“นครบาลเพชรบูรณ์”
เมืองหลวงประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๗ ???
เมื่อเห็นป้ายหรือสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ทั่วไปในเมืองเพชรบูรณ์ที่มีข้อความว่า “นครบาลเพชรบูรณ์” หรือ ”ขอต้อนรับสู่นครบาลเพชรบูรณ์” ผู้คนที่ไม่ใช่คนพื้นที่ในเพชรบูรณ์เช่น นักท่องเที่ยว หรือข้าราชการ คนทำงานที่เพิ่งย้ายมาอยู่เพชรบูรณ์ใหม่ ๆ มักจะสงสัยว่า นครบาลเพชรบูรณ์คืออะไร ? บ้างก็สับสนไปกับการเป็นเทศบาลนคร ? บ้างก็ถามว่า คำว่านครบาลจะใช้กับกรุงเทพฯเท่านั้นไม่ใช่หรือ ? ต่างจังหวัดแบบเพชรบูรณ์นี้น่าจะใช้คำว่าภูธรมากกว่ามิใช่หรือ ?
คำถามต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของเพชรบูรณ์ ได้ถูกละเลยและได้ถูกมองผ่านไป เสมือนหนึ่งจงใจที่จะไม่บันทึกไว้ให้เป็นที่จดจำ และไม่ให้คนรุ่นหลังได้ร่ำเรียนกันในตำราประวัติศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าจดจำ นำมาถอดบทเรียนจากอดีต และเพื่อคนเพชรบูรณ์จะได้เรียนรู้ในรากเหง้าของตัวเองและเพื่อความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของบ้านเมืองตนที่ไม่มีที่ไหนเหมือน
“นครบาลเพชรบูรณ์” เป็นชื่อของเพชรบูรณ์ที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2486-2487) ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งเพชรบูรณ์ให้เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า “เพชรบูรณ์มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เพราะมีชัยภูมิเหมาะสม มีภูเขาล้อมรอบ มีเส้นทางคมนาคมเข้าออกเพียงทางเดียว มีภูมิประเทศสวยงาม อากาศดี อยู่ตรงกลางของประเทศ เป็นศูนย์กลางภาคเหนือกับภาคอีสาน และกรุงเทพฯ … “
การดำเนินการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์นั้น นอกจากจะมีหลักฐานเอกสารตามพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ. 2487 แล้วยังมีหลักฐานเอกสารที่เป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้บัญชาการโดยออกคำสั่งครั้งแรกในวันที่ 13 มีนาคม 2486
ในการสร้างเมืองหลวงใหม่ รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนพลเมืองในเพชรบูรณ์ให้มากขึ้นโดยเร็ว รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้เกณฑ์แรงงานราษฎรมาจาก 29 จังหวัด จำนวนนับแสนคน จนเกิดคำเรียกคนเหล่านั้นว่า “คนเกณฑ์” ขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ลูกหลานคนเกณฑ์ก็ได้ลงหลักปักฐานกลายเป็นคนเพชรบูรณ์มานานแล้ว นอกจากนั้น รัฐบาลยังใช้วิธีชักชวนประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ ให้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เพชรบูรณ์อย่างมากมาย โดยใช้วิธีให้ที่ทำกินที่เพชรบูรณ์ ช่วยเหลือปลูกบ้านพักอาศัย ทั้งนี้เพื่ออาศัยแรงงานดังกล่าวให้ทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารและอาศัยแรงงานสำหรับการก่อสร้าง เพชรบูรณ์ในช่วงเวลานั้นจึงมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว
ได้มีการย้ายที่ทำการรัฐบาล กระทรวง กรมและสถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ รวมทั้งหน่วยทหารหลายแห่ง เช่น โรงเรียนนายร้อยป่าแดง กรมแผนที่ทหาร กรมยุทธโยธา ฯลฯ มาตั้งที่เพชรบูรณ์ โดยวางผังให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้อยู่กระจายตัวกันไปตั้งแต่อำเภอหล่มเก่าจนถึงวิเชียรบุรี โดยมิให้กระจุกตัวกันอยู่ในเมืองเหมือนกรุงเทพฯ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ที่ทำการราชการต่าง ๆ เหล่านั้นจะสร้างเป็นลักษณะอาคารชั่วคราว ปัจจุบันนี้จึงได้ผุพังไปหมดแล้ว คงเหลือแต่หลักเมืองนครบาลฯ ที่บ้านบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก ที่ได้มีพิธีตั้งขึ้นให้เป็นเสาหลักเมืองหลวงในวันที่ 23 เมษายน 2487 เท่านั้น
และที่ตำบลบุ่งน้ำเต้านี้เอง กระทรวงการคลังได้เลือกใช้ถ้ำฤๅษีเป็นที่ทำการ และได้ขนย้ายพระคลังสมบัติ ทรัพย์สินของชาติ ทรัพย์สินในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ทองคำสำรอง และปรากฏหลักฐานว่ามีการอัญเชิญพระแก้วมรกต มาเก็บรักษาไว้ ณ ที่นี้ด้วย นอกจากนั้นยังได้มีการจัดวางผังให้มีสำนักพระราชวัง สนามหลวง ในบริเวณดังกล่าวให้เหมือนกรุงเทพฯ อีกด้วย
อานิสงส์ที่เพชรบูรณ์ได้รับจากการจัดตั้งเป็นเมืองหลวงครั้งนี้ คือ การวางผังเมืองในเขตชุมชนต่างๆ เช่น เมืองเพชรบูรณ์ หล่มสัก หล่มเก่าและวังชมภู ได้มีการสร้างทางหลวงขึ้นอย่างมากมาย เช่น ถนนสามัคคีชัย ถนนชัยวิบูล ถนนบุรกรรมโกวิท ถนนชมฐีระเวช ถนนประถมคชเสนีย์ ถนนรัฐวัฒนา ฯลฯ ซึ่งยังคงเป็นเส้นทางสำคัญมาจนทุกวันนี้ นอกจากนั้น ยังส่งผลให้วิถีชีวิตของคนเพชรบูรณ์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เช่น มีวัฒนธรรมการรำโทน มีโรงหนังไทยเพ็ชรบูล มีสโมสรรัตนโกสินทร์ มีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “เพชรบูลชัย” มีไฟฟ้าใช้มากขึ้น มีโทรศัพท์ใช้ ฯลฯ ทางด้านเศรษฐกิจก็ส่งผลให้มีการทำมาค้าขายกับหน่วยราชการและหน่วยทหารที่มาตั้งใหม่ ทำให้เงินสะพัดมากขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้คนเพชรบูรณ์ค้าขายเป็นและมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งจากการพูดคุยกับบรรดาผู้ที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยนั้น เมื่อเวลาจะรำลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในยุคนั้น ต่างก็จะใช้ถ้อยคำว่า “ เมื่อสมัยจอมพล ป. มาตั้งเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงนั้น ……… “
ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เสนอพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ. 2487 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ มีผลดำเนินการอย่างถาวรตลอดไป แต่ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลว่า “เพชรบูรณ์เป็นแดนกันดาร ภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ชุกชุม เมื่อเริ่มสร้างเมืองนั้นผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานล้มตายลงนับเป็นพัน ๆ คน…….”
บทความนี้ ไม่ได้ต้องการแสดงถึงความเสียดายที่เพชรบูรณ์ไม่ได้เป็นเมืองหลวง และไม่ได้ต้องการเรียกร้องที่อยากจะเป็นเมืองหลวง หากแต่เป็นเพียงต้องการกระตุ้น ย้ำเตือนให้คนเพชรบูรณ์ได้เรียนรู้และภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของเพชรบูรณ์
ดั่งปรัชญาการพัฒนาสังคมที่ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น จะต้องเป็นการพัฒนาต่อยอดจากรากเหง้าหรือตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ฉะนั้น ใครจะไม่รู้จัก ไม่ภาคภูมิใจในคำว่า นครบาลเพชรบูรณ์ …ก็ไม่เป็นไร ตำราประวัติศาสตร์จะไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ …. ก็ไม่เป็นไร แต่คนเพชรบูรณ์ทุกคนควรจะเข้าใจ ควรจะรู้จัก ควรจะรักและซาบซึ้งใน นครบาลเพชรบูรณ์ เพราะนั้นคือตัวตนที่เป็นประวัติศาสตร์เฉพาะของเรา
ดร. วิศัลย์ โฆษิตานนท์
wison_k@hotmail.com
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มาตรวจราชการที่นครบาลเพชรบูรณ์
พิธียกเสาหลักเมืองหลวง นครบาลเพชรบูรณ์ ที่บุ่งน้ำเต้า
สภาพบ้านเมืองเพชรบูรณ์สมัย นครบาล ฯ
หนังสือพิมพ์ เพชรบูลชัย .. พิมพ์จำหน่ายในนครบาลเพชรบูรณ์
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook