LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
การเมืองสังคมและวัฒนธรรม

ชีวิตเบื้องหลัง 16 ศพบาเจาะ เผยมูลเหตุจูงใจจับอาวุธสู้

มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ)

 

 

เหตุชายฉกรรจ์กว่า 50 กว่าคน บุกโจมตีฐานทหารนาวิกโยธินที่บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ที่นำมาสู่การเสียชีวิต 16 คน เมื่อกลางดึกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เรียกความสนใจจากสังคมไทยให้คนสนใจปัญหาชายแดนใต้ได้มากที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง

อะไรเป็นเหตุจูงใจให้กลุ่มคนเหล่านั้น รวมตัวกันเป็นกลุ่มจับอาวุธขึ้นก่อการในครั้งนี้ ที่ถูกเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อเอกราชของดินแดน โดยผู้เสียชีวิตหลายคนมีหมายจับติดตัวหลายคดี เคยก่อเหตุมาแล้วอย่างโชกโชน ต่อไปนี้เป็นภาพเบื้องหลังชีวิตส่วนหนึ่งที่ฉายผ่านญาติและผู้ใกล้ชิดของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 3 ราย ได้แก่นายสะบือรี โดตะเซะ นายฮาเซ็ม บือราเฮง และนายมะรอโซ จันทราวดี

0 0 0


นางสือเมาะห์ มะเก๊ะ 
แม่ของนายสะบือรี โดตะเซะ มองดูภาพถ่ายลูกชายที่มีอยู่ภาพเดียวภายในบ้าน
ซึ่งเป็นภาพถ่ายเอกสารภาพเดียวที่เจ้าหน้าที่ติดไว้ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
เพื่อให้ญาติดูและยืนยันตัวบุคคล

สะบือรี โดตะเซะ : ไม่ทันได้เป็นบัณฑิต พ่อแม่ไม่ทันภูมิใจ
นายสะบือรี โดตะเซะ อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 146/6 หมู่ที่ 2 ต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา เป็นหนึ่งใน 16 ผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการทางทหาร กองร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ 32 บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อกลางดึกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556

หากผ่านพ้นวันนั้นไปโดยที่เขาไม่เป็นอันตรายใดๆ สะบือรีก็จะได้เป็นบัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในอีกไม่กี่วัน เขายังเหลือสอบวิชาสุดท้ายในสาขาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตรเท่านั้น

นางสือเมาะห์ มะเกะ อายุ 50 ปี แม่ของนายนายสะบือรี เล่าว่า ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าลูกชายจะเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เพราะไม่มีสิ่งบ่งบอกใดๆเลยว่า ลูกชายเป็นสมาชิกขบวนการติดอาวุธ ถ้ารู้มาก่อนก็ต้องห้ามแน่นอน ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากให้ลูกของตนเองจบชีวิตแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้โกรธเขาที่ไม่ได้บอก

นางสือเมาะห์ บอกว่า ไม่ใช่แค่ตนเองเท่านั้นที่ไม่อยากเชื่อ แม้แต่อาจารย์หรือเพื่อนๆของ “อาแบ” ก็ยังไม่เชื่อ เพราะเขานิสัยดีและเรียนเก่ง เวลากลับบ้านก็ไม่เคยออกไปเที่ยวเตร่ไหน มีแต่ออกไปเล่นฟุตบอลเท่านั้น แม่สั่งห้ามเพราะกลัวไปเสพติดน้ำกระท่อม เขาเชื่อฟังและไม่สูบบุหรี่

อาแบ หรือคำเรียกแทนชื่อของนายสะบือรี หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่เขาก็ใช้เวลาอยู่ที่บ้านน้อยมาก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่บ้านเช่าในตัวเมืองยะลาตั้งแต่เข้าไปเรียนต่อที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิจนจบศาสนาชั้น 7 และสามัญชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

นางสือเมาะห์ เล่าอีกว่า ก่อนเกิดเหตุไม่นาน อาแบเคยบอกแม่ว่า อีกไม่วันจะเรียนจบแล้วและมีคนอยากให้ไปทำงานด้วยแล้ว “แม่ไม่ต้องส่งเสียผมอีกต่อไป และผมก็จะส่งเสียน้องให้เรียนสูงๆ เอง แม่ไม่ต้องทำงานหนักอีกต่อไป ไม่ต้องออกไปกรีดยางตอนตี่สามตี่สี่อีก”

คนในหมู่บ้านรักอาแบ เพราะนิสัยดี ไม่หยิ่งยโส เวลาเจอใครก็จะทักทาย ในพิธีศพอาแบชาวบ้านหลายคนก็ร้องไห้ไปด้วย ก่อนเสียชีวิตอาแบมาขอเงินจากแม่ บอกว่าจะไปเข้าค่าย แม่ก็ให้เงินไป นั่นคือครั้งสุดท้ายที่ได้คุยกัน

แม่รู้ว่าอาแบเสียชีวิตเวลาประมาณ 9 โมงเช้า กว่าจะรับศพกลับมาได้ก็ตกเย็นแล้ว ไม่เห็นบาดแผลที่ศพและมีสภาพเหมือนคนนอนหลับ ซึ่งศพของอาแบชาวบ้านได้ช่วยกันอาบน้ำศพและละหมาดศพอย่างคนปกติทั่วไป

อาแบ ทำให้แม่มีกำลังใจมาก เพราะเป็นความหวังของครอบครัว แต่หลังจากอาแบเสียชีวิต สถานการณ์เปลี่ยนไปคนละด้าน ตอนนี้แม่เหมือนคนหมดแรง ไม่มีกำลังใจสู้กินไม่ได้นอนไม่หลับ และความดันโลหิตขึ้นสูง

นางสือเมาะห์ เล่าด้วยว่า โชคร้ายยังมีมากกว่านั้น เพราะในวันที่อาแบเสียชีวิต มีเจ้าหน้าที่มาที่บ้าน นายอาสรี พ่อของอาแบเห็นเจ้าหน้าที่ก็วิ่งหนี เจ้าหน้าที่ก็ตามจับคิดว่าเป็นคนร้าย แล้วก็พบว่าพ่อของอาแบเป็นชาวอินโดนีเซีย เข้ามาอยู่อย่างผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวไป

“วันตายของลูกแต่พ่อไม่ได้เห็นหน้าศพลูก และไม่ได้ส่งศพของลูกชายไปยังฝังที่กูโบร์ (สุสานมุสลิม) ทั้งๆที่เป็นวาระสุดท้ายที่พ่อจะเจอลูกแท้ๆ มันน่าเสียใจมาก”

นางสือเมาะห์ เล่าว่า พ่อของอาแบมาอยู่ที่นี่มากกว่า 20 ปีแล้ว เจอกับแม่ตอนไปทำงานที่มาเลเซีย แล้วตามแม่มาอยู่ที่นี่ ที่แรกเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย พอนานเข้าหนังสือเดินทางก็หมดอายุและไม่ได้ต่ออายุ ขณะนี้พ่อถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้ามาเมือง จังหวัดปัตตานี

นางบูงอ ปาระอิน อายุ 75 ปี ซึ่งเป็นเพื่อน บอกว่าเสียดายที่อาแบต้องจบชีวิตอย่างนี้ เป็นเด็กดีในหมู่บ้าน และเป็นที่ชื่นชอบของคนในบ้าน โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งคนดีอัลลอฮจะเอาก่อน

นางบูงอ ปาระอิน อายุ 75 ปี ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน บอกว่า เสียดายที่อาแบต้องจบชีวิตอย่างนี้ เขาเป็นเด็กดีในหมู่บ้าน เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ แต่คนดีอัลลอฮมักจะไม่ให้มีชีวิตยืนยาว

 


นางปรัชญา เบ็ญเจ๊ะมูดอ
นางปรัชญา เบ็ญเจ๊ะมูดอ ภรรยาของนายฮาเซ็ม บือราเฮง หนึ่งในผู้เสียชีวิต 16 คน
ในมือมีคัมภีร์อัลกุรอานที่สามีใช้อ่านเป็นประจำ

ฮาเซ็ม บือราเฮง : ผู้นำวัยรุ่นในหมู่บ้าน
นายฮาเซ็ม บือราเฮง อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49/2 หมู่ที่ 2 ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งในหมู่บ้านของเขามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกันนี้ถึง 3 ราย ฮาเซ็มเรียนจบศาสนาชั้น 7 และสามัญชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

นางปรัชญา เบ็นเจะมูดอ ภรรยานายฮาเซ็ม มีลูก 3 คน เล่าถึงนิสัยของฮาเซ็มว่า เป็นคนดี ชอบเล่นบอล มีทีมฟุตบอลของตัวเองในหมู่บ้าน ตระเวนเข้าร่วมแข่งขันทั่วทั้ง 3 จังหวัด เขามักจะเตือนเยาวชนในหมู่บ้านไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับเสพยาเสพติด และไม่ให้สวมกางเกงขาสั้นเวลาเล่นฟุตบอล เนื่องจากเผยให้เห็นอวัยวะพึงสงวนตามหลักศาสนาอิสลาม คือตั้งแต่หัวเข่าขึ้นไปสำหรับผู้ชาย ซึ่งวัยรุนในหมู่บ้านก็เชื่อฟัง

หลังจากฮาเซ็มเสียชีวิต เกรงว่าอาจทำให้ยาเสพติดระบาด เพราะไม่มีใครคอยตักเตือนและไม่มีคนที่สามารถควบคุมเยาวชนได้ ฮาเซ็มชอบอ่านคัมภีร์อัลกุรอานเป็นประจำ จึงมีคำภีร์อัลกุรอานติดตัวตลอด

สาเหตุที่ฮาเซ็มเข้าร่วมขบวนการ เนื่องจากเขาเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ เมื่อปี 2547 เมื่อกลับมาอยู่บ้านก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกให้ไปอบรมเป็นเวลา 2 เดือน แต่ฮาเซ็มไม่อยากไป แต่พ่อของเขาอยากให้ไป เพราะกลัวจะมีปัญหาในภายหลัง สุดท้ายฮาเซ็มก็ไปเข้าอบรม

เมื่อกลับมาอยู่บ้าน มีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นในหมู่บ้าน และได้ควบคุมตัวชาวบ้านหลายคน ฮาเซ็มไม่ได้อยู่บ้านในช่วงนั้น จึงไม่ถูกควบคุมตัวไปด้วย แต่ก็เขาก็มีชื่ออยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่ต้องการควบคุมตัวอยู่ด้วย ทำให้ฮาเซ็มรู้สึกกลัว จึงหลบหนี จนกระทั่งต่อมาก็มีหมายจับตัวเขาออกมา

จากนั้นมีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมที่บ้านเพื่อขอให้ฮาเซ็มออกมามอบตัว แต่ฮาเซ็มไม่ยอมมอบตัว พร้อมกับบอกว่า ไม่เคยเห็นเหตุการณ์ที่แสนจะทรมานเท่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ ที่มีการจับมัดมือชาวบ้านแล้วโยนใส่ในรถ ทำให้เขาไม่อยากมอบตัว

 


มะรอโซ จันทรวดี
ภาพถ่ายของนายมะรอโซ จันทรวดี กับนางรุสนี แมเลาะ ภรรยา หลังจากแต่งงานใหม่ๆ
จากนั้นมะรอโซต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แต่ก็ยังได้ทำหน้าที่สามี พ่อและเพื่อนบ้าน

 

มะรอโซ จันทราวดี : ตากใบคือมูลเหตุจับอาวุธสู้
มะรอโซ จันทราวดี ถูกระบุว่าเป็นแกนนำก่อความไม่สงบคนสำคัญและเป็นหัวหน้าที่มในการปฏิบัติการครั้งนี้ เขาเป็นบุคคลตามหมายจับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) 18 หมาย และหมายจับตามพระกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 หมาย และมีค่าหัวถึง 2,000,000 บาท

มะรอโซ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 162 หมู่ที่ 7 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เกิดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2525 ปัจจุบันมีลูก 2 คน คนแรกอายุ 6 ปี คนที่ 2 อายุเพียง 17 เดือน มะรอโซเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และจบวิชาศาสนาชั้น 7 จากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอบาเจาะ มะรอโซมีพี่น้อง 6 คน เขาเป็นคนที่ 2

นางรุสนี แมเลาะ อายุ 25 ปี ภรรยาของมะรอโซ เล่าว่า เหตุที่มะรอโซตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ เพราะเขาเป็นคนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตอนนั้น มะรอโซถูกควบคุมตัวไปพร้อมๆกับชาวบ้านคนอื่นๆ โดยถูกเจ้าหน้าที่มัดมือไพล่หลังแล้วนำตัวขึ้นรถบรรทุก เพื่อนำไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

หลังจากถูกปล่อยตัวกลับบ้านไม่นาน ก็เกิดเหตุระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารใกล้ๆ หมู่บ้าน เมื่อปี 2548 มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตหลายนาย เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ตำรวจออกหมายจับมะรอโซ ซึ่งในช่วงแรกๆ เขาอยากออกมามอบตัวด้วย

แต่ในช่วงนั้น เพื่อนๆ ของมะรอโซที่ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปด้วยหลายคนถูกซ้อมทรมาน บางคนถูกจำคุกถึง 5 ปี บางคนศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต รุสนีบอกว่า นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้มะรอโซไม่อยากออกมามอบตัว

อีกทั้ง ยิ่งนานวันเข้า ก็ยิ่งมีคดีติดตัวเยอะขึ้น ซึ่งมะรอโซบอกว่า มอบตัวก็ตาย ไม่มอบตัวก็ตาย และยินดีที่จะใช้ชีวิตอย่างหลบๆซ่อนๆ อย่างน้อยก็มีโอกาสกลับบ้าน เจอหน้าตาญาติพี่น้องและคนในครอบครัวมากกว่า

ชีวิตรักมะรอโซ ชีวิตที่ต้องหลบๆซ่อนๆ
รุสนี เล่าว่า ตนเองได้แต่งงานกับมะรอโซในช่วงเดือนเมษายน ปี 2549 ซึ่งตอนนั้น มะรอโซต้องอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว แต่ก่อนแต่งงานมะรอโซเคยถามตนว่า รับได้หรือเปล่ากับสิ่งที่เขาเป็นอยู่ ตนก็ตอบว่า รับได้เสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา

ในช่วงที่ต้องหลบๆซ่อนๆ การพบกันก็ต้องเป็นแบบหลบๆซ่อนๆด้วย เจอกันตามป่าบ้าง ใต้ต้นไม้บ้าง ในบ้านญาติบ้าง มีครั้งหนึ่งที่เขาหลบอยู่ในบ้านญาติ เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นแต่ไม่เจอ ตอนหลังเจ้าหน้าที่ก็บอกว่ามะรอโซมีคาถาอาคมบ้าง

ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่แวะเวียนมาที่บ้านเป็นประจำ มาขอให้ตนบอกกับมะรอโซให้ออกมามอบตัว บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ขู่ว่า ถ้าไม่ออกมามอบตัวก็จะเตรียมกูโบร์(สุสาน)ไว้ให้ ตนก็เล่าให้มะรอโซฟัง มะรอโซก็ให้บอกเจ้าหน้าที่ว่า ใครๆ ก็ต้องไปกูโบร์อยู่แล้ว อยู่ที่อัลลอฮที่จะให้ไปช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

เมื่อไม่มีมะรอโซแล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเองขาดที่พึ่ง เพราะตอนเขาอยู่ชาวบ้านจะให้ความเคารพและเกรงใจเรา จนบางครั้งมะรอโซก็พูดกับตนว่า เป็นเพราะฉันใช่ไหมที่ทำให้ชาวบ้านเกรงใจเธอ

นางรุสนี เล่าด้วยว่า มะรอโซให้ความสำคัญเรื่องการเรียนของลูกๆ เขาพูดเสมอว่า อยากตนสนับสนุนให้ลูกเรียนหนังสือสูงๆ เท่าที่จะส่งเสียได้

เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ในช่วงของวันพ่อแห่งชาติ ทางโรงเรียนทำกิจกรรมด้วย ครูให้นักเรียนบอกชื่อของพ่อและแม่ในชั้นเรียน พอถึงคิวลูกของตน ครูก็ข้าม ไม่อยากให้ลูกบอกชื่อพ่อ ทั้งๆ ดูจากอาการของลูกแล้ว เหมือนลูกอยากจะบอกชื่อพ่อชื่อแม่ให้เพื่อนๆ ฟัง

ตนก็เอาเรื่องนี้ไปเล่าให้มะรอโซฟัง  มะรอโซก็บอกว่า ขอให้ครูสอนหนังสือลูกของเขาเหมือนกับสอนลูกคนอื่นๆ ไม่ต้องดูแลเป็นพิเศษอะไร เขาบอกว่า ครูไม่ต้องกลัว ให้ครูสอนเหมือนสอนนักเรียนตามปกติ ซึ่งครูบางคนก็เป็นครูไทยพุทธและเป็นครูที่เคยสอนเขาด้วย ตนก็เอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ครูฟัง

นางรุสนี เล่าว่า เวลาประมาณ 04.00 น. ของคืนที่เกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ทหารคนหนึ่งโทรมา แปลกใจมากทำไมเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาตอนนั้น เมื่อรับสาย เจ้าหน้าที่ก็เล่าว่าเกิดเหตุการณ์โจมตีฐานทหาร คิดว่ามะรอโซน่าจะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุแต่ยังไม่ชัดเจน ขอให้ตนเช็คข่าวเองด้วย ตนจึงโทรไปหามะรอโซแต่ไม่รับสาย จากนั้นตนเปิดดูข่าวในโทรทัศน์ซึ่งเสนอข่าวเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถระบุรายชื่อผู้เสียชีวิตได้ จนกระทั่ง 06.00 น. ทหารคนเดิมจึงโทรมายืนยัน

ส่วนนางเจ๊ะมะ เล่าว่า มะรอโซกลับมาที่บ้านครั้งสุดท้ายช่วงค่ำของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 เห็นสีหน้ามะรอโซแปลกกว่าปกติ เขาเงียบไม่พูดอะไรมาก ตนคิดในใจน่าจะถึงเวลาของเขาแล้ว ก่อนที่เขาจะจากไปเขาเข้าไปในบ้านญาติๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กัน แล้วจับมือให้สลามทุกคน และขอให้ทุกคนให้อภัยซึ่งกันและกัน

นามสกุล “จันทราวดี”
นางเจ๊ะมะ เจ๊ะนิ อายุ 53 ปี แม่ของมะรอโซ เล่าว่า มะรอโซเป็นคนขยันทำหากิน แม้ตอนที่ต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ เขายังรับจ้างกรีดยางพาราของชาวบ้านถึง 3 เจ้า เพื่อส่งเงินมาสร้างบ้านของตัวเอง เพื่อให้ลูกเมียได้อยู่อาศัยเป็นส่วนตัว แทนที่จะอาศัยอยู่กับครอบครัวแม่ยาย

“บ้านเขาสร้างเสร็จแล้ว และมีการทำพิธีละหมาดฮายัดขึ้นบ้านใหม่พร้อมๆ กับวันที่นำศพของเขากลับมายังบ้านหลังใหม่” นอกจากนี้ มะรอโซยังส่งเสียน้องชายที่กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศซูดานด้วย

นางเจ๊ะมะ เล่าว่า มะรอโซชอบช่วยเหลือสังคม เวลาชาวบ้านขอความช่วยเหลืออะไรเขาไม่เคยปฏิเสธ เขาช่วยชาวบ้านด้วยความบริสุทธิ์ใจเสมอ ลักษณะพิเศษของมะรอโซ คือสามารถเป็นตัวกลางในการประสานงานให้คนที่ทะเลาะกลับคืนดีได้ จึงทำให้เขาเป็นคนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างสูง และชาวบ้านเชื่อฟังในสิ่งที่เขาพูด ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่

ทำไมมะรอโซ จึงมีนามสกุล “จันทราวดี” นางเจ๊ะมะ เล่าว่า ที่มาของนามสกุลนี้ว่า มาจากปู่ของเขาที่เป็นคนอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แต่งงานกับย่า ซึ่งเป็นคนนราธิวาส ทั้งคู่อาศัยอยู่ที่อำเภอท่าศาลา โดยปู่เป็นกำนันในสมัยนั้น จนกระทั่งได้ลูก ซึ่งเป็นพ่อของมะรอโซ

เมื่อปู่เสียชีวิตขณะที่พ่อของมะรอโซมีอายุเพียง 14 ปี ย่าก็พาลูกกลับมาอยู่ที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ด้วยเหตุนี้ทำให้มะรอโซ มีนามสกุลจันทรวดี ซึ่งเป็นนามสกุลดังในอำเภอท่าศาลาและหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

 ‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

การเมืองสังคมและวัฒนธรรม ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด