เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ณ อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง บ้านป่าแดง ต.ป่าเลา อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ร่วมงานประเพณีหามพระลงน้ำ ที่อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง พร้อมกันนี้ยังมี นายธณพล นิยมเพ็ง เลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ นางลัดดา พรหมเศรณีย์ นางสาวเพชรดา งามนัก สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ นายจักรัตน์ พั้วช่วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ เขต 2 ดร.ประทิน นาคสำราญ. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเดียง นายประสิทธิ์ มาจาก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าเลา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนชาวบ้านป่าแดงและใกล้เคียง ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
สำหรับประเพณีหามพระลงน้ำ ที่อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านเชื่อว่า จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล และพืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี พิธีหามพระดำน้ำหรือแห่น้ำพระทอง คือ พิธีอัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามญาติลงสรงน้ำ เป็นประเพณีที่แปลก ที่ชาวบ้านบ้านป่าแดงพร้อมใจกันจัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี และได้ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณนานกว่า100 ปี โดยช่วงเช้าชาวบ้านจะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามญาติ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อห้ามญาติหรือหลวงพ่อพระทอง ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์กลาง หมู่ 5 บ้านป่าแดง แห่ไปรอบๆหมู่บ้านบ้านป่าแดง เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้สักการะบูชาและสรงน้ำ ก่อนที่จะแห่ไปประกอบพิธีหามพระดำน้ำขอฝนที่อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง ซึ่งในอดีตนั้น ชาวบ้านจะหามหลวงพ่อห้ามญาติไปทำพิธีดำน้ำหรือสรงน้ำในคลองป่าแดง แต่ภายหลังมีการสร้างอ่างเก็บน้ำป่าแดงขึ้นจนคลองป่าแดงหายไปทำให้ชาวบ้านต้องทำพิธีบริเวณอ่างเก็บน้ำป่าแดงแทน ชาวบ้านเชื่อว่าหลวงพ่อห้ามญาติ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ และปาฏิหาริย์ ซึ่งถ้าปีใดไม่จัดพิธีหามพระดำน้ำขอฝนก็จะทำให้เกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาลและหลวงพ่อห้ามญาติจะหายไป แต่ถ้าปีใดจัดพิธีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ก็จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ดี และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บหลวงพ่อห้ามญาติ หลวงพ่อพระทองเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ สมัยอยุธยา หล่อด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์ สูง 90 เซนติเมตร โดยมีประวัติที่เล่าขานสืบทอดกันมาว่า ชาวบ้านที่ไปหาปลาที่ในแม่น้ำป่าสัก พบพระพุทธรูปปางห้ามญาติลอยอยู่ในแม่น้ำ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านป่าแดงประมาณ 8 กิโลเมตร ต่อมาชาวบ้านบ้านป่าแดงได้ไปกราบไหว้และอธิษฐานว่า ถ้าหลวงพ่อปางห้ามญาติอยากอยู่เหนือน้ำ ก็ขอให้ชาวบ้านสามารถอัญเชิญโดยใส่กระบุง และใช้ไม้คอนมาเพียงคนเดียวไหว ซึ่งปรากฏว่าชาวบ้านได้คอนมาไหวจริงๆ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์กลาง และ ประกอบพิธีหามพระดำน้ำทุก ๆ ปี จวบจนปัจจุบันนี้
เมื่อกล่าวถึง “ประเพณีหามพระดำน้ำ” หลายคนคงมีความสับสนว่าเป็นประเพณีเดียวกันกับ “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” ประเพณีสำคัญและมีชื่อเสียงมากที่สุดประเพณีหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ แท้จริงแล้วเป็นคนละงานประเพณีและมีการจัดอยู่คนละแห่ง แต่อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์เหมือนกัน
ประเพณีหามพระดำน้ำเป็นประเพณีที่อัญเชิญพระพุทธรูป “หลวงพ่อห้ามญาติ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดโพธิ์กลาง บ้านป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ขึ้นประดิษฐานบนเสลี่ยงเพื่อไปสรงน้ำและดำน้ำเป็นประจำทุกปีในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 5 แต่ถ้าหากปีใดเป็นปีอธิกมาส (มีเดือน 8 สองหน) จะจัดงานตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 แทน
พระพุทธรูปหลวงพ่อห้ามญาติเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ จึงทำให้ชาวบ้านเรียกชื่อ “หลวงพ่อห้ามญาติ” มีลักษณะทางพุทธศิลป์แบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา มีสูงประมาณ 1.20 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม พระอิริยาบถประทับยืนบนฐานประดับกลีบบัวพระกรซ้ายทอดยาวแนบพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ หงายฝ่าพระหัตถ์ออกมาตั้งตรงแสดงมุทราห้าม ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ไม่เสมอกัน พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระกรรณยาว พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์บางเล็ก แย้มโอษฐ์เล็กน้อย พระหนุขมวด พระเกศาเป็นขดหอย ไม่มีไรพระศก พระรัศมีแบบเปลวเพลิงสามารถถอดออกได้ (เล่ากันว่าแต่เดิมนั้นประดับด้วยเพชรพลอย แต่ภายหลังสูญหายถูกสลับเปลี่ยนออกไป) และมีจีวรยาวแนบกายแผ่ออกทั้งสองข้าง
หลวงพ่อห้ามญาติมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อพระทอง” สาเหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ถูกเรียกว่าหลวงพ่อพระทองนั้น มาจากเหตุการณ์เมื่อราวปี พ.ศ.2509 ซึ่งเป็นช่วงที่มีเจ้าอาวาสจากปทุมธานีเข้ามาอยู่ใหม่ มีการบูรณะวัดโพธิ์กลาง สร้างโบสถ์หลังใหม่ (หลังปัจจุบัน) และเห็นว่าองค์หลวงพ่อห้ามญาติชำรุดท่านจึงนำองค์พระออกมาบูรณะและทาสีทองลงไปใหม่ ชาวบ้านมองเห็นองค์พระมีลักษณะเป็นองค์สีทอง ด้วยความเชื่อว่าข้างในองค์พระน่าจะทำด้วยทองหรืออาจจะเพราะองค์พระถูกทาด้วยสีทองสะท้อนแสงสีเหลืองอร่าม ชาวบ้านจึงเรียกองค์พระนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “ พลวงพ่อพระทอง”
ที่มาของประเพณีหามพระดำน้ำนั้นไม่สามารถสืบค้นความเป็นมาได้แน่ชัด แต่เป็นประเพณีที่อยู่คู่ชุมชนบ้านป่าแดงมาอย่างช้านานหลายชั่วอายุคน มีเรื่องเล่าว่าถึงสาเหตุการหามพระพุทธรูปหลวงพ่อห้ามญาติน้ำว่า ชาวบ้านพบพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยอยู่กลางแม่น้ำป่าสักหน้าวัดไตรภูมิในเขตเมืองเพชรบูรณ์ จึงอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ ณ วัดไตรภูมิ ต่อมาเมื่อถึงวันพระ ชาวบ้านเห็นว่ามีน้ำไหลออกมาจากพระเนตรของพระพุทธรูปคล้ายกับกำลังร้องไห้ด้วยเกรงจะเกิดอาเพศขึ้น จึงทำพิธีเข้าทรงเพื่อถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนทำให้ทราบว่าเหตุที่พระพุทธรูปร้องไห้ (น้ำตาไหล) เพราะองค์พระต้องการที่จะไปอยู่เหนือน้ำป่าสัก ชาวบ้านในสมัยนั้นเข้าใจว่า คำว่า “เหนือน้ำ” ในที่นี้ก็คือ บ้านป่าแดงที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองเพชรบูรณ์และมีน้ำจากคลองห้วยป่าแดงไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก จึงให้คนจากหมู่บ้านป่าแดงเดินทางไปกราบและเสี่ยงทาย เมื่อตัวแทนของบ้านป่าแดงไปถึงก็พบว่าองค์พระมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก จึงอธิฐานว่า “ถ้าหากท่านต้องการไปอยู่ที่บ้านป่าแดงจริง ๆ ก็ขอให้ยกไปได้โดยง่าย” จบคำอธิฐานก็สามารถยกองค์พระขึ้นได้ง่ายดาย จึงยกใส่กระบุงคอน (แบก) นำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์กลาง บ้านป่าแดง
ครั้งหนึ่งของงานบุญวันแรม 15 ค่ำ เดือน 5 ชาวบ้านป่าแดงก็เห็นองค์พระมีน้ำไหลออกจากพระเนตรอีก จึงประชุมปรึกษาหารือและทำพิธีทรงจนทราบว่าองค์พระต้องการไปสรงน้ำจึงกำหนดให้อัญเชิญองค์พระไปสรงน้ำในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี โดยชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำเสลี่ยงหามและแห่หลวงพ่อห้ามญาติจากวัดโพธิ์กลางไปรอบหมู่บ้าน แล้วนำไปดำน้ำที่บริเวณ “วังศาล” ซึ่งเป็นวังน้ำลึกของคลองห้วยป่าแดงที่ทอดยาวไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก บริเวณริมฝั่งของวังศาลเป็นหน้าผาชะง่อน มีศาลเจ้าปู่ย่าซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้านคอยปกปักรักษาบ้านป่าแดงตั้งอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “วังศาล” หรือ “วังศาลเจ้าปู่”
ต่อมาเมื่อมีการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดงขึ้น ทำให้สภาพลำห้วยบริเวณวังศาลตื้นเขินจนไม่สามารถประกอบพิธีหามพระดำน้ำได้ จึงต้องเปลี่ยนไปประกอบพิธีภายในบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดงจนประทั่งปัจจุบัน
ในการประกอบพิธีกรรมหามพระดำน้ำนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 5 ที่วัดโพธิ์กลาง ด้วยการทำบุญเลี้ยงพระตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแล้วรับประทานอาหารมื้อเช้าร่วมกัน จากนั้นจึงอัญเชิญหลวงพ่อห้ามญาติมาประดิษฐานบนเสลี่ยงผูกองค์พระไว้กับเสลี่ยงด้วยสายสิญจน์ นำกรวยหมาก 1 คู่วางบนพระหัตถ์ พันยึดไว้ด้วยสายสิญจน์แล้วอัญเชิญออกมาให้ชาวบ้านที่มาทำบุญได้ร่วมกันสรงน้ำองค์พระด้วยน้ำอบน้ำหอม การสรงน้ำจะมีทั้งคนสรงน้ำและคนรองน้ำ เรียกได้ว่าต่างคนต่างนำน้ำมาสรงและรองของตนกลับไปเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
เมื่อเริ่มแห่หลวงพ่อห้ามญาติออกจากวัดโพธิ์กลางเข้าไปในหมู่บ้าน ในอดีตขบวนหามพระจะนำด้วยวงกลองยาวผสมกับปี่แต้ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เดินทำนองของวงตุ๊บเก่ง ต่อมาวงตุ๊บเก่งให้เสียงไม่ค่อยครึกครื้น จึงใช้วงกลองยาวมาผสมกับปี่แต้แทน มาระยะหลังยังเพิ่มแตรวงเข้าไปอีกด้วย
ระหว่างทางคนหามเสลี่ยงต้องอัญเชิญองค์พระแวะเวียนไปตามบ้านทีละหลัง ด้วยบ้านไหนที่ต้องการอัญเชิญพระไปสรงน้ำที่บ้านก็จะลงชื่อไว้ กรรมการวัดก็ต้องให้คนหามเสลี่ยงพระแวะเวียนไปจนครบทุกบ้าน เมื่อองค์พระไปถึงบ้านที่อัญเชิญไว้จะวางเสลี่ยงลงให้คนในบ้านถวายดอกไม้หรือคล้องพวงมาลัย นำน้ำอบมาสรงและใช้ภาชนะรองน้ำที่สรงผ่านองค์พระไว้เป็นน้ำพระพุทธมนต์สำหรับบ้านนั้นต่อไป บางบ้านถึงกับขอให้ยกเสลี่ยงขึ้นไว้บนรถ นำน้ำอบใส่ถังน้ำแล้วสรงน้ำลงบนองค์พระทั้งถือถังเป็นการเจิมรถอย่างหนึ่งก็มี บางบ้านก็นำอาหาร เครื่องดื่มและทำพวงมาลัยเผื่อให้คนหามเป็นสินน้ำใจ บางบ้านสรงน้ำเสร็จแล้วก็น้ำที่รองจากองค์พระมารดน้ำดำหัวผู้อาวุโสในครอบครัว บ้านไหนสรงน้ำเสร็จแล้วก็ถือขันน้ำออกมาร่วมเล่นสาดน้ำในขบวนแห่ ขบวนแห่ที่เห็นมีเพียงไม่กี่คนเมื่อออกจากวัดจึงยาวขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อขบวนมาถึงบริเวณ “วังศาล” จะหยุดขบวนให้ผู้เฒ่าผู้แก่ขึ้นไปทำพิธียังศาลเจ้าปู่เจ้าย่าเพื่อบอกกล่าวผีประจำชุมชน และขอให้งานที่จัดเป็นไปโดยราบรื่น และด้วยที่ต้องแวะเวียนเข้าออกตรอกซอกซอยทีละบ้าน คนหามเสลี่ยงจึงต้องใช้ถึง 8 คน สลับเปลี่ยนกันไปตลอดทาง กว่าจะถึงสถานที่ดำน้ำก็ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงทั้งที่ระยะทางเพียงไม่กี่กิโลเมตร
เมื่อขบวนหามหลวงพ่อห้ามญาติมาถึงบริเวณสถานที่ทำพิธี จะนำเสลี่ยงวางลงบนแท่นที่มุมทั้ง 4 ด้านผูกไว้ด้วยบายศรีต้น 5 ชั้น ประดับด้วยดอกไม้ไว้อย่างสวยงาม มีเชือกที่ประดับด้วยธงโยงจากแท่นพิธีลงไปในน้ำ แล้วโยงรอบฉัตรเงินฉัตรทอง 7 ชั้น จำนวน 4 ต้น เพื่อกั้นบริเวณสำหรับหามพระลงน้ำ
ก่อนอัญเชิญองค์หลวงพ่อห้ามญาติลงดำน้ำทุกคนจะตั้งอธิฐานต่อองค์หลวงพ่อห้ามญาติขอให้หลวงพ่ออยู่คุ้มครองบ้านป่าแดงตลอดไป จากนั้นตัวแทนของหมู่บ้านจะนำคณะหามพระลงไปดำน้ำ การดำน้ำจะหันหน้าไปทางทิศเหนือแล้วดำน้ำลงไปรวม 3 ครั้ง แต่ละครั้งจะตั้งจิตอธิฐานขอพรให้พระคุ้มครองตนเองและหมู่บ้านชาวที่อยู่บนฝั่งจะส่งไชโยโห่ร้องและประโคมดนตรีแสดงความยินดีที่สามารถนำองค์พระขึ้นมาประดิษฐานบนแท่นพิธี ประพรมด้วยขมิ้นและน้ำอบเหมือนการอาบน้ำประแป้งพร้อมกับขับเพลงเป็นทำนองพื้นบ้าน จากนั้นทุกคนจะร้องรำทำเพลงประกอบดนตรีแห่เวียนรององค์พระเป็นการเฉลิมฉลอง 3 รอบ ก็เป็นอันเสร็จพิธีที่อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง
การหามพระกลับวัดจะใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง ด้วยเพราะต้องอัญเชิญองค์พระแวะเวียนไปตามหมู่บ้านทีละหลังตามที่ยังตกค้างอยู่ ซึ่งแต่ละบ้านก็จะรอสรงน้ำพระอย่างอดทนและใจจดจ่อ แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปขนาดไหนก็ตาม
เมื่อองค์พระมาถึงวัด หลายคนที่ยังคงเฝ้ารออยู่ก็จะเข้ามาเก็บด้ายสายสิญจน์ ดอกไม้ ธูปเทียน ที่ติดมาหับองค์พระกลับไปไว้สักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นท่านเจ้าอาวาสจะนำองค์พระกลับไปประดิษฐานในกุฏิดังเดิม ใครที่ไม่มีโอกาสกราบไหว้ขอพรก็ต้องรอในปีถัดไป เพราะที่นี่จะอัญเชิญองค์พระออกมาให้สักการะเพียงปีละครั้งเท่านั้น
ประเพณีหามพระดำน้ำผูกโยงกับตำนานความเชื่อของคนในท้องถิ่นบ้านป่าแดงที่กล่าวถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องการลงไปสรงน้ำในแม่น้ำลำคลอง โดยเชื่อกันว่าถ้าปีใหม่ไม่นำองค์พระไปดำน้ำจะทำให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าไม่อุดมสมบูรณ์ พืชผลทางการเกษตรเกิดความเสียหาย และเกิดอาเพศต่าง ๆ นานา นอกจากนี้ ยังเป็นประเพณีที่สะท้อนถึงพลังแห่งศรัทธาที่ดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นในชุมชน ซึ่งเป็นพลังที่หลอมรวมความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชุมชนบ้านป่าแดงอีกด้วย
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook