วันที่ 14 ตุลาคม 2564 เวลา 09.30 น.นายเสกสรร กลิ่นพูน นายอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มอบหมายให้นางสาวจุฑามณี บุตรเลื่อม ปลัดอำเภอ ร่วมกับ/จนท.ตำรวจ สภ.หล่มเก่า/จนท.สาธารณสุขอำเภอหล่มเก่า/จนท.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.18 (น้ำชุน)จนท.ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง/จนท.องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเนิน/จนท.องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ดำเนินการออกตรวจสถานที่ในเขตพื้นที่ภูทับเบิก ตำบลวังบาลและตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า โดยตรวจสอบแล้วไม่พบการกระทำความผิดในการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการที่พักที่ถูกศาลจังหวัดหล่มสักพิพากษาว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 จำนวน 5 แห่ง ผลการตรวจสอบทั้ง 5 แห่ง ยังไม่มีการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยไม่ได้มีการเปิดให้บริการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ได้ร่วมกับคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมระดับอำเภอ เพื่อดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการที่ยื่นแจ้งเป็นสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมเพิ่มเติม จำนวน 20 แห่ง ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2551 เพื่อจักได้เสนอให้นายทะเบียนโรงแรมพิจารณาต่อไป
พร้อมกันนี้ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค COVID-19 และห้ามมิให้มีการเปิดสถานประกอบการที่พักให้นักท่องเที่ยวพัก ก่อนจะได้รับอนุญาตและ ประชาคมชี้แจงราษฎรในพื้นที่ภูทับเบิก ในประเด็นดังต่อไปนี้ ชี้แจงและทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการรีสอร์ทและที่พัก ในการดำเนินการตามกฎหมายและคำสั่ง คสช. ที่ 35/2559 โดยเน้นย้ำการห้ามก่อสร้างใหม่ การต่อเติม ซึ่งหากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย
ทั้งนี้ คำสั่ง คสช. ที่ 35/2559 มีสาระสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ของกลุ่มนายทุนที่เข้าไปดำเนินการก่อสร้างรีสอร์ท อาคารและร้านค้า โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยป่าไม้อันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ที่อยู่ในพื้นที่ชั้น คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ชั้นที่ 1บี และชั้น 2 ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำป่าสัก โดยปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกนั้น เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในประเด็นการควบคุมสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านพัก ที่ไม่ได้มาตรฐาน หากเกิดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะเป็นอันตรายแก่นักท่องเที่ยวและผู้พักอาศัยได้ ซึ่งขณะนั้นยังมีการก่อสร้างอาคารบ้านพักอย่างต่อเนื่อง และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการสั่งระงับยับยั้งและรื้อถอน สิ่งก่อสร้างที่ทำเพิ่มเติมได้ในทันที ต้องรอให้มีการดำเนินคดีจนศาลพิพากษาถึงที่สุด และต้องใช้อำนาจทางศาลในการบังคับคดีซึ่งต้องใช้เวลานาน และอาจเป็นอันตรายกับนักท่องเที่ยว หากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในฤดูกาลการท่องเที่ยว จึงกำหนด อำนาจหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งมีขอบเขตการมีผลบังคับใช้ในท้องที่ หมู่ที่ 14 บ้านทับเบิก, หมู่ที่ 16 บ้านทับเบิกใหม่, หมู่ที่ 17 บ้านนาสะอุ้ง ตำบลวังบาล, และหมู่ที่ 8 บ้านน้ำเพียงดิน ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook