หลวงพ่อทบ
ที่ตั้ง : ตำบล ชนแดน อำเภอชนแดน เพชรบูรณ์ 67150
ข้อมูล : เทพเจ้าแห่งความเมตตา หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ (พระครูวิชิตพัชราจารย์) วัดพระพุทธบาทชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ หลวงพ่อทบท่าน เกิดเมื่อปี พ.ศ.2424 ณ บ้านหัวลม ตำบลนายม เพชรบูรณ์ โยมบิดาชื่อเผือก โยมมารดาชื่ออินทร์ หลวงพ่อทบท่านบวชเณรตั้งแต่พ.ศ.2440 ที่วัดช้างเผือก และอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ.2445 ที่วัดเกาะแก้ว บ้านนายม เพชรบูรณ์ โดยมี พระครูเมืองเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ปานเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์สีเป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปนิสัยของหลวงพ่อทบ วัดชนแดนท่านเป็นพระที่มีเมตตา สุขุมเยือกเย็น พูดน้อย
หลวงพ่อทบท่านได้สร้างวัดและบูรณะวัดวาอารามไว้หลายวัดด้วยกันในแถบ เพชรบูรณ์ หลวงพ่อทบท่านออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ มากมาย หลังจากนั้นท่านก็มาจำพรรษาอยู่ที่วัดศิลาโมง วัดเสาธงทองเจริญธรรมวัดเกาะแก้ว วัดสว่างอรุณ วัดพระพุทธบาทเขาน้อย และวัดช้างเผือก เป็นต้น และทุกวัดที่หลวงพ่อทบท่านจำพรรษาอยู่ท่านจะบูรณปฏิ สังขรณ์ จนวัดมีความเจริญรุ่งเรืองทุกวัด หลวงพ่อทบท่านมรณภาพในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2519ปัจจุบันสังขารของหลวงพ่อทบยังเก็บรักษาไว้ในโลงแก้วภายในมณฑปตามเจตนาของ ท่าน มีประชาชนมามนัสการเป็นประจำมิได้ขาด หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ (พระครูวิชิตพัชราจารย์) วัดพระพุทธบาทชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ นับเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีพลังจิตแก่กล้าเหนือธรรมชาติ อีกท่านหนึ่งที่เชื่อกันว่าท่านได้บรรลุธรรมชั้นสูง จนสำเร็จเป็น พระอรหันต์ อีกรูปหนึ่งที่มีผู้ให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสอย่างกว้างขวาง เมื่อท่านมรณภาพแล้ว สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อยแต่ประการใด จนถึงทุกวันนี้
พระครูวิชิตพัชราจารย์ หรือ หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2424 ที่บ้านยางหัวลม (ปัจจุบัน คือ ต.วังชมภู) ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ บิดาชื่อ นายเผือก มารดาชื่อ นางอินทร์ เมื่ออายุ 16 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดช้างเผือก บ้านยางหัวลม โดยมี พระอาจารย์สี เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาร่ำเรียนหนังสือขอมและไสยเวทวิทยาคมกับพระอาจารย์สีจนแตกฉาน พออายุครบ 21 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเกาะแก้ว ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยมี พระครูเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ปาน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์สี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา ‘ธัมมปัญโญ’
หลังจากอุปสมบท หลวงพ่อทบกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดช้างเผือก และศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจากพระอาจารย์สี พระอาจารย์ปาน และหลวงทศบรรณ ซึ่งเป็นฆราวาสผู้มีอาคมแก่กล้าในขณะนั้น และศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจากพระครูเมือง จนเป็นที่เลื่องลือว่า ‘ท่านสามารถนั่งวิปัสสนาได้หลายวันโดยไม่ฉันอาหารเลย’ เมื่อศึกษากับพระอาจารย์จนครบถ้วน จึงกราบลาออกธุดงควัตรเพื่อบำเพ็ญศีลและเจริญภาวนาพร้อมแสวงหาวิชาความรู้ในที่ต่างๆ จนถึงนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว กระทั่งเห็นว่าสมควรแก่เวลาที่จะกลับสู่มาตุภูมิ เพื่อประกอบศาสนกิจและสร้างความเจริญรุ่งเรืองต่อพระบวรพุทธศาสนา จึงมุ่งหน้าเข้าประเทศไทยทาง จ.ตราด สู่ วัดศิลาโมง ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
จากนั้นทำการบูรณะวัดครั้งใหญ่ สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดบ่อน้ำ ประการสำคัญคือ ได้สร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ และใช้ประกอบศาสนกิจต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน ระหว่างนั้นท่านยังได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากพระเกจิดังอีกหลายรูป อาทิ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และ หลวงพ่อเง่า อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีภูมิ รับถ่ายทอดพระเวทวิทยาคมต่างๆ ทั้ง เมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุด มหาอำนาจ ฯลฯ ซึ่งท่านก็ได้ใช้วิชาเหล่านั้นสงเคราะห์ญาติโยมมาตลอดชีวิตของท่าน
ท่านเป็นพระเกจิผู้ที่มีเมตตาธรรมสูงส่ง มีความสุขุมเยือกเย็น ปรานีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย พูดน้อย และพระนักพัฒนาเพื่อสืบสานพระบวรพุทธศาสนาโดยแท้ ได้ทำการก่อสร้างและบูรณะวัดวาอารามตามสถานที่ต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำในการก่อสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จเรียบร้อยถึง 16 หลัง ทั้งยังได้วางศิลาฤกษ์หลังที่ 17 ไว้แล้วที่วัดช้างเผือก แต่มรณภาพเสียก่อน
สมณศักดิ์สุดท้าย ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะอำเภอชนแดน และได้รับการสถาปนาจากกรมการศาสนาเป็น พระครูวิชิตพัชราจารย์ ก่อนกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทเขาน้อย อำเภอชนแดน และกลับมาที่วัดช้างเผือก ตามที่พระอาจารย์สีได้กล่าวฝากไว้ในอดีตว่า “หากจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว ก็ให้กลับมาพัฒนาวัดช้างเผือก อย่าปล่อยให้ร้างนะ”
สังขารหลวงพ่อทบ บรรจุในโลงแก้ว
หลวงพ่อทบมรณภาพเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2519 รวมสิริอายุ 95 ปี 74 พรรษา บรรดาศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ ได้นำสังขารของท่านบรรจุไว้ในโลงแก้วเพื่อสักการบูชาและรำลึกถึงตลอดไป
เหรียญหลวงพ่อทบ รุ่น ทูลเกล้าฯ รูปหล่อโบราณ
วัตถุมงคลที่หลวงพ่อทบสร้างนั้น เรียกได้ว่า ‘ดังและมากด้วยประสบการณ์ทุกรุ่นทุกแบบ’ แต่ที่เรียกเสียงฮือฮา คือ ‘เหรียญหลวงพ่อทบ รุ่น ทูลเกล้าฯ’ ที่ออกที่วัดโพธิ์ทอง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ในงานฉลองอายุครบ 95 ปี ของหลวงพ่อ ซึ่งไปมีชื่อข้องเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับ เมื่อ ปี พ.ศ.2536 ไม่ใช่ฮือฮากรณีฆ่าลูกฆ่าเมียอย่างเดียว แต่กลายเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ของเหรียญด้วย เลยสรุปไม่ได้ว่าอย่างไหนจะดังกว่ากัน เรื่องมีอยู่ว่า …
“นายนิคม บ้านอยู่ ต.วังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ได้เดินทางไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพของนางทองใบ ที่บ้านนางวันเพ็ญลูกของนางทองใบ หลังเสร็จพิธีสวดอภิธรรมศพ แขกก็ทยอยกันกลับ นายเกียรติก้อง ลูกชายคนโตของนางวันเพ็ญที่มาร่วมพิธีศพยายได้ลามารดากลับบ้าน แต่สตาร์ทเครื่องรถจักรยานยนต์เท่าไหร่ก็ไม่ติด ตรวจดูปรากฏว่าหัวเทียนถูกถอดออก ทันใดนั้นเอง นายไมตรีผู้เป็นพ่อแท้ๆ ของนายเกียรติก้อง ได้เดินเข้ามากระหน่ำยิงลูกของตนจนนอนจมกองเลือดตายคาที่ แล้วจะยิงซ้ำอีก นางวันเพ็ญผู้เป็นแม่และนายฉัตรชัยผู้เป็นลุงพากันเข้าห้ามและแย่งปืน จึงถูกนายไมตรียิงเข้าใส่จนกระสุนหมดโม่ นางวันเพ็ญถูกยิงเข้าที่หน้าอกและท้อง 3 นัด ขาดใจตาย ส่วนนายฉัตรชัยถูกยิงที่ไหล่ขวาทะลุ 1 นัด กระเสือกกระสนวิ่งหนี
นายไมตรียังไม่หยุดความบ้าคลั่งบรรจุกระสุนใหม่ ขณะนั้นเองนายนิคมผู้เป็นลุงของผู้ตาย จึงตัดสินใจวิ่งเข้าแย่งปืน เลยโดนยิงสวนเข้าใส่ 1 นัด กระสุนถูกขาขวาล้มลง นายไมตรีเข้าไปจ่อยิงซ้ำอีกหลายนัด แต่กระสุนด้านยิงไม่ออก จึงวิ่งขึ้นไปบนบ้านตัดสินใจยิงตัวตายมันสมองกระจาย ขาดใจตายคาที่เช่นกัน
เมื่อเหตุการณ์สงบ ญาติๆ ก็พาตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล นายนิคมซึ่งถูกยิงที่ขาขวานั้น เมื่อดูบาดแผลแล้วปรากฏว่ามีแค่รอยเขียวช้ำ สร้างความประหลาดใจแก่ผู้อยู่ในเหตุการณ์เป็นอย่างมาก ชาวบ้านพากันถามว่า ลุงมีของดีอะไร ท่านก็ตอบปฏิเสธ จนเมื่อสำรวจดูจึงนึกขึ้นได้ว่ามี ‘เหรียญ รุ่น ทูลเกล้าฯ ของหลวงพ่อทบ’ ใส่อยู่ในกระเป๋าเสื้อเพียงเหรียญเดียว ลุงนิคมเองถึงกับขนลุกซู่ไปทั้งตัว พร้อมกับนำเหรียญหลวงพ่อทบขึ้นมาพนมมือไว้ …”
สรุปเรื่องราวแล้ว คดีนี้เป็น ‘คดีมรดกเลือด’ ที่ยายมอบมรดกให้หลานทั้งหมด แต่ตัวนายไมตรีผู้พ่อติดการพนันมีหนี้สินมากมาย จึงเกิดความบ้าคลั่งก่อเหตุสะเทือนขวัญดังกล่าว ก็เป็นคติเตือนใจได้ว่า ‘การพนันไม่เคยทำให้ใครได้ดี มีแต่ความหายนะ’ เหตุการณ์แบบนี้มีกันอยู่ทุกวี่วัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่กับ เหรียญ รุ่น ทูลเกล้าฯ ของหลวงพ่อทบ ยังคงอยู่ในความทรงจำของทุกคนไม่รู้ลืม กลายเป็นเหรียญยอดนิยมที่เป็นที่แสวงหามาถึงปัจจุบันครับผม
โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์ แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook