ท่องเที่ยวรอบเมืองเพชรบูรณ์ 12 จุด
1. หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์
ตั้งอยู่บนถนนหลักเมืองพัฒนา เดิมเป็นสถานที่ตั้งของ “ศาลาประชาคมจังหวัดเพชรบูรณ์” ใช้เป็นสถานที่ประชุมและจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ ของจังหวัด อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์และเป็นที่ดินราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 และเกิดชำรุดทรุดโทรม โดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งปรับปรุง เพื่อรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประวัติความเป็นมาของจังหวัดเพชรบูรณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์จึงเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และคิดค้นองค์ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนา จัดตั้งโดยเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ หอวัฒนธรรมแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือห้องประชุม มีเวทีสามารถจัดการแสดงต่าง ๆ ส่วนที่สองคือส่วนที่เป็นห้องโถงไว้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ ส่วนที่สามคือ เวทีและลานจัดกิจกรรมกลางแจ้ง หอวัฒนธรรมฯนั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และช่วยเสริมสร้างให้ประชาชนเรียนรู้วัฒนธรรมและมีจิตสำนึกรักในท้องถิ่นของตนเอง
2. ประติมากรรมมะขามหวาน
ตั้งอยู่บริเวณหน้าหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดสนใจและจุดต้องแวะถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวเมื่อได้เดินทางมาถึงเพชรบูรณ์ ตามคำขวัญที่ว่า เพชรบูรณ์เป็นเมืองมะขามหวาน ประติมากรรมมะขามหวานดังกล่าวเป็นประติมากรรมมะขามหวานพันธุ์หมื่นจงมีลักษณะโค้งและผอม เหตุที่ต้องสร้างเป็นพันธุ์นี้ก็เพราะว่ามะขามหวานพันธุ์หมื่นจงเป็นมะขามหวานพันธุ์แรกที่นำมาปลูกที่เพชรบูรณ์ ต้นเก่าแก่ดั้งเดิมซึ่งเป็นต้นแรกนั้นอยู่ที่อำเภอหล่มเก่า มีอายุประมาณสองร้อยปี นับว่าเก่าแก่มาก มะขามหวานที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดเพชรบูรณ์นอกจากพันธุ์หมื่นจงแล้ว ยังมีพันธุ์สีทอง ประกายทอง น้ำผึ้ง ศรีชมพู อินทผาลัม ฯลฯ ด้านหลังประติมากรรมยังมีป้ายข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับมะขามหวานให้ผู้ที่สนใจได้อ่านและศึกษาอีกด้วย
3. ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์
ตั้งอยู่ ณ ถนนหลักเมือง เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งในการบูรณะศาลหลักเมืองเมื่อปีพ.ศ.2548 ได้พบว่า เสาหลักเมืองนั้นเป็นศิลาจารึกอักษรขอมภาษาสันสกฤตเล่าเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ 1 ด้านและศาสนาพุทธ 3 ด้าน ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มีลักษณะเป็นศาลาทรงไทยตรีมุข องค์เสาหลักเมืองเป็นแท่งเสาหินทรายสีเทา มีลักษณะปลายป้านโค้งมน มีความสูงจากฐานล่างจนถึงปลายยอดยอด 184 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 15-16 เซนติเมตร สันนิฐานว่า น่าจะอัญเชิญมาจากเมืองศรีเทพตั้งแต่ครั้งโบราณ และมาประดิษฐานที่วัดมหาธาตุก่อน แล้วจึงอัญเชิญมาตั้งเป็นเสาหลักเมืองโดยหลวงนิกรเกียรติคุณ เมื่อ พ.ศ. 2443 ตัวเสาศิลาจารึกสันนิฐานจากตัวอักษร คาดว่ามีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่16 จึงนับว่าเป็นเสาหลักเมืองที่ทรงคุณค่าและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งชาวเพชรบูรณ์ให้ความศรัทธา เคารพสักการะ และเชื่อถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด
4. วัดไตรภูมิ
เป็นวัดเก่าแก่ของเมื่อเพชรบูรณ์ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา อยู่ริมแม่น้ำป่าสัก อดีตเคยเป็นวัดกลางเมือง มีอายุกว่า 400 ปี อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ เป็นพระพุทธรูปที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชทานให้แก่พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด เพื่อเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเมื่อครั้งที่พ่อขุนผาเมืองทรงอภิเษกกับพระนาสิงขรเทวีพระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะขอม สมัยลพบุรี มีหน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน หล่อด้วยทองสำริด ทรงชฎาเทริด นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก และภายในวัดไตรภูมิยังมีเจดีย์ทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูงประมาณ 9 เมตร และมีความยาวรอบฐาน 9 เมตร ในอดีต ท่าน้ำหน้าวัดไตรภูมิยังเป็นท่าน้ำการค้าที่สำคัญ เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากัน แต่ปัจจุบันตลาดได้ถูกย้ายไปติดถนนตามความเจริญของบ้านเมือง
5. กำแพงเมืองเก่า
ตั้งอยู่ ณ ถนนหลักเมือง ถนนเพชรรัตน์ และถนนสนามชัย ลักษณะกำแพงก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นโบราณสถานที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 สันนิษฐานว่าการสร้างกำแพงเมืองเพชรบูรณ์ถูกสร้างขึ้นเป็นสองยุคด้วยกัน ยุคแรกสร้างในสมัยสุโขทัย มีลักษณะเป็นวงรี ยาวด้านละ 800 เมตร มีลักษณะเป็นคันดินและคูน้ำ ส่วนกำแพงเมืองเก่าที่ปรากฏซากอยู่นี้ น่าจะสร้างในยุคที่สองคือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีการร่นเมืองให้มีขนาดเล็กลง ยาวด้านละ 400 เมตร กำแพงเมืองเก่าก่อด้วยอิฐถือปูนมีหินทรายและศิลาแลงประกอบบางส่วน รากฐานใช้ก้อนกรวดและทรายรองฐานไว้เพื่อให้น้ำซึมผ่านได้โดยไม่ทรุด ตลอดแนวกำแพงเมือง มีป้อมปราการทั้งหมด 4 ป้อม คือป้อมศาลเจ้าพ่อ ป้อมศาลเจ้าแม่ ป้อมหลักเมือง และป้อมที่ยังสมบูรณ์ที่สุดคือ ป้อมสนามชัย บนป้อมปราการจะเรียงอิฐปูพื้นเป็นลายก้างปลา และยังพบรูในอิฐที่น่าจะทำไว้ตั้งแต่ก่อสร้างป้อมแล้ว ซึ่งสันนิฐานว่า น่าจะเป็นรูสำหรับเสียบเสาไม้เพื่อตั้งหลังคาบนป้อมนั่นเอง นอกจากนั้น ยังคงปรากฏซากประตูเมืองอยู่ 2 ด้านคือ ประตูชุมพลทางทิศตะวันตกที่ถนนเพชรรัตน์ และประตูดาวทางทิศตะวันออกที่ข้างวัดประตูดาว กำแพงเมืองเพชรบูรณ์มีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ตัวป้อมแต่ละมุมจะยื่นไปนอกแนวกำแพง เรียกว่าเป็นการสร้างป้อมแบบหัวธนู
6. วัดเพชรวราราม
ตั้งอยู่บนถนนเพชรเจริญ เป็นวัดนิกายธรรมยุติของจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่ง ที่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก เสด็จฯมาเยี่ยมและเผยแพร่ธรรมถึง 3 พระองค์ และเป็นวัดที่มีพระอุโบสถที่งดงามยิ่ง มีสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรมและแผนกบาลี ภายในวัดมีสวนป่าสวยงาม ร่มรื่น เป็นแหล่งเรียนรู้ทางพฤกษศาสตร์และเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมและพักผ่อนหย่อนใจเพื่อกล่อมเกลาจิตใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 และนอกจากนี้ภายในวัดยังมีปูชนียสถานที่สำคัญ คือ มณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธบาทจำลอง และพระไพรีพินาศ
7. สระกลางเมือง
ตั้งอยู่ ณ ถนนกลางเมืองพัฒนา เดิมเป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำลำคลองกระเสี้ยว ซึ่งเชื่อมต่อจากคลองศาลา ทางด้านทิศใต้ของศาลากลาง เพื่อนำน้ำไปใช้ทำนาและการเกษตรในบริเวณนี้ในอดีต แต่ต่อมาชาวบ้านแถบนั้นได้เลิกทำการเกษตรแล้ว ลำน้ำจึงตื้นเขินและคงเหลือแต่เฉพาะช่วงตอนกลางของลำคลองมีความยาวคดโค้ง เมื่อ พ.ศ. 2527 สมัยนายชาญ โฆษิตานนท์ เป็นนายกเทศมนตรี ได้จัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ตั้งชื่อว่า “สระกลางเมือง” มีลักษณะยาวและโค้งงอ กว้างประมาณ 16 เมตร ยาวประมาณ 900 เมตร เป็นแหล่งน้ำสาธารณะธรรมชาติลักษณะคล้ายสระ ชาวบ้านจึงเรียกง่าย ๆ ว่า “สระยาว” สมัยนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ เป็นนายกเทศมนตรี ได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ และจัดสร้างน้ำพุในสระ ทำสะพานข้ามสระ ศาลากลางน้ำ หอนาฬิกา น้ำตก ลานกีฬาเอนกประสงค์ สวนหย่อม สนามเด็กเล่น ทางเท้าสำหรับวิ่งออกกำลังกายรอบสระ จัดให้รถวิ่งทางเดียว ติดแสงไฟให้ความสว่างโดยรอบ
พ.ศ. 2544 มีประชาชนร้องเรียนว่า มีคนจับปลาในสระน้ำไม่เป็นการสมควร เทศบาล ฯ จึงจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์และมีมติให้จัดเป็น “วังมัจฉา” ปล่อยพันธุ์ปลาสวยงามและปลาอีกหลายชนิดที่ควรค่าแก่การศึกษา ปัจจุบันสระกลางเมือง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ กลางตัวเมืองอีกแห่งหนึ่ง จัดเป็นสถานที่วิ่ง-เดิน ออกกำลังกายทั้งตอนเช้าและช่วงเย็น เวลากลางคืนเป็นที่ตั้งร้านค้า ร้านอาหารรอบๆสระน้ำเป็นจำนวนมาก มีโคมไฟฟ้าให้แสงสว่างโดยรอบ กลางสระน้ำมีน้ำพุประดับไฟแสงสี เป็นสถานที่พักผ่อนยามราตรีที่มีความสวยงามของเมืองอีกแห่งหนึ่ง
8. สวนสาธารณะเพชบุระ
เดิมเป็นที่ตั้งของจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์มาแต่ครั้งโบราณกาล ในสมัยนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มอบจวนและที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติ โดยนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ เป็นผู้รับมอบ เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะที่อยู่กลางเมือง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเรียกว่า “สวนสาธารณเพชบุระ” (เพ-ชะ-บุ-ระ) เพื่อให้มีความสอดคล้องกับชื่อดั้งเดิมซึ่งจารึกบนลานทอง ที่ค้นพบอยู่ในท้องหมูสัมฤทธิ์ กรุเจดีย์วัดมหาธาตุ ซึ่งมีความหมายว่าเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ภายในสวนมีลานจอดรถ ลานเอนกประสงค์ขนาดใหญ่และเวทีที่สวยงามสำหรับประกอบพิธีและจัดงานต่างๆ มีลานออกกำลังกายชนิดต่าง ๆ ศูนย์ออกกำลังกาย ประติมากรรมเมืองอยู่สบาย ตัวอาคารจวนผู้ว่า ฯ เก่าได้จัดทำเป็นหอประวัติศาสตร์ รวบรวมประวัติบุคคลสำคัญ เหตุการณ์สำคัญและภาพในอดีตของเพชรบูรณ์ ห้องสมุดข้อมูลเพชรบูรณ์โดยเฉพาะ ส่วนอาคารสำนักงานการชาดเก่าที่อยู่ในบริเวณสวน ได้วางแผนจะปรับปรุงเป็นหอจัดแสดงภูมิปัญญาและวิธีชีวิตคนเพชรบูรณ์ แบ่งเป็น 6 เรื่องด้วยกันคือ ข้าว ข้าวโพด มะขามหวาน ใบยาสูบ การหาของป่า และวิถีชีวิตริมแม่น้ำป่าสัก
9. วงเวียนอนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์
อนุสรณ์สถานแห่งนี้จัดสร้างขึ้นเพื่ออนุสรณ์เตือนให้ชาวเพชรบูรณ์เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของเมืองเพชรบูรณ์ ที่เมื่อพ.ศ. 2486-2487 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชกำหนดย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ โดยใช้ชื่อว่า “นครบาลเพชรบูรณ์” เพราะเห็นว่าเพชรบูรณ์นั้นมีเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม มีภูเขาล้อมรอบและมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว พระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ฯ นี้ ได้ยกฐานะจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นนครบาลเพชรบูรณ์ และได้ดำเนินการอพยพราษฎรมาตั้งหลักแหล่งที่เพชรบูรณ์ พร้อมกับย้ายที่ทำการรัฐบาลตลอดจนสถานที่ราชการต่าง ๆ มาตั้งที่เพชรบูรณ์ แต่เนื่องจากสถานที่ต่าง ๆ นั้นต้องสร้างเป็นการเร่งด่วน จึงมิได้สร้างโดยวัสดุถาวร เลยเสื่อมสภาพไปแล้ว ยังคงเหลือแต่เสาหลักเมืองนครบาลฯที่บ้านบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสักเท่านั้น เสาหลักเมืองนี้ทำด้วยไม้มงคล 9 ชนิด ฐานล่างมีลักษณะ 8 เหลี่ยม แบ่งไม้มงคลเหลี่ยมละหนึ่งชนิด อีกหนึ่งชนิดอยู่ที่ปลายยอด นอกจากนั้น ยังปรากฏหลักฐานว่าได้นำสิ่งของมีค่าของประเทศ ทองคำสำรอง และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่เพชรบูรณ์อีกด้วย เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เสนอพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ฯ พ.ศ.2487 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ มีผลดำเนินการอย่างถาวรตลอดไป แต่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลที่ว่า”เพชรบูรณ์เป็นดินแดนกันดาร มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ป่าชุกชุม …” อนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์แห่งนี้จึงสร้างขึ้นเป็นเพื่อรำลึกถึงบุญคุณและอัจฉริยภาพของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และเพื่อคนเพชรบูรณ์จะได้ภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งและความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองตน
10. หอนาฬิกาแชมป์โลกคู่แฝด
ตั้งอยู่บริเวณถนนศึกษาเจริญ สร้างเป็นอนุสรณ์แก่แชมป์โลกคู่แฝดชาวเพชรบูรณ์ เขาค้อ และเขาทราย แกแลคซี่ โดยเขาทราย แกแลคซี่ เป็นแชมป์โลกรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท ของสมาคมมวยโลก (WBA) เป็นแชมป์โลกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2527 ชกป้องกันตำแหน่งชนะ 19 ครั้ง โดยไม่เสียตำแหน่ง ก่อนแขวนนวม 1 กุมภาพันธ์ 2535 สมาคมมวยโลกยกย่องให้เป็นนักชกยอดเยี่ยมแห่งปี พ.ศ. 2532 นักชกยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษเมื่อ พ.ศ.2533 และรางวัล “WORLD BOXING HALL OF FRAME” บรรจุชื่อไว้ในหอเกียรติยศนักมวยที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกของ WBA ณ เมืองคานาสโตต้า สหรัฐอเมริกา ส่วนเขาค้อ แกแลคซี่ เป็นแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวท ของสมาคมมวยโลก และเป็นแชมป์รุ่นนี้คนแรกของไทย ได้แชมป์โลกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2531 ซึ่งทั้งสองคนได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอย่างมากโด่งดังไปทั้งประเทศในฐานะที่เป็นแชมป์โลกคู่แฝดชาวเพชรบูรณ์
11. วัดมหาธาตุ พระอารามหลวง
ตั้งอยู่บนถนนิกรบำรุง เป็นวัดฝ่ายมหานิกายที่เก่าแก่ที่สุดคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ ด้านหลังโบสถ์มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบสุโขทัย สูงประมาณ 8 วาเศษ สร้างในสมัยสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2510 ได้มีการขุดค้นเจดีย์ พบจารึกลานทองในท้องหมูสำริด จารึกว่า “พระเจ้าเพชบุร” เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ.1926 และยังพบพระพุทธรูปสมัยต่างๆเช่น สมัย ทวาราวดี สมัยลพบุรี สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง และพระเครื่องเนื้อชินพิมพ์ต่าง ๆ มากมายเช่น ร่มโพธิ์ เปิดโลก นาคปรก นางพญา ซุ้มเรือนแก้ว ซุ้มประตูชัย ฯลฯ นอกจากนั้น ยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชรมีชัย ที่ตามพงศวดารระบุว่า พระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) ในขณะนั้น ได้เคยมานมัสการในขณะเดินทัพมาพักที่เพชรบูรณ์ วัดมหาธาตุเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีความสำคัญต่อเมืองเพชรบูรณ์มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ทั้งในด้านการศึกษาโรงเรียนปริยัติธรรม ด้านการประกอบศาสนพิธีที่สำคัญ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในบริเวณตลาดเมืองเพชรบูรณ์อีกด้วย
12. สวนสาธารณะหนองนารี
ตั้งอยู่บนถนนรัฐวัฒนา เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 415 ไร่ เป็นพื้นน้ำ 263 ไร่ พื้นดิน 150 ไร่ อยู่ในเขตตำบลสะเดียง ติดกับเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ บริเวณหนองน้ำเป็นแหล่งพันธุ์พืช ประเภทบัวนานาชนิด แหล่งพันธุ์ปลาต่างๆ ตลอดจนนกหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพจากถิ่นอื่นตามฤดูกาล พื้นดินมีสภาพเป็นป่าไม้ เนื้อที่ประมาณ 102 ไร่ มีพันธุ์ไม้ต่างๆ ขึ้นอยู่หนาแน่น มีทั้งพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และไม้ที่ปลูกเพิ่มเติม อาทิ ประดู่ ตะแบก จามจุรี และยูคา สำหรับพื้นที่ที่เหลืออีก 45 ไร่ เป็นถนนรอบหนองน้ำและสวนหย่อม ปัจจุบันได้มีผู้บุกรุกพื้นที่หนองนารีเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ
เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ในสมัย นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์เป็นนายกเทศมนตรี ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ วางแผนปรับปรุงหนองนารี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทหนองน้ำขนาดใหญ่ ด้วยการพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับใช้เป็นสวนสาธารณะ 4 ด้าน ดังนี้
1. สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ด้วยการจัดทำสวนดอกไม้ สนามหญ้า สนามเด็กเล่น ศาลากลางน้ำ สะพานแขวน น้ำพุขนาดใหญ่ ห้องน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง ท่าน้ำ หอชมวิว เรียงหินใหญ่บริเวณหนองน้ำ พร้อมทำบันไดลงท่าน้ำและทำรั้ว 4 บริเวณ เปิด – ปิดเป็นเวลา
2. สถานที่ออกกำลังกาย สร้างถนนรอบหนองนารี จัดให้มีลานจอดรถเป็นจุดๆ สร้างลู่จักรยาน ลู่วิ่งรอบหนองน้ำ สวนสุขภาพ ลานเอนกประสงค์สำหรับออกกำลังกาย อัฒจันทร์ชมกีฬาทางน้ำ จัดบริเวณสนามแข่งจักรยานเสือภูเขาและป้ายแผนผังบริเวณรอบสวน
3. การจัดกิจกรรมและนันทนาการ จัดทำเวทีกลางแจ้ง ลานกิจกรรม และอัฒจันทร์นั่งชม ไฟฟ้า แสงสว่างทั่วบริเวณ ลานเอนกประสงค์
4. แหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สร้างนาฬิกาแดด ท้องฟ้าจำลอง หอดูดาว สถานีพลังลม สถานีภาวะเรือนกระจก สถานีพลังงานแสงอาทิตย์ สถานีพืชดึกดำบรรพ์ สถานีเลเซอร์ สถานีหิน สถานีการเรียนรู้ทางชีววิทยา อุทยานบัว และสถานีจำลองการเคลื่อนที่ทางอากาศ ฯลฯ
อนึ่ง ชื่อหนองนารีนั้น มีที่มาจากการที่ที่ดินบริเวณนั้น แต่เดิมมีการทำนากัน และได้ปั้นคันนาเป็นรูปโค้งรี ๆ ไม่ตัดตรงแบบคันนาที่อื่น ๆ จึงเรียกว่า บ้านนารี ต่อมาเมื่อสมัยเมืองหลวง ได้มีการสร้างถนนกั้นทางน้ำจนเกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ จึงเรียกชื่อว่า “หนองนารี”’>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook