ช่างสิบหมู่จัดอบรมแก่ชุมชนเมืองโบราณศรีเทพมรดกโลกพัฒนาต่อยอดของที่ระลึกจำหน่ายนักท่องเที่ยว สร้างรายได้รับ Soft Power
7 พ.ย.2566 – นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า หลังจากที่ยูเนสโกประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกแล้ว ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นจำนวนมาก จึงได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ จัดทำโครงการฝึกอบรมการสร้างงานศิลปกรรมแก่ชุมชนเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะงานศิลปกรรมด้านงานช่างสิบหมู่ โดยหวังว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดเพื่อประกอบเป็นอาชีพ สร้างรายได้นำต้นทุนมรดกทางวัฒนธรรมสร้างเป็นมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน ตอบสนองนโยบายซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ของกระทรวงวัฒนธรรม
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า หลังจากที่เมืองโบราณศรีเทพได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้นำมาซึ่งรายได้ต่อชุมชนเพราะว่าคนที่เข้ามา นอกจากมาเที่ยวที่เมืองโบราณศรีเทพ ยังต้องมาบริโภคอาหาร และพักที่พักต่างๆ สิ่งที่กรมศิลปากร ตระหนักก็คือทำอย่างไรให้การท่องเที่ยว เหล่านี้ ส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน และไม่ทำให้เมืองโบราณศรีเทพเสื่อมคุณค่าลงไป กรมศิลปากร เล็งเห็นว่า คนที่มาท่องเที่ยวนอกจากจะมากินมาพัก เขายังต้องการของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับไป และด้วยเมืองโบราณศรีเทพไม่เคยความประสบความสำเร็จเชิงการท่องเที่ยวแบบนี้มาก่อน ชุมชนท้องถิ่นจึงเตรียมรับมือไม่ทัน ตัวอย่างเช่น ไอศกรีมศรีเทพที่ทำมาจากรูปคนแคระ ที่เป็นลายประดับโบราณสถาณ ได้รับความนิยมมากจนผลิตไม่ทัน
อธิบดีกรมศิลปากร กล่วต่อว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ได้มีนโยบายที่จะทำให้เกิดมูลค่าซอฟพาวเวอร์จากอัตลักษณ์ของเมืองโบราณศรีเทพ กรมศิลปากรจึงได้ จัดโครงการฝึกอบรมการสร้างงานศิลปกรรมแก่ชุมชนเมืองโบราณศรีเทพ ให้กับ ประชาชนในพื้นชุมชนเมืองโบราณศรีเทพ ณ โรงเรียนเมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดย นำอัตลักษณ์ของเมืองโบราณศรีเทพ อาทิ ลวดลายคนแคระ หรือลวดลายต่างๆ มาทำเป็นของที่ระลึก ภายใต้คำแนะนำ และความรู้จากสำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร ใน 5 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรงานปั้นประดิษฐ์ หลักสูตรงานแกะโฟม หลักสูตรงานทำพิมพ์ยางซิลิโคนต้นแบบนูนต่ำ หลักสูตรงานลายฉลุ และหลักสูตรงานทำเทียนเจล เบื้องต้นให้ทำอย่างง่ายก่อน เช่น ทำกระเป๋าผ้า ทำเทียนหอม ทำลายประดับห้องต่างๆ ซึ่งทุกอย่างเน้นความง่าย เน้นความเป็นอัตลักษณ์ และ ชาวบ้านต้องทำได้จริง
ด้านนางจินตนา ทองใจสด ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่กรมศิลปากร อบรมการสร้างงานศิลปกรรมแก่ชุมชนเมืองโบราณศรีเทพ แล้ว จะมีการจัดตั้งกลุ่มในการผลิตสินค้า ขึ้นมา ซึ่งจากนี้ กลุ่มพัฒนาสตรีจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็จะช่วยดูแลในเรื่องของงบประมาณในการจัดทำสินค้า ของที่ระลึกต่างๆ พร้อมดูช่องทางการจัดจำหน่ายให้อีกด้วย ในเบื้องต้น ก็จะจัดจำหน่าย ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพก่อน โดยสินค้าชุดแรกจะจัดจำหน่ายในช่วงปีใหม่ จึงอยากเชิญชวน นักท่องเที่ยวที่มาเมืองโบราณศรีเทพ ซื้อของฝาก ของที่ระลึกที่ทำจากชาวบ้าน ติดมือกลับไปด้วย
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook