ใต้แสงแดดแรงจ้าของท้องฟ้าเมืองไทย ธนัชญา เทียนดี นักโบราณคดีปฏิบัติการ พินิจไตร่ตรองซากเจดีย์ในเมืองโบราณ “ศรีเทพ” อย่างละเอียด หวังจะไขปริศนาอายุเกือบ 2,000 ปี ในวันที่เมืองโบราณใน จ.เพชรบูรณ์ แห่งนี้ ได้กลายเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย
“ในฐานะรัฐบาลและประชาชนไทย ผมขอขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลก ที่เห็นคุณค่าของเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ นำมาสู่การบรรจุเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ในวันนี้” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวต่อคณะกรรมการมรดกโลก ที่ได้รับรองบรรจุเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.
อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลไทยจะประสบความสำเร็จในการผลักดันอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทยในรอบ 31 ปี ในการประชุมมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ที่จัดขึ้นที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้สำเร็จ แต่ “จิ๊กซอว์” ประวัติศาสตร์มากมายยังคงหายไป หรือพูดให้ตรง คือ ถูกปล้นไปจากสถานที่แห่งนี้
“โบราณวัตถุที่อยู่ในเมืองศรีเทพ ได้ถูกลักลอบไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะในประเทศ ส่วนตัวของเอกชน หรือต่างประเทศ อย่างเช่น สุริยเทพ ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน” ธนัชญา นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี
ธนัชญา วัย 33 ปี พยายามปะติดปะต่อเรื่องราวของเมืองโบราณศรีเทพ ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ราว 200 กิโลเมตร แต่ความพยายามของเธอเจออุปสรรค จากโบราณวัตถุอย่างน้อย 20 ชิ้น ที่ถูกโจรกรรมไป
ปัจจุบัน โบราณวัตถุเหล่านี้อยู่ในมือภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงอย่างน้อย 11 ชิ้น ที่กระจัดกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์หลายในสหรัฐฯ รวมถึงพิพิธัภณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ในเมืองปาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย
“เหมือนกับว่าเราทำตัวจิ๊กซอว์หายไปที่จะมาต่อเล่าเรื่องราวของเมืองโบราณศรีเทพ” ธนัชญา กล่าว “มันคือผลเสียของการที่โบราณวัตถุถูกแยกออกจากที่ที่เขาเคยอยู่”
กรมศิลปากร ใช้เวลาขุดตกแต่งและบูรณะเมืองโบราณศรีเทพนาน 10 ปี แปรสภาพเนินเขากลางชุมชน กลายเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ อายุราว 1,500-1,700 ปี ซึ่งมีการประเมินว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดียเท่านั้น
ตามข้อมูลของกรมศิลปากร ระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ 10 แห่งของไทยที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2527
ชื่อ “ศรีเทพ” เป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการเพชรบูรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี 2447
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ถือเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของไทย สะท้อนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัฒนธรรมทวารวดีและเขมร ที่รุ่งเรืองนานกว่า 800 ปี ก่อนจะทิ้งร้างไปด้วยโรคระบาดร้ายแรงหรือภัยแล้ง ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก
ส่วนสำคัญต่าง ๆ ของเมืองโบราณศรีเทพ ประกอบด้วยสถานที่ดังต่อไปนี้
อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี อาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้าง ที่ขุดค้นพบทางโบราณคดีเมื่อปี 2531 สะท้อนการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีมากว่า 2,000 ปี ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมือง โดยการรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ
ปรางค์สองพี่น้อง สถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมเขมร มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐสององค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน แม้ส่วนยอดพังทลายไปจนหมดสิ้น แต่องค์เล็กยังหลงเหลือทับหลังศิลาทรายที่มีสภาพสมบูรณ์ประดับอยู่จำหลักเป็นรูปอุมามเหศวร
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุ ทำให้อนุมานได้ว่าปรางค์สองพี่น้อง สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 17 แล้วต่อมาจึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1760)
บริเวณทางเดินรูปกากบาทด้านหน้าปรางค์สองพี่น้อง มีการค้นพบเทวรูปพระอาทิตย์หรือสุริยเทพผู้เป็นเทพแห่งแสงสว่างและความอบอุ่น สลักจากศิลาทรายที่มีกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เคารพนับถือในพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ และมีพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีมหาสงกรานต์ที่มีการพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน
ปรางค์ศรีเทพ สถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร เป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ อนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ต่อมามีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลงแต่ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
เขาคลังใน ศาสนสถานสำคัญประจำเมืองที่มีขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมทวารวดี สร้างขึ้นพร้อมกับสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท แล้วต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ 14 และใช้สอยตลอดมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18
ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ ประดิษฐานของเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพเชื่อถือของชาวอำเภอศรีเทพและบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก โดยจะมีการจัดงานประเพณีบวงสรวงขึ้นทุกปี
ศาลมีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทยสองหลัง อาคารด้านหน้าใช้เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อศรีเทพ ส่วนอาคารด้านหลังใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์สร้างขึ้นเมื่อปี 2545
องค์เจ้าพ่อนั้น เดิมใช้ประติมากรรมรูปเคารพที่ได้จากเมืองโบราณศรีเทพมาประดิษฐานเป็นองค์สมมติ แต่ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2514-2515 องค์เจ้าพ่อนั้นได้ถูกโจรกรรมไป ประชาชนที่เคารพนับถือจึงได้แกะสลักองค์เจ้าพ่อขึ้นใหม่ตามจินตนาการ และ ความเชื่อ
ส่วนมรดกโลกอีก 6 แห่งของไทย มีดังนี้
มรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง
มรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง
นับแต่มีข่าวการผลักดันให้เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้นหลายเท่าตัว
“พอดีทราบข่าวจากในทีวีว่า กำลังจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ในการเป็นอุทยาศาสตร์ของประเทศไทย รู้สึกว่าภูมิใจมาก และดีใจ” นักท่องเที่ยวหญิงรายหนึ่ง กล่าว
อันที่จริง ปริมาณนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าในช่วงปีที่ผ่านมา จนใกล้ศักยภาพที่สถานที่จะเอื้ออำนวย สำหรับการทำนุบำรุงรักษา และป้องกันความเสียหาย
“มันเกินความคาดหมายของผม” สิทธิชัย พูดดี หัวหน้าอุทยานประวัตศาสตร์ศรีเทพ กล่าว พลางมองไปที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาถ่ายรูป และเดินเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง
“นักท่องเที่ยวมาที่นี่มากกว่าปีที่แล้วกว่า 10 เท่า เรากำลังใกล้เต็มศักยภาพรองรับ ที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น” โดยปัจจุบัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่อวัน อยู่ที่ราว 2,000 คน
และเมื่อกลายเป็นแหล่งมรดกโลก พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เชื่อว่า “จะดึงดูดให้เกิดการเข้ามาท่องเที่ยวเป็นธรรมดา อะไรก็ตามที่ได้รับการรับรองในระดับโลก คนย่อมอยากเข้ามาหาความรู้ อยากเข้ามาท่องเที่ยว จะเข้ามาชม” แต่ทางกรมฯ จะพยายามไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวมากจนเกินที่จะรับไหว และไม่ให้เกิดอันตรายต่อตัวเมืองโบราณ
อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์บางคน รวมถึง ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ มองว่า รัฐบาลไทย “ไม่เพิ่มมูลค่า” และ “ปล่อยปละละเลย” แหล่งมรดกโลกมากเกินไป ยกตัวอย่าง อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกยูเนสโกเตือนถึงการพิจารณา ถอดออกจากแหล่งมรดกโลกมาแล้ว 3 ครั้ง จากปัจจัยเรื่องความเสื่อมโทรม คือ
พ.ศ. 2551 เตือนว่าภูมิทัศน์ไม่สวยงาม
พ.ศ. 2560 เตือนถึงการบุกรุกพื้นที่
พ.ศ. 2564 เตือนถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง
“พอเราได้มรดกโลกมาแล้ว… ผมไม่เคยเห็นเลยว่า เรามีแผนพัฒนาทำในสิ่งที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเราไปใช้ประโยชน์ หรือสร้างมูลค่า ในตัวของสังคมหรือชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ให้มันได้ประโยชน์อะไรเลย” ศิริพจน์ บอกกับไทยพีบีเอส
“เราไม่เคยเตรียมการว่าจะพัฒนามันไปให้มีมูลค่าเพิ่ม จากแบรนด์ชิ้นนี้ ทำให้เราบางทีเราก็ปล่อยปละละเลย เพราะเราไม่มีแผน”
แต่สำหรับนักโบราณคดี อย่าง ธนัชญา ความท้าทายสำคัญในเวลานี้ คือ การทวงคืนโบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรมไปจากเมืองโบราณศรีเทพ กลับมาอย่างไร โดยเฉพาะชิ้นหนึ่งที่พบว่าอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ครอบครองวัตถุโบราณจากไทยมากถึง 9 ชิ้น
พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน ยืนกรานว่า ซื้อโบราณวัตถุเหล่านี้มาอย่างถูกกฎหมาย โดยได้ “บำรุงรักษาและจัดแสดงเป็นอย่างดี” เลสลี เดงค์ รองประธานด้านกิจการภายนอก พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน กล่าว
อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า จากนี้จะพยายามทวงคืนโบราณวัตถุเหล่านี้ กลับคืนมา แต่ “ต้องทำด้วยความรอบคอบ” และ “มุ่งมั่นยิ่งขึ้น”
“การได้นำกลับมาสู่แหล่งต้นกำเนิด คือ เมืองโบราณศรีเทพ มันก็จะช่วยให้เห็นว่าเมืองโบราณศรีเทพสำคัญอย่างไร” แต่ “ต้องใจเย็น ๆ นะครับ เพราะเป็นเรื่องของวิธีการก็คือ ทางการทูต” พนมบุตร กล่าว
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook