LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
ท่องเที่ยว

เสพสุนทรียะศิลปะเทวรูปรุ่นเก่า เมืองโบราณศรีเทพ

 ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานี้ นักโบราณคดีและผู้คนมาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ กันอย่างคักคึกเป็นพิเศษ เป็นเพราะเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 ทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้ค้นพบเทวรูปพระนารายณ์ หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญชิ้นล่าสุด อายุกว่า 1,300 ปี ทำให้เห็นถึงเมืองศรีเทพมีการรับอารยธรรมจากภายนอกผ่านการเคลื่อนย้ายประติมากรรมรูปเคารพเข้ามา ซึ่งจากการขุดค้นที่ผ่านๆ มายังพบเทวรูปรุ่นเก่าในพื้นที่อีกหลายชิ้น ทั้งเทวรูปพระนารายณ์และพระวิษณุ
วันนี้เทวรูปพระนารายณ์พบใหม่องค์จริงที่จัดแสดงในอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุของอุทยานฯ ศรีเทพ กลายเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวแล้ว ผู้คนหลงไหลกับความงดงามของรูปแบบเทวรูปพระนารายณ์ชิ้นนี้ ซึ่งจัดว่าอยู่ใน “ศิลปะแบบเทวรูปรุ่นเก่า” ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนเทวรูปทั่วไป ติดตาติดใจเมื่อได้พบเห็น
จากการพูดคุยกับ พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร ที่ร่วมศึกษาข้อมูลและดำเนินการขุดค้น จนกระทั่งพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญนี้บริเวณคูเมืองด้านทิศตะวันตก ทำเอาทุกคนสนใจเพิ่มขึ้น หน.อุทยานฯ บรรยายพร้อมชี้ชวนให้ชมประติมากรรมเทวรูปพระนารายณ์ที่พบใหม่ ทำจากหินทราย มีเฉพาะช่วงพระวรกาย ส่วนพระเศียรและตั้งแต่พระพาหุทั้งสองข้างแตกหักไป ส่วนล่างใต้พระชานุทั้งสองข้างลงไปก็หักหายไปเช่นกัน คาดว่าเป็นเพราะถูกทุบทำลายช่วงเปลี่ยนลัทธิศาสนา มีลวดลายสลักเป็นผ้าคาดเอวและชายผ้านุ่งอย่างชัดเจน ขนาดโดยประมาณสูง 80 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร หนา 20 เซนติเมตร
สันนิษฐานว่าเป็นเทวรูปพระนารายณ์ เพราะเทพที่ปรากฏในร่างมนุษย์มักจะเป็นพระวิษณุหรือพระนารายณ์ หากเป็นพระศิวะจะสร้างรูปศิวลึงค์แทน การค้นพบเทวรูปครั้งนี้เป็นผลจากโครงการขุดลอกคูเมืองด้านทิศตะวันตกของเมืองโบราณศรีเทพของกรมศิลปากร เพื่อรองรับด้านการท่องเที่ยว ใช้งบประมาณโครงการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
จุดพิเศษของเทวรูปพระนารายณ์ชิ้นนี้ พงศ์ธันว์บรรยายได้อารมณ์ว่า การเสพศิลปะบอกสัดส่วนของเทวรูป หน้าท้องนูนลาดเอียงรับกับแผงหน้าอก เอวคอด สะโพกผาย การสลักเน้นสรีระที่จำเป็น ไม่ปรากฏลักษณะทางกายวิภาคของมนุษย์ รวมแล้วเป็นความตามแบบอุดมคติของการสร้างเทวรูปยุคนั้น แตกต่างจากลักษณะคนธรรมดาทั่วไป ตลอดจนการตกแต่ง ลวดลายผ้าคาดเอวและชายผ้านุ่งสลักเป็นลายเส้นที่คม ชัด และบาง เป็นลักษณะพิเศษของศิลปะที่พบสมัยอาณาจักรฟูนันในกลุ่มเมืองออกแก้ว บริเวณปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าของอาณาจักรฟูนัน ที่ผ่านมาพบการกระจายตัวของเทวรูปพระนารายณ์ ศิลปะแบบเทวรูปรุ่นเก่าในพื้นที่อื่น นอกจากเมืองศรีเทพ เช่น เขต จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี เมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งแหล่งโบราณคดีปากแม่น้ำโขง
“ศิลปะแบบฟูนันแตกต่างจากศิลปะแบบเขมรชัดเจน เน้นเรื่องทรวดทรงความงามแบบอุดมคติ ห่างไกลจากความงามตามลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป และมีใบหน้าพระพักตร์ยิ้มแย้ม มีความเป็นมิตรกับผู้นับถือ เป็นรูปแบบที่ไม่เหมือนศิลปะเขมรที่แสดงอำนาจ ความเข้มแข็ง พละกำลัง ความน่าเกรงขาม บึกบึนด้วยกล้ามเนื้อ ซึ่งพบได้ในพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งในกัมพูชาและไทย แต่ชิ้นนี้คือผลงานศิลปะที่แท้จริง หากเทวรูปชิ้นนี้สมบูรณ์ เรื่องความงดงามคงไม่ต้องพูดถึง” หน.อุทยานฯ บอกถึงเอกลักษณะศิลปะเทวรูปรุ่นเก่า
อย่างไรก็ตาม หลังจากการค้นพบแล้วจะส่งเข้าดำเนินการอนุรักษ์เสริมความมั่นคงให้แข็งแรงขึ้น เนื่องจากพบในสถานที่ชิ้นแฉะ ถูกทับถมเป็นระยะเวลานาน สภาพหินผุกร่อนยุ่ย นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมไม่ควรจับต้อง จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์อนุรักษ์ และจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ลพบุรีต่อไป
การที่มีกลุ่มศิลปะเทวรูปจากอาณาจักรฟูนันปรากฏตามเขตพื้นที่ต่างๆ นั้น รวมถึงเมืองศรีเทพ แหล่งโบราณสถานสำคัญในเมืองเพชรบูรณ์ นักโบราณคดีผู้นี้เผยถึงประเด็นสำคัญว่า เป็นเพราะมีการค้าขายทางทะเล หรือเป็นเพราะอาณาจักรฟูนันกำลังจะล่มสลาย มีปัญหาทางการเมืองกับเจนละ เป็นแรงผลักดันให้เทวรูปกลุ่มนี้แพร่กระจายออกไปภายนอก สำหรับเทวรูปพระนารายณ์ชิ้นล่าสุดที่พบบริเวณคูเมืองด้านทิศตะวันตกของอุทยานฯ ศรีเทพ ถือเป็นหลักฐานการนำเข้าเทวรูปจากดินแดนอื่นเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งไปตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเทวรูปที่เคยพบก่อนหน้านี้
“หลักฐานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างแหล่งโบราณคดีในเขตภาคพื้นทวีปตอนกลางของประเทศไทยกับแหล่งเมืองท่าชายฝั่งทะเลในภาคใต้ และเวียดนาม มันยึดโยงกันหมด เป็นเส้นทาง การเคลื่อนย้ายประติมากรรมรูปเคารพเข้ามายังเมืองศรีเทพ เรียกว่ามีต้นทางและปลายทาง บ่งบอกสถานะความสำคัญเมืองโบราณแห่งนี้ ถ้าเมืองไม่สำคัญจริง การเคลื่อนย้ายกระทำไม่ได้ มิฉะนั้น คงค้นพบเทวรูปลักษณะนี้ในทุกพื้นที่” พงศ์ธันว์สะท้อนถึงเมืองศรีเทพ ซึ่งอาจจะเป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมเมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ 12
ความน่าตื่นตาตื่นใจของเมืองโบราณศรีเทพอยู่ที่การค้นพบโบราณวัตถุชิ้นเอก คุณค่าของเทวรูปนอกจากความงดงามในด้านศิลปวัฒนธรรมและมีคุณค่าต่อจิตใจของชาวเมืองศรีเทพแล้ว ยังอยู่ที่การใช้หลักฐานชิ้นสำคัญตีความเรื่องราวในอดีตและต่อยอดองค์ความรู้ทางโบราณคดี หน.อุทยานฯ ศรีเทพกล่าวทิ้งท้ายว่า เทวรูปพระนารายณ์นี้เคลื่อนย้ายมาจากกลุ่มเมืองท่าออกแก้ว น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันแนวคิดและสมมติฐานเรื่องการแพร่กระจายและความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มั่นคงยิ่งขึ้น โอกาสจะค้นพบเทวรูปรุ่นเก่าหาได้ไม่บ่อยในปัจจุบัน ดีใจมากกับการค้นพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้ เพราะเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ
หลังจากประทับใจกับสุดยอดศิลปะแบบแทวรูปรุ่นเก่า อีกแหล่งโบราณคดีพบใหม่ในอุทยานฯ ศรีเทพที่เราสนใจกันมาก คือ “สระแก้ว” สระน้ำโบราณที่เมืองศรีเทพ ซึ่งว่ากันว่าเป็นสระน้ำมงคลและอยู่คู่กับเมืองมาแต่โบราณ เป็นสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยม แต่ละด้านยาว 150 เมตร ลึก 10 เมตร จากการขุดลอก พบทางลงสระทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านทำเป็นบันไดศิลาแลงเป็นขั้นๆ ลงไป ยกเว้นด้านทิศใต้เป็นทางลาดลงสู่สระ ความน่าตื่นเต้นพบหลักฐานสำคัญคือ จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 อาจจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญ ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณกำลังดำเนินการอ่านและแปล ที่สระแก้วยังพบเศษภาชนะดินเผา เบี้ยดินเผา เครื่องถ้วยเขมร กระดูกช้าง หินบด หินโกลน บ่งบอกวิถีความเป็นอยู่ของคนโบราณใช้สระในการอุปโภคบริโภค มิใช่เป็นเพียงสระน้ำศักดิ์สิทธิ์
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพถือเป็นแหล่งที่มีพัฒนาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่อเนื่องชัดเจน ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเมืองเพชรบูรณ์ พื้นที่ครอบคลุมบริเวณเมืองโบราณศรีเทพ มีคูน้ำคันดินแบ่งเมืองเป็นเมืองในและเมืองนอก มีกลุ่มโบราณสถานสำคัญได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนเอี่ยมอ่อง รวมทั้งจัดภูมิทัศน์สวยงาม พรั่งพร้อมด้วยศูนย์ข้อมูลบริการนักท่องเที่ยวและอาคารจัดแสดง สามารถแวะเวียนมาชมได้ทุกวัน.

‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ท่องเที่ยว ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด