วัดศรีมงคล หรือ วัดกลาง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
วัดศรีมงคล ตำบลหล่มสัก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ชื่อวัดโดยทางราชการเรียกว่า “วัดศรีมงคล” ชาวบ้านเรียกว่า “วัดกลาง” เป็นวัดราษฎร์ อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ ตำบลหล่มสัก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาค 4 …… วันนี้เป็นโอกาสดีได้สนทนากับท่านเจ้าอาวาส พระครูอนุรักษ์พัชรกิจ หรือที่เรียกกันว่าพระมหาสงวน อุตฺตมปญฺโญ นามสกุลเก่าท่าน ช่างเหล็ก ความจริงบ้านเกิดของท่านจริงๆ เป็นชาวนครราชสีมา มาอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่สมัยเป็นพระหนุ่มเณรน้อย ท่านก็เลยมีข้อมูลบางส่วนให้ในการเผยแผ่ พูดถึงวัดนี้แล้วสมัยที่ผมเป็นสามเณรอยู่หล่มสัก 6 ปี (2530-2536) จะไปวัดศรีมงคลทุกปี เพราะวัดนี้จะมีงานนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองทุกปี 5-7 วันเชียวแหละ.. และที่ไปประจำคือ ห้องสมุดประชาชน หนังสือพิมพ์หาอ่านยากมาก เสาร์-อาทิตย์ จะมาอ่านที่นี่ประจำ…. วัดศรีมงคล ตั้งอยู่ที่ถนนพิทักษ์ ทิศเหนือ ติดต่อกับริมแม่น้ำป่าสัก ทิศใต้ ติดกับที่ดินราชพัสดุ ทิศตะวันออก ติดกับหมู่บ้าน ทิศตะวันตก ติดกับโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล บริเวณวัดส่วนมากมีต้นไม้ชนิดต่างๆ เช่น ต้นสัก ต้นโพธิ์อินเดีย ต้นมะขาม ต้นมะพร้าว ต้นหางนกยูง ต้นพิกุล ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นชงโค ต้นยูคาลิปตัส ต้นตะแบก ต้นสะเดา ปูชนียวัตถุ และถาวรวัตถุอื่นๆ ของวัด คือ รอยพระพุทธบาทจำลอง อุโบสถ ศาลาการเปรียญ ศาลา ช.วัฒนศัพท์ โรงเรียนปริยัติธรรมพิทักษ์ประชานฤมิตร มณฑป และที่ทำการเจ้าคณะอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ จุดเด่นของพระภิกษุสามเณรวัดศรีมงคง นับตั้งแต่ตั้งวัดมา มีภิกษุสามเณรจำพรรษามาตลอด การห่มผ้านั้นเดิมทีห่มคลุมบิดลูกบวบออก คือห่มแบบธรรมดาโดยทั่วไป ต่อมาในสมัยพระครูอนุรักษ์พัชรกิจ เจ้าคณะอำเภอหล่มสักขณะนั้น ได้เปลี่ยนแปลงการห่มผ้าใหม่ คือ พระภิกษุห่มบิดลูกบวบเข้าหรือที่เรียกว่า “มังกรพันแขน” และสามเณรห่มดองมีผ้ารัดอกและยังคงรักษาระเบียบการห่มผ้าอย่างเคร่งครัดมาจนทุกวันนี้ ประวัติความเป็นมาของวัดศรีมงคลโดยสังเขป วัดศรีมงคล เดิมชื่อว่าวัดกลาง เพราะสร้างอยู่ในใจกลางหล่มสัก ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อวัดจากวัดกลาง มาเป็นวัดศรีมงคล และเป็นสถานที่ใช้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในสมัยโบราณ มีประวัติเกี่ยวข้องกับทางประวัติศาสตร์ซึ่งจำเป็นต้องกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองพอสมควร เพื่อจะได้ทราบประวัติโดยสังเขป แต่ก่อนหล่มสักเดิมเขียนเป็นหล่มศักดิ์ ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อครั้งเสร็จสิ้นจากการปราบกบฏ มีเจ้าเมืองเวียงจันทน์เป็นหัวหน้า ในปี 2372 เมื่อ พ.ศ.2369 เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์อันเป็นประเทศราชของไทยนั้น ได้เกิดกบฏขึ้นต่อกรุงสยาม ทางกรุงสยามได้จัดกองทัพไปปราบกบฏเวียงจันทน์ จับตัวเจ้าอนุวงศ์ได้และได้จัดการปกครองหัวเมืองต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จึงมาตั้งเมืองหล่มสักในปัจจุบัน โดยพระสุริยวงศาฯ (คง) เป็นผู้สร้างเมืองหล่มสักและวัดศรีมงคลขึ้น พระสุริยวงศาฯ (คง) เดินทางมาจากกรุงเทพฯ มายังเมืองหล่ม (เข้าใจว่าทางเรือ) ได้พักแรมที่บ้านโพธิ์หรือบ้านท่ากกโพธิ์ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้เมืองหล่ม (หล่มเก่า) ลงมาเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมเป็นเมือง และอยู่ริมแม่นำ้แควป่าสัก (แต่ก่อนๆ มีน้ำมากเกือบตลอดทุกปี) เรือเดินทางได้ตลอดถึงกรุงเทพฯ เป็นที่ชอบใจเมื่อได้เป็นเจ้าเมืองแล้ว (จะเป็นเวลากี่่ปีหรือในปีต่อมาไม่ทราบแน่) จึงมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านโพธิ์หรือบ้านท่ากกโพธิ์ สร้างจวนเจ้าเมืองขึ้น ซึ่งอยู่ทางฝ่ายซ้ายของแม่น้ำแควป่าสัก (ที่เรียกว่าจวนเจ้าเมืองปัจจุบันนี้ เป็นที่ทำการเทศบาลและโรงสีกิจไพบูลย์) มีบริเวณกว้างขวางพอสมควรในสมัยนั้น จึงได้สร้างวัดไว้กลางเมือง ชื่อว่า“วัดกลาง” คือ “วัดศรีมงคล” ในปัจจุบันนี้ เดิมทีเมื่อแรกตั้ง ชาวพื้นเมืองชอบเรียกกันว่า หล่มเก่า หล่มใหม่ เมืองหล่มเดิม เรียกว่า หล่มเก่า ทางราชการฝ่ายปกครองให้ชื่อเป็น อำเภอวัดป่า (บ้านโพธิ์คือตำบลวัดป่า) ทั้งสองอำเภอนี้ต่อมารวมกับทางราชการใช้ชื่อว่า เมืองหล่มศักดิ์ และต่อมาตั้งเป็นจังหวัดหล่มสัก ปี พ.ศ.2473-2474 จึงยุบจังหวัดหล่มศักดิ์รวมเข้ากันกับจังหวัดเพชรบูรณ์ และใช้มาตลอดจนทุกวันนี้ ตั้งแต่สร้างวัดกลาง หรือวัดศรีมงคลเป็นต้นมา มีเจ้าอาวาสทั้งหมด 17 รูป ดังมีรายนามดังต่อไปนี้ 1. พระอาจารย์หำ อติภทฺโท พ.ศ. 2354 – 2358 2. พระอาจารย์ก้อน กนฺตสาโร พ.ศ. 2358 – 2367 3. พระอาจารย์คูณ ญาณฺวีโร พ.ศ. 2367 – 2380 4. พระอาจารย์รินทร์ สิริปญฺโญ พ.ศ. 2380 – 2394 5. พระอาจารย์เที่ยง จนฺสาโร พ.ศ. 2394 – 2412 6. พระอาจารย์สี ปภสฺสโร พ.ศ. 2412 – 2420 7. พระอาจารย์โสภา โชติปญฺโญ พ.ศ. 2420 – 2429 8. หลวงพ่อกอง ฐานธมฺโม พ.ศ. 2430 – 2442 9. พระอาจารย์หำ สุภาจาโร พ.ศ. 2442 – 2464 10. พระอาจารย์กัน กนฺตสีโล พ.ศ. 2464 – 2478 11. พระอาจารย์หนู ปสนฺโน พ.ศ. 2478 -2480 12. พระมหาเสี่ยน กิตฺติปญฺโญ พ.ศ. 2481 – 2499 13. พระมหาหยวก อุตฺตรปญฺโญ พ.ศ. 2499 – 2502 14. พระครูวิจารณ์พัชรสิทธิ์ (บุญมา แขมนก) พ.ศ. 2502 – 2520 15. พระพิศาลพัชรกิจ (สมนึก อุตฺตรภทฺโท ทองยา) พ.ศ. 2520 -2537 16. พระมหาจรสิทธิ์ โฆสโก ป.ธ.7 เจ้าอาวาส รก. พ.ศ. 2538 -2539 17. พระครูอนุรักษ์พัชรกิจ (พระมหาสงวน อุตฺตมปญฺโญ ช่างเหล็ก) ป.ธ.4 น.ธ.เอก ศษ.บ. พ.ศ. 2539 – ปัจจุบัน ความสำคัญของวัด เป็นสถานที่ใช้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในสมัยโบราณ เป็นสำนักเรียน ธรรม บาลี การศึกษานอกโรงเรียน เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นวัดที่ำพำนักของเจ้าคณะอำเภอหล่มสัก
ข้อมูล / ภาพ ทวี เนื่องอาชา (ข้อส่วนหนึ่งจากเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน และหนังสือที่ระลึกพระราชทานเพลิงศพพระครูพิศาลพัชรกิจ อตฺตรภทฺโท)
ข้างวัดทางตลาด
สถานศึกษาการศึกษาผู้ใหญ่
สวนการศึกษา
ห้องสมุดประชาชน
ระฆังเก่า
ธาตุมาแต่สมัยเก่า
อุโบสถ
อุโบสถ
บริเวณวัด
ความร่มรื่นภายในวัด
อุโบสถด้านหน้า
เมรุ
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ทักทายเด็กอนุบาลที่มาทัศนศึกษา
เด็กๆ อนุบาล โรงเรียนเทศบาลวัดศรีมงคล
ศาลาที่พัก
บริเวณวัด
ประตูด้านหน้าติด แม่น้ำป่าสัก
ด้านหน้าป่าสัก
รอบๆ กำแพงวัดสองด้าน |
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook