LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
ข่าวเด่นเพชรบูรณ์

สกู๊ปหน้า 1: ทวารวดีอยู่ที่ไหน? เจาะข้อเสนอใหม่ “ศรีเทพ”

สกู๊ปหน้า 1: ทวารวดีอยู่ที่ไหน? เจาะข้อเสนอใหม่ “ศรีเทพ”

นับเป็นประเด็นที่ต้องหยิบปากกาไฮไลต์มาขีดเส้นใต้หลายๆ รอบ เพราะถือเป็นข้อเสนอใหม่สั่นสะเทือนวงการประวัติศาสตร์โบราณคดี เมื่อ ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ รั้วธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมเสนอแนวคิด จารึกพ่อขุนรามคำแหง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อราว พ.ศ.2530 หรือกว่า 30 ปีก่อน ประกาศข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับ “ทวารวดี” ว่าตั้งอยู่ที่เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่ใช่เมืองนครปฐมโบราณหรือเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ตามที่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อกันในปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังยกให้เป็น “ราชธานีแห่งแรก” ของสยาม โดยหยิบยกหลักฐานการพบเทวรูป “พระกฤษณะ” ผู้สร้างเมืองทวารกาอันเป็นที่มาของชื่อ “ทวารวดี” เพียงแห่งเดียวในไทย ถึง 3 องค์ อีกทั้งประติมากรรมพระวิษณุ 2 องค์ซึ่งบ่งชี้ถึงการยอมรับนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เนื่องจาก ศ.ดร.พิริยะเชื่อว่าทวารวดีนับถือศาสนาดังกล่าวเป็นหลัก แต่นครปฐมโบราณ รวมถึงอู่ทอง นับถือพุทธ จึงควรตีตกไป

ไม่เพียงเท่านั้น ยังยกหลักฐานจากศิลาจารึกภาษาสันสกฤต 2 หลัก พบที่เมืองศรีเทพ มีข้อความเกี่ยวข้องพระกฤษณะในชื่อ “ฤษีวยาสะ” เมื่อมีกำเนิดได้นามว่า “กฤษณไทวปายน” นอกจากนี้ หลักฐานที่พบใหม่เมื่อ พ.ศ.2562 คือ จารึกวัดพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตปรากฏข้อความในบรรทัดที่ 5 ซึ่งอ่าน-แปลได้ว่า “ทวารวดีที่ยิ่งใหญ่ เจริญรุ่งเรืองเหมือนเมืองพระวิษณุ”

และที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น นักวิชาการท่านนี้ ยังเชื่อมโยงประเด็นชื่อทวารวดีที่สอดคล้องกับนามเดิมเมื่อแรกสร้างของกรุงศรีอยุธยา ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

“เมืองศรีเทพ ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำป่าสัก ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อายุราว 1,400 ปีมาแล้ว จารึกเมืองศรีเทพ ให้ข้อมูลว่าลัทธิไวษณพเจริญรุ่งเรืองที่ทวารวดี จารึกวัดพระงาม นครปฐม ก็ให้ข้อมูลว่า ทวารวดี เป็นเมืองในลัทธิไวษณพ ศรีเทพตั้งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำป่าสัก สอดคล้องกับนามของกรุงศรีอยุธยาว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยามากกว่าอู่ทองและนครปฐมในลุ่มแม่น้ำท่าจีน หรือคูบัวในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จะเอาทวารวดีไปไว้ในลุ่มน้ำอื่นคงไม่ได้ เพราะเกี่ยวดองกับกรุงศรีอยุธยา” ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะกล่าวในตอนหนึ่งของการนำเสนอประเด็นดังกล่าวในงานบรรยายประจำปี 2564 มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ณ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา

แน่นอนว่า ข้อเสนอใหม่นี้ มีทั้งผู้เห็นด้วย และยังลังเลใจ
สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มองว่า นี่คือเรื่องใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ หักล้างชุดความรู้เกี่ยวกับทวารวดีต่อสังคมไทยเมื่อราวศตวรรษที่แล้ว ว่าทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่เมืองนครปฐมโบราณ และนับถือพุทธ เถรวาทเป็นหลัก

“ชุดความรู้เกี่ยวกับทวารวดีมีขึ้นจากนักปราชญ์สมัยก่อนที่พบข้อมูลทางโบราณคดีอย่างจำกัด และเทคโนโลยีไม่ทันสมัยของโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว แต่น่าประหลาดเมื่อราว 50 ปีมาแล้ว นักค้นคว้านักวิชาการพบข้อมูลชุดใหม่ต่างจากแต่ก่อน แล้วเสนอความเห็นว่าทวารวดีอยู่ทางฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเมืองละโว้ (ลพบุรี) ที่มีพัฒนาการต่อเนื่องเป็นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีนามทางการยืนยันว่ามีต้นตอจากทวารวดี แต่แล้วถูกรัฐราชการรวมศูนย์ไม่ไยดี มหาวิทยาลัยยังเยาะเย้ย ไม่กระตุ้นให้มีการถกเถียงและค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม” สุจิตต์กล่าว

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นอีก 1 เสียง ที่มีความเห็นสอดคล้องกับศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ โดยมองว่าหลักฐานต่างๆ บ่งชี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความในจารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี อักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร พูดถึงเทวรูปกมรเตงอัญ วาสุเทวะ ซึ่งเป็นบิดาพระกฤษณะ และบางครั้งได้รับการนับถือในฐานะอวตารหนึ่งของพระวิษณุด้วย เพราะฉะนั้นการกล่าวถึงเทวรูปดังกล่าว รวมถึงการพบประติมากรรมพระวิษณุ สะท้อนว่าที่ลพบุรีบูชาพระวิษณุเป็นสำคัญ ไม่ใช่ศิวลึงค์ จึงยิ่งชัดเจนถึงความเป็นเมืองทวารกา หรือทวารวดีของพระกฤษณะในลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของศรีเทพ-ละโว้ เพราะฉะนั้น ทวารวดี อยู่ที่ลุ่มน้ำป่าสัก ไม่ใช่ลุ่มน้ำอื่น และไม่ใช่นครปฐม

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะทวารวดี อย่าง รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร แตะเบรกเบาๆ ว่า ไม่ควรโฟกัสที่ “ศาสนา” โดยมองว่าการใช้ชื่อที่อิงแอบกับปกรณัมเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ไม่ได้การันตีว่าศาสนสถานหรือศาสนวัตถุของเมืองนั้น จำเป็นต้องเป็นพราหมณ์ตามไปด้วย

“ถ้ายุคนั้นเรียกชื่อบ้านเมืองตัวเองว่าทวารวดี จำเป็นหรือ ที่ขนบประเพณีความเชื่อต้องเป็นพราหมณ์ ต้องบูชาพระกฤษณะเสมอไป ในสังคมที่มีความเชื่ออันหลากหลายผสมผสาน การที่มีชื่อเมืองทวารวดี ที่เป็นชื่อเมืองพระกฤษณะ ไม่ได้หมายความว่าศาสนวัตถุจะเป็นพุทธไม่ได้” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

นอกจากนี้ ยังคอมเมนต์ว่า แม้มีข้อมูลเพิ่มว่า เมืองอื่นมีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ได้ไปลดความเป็นไปได้ของนครปฐม

“นครปฐมมีเหตุผลที่ค่อนข้างรองรับได้ คือการอยู่ภายใต้ข้อสมมุติฐานที่ว่า การที่จะเป็นราชธานี เมืองต้องมีขนาดใหญ่ใช่หรือไม่ ถ้าคิดว่าเมืองหลวงของรัฐจารีตโบราณต้องมีขนาดใหญ่ นครปฐมก็เข้าข่าย รวมถึงโบราณสถานโบราณวัตถุ มีปริมาณหนาแน่น ทั้งขนาดเมืองและปริมาณโบราณวัตถุ ปฏิเสธไม่ได้ว่านครปฐมมีความสำคัญจริงๆ นอกจากนี้ ถ้าพล็อตจุดการพบจารึกทั้งหลายที่เอ่ยนาม ทวารวดี ทั้งเหรียญเงิน ซึ่งแม้ถูกเคลื่อนย้ายได้ แต่ก็พบที่นครปฐมด้วยเหมือนกัน รวมถึงล่าสุด พบจารึกวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม ที่มีคำว่าทวารวดี เหรียญเงินมีข้อความ ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ ก็พบที่นครปฐม แม้พบที่เมืองอื่นด้วย แต่ข้อมูลปัจจุบันยังไม่มีอะไรมาโต้แย้งถึงขนาดที่จะทำให้ความคิดที่ว่านครปฐมเป็นศูนย์กลางต้องพับกระดานไป” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

จากมุมมองนักวิชาการ หันไปถามความเห็นของคนท้องถิ่นตัวจริงอย่าง วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มองว่า ยังต้องศึกษาต่อไปอีก เพราะนักวิชาการมีความเห็นที่แตกต่างออกไป

ถามว่าชาวศรีเทพ เพชรบูรณ์ พูดคุยในประเด็นนี้หรือไม่ คำตอบคือ เป็นที่รับทราบ และได้รับความสนใจ แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องราวลึกซึ้งสลับซับซ้อน จึงค่อนข้างยากสำหรับการถกเถียง แต่ก็ดีใจที่มีคนหันมาสนใจเมืองศรีเทพที่ถูกหลงลืมมานาน ทั้งๆ ที่เป็นเมืองใหญ่โตและสำคัญ

“ประเด็นของอาจารย์พิริยะทำให้คนหันมามองศรีเทพมากขึ้น แล้วเราคงจะได้เห็นหลักฐานต่างๆ มากขึ้น อนาคตคงจะได้ขยายความรู้ออกไปอีก” วิศัลย์กล่าว

 

https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_3117962’>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ข่าวเด่นเพชรบูรณ์ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด