LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
ข่าวเด่นเพชรบูรณ์

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับการค้นพบ ‘เมืองศรีเทพ’ สู่ความภาคภูมิใจของคนไทยวันนี้

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับการค้นพบ ‘เมืองศรีเทพ’ สู่ความภาคภูมิใจของคนไทยวันนี้

เมื่อวันที่ 24 กันยายน หม่อมหลวง (ม.ล.) ปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมและจังหวัดเชียงใหม่ ประธานพิพิธภัณฑ์วังวรดิศและหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ วังวรดิศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และทายาทชั้นเหลน หรือชั้นปนัดดา ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนประกาศให้เป็นมรดกโลกว่า ถือเป็นพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระปัยกา (สมเด็จทวด) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในทุกครั้งเมื่อเสด็จเยี่ยมหัวเมือง ในขณะที่ทรงมีพระกำลังวังชาหนุ่มแน่น กับอีกในเวลาต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในการเสด็จตรวจราชการหัวเมือง ก็ให้ได้ค้นคว้าศึกษาถึงสถานที่สำคัญต่างๆ โบราณสถานของสยามประเทศ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้เรียนรู้ความเป็นมาของแผ่นดิน ก่อนกำเนิดความเป็นชาติ มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ เกิดความรักสมัครสมานของคนในชาติมีความร่มเย็นเป็นสุข สถิตเสถียร และมีความมั่นคง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงค้นหา “เมืองศรีเทพ” โดยทรงเล่าประทานไว้ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” ว่า สมัยที่ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงเห็นชื่อ “เมืองศรีเทพ” ในต้นร่างสมุดไทยแจ้งข่าวสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 2 ไปยังหัวเมืองต่างๆ อาทิ สระบุรี ชัยบาดาล ศรีเทพ และเพชรบูรณ์ จึงได้เค้าว่าเมืองศรีเทพอยู่ทางลุ่มน้ำป่าสัก แต่ยังไม่ทราบที่ตั้งชัดเจน กระทั่งเมื่อเสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ร.ศ.123 (พ.ศ. 2447) จึงได้ทรงทราบข้อมูล 2 เรื่อง คือ

1.มีเมืองโบราณนาม “เมืองอภัยสาลี” อยู่ใกล้เมืองวิเชียรบุรี
2.พระยาประเสริฐสงคราม ให้ข้อมูลว่าเดิมเมืองวิเชียรบุรี มีนาม 2 อย่าง คือท่าโรงและศรีเทพ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระศรีถมอรัตน์มีความชอบจากคราวรบศึกเวียงจันทน์ โปรดให้ยกศรีเทพเป็นเมืองตรี แล้วเปลี่ยนนามเป็นวิเชียรบุรี เปลี่ยนราชทินนามเจ้าเมืองจากศรีถมอรัตน์เป็นพระยาประเสริฐสงคราม

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปดูเมืองอภัยสาลีด้วยพระองค์เอง ประทับค้างแรมที่นั่น รับสั่งว่าเป็นเมืองโบราณ ระยะทางห่างลำน้ำราว 150 เส้น เป็นเมืองใหญ่โต ตั้งในที่ราบ มีคูรอบและมีปราการถึง 2 ชั้น มีสระน้ำหลายสระ ที่กลางเมืองมีปรางค์เทวสถาน ทั้งข้างนอกเมืองและในเมืองอีกหลายแห่ง แต่ข้อสำคัญของการดูเมืองโบราณแห่งนี้ อยู่ที่ไปพบหลักศิลาแปลกๆ มีอยู่โดยทั่ว ตามพระปรารภตอนหนึ่งความว่า :

“…ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้ เป็นของแปลกมาก ลักษณะคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเป็นแต่ถากโกลนสำหรับฝังดิน ขัดเกลี้ยงแต่ที่หัวเห็ดจารึกอักษรไว้ที่นั้น เป็นอักษรคฤนถ์ชั้นก่อนหนังสือขอม แต่ตรงที่จารึกแตกชำรุดเสียมาก ได้เอาศิลานี้ลงมากรุงเทพฯ ให้อ่านดูเป็นภาษาสันสกฤตมีคำว่า ‘ขีลัง’ ซึ่งแปลว่าหลัก จึงเข้าใจว่าศิลาแท่งนี้ คือหลักเมืองศรีเทพ แบบโบราณเขาทำเป็นรูปตะปูตอกลงไว้ในแผ่นดิน ประสงค์ว่าให้มั่นคง…”

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับชื่อเมืองโบราณที่ชาวบ้านในยุคนั้นเรียกว่า “อภัยสาลี” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่าชื่อเดิมเมืองโบราณนี้น่าจะชื่อเมืองศรีเทพ ซึ่งต่อมาเป็นต้นเค้าที่มาของชื่อศรีเทพอันเป็นนามเดิมของเมืองวิเชียรบุรี ความว่า :

“…เมืองโบราณนั้นพวกพราหมณ์จะขนานชื่อว่ากระไรก็ตาม เป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรบุรีที่เรียกว่า “เมืองศรีเทพ” เพราะยังเรียกเป็นชื่อตำบลบ้านชานเมืองมาจนบัดนี้…”

การค้นคว้าในชั้นหลังยังพบอีกด้วยว่า เมืองศรีเทพเป็นชุมชนที่มีผู้คนอยู่อาศัย และได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นเมือง เนื่องด้วยยุทธศาสตร์ทางด้านการค้าและการขนส่งระหว่างภูมิภาค ถือเป็นเส้นทางสู่อีสานในยุคโบราณ เชื่อมโยงเส้นทางการค้าเกลือจากภาคอีสานสู่ภาคกลาง ซึ่งความเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านการค้านี้เองที่ช่วยพัฒนาเมืองศรีเทพจากชุมชนชนบท สู่ความเป็นเมืองสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรือง และที่น่าสนใจคือ จากการขุดค้นพบตะเกียงโบราณจากจักรวรรดิโรมัน สะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงของเส้นทางการพาณิชย์ของโลกยุคโบราณจากทวีปยุโรปสู่สุวรรณภูมิ

ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่าเมืองศรีเทพ ตามพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2566 องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ประกาศเกียรติคุณให้เมืองศรีเทพเป็น “เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม” ที่พี่น้องชาว จ.เพชรบูรณ์และประชาชนชาวไทยต่างมีความภาคภูมิใจ

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องในความเป็นชาติ ค้นคว้าศึกษาความเป็นมาของชาติ เพื่อให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้ ตระหนัก และยังความภาคภูมิใจแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงตราบทุกวันนี้” ม.ล.ปนัดดากล่าว

ว่าด้วยชื่อเมืองศรีเทพ : ข้อสังเกตเพิ่มเติม
“…สืบถามต่อไปถึงชื่อเมืองอภัยสาลี แกว่าเป็นแต่พระธุดงค์บอกชื่อให้ หม่อมฉันจึงยุติว่าเมืองสีเทพ หรือศรีเทพหรือสีห์เทพ คงเป็นชื่อเมืองโบราณนั้น”
นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2447 เมืองโบราณร้างขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำป่าสักก็ถูกรู้จักในนาม “เมืองศรีเทพ” จากพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จไปตรวจราชการที่เพชรบูรณ์ ในนิทานโบราณคดี เรื่องความไข้เมืองเพชรบูรณ์ระบุว่า. “…ทรงสืบหาเมืองโบราณแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า “ศรีเทพ” เนื่องจากพระองค์เคยพบชื่อเมืองศรีเทพจากทำในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองและสมุดดำต้นร่างกะทางให้คนเชิญตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ 2” เมื่อพบกับพระยาประเสริฐสงคราม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดวิเชียรบุรี ได้ความว่า เมืองวิเชียรบุรีแต่เดิมมีชื่อเป็น 2 อย่าง คือเมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพ โดยเรียกตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “พระศรีถมอรัตน์” จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้ยกเมืองศรีเทพขึ้นเป็นเมืองตรี เปลี่ยนนามเมืองเป็นวิเชียรบุรี ส่วนชื่อเมืองอภัยสาลีเป็นชื่อที่พระธุดงค์เรียกจะเอาเป็นไม่ได้
แล้วเหตุใดจึงมีพระวินิจฉัยว่า เมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้เมืองวิเชียรบุรีจึงเป็นเมืองศรีเทพ ?
ในเรื่องความไข้เมืองเพชรบูรณ์ได้ระบุข้อความที่น่าสนใจว่า “…มาถึงบ้านนาตะกุด อันเป็นท่าที่จะขึ้นเดินบกไปยังเมืองโบราณในวันนั้น ให้เรียกพวกชาวบ้านศรีเทพอันอยู่ใกล้เมืองโบราณมาถามถึงเบาะแส…” และ “…เมืองโบราณนั้นพวกพราหมณ์จะขนานชื่อว่ากระไรก็ตาม เป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรที่เรียกว่า เมืองศรีเทพ เพราะยังเรียกเป็นชื่อตำบลบ้านชานเมืองมาจนบัดนี้…”
จากข้อความข้างต้นชวนให้คิดสงสัยว่า “ศรีเทพ” นั้นเป็นชื่อของชุมชนที่อยู่ใกล้เมืองโบราณ (แต่ยังมิได้เรียกเมืองโบราณดังกล่าวว่าเมืองศรีเทพ) จึงเป็นเหตุให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าเป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรบุรี
ต่อมาในปีพ.ศ.2478 กรมศิลปากรได้ทำการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองศรีเทพหรือไพศาลีเป็นโบราณสถาน และในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานชื่อเดิมของเมือง เมืองโบราณแห่งนี้จึงยังคงชื่อเมืองศรีเทพไปก่อน
ถึงกระนั้น จากเรื่องราวการเสด็จเมืองวิเชียรบุรีของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทำให้มองเห็น ‘ร่องรอย’ ความสัมพันธ์ของเมืองวิเชียรบุรีและเมืองโบราณศรีเทพ เมื่อชื่อเดิมของตำแหน่งเจ้าเมืองวิเชียรบุรีเรียก “พระศรีถมอรัตน์” อันเป็นชื่อของภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกและเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งจากการค้นคว้าเพิ่มเติม พบชื่อ พระศรีสมอรัตนราชภักดีศรีบวรพัช เมืองท่าโรง ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง ตรงกับที่พระยาประเสริฐสงครามให้ข้อมูลไว้ว่าเมืองท่าโรงมีพระศรีถมอรัตน์เป็นเจ้าเมือง ทว่าเมื่อค้นคว้าชื่อเมืองศรีเทพ กลับพบว่าในเอกสารบางฉบับกล่าวถึงชื่อเมืองศรีเทพแยกออกจากเมืองท่าโรง อาทิ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึงเจ้าคณะซ้ายเมืองเหนือ ความว่า “… เมืองไชยบาดาล ๑ เมืองสระบุรี ๑ เมืองท่าโรง ๑ เมืองนครราชสีมา ๑ เมืองนางรอง ๑ เมืองพิมาย ๑ เมืองศรีเทพ ๑…” และจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ความว่า “…แตบัวชุมไปศรีเทพวัน แต่สิเทพไปถาโรงครึ่งวัน แตทาโรงไปกองทูนวัน…”
นักวิชาการบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตถึงชื่อตำแหน่งขุนนางว่า ศรีเทพ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง ตำแหน่งหมอศรีเทพ กรมหมอช้าง และขุนสีเทพ สังกัดกรมพระคลังวิเศศ ,พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ตำแหน่งพันบุตรศรีเทพ พนักงานเฝ้าหอพระ และในพงศาวดาร ฉบับไมเคิล วิกเคอรี กล่าวถึงทหารผู้สมคบคิดกับพระยาแก้วพระยาไทยก่อกบฏลอบปรงพระชนม์สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ความว่า “…นายง้วศรีนายศรีหวิไชย นายศรีเทพศุก นายเจดห้วอิกห้วพันหัวปากนาย” คำว่านายศรีเทพศุก ก็อาจเป็นคำเรียกชื่อตำแหน่งทหารเช่นเดียวกัน (ผู้เรียบเรียง)
ถึงแม้คำว่า “ศรีเทพ” จะปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณหลายฉบับ จนขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่จะเชื่อมโยงถึงเมืองโบราณศรีเทพ อันเป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีแต่อย่างใด เพราะจากหลักฐานทางโบราณคดีบอกว่า เมืองศรีเทพค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้างไปในที่สุดในพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนอาณาจักรอยุธยาถือกำเนิดขึ้นราว 200 ปี
อย่างไรก็ตาม มีเพียงร่องรอยเดียวที่แสดงความสัมพันธ์อันเป็นปริศนาระหว่างเมืองโบราณศรีเทพ และเมืองวิเชียรบุรี นั่นก็คือ ชื่อเขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณศรีเทพ (สมัยทวารวดี) และเป็นมงคลนามเรียกเจ้าเมือง จนนำไปสู่การตั้งชื่อเมืองวิเชียรบุรี (สมัยอยุธยา) เรียกสืบมาจนถึงปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย นางสาวธนัชญา เทียนดี
นักโบราณคดีปฏิบัติการ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

ข่าวเด่นเพชรบูรณ์ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด