ปอท.รุกต่อหลังออกหมายเรียกมือโพสต์กระพือปฏิวัติเข้าให้ถ้อยคำแล้วได้ผลในการยุติข่าวลือ ลุยตรวจสอบข้อความที่่ส่งผ่าน “ไลน์” โปรแกรมแชทชื่อดัง เผยส่งทีมงานไปญี่ปุ่นถกผู้บริหารเรียบร้อย มั่นใจได้รับความร่วมมือกรณีพบประเด็นกระทบต่อความมั่นคง ฉะไม่เหมือนผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียจากชาติตะวันตกที่เมินเฉยตลอด
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) กล่าวถึงการตรวจสอบข้อมูลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า ในฐานะที่ บก.ปอท.มีเครือข่ายทั้งกับภาครัฐและเอกชนทั่วโลก เนื่องจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ไม่มีพรมแดน และส่วนตัวยังเป็นรองประธานภูมิภาคเอเชีย เซาท์ แปซิฟิก ด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ของอินเตอร์โพล (องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ) ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอด ทำให้ทราบว่าขณะนี้หลายภูมิภาคกำลังขยับไปทำเรื่องสมาร์ทโฟน คือให้ความสำคัญกับสมาร์ทโฟนเป็นพิเศษ แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่คอมพิวเตอร์อย่างเดียวดังเช่นที่ผ่านมา
“เพราะปัจจุบันเราใช้สมาร์ทโฟนเสมือนเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ แต่เป็นคอมพิวเตอร์ที่พกติดตัวตลอดเวลา ทั้งถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ อัพโหลดข้อมูล โอนเงิน และเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค จึงต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูลที่่ส่งผ่านสมาร์ทโฟนด้วย”
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าแอพพลิเคชั่นยอดนิยมของผู้ใช้สมาร์ทโฟน นอกจากสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังอ ย่างเฟซบุ๊ค กับทวิตเตอร์แล้ว ยังมีการสื่อสารทางแอพพลิเคชั่น “ไลน์” ด้วย ซึ่ง พล.ต.ต.พิสิษฐ์ บอกว่า การแชร์ข้อมูลผ่านระบบไลน์ก็มีเครื่องมือตรวจสอบได้
“เคสไหนที่ผมจะเข้าไปดู ผมก็ดูได้ ทุกอย่างที่กระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์เราดูได้หมด” ผบก.ปอท.กล่าว
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ได้เปิดแถลงข่าวเรียกตัวผู้โพสต์ข้อความข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหารในช่วงชุมนุมทางการเมืองช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 4 ราย เข้าให้ถ้อยคำที่ บก.ปอท. โดยหนึ่งในนั้นคือ นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทั้งยังให้ข่าวเตือนว่า ผู้ที่กดไลค์หรือกดแชร์ข้อมูลที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย
ท่าทีดังกล่าวทำให้ บก.ปอท. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน 4 องค์กร ได้ออกจดหมายเปิดผนึกคัดค้าน ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ได้ออกแถลงการณ์เตือนว่าเป็นท่าทีที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ใช้อำนาจดังกล่าวอย่างจำกัดและรอบคอบระมัดระวัง
ส่งทีมไปญี่ปุ่นถกผู้บริหาร “ไลน์”
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ส่งทีมงานไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าพบกับผู้บริหารบริษัทที่ทำแอพพลิเคชั่นไลน์ และขอความร่วมมือในการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลที่ส่งผ่านระบบอันอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้วย
“เราไม่ได้ละเมิดสิทธิ เพราะเขาไปดูที่ต่างประเทศ อย่างนี้ว่าผมได้หรือเปล่า” ผบก.ปอท.กล่าว
เมื่อถามถึงผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์รายอื่น เช่น เฟซบุ๊ค หรือยูทิวบ์ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ผู้ให้บริการรายอื่นก็ได้เข้าไปพูดคุย แต่ส่วนมากไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ โดยเฉพาะบริษัทจากชาติตะวันตก
“คุยกันจนปากจะฉีกอยู่แล้ว แต่พวกนี้ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ทีจะเอาอะไรจากเราจะเอาให้ได้ แต่พอเราขอไปบ้างกลับไม่ค่อยให้ พวกนี้ทำมาหากินกับประเทศไทยแต่กลับไม่ให้ความร่วมมือ ฉะนั้นถ้าพลาดมาผมเล่นงานคุณแน่ เราน่าจะทำแบบประเทศจีน ขอความร่วมมือแล้วไม่ได้ก็บล็อคทั้งประเทศเลย แต่เราประเทศเล็ก ไม่ค่อยมีพลังต่อรอง” ผบก.ปอท.ระบุ
////////////////////////////////////////
กดไลค์…อาจกลายเป็นอาชญากร!
“กดไลค์ไม่ใช่อาชญากร” กลายเป็นข้อความยอดฮิตในโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ ในท่วงทำนองของการท้าทายต่อต้านการกระทำของตำรวจที่เปิดเกมรุกเล่นงานบุคคลและกลุ่มบุคคลที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหาร ในช่วงก่อนและระหว่างการชุมนุมทางการเมืองเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เพราะไม่ใช่แค่มือโพสต์เท่านั้นที่ถูกออกหมายเรียก แต่ตำรวจยังขู่ว่า แม้แต่คนที่ “กดไลค์” หรือ “แชร์” ข้อความ ก็มีสิทธิโดนซิวด้วยเหมือนกัน
งานนี้ร้อนถึง พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ผู้ที่เป็น “ต้นเรื่อง” และ “ผู้รับผิดชอบโดยตรง” ต้องออกมาชี้แจงแถลงไข…
@ ตอนนี้กระแสวิจารณ์ไปไกลว่าแค่กดไลค์ก็ผิดแล้วหรือ?
ต้องเป็นข้อความที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ การกดไลค์เท่ากับยอมรับข้อความอันนั้น เท่ากับสนับสนุน เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทำให้ข้อความดูมีน้ำหนัก จึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ
@ ต่างประเทศใช้มาตรฐานเดียวกันแบบนี้หรือเปล่า?
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับต่างประเทศ เพราะกฎหมายไม่เหมือนกัน ของเรามองเชิงป้องกัน ป้องปราม ซึ่งถือว่าคุ้ม บางคนใช้หลักกฎหมาย แต่ของเราใช้หลักรัฐศาสตร์
@ ตกลงกดไลค์ผิดหรือเปล่า แล้วที่ตำรวจทำแบบนี้คิดว่าผิดไหม?
ผิดไม่ผิดผมไม่รู้ แต่ถ้าไม่เชื่อ…ผมดำเนินคดีคุณได้ก็แล้วกัน ความผิดเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เรื่องกดไลค์ กับ แชร์ เข้ามาตรา 14 (5) ส่วนความผิดอาญาเข้าข่ายเล็งเห็นผล (ดูในล้อมกรอบข้อกฎหมาย)
@ ข้อความไหน ประโยคไหนของทั้ง 4 คนที่ถูกออกหมายเรียก ที่ตำรวจเห็นว่าเป็นความผิด?
ผมบอกตรงนี้ไม่ได้ แต่ข้อความโดยรวมของทุกคนที่ถูกเรียกตัวมาบอกจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร ให้ประชาชนเตรียมตัวกักตุนอาหารและน้ำ ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่มีมูลความจริง ถ้าคนอ่านแล้วเชื่อสักหมื่นสองหมื่นคนก็เกิดผลกระทบขึ้นแล้ว ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ชัดเจน
การดำเนินการของ ปอท.เราหวังผลเชิงจิตวิทยาในการปราม ไม่ได้ต้องการให้ 4 คนนี้เข้าคุกหรือติดตะราง เมื่อเรียกมาให้ปากคำแล้วบอกว่าไม่มีเจตนาก็ว่ากันไป แต่หลังจากที่มีข่าว คนก็ระวังมากขึ้น หลังจากที่ผมแถลงข่าวปรากฏว่าเงียบกริบเลย ผมมองความสงบเรียบร้อยในสังคมเป็นหลัก
@ สรุปว่าหลังจากนี้ห้ามกดไลค์…
ผมไม่ได้ห้ามกดไลค์ แต่ถ้าคุณไลค์ข้อความแบบนี้ผมก็จับคุณ
@ แล้วถ้าแชร์ผิดไหม?
แชร์มี 2 ประเภท ถ้าแชร์แล้วต่อเติมเสริมแต่งข้อความในเชิงสนับสนุน อย่างนี้ผิดแน่ แต่ถ้าแชร์แล้วคอมเมนต์ (แสดงความเห็นหรือวิจารณ์) ในเชิงวิชาการ หรือไม่เห็นด้วย อย่างนี้ไม่ผิด
@ ผลกระทบจากการส่งต่อข้อความแบบนี้ตามที่ตำรวจอ้างถึงคืออะไร?
หุ้นตกไหม ความเชื่อถือในสายตาต่างประเทศ เศรษฐกิจ การลงทุน มันกระทบหมด
@ จะดำเนินการกับทุกกรณีหรือไม่?
เอาเฉพาะกรณีความรุนแรงทางการเมือง เพราะถ้าป้องกันได้มันก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าไม่ป้องกัน ต่างประเทศเอาไปลงข่าว ความเชื่อมั่นก็หายหมด ฉะนั้นถ้าการกระทำของคุณเข้าองค์ประกอบความผิด เราก็เอาเรื่องคุณ
@ ตอนนี้มีการไปรณรงค์กันในโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยตั้งหัวข้อว่า “กดไลค์ไม่ใช่อาชญากร”
เป็นประเด็นที่เขายกขึ้นมา ไม่เป็นไร เพราะมันไม่ใช่ประเด็นข่าวลือ เป็นการเปลี่ยนแนวเล่น อย่างนี้ไม่ว่า ผมโอเค เพราะผลที่ได้รับคุ้มค่าแล้ว คุณเล่นข่าวลือไม่ได้แล้ว จะไปเล่นเรื่องกดไลค์ไม่ใช่อาชญากรก็เล่นไป ผมว่าผมทำงานบรรลุเป้าหมาย ฉะนั้นในทางปฏิบัติก็จบ ส่วน 4 คนที่เราแถลงข่าวไป ก็เป็นการเรียกมาถามว่ามีเจตนาอะไร ไม่ได้จะดำเนินคดี
@ การตรวจสอบการโพสต์ข้อความทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค เน้นคนที่มีชื่อเสียงด้วยหรือไม่ เพราะถือว่าทำให้คนอื่นๆ เชื่อตามได้?
เราไม่ได้มองไปที่คนมีชื่อเสียง แต่เป็นโชคดีของผม คือเมื่อตรวจสอบแล้วมีคนมีชื่อเสียงติดมาด้วย ก็เลยยิ่งเห็นผล
@ เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูหรือเปล่า?
ไม่มีเชือดไก่ บอกตรงๆ เลยนะ เราทำงานนี้ไม่มีสี ไม่มีกลุ่ม เพราะ 2 คนที่ถูกเรียกตัวก็เป็นเสื้อแดง อีกคนหนึ่งเป็นหน้ากากขาว
@ กระบวนการทำงานของ ปอท.ในเรื่องนี้เป็นอย่างไร?
ผมมีทีมมอนิเตอร์ทั้งที่นี่ (บก.ปอท.) และที่ ตร. (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) กรณีของ 4 คนนี้ ทีมของเราที่นี่เจอ เสิร์ชคำว่าปฏิวัติก็ขึ้นมาเลยว่า 4 คนนี้เป็นคนโพสต์ ไม่ได้ยากเย็นอะไร เราทำเป็นการทั่วไป ไม่ได้มีเป้าหมาย ไม่มี watch list (รายชื่อที่ถูกเฝ้าจับตา)
@ ประเมินหรือไม่ว่าตำรวจทำแบบนี้จะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์หนัก?
ผมรู้อยู่ก่อนแล้วว่าถ้าออกไปแบบนี้คนก็ด่า ก็ไม่เป็นไร ผมถือว่าผมทำงาน และทำได้บรรลุเป้าหมาย
@ คนที่โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คจะบอกได้ไหมว่าเขาไม่ได้มีเจตนาให้ใครมาเชื่อ เขาก็เขียนของเขา?
เฟซบุ๊คคุณเล่นคนเดียวไม่ได้…ต้องเข้าใจว่าการชุมนุมทางการเมืองกำลังเปลี่ยนรูปแบบ เราดูภาคสนามอย่างเดียวไม่ได้ จะดูแค่คนที่เปิดตัวออกมาชุมนุมไม่ได้ เพราะมันมีความเคลื่อนไหวทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งระดมคน นัดหมาย มีการถ่ายทอดการชุมนุมหรือการปราศรัยที่สามารถเปิดดูได้ผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ฉะนั้นข้อมูลเฉพาะภาคสนามไม่สามารถเอามาประเมินสถานการณ์ทางการเมืองได้แล้ว เพราะมันไปอยู่ในออนไลน์หมด โดยเฉพาะการเติม เสริม ต่อยอดความคิด และการปลุกระดม พอกดปุ่มปึ๊ง…คนก็ออกมา
งานของ ปอท.ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป ผมมีพาร์ทเนอร์ทั้งราชการ เอกชน เพราะอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรืออาชญากรรมเทคโนโยลีเป็น borderless คือไม่มีพรมแดน ต้องทำงานร่วมกันทั้งโลก ตอนนี้เรากำลังปรับโครงสร้าง ตั้งทีมมอนิเตอร์ใหม่ ใช้กำลังคนเป็นร้อยคน ผลัดเวรกันผลัดละ 10-20 คน จากปัจจุบันนี้มีแค่ 4-5 คน
@ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์เรื่องไหนที่น่ากังวลที่สุด มีจำนวนคดีที่เข้ามาเยอะที่สุด?
อันดับ 1 คือหมิ่นประมาททางออนไลน์ อันดับ 2 คือ แฮคอีเมล์ เป็นการแฮคทรานแซคชั่น (การติดต่อธุรกิจ) พวกธุรกิจส่งออก-นำเข้า คดีพวกนี้มีเป็นพันคดี ทุกประเทศโดนเหมือนกันหมด เฉพาะของเราความเสียหายเป็นพันล้าน วิธีการคือเขาแฮคอีเมล์ ซึ่งก็แฮคได้ทุกผู้ให้บริการ แล้วก็เข้าไปสร้างข้อความแจ้งให้ผู้ซื้อสินค้าโอนเงินไปยังบัญชีใหม่ อ้างว่าบัญชีเก่าติดปัญหาอะไรก็ว่าไป ผู้ซื้อที่ได้รับอีเมล์ก็หลงเชื่อ อาจจะเป็นเพราะติดต่อธุรกิจกันมานาน ก็โอนเงินไป ก็เรียบร้อย
@ อย่างนี้จะป้องกันอย่างไร?
ก็ป้องกันได้ไม่ยาก ถ้าผู้รับอีเมล์พบว่าอีกฝ่ายแจ้งเปลี่ยนบัญชี ก็ต้องตรวจสอบก่อน ไม่ใช่รับอีเมล์แล้วเชื่อเลย ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยปฏิบัติกันมา ขอให้ตรวจสอบก่อน ไม่มีอะไรยาก ก็แค่ยกหูโทรไปถาม
คดีอีกประเภทหนึ่งที่พบเยอะ คือการซื้อขายออนไลน์ ประเภทซื้อแล้วไม่ได้ของ หรือได้ของมาแต่เป็นของปลอม ของไม่ได้คุณภาพ ก็มีเข้ามาเยอะ
@ คดีเข้ามาเยอะขนาดนี้ ปอท.ทำไหวหรือ?
ตอนนี้กำลังถ่ายโอนคดีง่ายๆ ให้โรงพักไปทำเอง จริงๆ เราไม่ได้มองว่าเราทำไหวหรือไม่ไหว แต่เรามองประชาชนเป็นหลัก ถ้าประชาชนต้องเดินทางมาที่นี่ (บก.ปอท. ตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ) ทุกคดีก็คงไม่สะดวก เราก็ส่งทีมไปอบรมตำรวจทุกภาค ตอนนี้ทำในระดับภาคอยู่ ปีหน้าจะลงไปถึงระดับจังหวัด ส่วนเราจะเน้นทำเฉพาะคดีที่มีความซับซ้อน เกี่ยวพันหลายท้องที่
คุณรู้ไหมว่าทำไมคดีพวกนี้ถึงเกิดเยอะ สาเหตุที่เยอะเพราะเราเปิดเสรีเรื่องการท่องเที่ยว ด้านหนึ่งเป็นผลดี เพราะมีรายได้เข้ามา แต่อีกด้านหนึ่งพอประเทศเราเดินทางเข้ามาง่าย โจรก็ชอบมาอยู่ ยิ่งปี 2558 เปิดเออีซี (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) จะยิ่งไปกันใหญ่ แต่เรามีความร่วมมือทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่รวมไปถึงภูมิภาคอื่นๆ เช่น อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และผมยังเป็นหัวหน้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกใต้ของอินเตอร์โพล (ตำรวจสากล) ด้วย แต่ละปีก็นัดคุยกัน ก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เกิดแนวโน้มคดีอะไรใหม่ๆ บ้าง จะได้เตรียมรับมือ
ผมคิดโครงสร้างหน่วยนี้ขึ้นมาให้มีฝ่ายปฏิบัติการ (operation) ฝ่ายสอบสวน มีเทคโนโลยีสนับสนุน และมีทีมมอนิเตอร์ คือเบ็ดเสร็จครบวงจรที่นี่เลย ยึดของกลางมาเราก็ตรวจเองได้ มีทีม Forensic (ตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์) ด้วย
@ งบประมาณที่ได้รับเพียงพอหรือเปล่า?
เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ เราจึงไปใช้งบของไอซีที (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ส่วนหนึ่งด้วย เอา บก.ปอท.ไปผูกกับกระทรวงไอซีที ซึ่งมีช่องทางไปได้ เพราะรัฐมนตรีไอซีทีเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อยู่แล้ว และทางไอซีทีตามโครงสร้างของเขาก็มีส่วนปราบปราม แต่เขาทำไม่ได้ เพราะคนของเขาโอนมาจากสารพัดหน่วย และไม่มีองค์ความรู้เรื่องการสืบสวนปราบปราม ซึ่งเรื่องแบบนี้จบดอกเตอร์มาก็ทำไม่ได้
ผมก็เลยบอกกับปลัดกระทรวงไอซีทีไปเมื่อปีที่แล้วว่า งานในส่วนของการปราบปรามให้มาใช้หน่วยผม (บก.ปอท.) อย่าไปใช้ของตัวเอง ก็เลยทำงานร่วมกันมา และได้งบประมาณมา 150 ล้านบาท จากที่อยู่กับ ตร.ได้ 30 ล้านบาท
การทำงานเราใช้เครือข่าย เช่น เครือข่ายแฮคเกอร์เราก็มี ผมไม่ต้องการดอกเตอร์ แต่ต้องการนักสืบเก่งๆ เรื่องคอมพิวเตอร์สามารถมาฝึกงาน เรียนรู้ และต่อยอดได้ เพราะนักสืบเก่งๆ ถาม A เขาไม่ได้ตอบแค่ B แต่เขาคิดต่อไปอีกว่า B มาจากไหน ทำไมต้องเป็น B แต่คนทั่วไปอาจจะแค่ถาม A ตอบ B แล้วจบ
////////////////////////////////////////////////////
หมายเหตุ : ข่าวชิ้นแรกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 13 ส.ค.2556 ส่วนบทสัมภาษณ์ชิ้นหลัง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 11 ส.ค.2556
ขอบคุณ : ภาพแรกจากอินเทอร์เน็ต ภาพที่ 2 จากเว็บไซต์ www.bangkokbiznews.com‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook