต่อย่าให้ไปกักตัวข้างเมรุเพราะสงสารสามี
ที่หน้าศาลากลาง จ.ตรัง นายอนุพันธ์ บุญมา ชาวบ้าน ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง พร้อมชาวบ้านชุมชนวังตอประมาณ 30 คน เดินทางมาคัดค้านการที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งจะนำโรงแรมในชุมชนวังตอเป็นสถานพยาบาลเฉพาะกิจดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ เพื่อสังเกตอาการให้ครบระยะเวลาที่ปลอดภัยก่อนให้กลับบ้าน ต่อมานายไพบูรณ์ โอมาก รอง ผวจ.ตรัง มารับเรื่องไปนำเสนอ นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผวจ.ตรัง ให้ตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อไป นายอนุพันธ์กล่าวว่า รพ.เอกชนส่งหนังสือมาถึงตัวแทนคณะกรรมการชุมชนวังตอ 2 ว่าจะมีการจัดตั้งสถานพยาบาลเฉพาะกิจ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนรับไม่ได้พากันคัดค้านและล่ารายชื่อขอคัดค้าน เพราะโรงแรมอยู่ในซอยตัน สถานบริโภคต่างๆ การบำบัดไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีอะไรรองรับ
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook