‘ศ.ดร.พิริยะ’ เสนอ ‘ทวารวดี’ เป็น ‘ราชธานีแห่งแรก’ ของสยาม ฟันธงอยู่ที่ ‘ศรีเทพ’ เพชรบูรณ์ ไม่ใช่นครปฐม-อู่ทอง ยกหลักฐานสอดคล้อง ‘กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา’ นามเดิมกรุงเก่า-ยันนับถือพราหมณ์ไม่ใช่พุทธ เจอเทวรูปพระกฤษณะผู้สร้างเมืองทวารวดีแห่งเดียวในประเทศ
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมเสนอแนวคิด จารึกพ่อขุนรามคำแหง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อราวพ.ศ.2530 หรือกว่า 30 ปีก่อน ประกาศข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับ ‘ทวารวดี’ ว่าตั้งอยู่ที่เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่ใช่เมืองนครปฐมโบราณหรือเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีตามที่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อกันในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ดร.พิริยะ กล่าวว่า เมืองศรีเทพ ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำป่าสัก ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อายุราว 1,400 ปีมาแล้ว เป็นแหล่งโบราณคดีเก่าแก่เพียงแห่งเดียวในไทยที่พบเทวรูปพระกฤษณะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ก่อตั้งเมืองทวารวดีในคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ ดังนั้นเมืองศรีเทพจึงน่าจะเป็นราชธานีของทวารวดี เนื่องจากหลักฐานต่างๆ บ่งชี้ว่าทวารวดี นับถือศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาหลักไม่ใช่ศาสนาพุทธ ในขณะที่เมืองนครปฐมและอู่ทอง นับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ดร.พิริยะ ยกหลักฐานจากศิลาจารึกภาษาสันสกฤต 2 หลัก พบที่เมืองศรีเทพ มีข้อความเกี่ยวข้องพระกฤษณะในชื่อ ‘ฤษีวยาสะ’ เมื่อมีกำเนิดได้นามว่า ‘กฤษณไทวปายน’ นอกจากนี้ยังพบเทวรูปศาสนาพราหมณ์พบในเมืองศรีเทพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทวารวดีเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระกฤษณะ ได้แก่ เทวรูปพระกฤษณะ 3 องค์ ซึ่งเป็นอวตารที่ 8 ของพระวิษณุ แกะจากหินแกรนิตพบ แห่งเดียวในเมืองศรีเทพ แต่ไม่พบในเมืองนครปฐมโบราณ รวมถึงเทวรูปพระวิษณุ 2 องค์ พบในเมืองศรีเทพ ซึ่งพระวิษณุ หรือพระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะผู้สร้างทวารวดี แต่ไม่พบเทวรูปพระวิษณุในเมืองนครปฐมโบราณ นอกจากนี้ หลักฐานที่พบใหม่เมื่อ พ.ศ.2562 คือ จารึกวัดพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตปรากฏข้อความในบรรทัดที่ 5 ซึ่งอ่าน-แปลได้ว่า ‘ทวารวดีที่ยิ่งใหญ่ เจริญรุ่งเรืองเหมือนเมืองพระวิษณุ’
ศาสตราจารย์ดร.พิริยะกล่าวว่า แหล่งโบราณคดีที่อาจถือได้ว่าเป็นแหล่งที่เป็นที่ตั้งหรือศูนย์กลางของทวารวดีนั้น มีเพียง ’เมืองศรีเทพ’ เท่านั้นที่สอดคล้องกับนามเดิมของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเมื่อแรกสถาปนามีนามอย่างเป็นทางการว่า ‘กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา’
“จารึกเมืองศรีเทพ ให้ข้อมูลว่าลัทธิไวษณพเจริญรุ่งเรืองที่ทวารวดี จารึกวัดพระงาม นครปฐม ก็ให้ข้อมูลว่า ทวารวดี เป็นเมืองในลัทธิไวษณพ ศรีเทพตั้งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำป่าสัก สอดคล้องกับนามของกรุงศรีอยุธยาว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยามากกว่าอู่ทองและนครปฐมในลุ่มแม่น้ำท่าจีน หรือคูบัวในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จะเอาทวารวดีไปไว้ในลุ่มน้ำอื่นคงไม่ได้ เพราะเกี่ยวดองกับกรุงศรีอยุธยา และเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ไปแล้ว ก็ยังคงเรียกชื่อราชธานีใหม่ว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ดังปรากฏในศิลาจารึกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่วัดพระพุทธโฆษาจารย์ กรุงพนมเปญ สมัยรัชกาลที่ 3” ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะกล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องทวารวดีอยู่ที่เมืองศรีเทพนี้ ศาสตราจารย์ โคล้ด ฌาคส์ (Claude Jacques) ผู้เชี่ยวชาญการอ่านศิลาจารึกกัมพูชา เคยเสนอไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2552 โดยให้เหตุผลว่าทวารวดีเป็นเมืองของพระกฤษณะ อวตารที่ 8 ของพระวิษณุ และเทวรูปพระกฤษณะและพระวิษณุก็พบที่ศรีเทพ อีกทั้งเป็นแหล่งเดียวในไทยที่พบเทวรูปพระกฤษณะที่เป็นผู้ก่อตั้งเมืองทวารกา ซึ่งก็คืออีกชื่อหนึ่งของทวารวดี ตนจึงนําความคิดนี้มาผนวกกับข้อวินิจฉัยของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ที่ทรงพระนิพนธ์ในวารสารของสยามสมาคม (Journal of the Siam Society) เมื่อ พ.ศ. 2482 (1939) ว่าทวารวดีเป็นชื่อของกรุงศรีอยุธยาเมื่อแรกสถาปนาจนเสียกรุง และเนื่องด้วยว่าศรีเทพตั้งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำป่าสัก ซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา จึงเข้าใจได้ว่า ดินแดนแถบนั้นในอดีตกาลเป็นภูมิลําเนาของชาวสยามและเป็นส่วนหนึ่งของทวารวดี
“ด้วยเหตุนี้ จึงขอเสนอว่าเมืองศรีเทพในอดีตคือกรุงทวารวดีซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12-กลางพุทธศตวรรษที่ 13 ไม่ใช่นครปฐมตามที่เข้าใจกันทุกวันนี้ ศรีเทพสมควรที่จะเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดี เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งเดียวที่พบเทวรูปพระกฤษณะผู้สถาปนากรุงทวารกาหรือทวารวดีแล้ว ศรีเทพยังตั้งอยู่บนแม่น้ำป่าสักซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา
เมื่อศรีเทพเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดีซึ่งเป็นอาณาจักรแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่กล่าวขานของชาวต่างประเทศ จึงสมควรที่จะยกย่องให้ศรีเทพเป็นราชธานีแห่งแรกของสยาม” ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวในงานบรรยายประจำปี 2564 มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ณ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาอีกด้วย
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องที่ตั้งและศูนย์กลางของทวารวดีเป็นที่ถกเถียงกันมานาน โดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส สันนิษฐานว่าทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่เมืองนครปฐมโบราณ ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมา นายมานิต วัลลิโภดม ข้าราชการกองโบราณคดี กรมศิลปากร แสดงหลักฐานวิชาการว่าโตโลโปตีในเอกสารจีน คือ ทวารวดีอยู่เมืองละโว้ (ลพบุรี) ลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี ส่วนนครปฐมโบราณคือลังเกียฉู่ในเอกสารจีน โดยเขียนบทความลงในนิตยสารศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2515
ด้านนายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากรเขียนบทความในนิตยสารศิลปากร (ฉบับมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 หน้า 49-55) ว่าการพบเหรียญเงินที่นครปฐม เพียง 1 เหรียญ มีตัวอักษรคำว่า ‘ทวารวดี’ ไม่นับเป็นหลักฐานยืนยันว่านครปฐมโบราณชื่อทวารวดี เพราะเหรียญเงินเป็นวัตถุขนาดเล็กที่คนพกพามาจากที่ไหนก็ได้ ขณะเดียวกันเหรียญเงินมีอักษรว่า ‘ทวารวดี’ ยังพบที่อื่นด้วย เช่น เมืองโบราณอู่ตะเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งไม่ใช่หลักฐานยืนยันว่าเมืองโบราณอู่ตะเภามีชื่อเดิมว่าทวารวดี
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook