ไร่ยาสูบ
โลกมีหลายด้านและหลายมิติให้คนมอง “ยาสูบ” หรือ “ใบยา” เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผลผลิต ทีี่ต้องใช้มุมมองที่หลากหลาย ไม่ด่วนสรุป
ภาพด้านหนึ่งของยาสูบคือ อบายมุข
แต่อีกด้าน ยาสูบคือพืชเศรษฐกิจ ที่เป็นผลผลิตทางด้านความมั่นคงของประเทศ เป็นพืชควบคุมที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ยาสูบ
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ (อยส.) “ต่อศักดิ์ โชติมงคล” พาสื่อมวลชนกลุ่มเล็กๆไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเยี่ยมชมไร่ยาสูบที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นอีกทริปหนึ่งที่ได้ทั้งสาระ ประสบการณ์ แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ ได้การมองโลกอย่างลุ่มลึก และไม่ตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงด้านเดียว
ทางหลวงหมายเลข 21 นำเรามุ่งหน้าสู่เพชรบูรณ์ จังหวัดที่มีการปลูกยาสูบมานานเป็นร้อยปี เหตุที่เชื่ออย่างนั้น ก็เพราะว่า แม้แต่ตราประจำจังหวัด ก็ยังมีรูปไร่ยาสูบอยู่ด้านล่างของภูเขาที่มียอดเป็นเพชรอยู่ด้านบน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “เพชรบูรณ์” อันหมายถึงจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเพชร
เรื่องตราประจำจังหวัดเพชรบูรณ์นี้ ว่ากันว่า มีมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีแนวคิดว่าในประเทศไทยแต่ละจังหวัดน่าจะมีตราเป็นของตัวเองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ แล้วมอบให้กรมศิลปากรขณะนั้นเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งการออกแบบสมัย 70-80 ปีที่แล้วไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีกราฟฟิก ไม่มีโฟโต้ช็อป ใช้ลายเส้นลายมือวาดสะท้อนความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดนั้นๆ
ใบยา..ต่อชีวิต
Route 12
นอกจาก เขาค้อทะเลหมอก ทุ่งแสลง-หลวง ภูทับเบิก แล้ว “ไร่ใบยา” สีเขียวอร่ามสุดลูกหูลูกตาก็เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่น่าเข้าไปค้นหามากกว่าการท่องเที่ยวธรรมดาๆ
ใบยาที่ปลูกที่นี่เป็นใบยาพันธุ์เบอร์เลย์ ถือเป็นใบยาคุณภาพดี มีมาตรฐานระดับโลก ใบยาประเภทนี้ต้องใช้การบ่มอากาศ ที่เรียกว่า Air-Cured Tobacco เมื่อบ่มแล้วจะกลายเป็นยาสูบที่นำไปใช้เป็นส่วนผสมรองในการทำบุหรี่รสอเมริกัน ขณะที่ยาสูบอย่างเวอร์ยิเนีย จะเป็นส่วนผสมหลักของบุหรี่รสอังกฤษและรสอเมริกันด้วย
เรื่องราวเริ่มสนุก เมื่อเรานั่งรถขนใบยาเข้าไปในไร่ยาสูบ ระหว่างทาง อยส. “ต่อศักดิ์” เล่าถึงประวัติความเป็นมาของการปลูกยาสูบและการก่อตั้งโรงงานยาสูบให้ฟังอย่างออกรส
เริ่มจากที่โรงงานยาสูบเข้าไปซื้อกิจการของบริษัท British America Tobacco (BAT) ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยราวปี 2475 โดย เข้ามาส่งเสริมให้คนปลูกใบยาสูบแทนปลูกฝิ่น สมัยนั้นสงครามฝิ่นเป็นเรื่องใหญ่และเป็นชนวนเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐบาลไทยขณะนั้นต้องรักษาสมดุลของระบบใบยา จึงตัดสินใจเข้าควบคุมซื้อกิจการมาจาก BAT ด้วยการตั้งโรงงานยาสูบที่ทำหน้าที่ทั้งส่งเสริมให้การสนับสนุนปลูกใบยาและผลิตบุหรี่ด้วย
ส่วนที่บอกว่า “ใบยา” เป็นพืชเกี่ยวกับความมั่นคงก็เพราะในปี พ.ศ. 2516 มีปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ ทางฝ่ายความมั่นคง หรือทหารได้หาพืชเข้าไปทดแทนให้ชาวไร่ภาคอีสานปลูก ให้ชาวไร่ทำมาหากินได้ ก็ให้โรงงานยาสูบเข้าไปสนับสนุน ทางโรงงานยาสูบเลือกดูว่าพืชพันธุ์ไหนเหมาะสม สุดท้ายพบพันธุ์ยากลิ่นหอมหรือเตอร์กิช ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ไม่ต้องการน้ำมากอย่างภาคอีสานที่เป็นดินปนทราย ก็เริ่ม พัฒนาการปลูกจนกระทั่งวันนี้มีชาวไร่จำนวนมากที่เปลี่ยนใจกลับมาร่วมพัฒนาประเทศไทยโดยใช้โรงงานยาสูบเป็นฐาน
ณรงศ์ศักดิ์ และ หนูจันทร์ คำสูง เจ้าของไร่ใบยา 6 ไร่ ใน อ.หล่มสัก เล่าให้ฟังว่า การปลูก ใบยาสูบไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของโรงงานยาสูบด้วย ปลูกเกินกว่าที่โรงงานยาสูบให้ปลูกไม่ได้ ขณะที่การดูแล หรือเรียกให้ถูกก็ต้องบอกว่าประคบประหงมใบยาก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะใบยาสูบเป็นพืชที่ต้องการน้ำฝนและความชุ่มชื้นในอากาศ การปลูกใบยาต้องปลูกในช่วงกลางฤดูฝนถึงปลายฤดูฝน จึงจะได้ใบยาที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด
ชาวไร่จะปลูกใบยาสูบในนาหลังจาก เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ความต้องการน้ำของต้นยาสูบในระยะเดือนแรกมีน้อยมาก แต่หลังจากปลูกแล้ว 30-40 วัน ต้องรดน้ำทุก 7 วัน ก่อนเก็บใบยาแรก 1 เดือน และเก็บใบยาสดเมื่อต้นยาสูบอายุประมาณ 100-120 วัน เสร็จสิ้นการเก็บใบยาประมาณเดือนมกราคม หรือประมาณ 2 เดือน หลังจากเริ่มเก็บใบยาสดครั้งแรก การเก็บใบยาสดแต่ละครั้งจะต้องรอให้ใบยาสุกจริงๆ เพื่อให้ได้ใบยาแห้งที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ ต้องเริ่มเก็บใบยาส่วนล่างก่อน คือ เก็บจากล่างขึ้นบน ครั้งละ 3-4 ใบ ใบยาแต่ละส่วนจะมีประมาณ 7-10 ใบ ต้นหนึ่งจะเก็บประมาณ 20-22 ใบ หลัง จากมีใบครบจะเด็ดดอกส่วนยอดออกเพื่อควบคุมไม่ให้มีใบมากเกินไป
“เราเรียกว่า ตอนยอด ซึ่งปกติถ้าต้นไม้มีดอก ต้นจะเลี้ยงดอกมากกว่าใบ การเด็ดดอกออกเพื่อให้ลำต้นเลี้ยงใบแทน ใบจะได้รับสารอาหารเต็มที่ทำให้ใบยาสูบมีคุณภาพที่ดี” หนูจันทร์บอกพร้อมกับเล่าว่า ได้เงินจากการปลูกยาสูบ 6 ไร่ ประมาณแสนกว่าบาทต่อปี หักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือประมาณ 60,000 บาท ส่วนการปลูกข้าวได้รายได้ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 40,000 บาท แต่รายได้จากการปลูกข้าวไม่ค่อยแน่นอน ต่างจากการปลูกใบยาที่มีการประกันราคาแน่นอนทุกปี ทำให้ส่งลูกเรียนหนังสือได้ คนโตกำลังจะจบ ปวส.แล้ว
โรงบ่ม..ชาวบ้าน
เราออกจากไร่ยาสูบตอนบ่ายแก่ๆ ไม่ลืมที่จะแวะเวียนไปดูการคัด เสียบร้อยใบยาสด รวมถึงดูโรงบ่มใบยาของชาวบ้านที่ต้องบอกว่าแปลกตาดี กลิ่นใบยาหอม ฉุนเตะจมูก ทำให้นึกถึงกาแฟสดหอมกรุ่น เจ้า ภาพเลยชี้ชวนให้ขึ้นไปที่ Route 12 ร้านกาแฟกิ๊บเก๋สไตล์ที่พักริมทางแบบคันทรีๆของอเมริกา ริมทางหลวงหมายเลข 12 สายพิษณุโลก-หล่มสัก ที่ตกแต่งสไตล์เรทโทร ทั้งหัวจ่ายน้ำมันแบบโบราณ รถโรงเรียนสีเหลืองสด
school bus …ที่ Route 12
จักรยานสีขาว..
เติมน้ำมันโบราณ
นั่งจิบกาแฟไป ชื่นชมทิวทัศน์อันงดงามของธรรมชาติไปพลาง
เรื่องราวของใบยา ชาวไร่ รัฐ เอ็นจีโอ คนสูบ คนไม่สูบ อะไรคือความถูกต้อง สิทธิ และสิ่งที่ควรจะเป็นแง่มุมที่หลากหลายเหล่านี้น่าสนใจพอๆกับความรู้สึกที่คิดว่า หากคนเรามีชีวิตอยู่ด้วยลมหายใจ ใบยาสูบที่เพชรบูรณ์ ก็น่าจะเป็นลมหายใจในวิถีพอเพียงของผู้คนที่นี่
เป็นอีกด้านที่ไม่อาจมองข้ามไปได้.
ที่มา http://www.thairath.co.th/column/life/travelmylife/273883 ‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook