เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นายดำรงค์ พิเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตนกำลังทำแผนยึดคืนพื้นที่ป่าต้นน้ำ ใน อ.นครชัย จ.พิษณุโลก อ.หล่มสัก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ และ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่ก่อนหน้านี้ประมาณ 5 ปี หรือราวปี 2551 มีนายทุนจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปบุกรุกป่า โดยการว่าจ้างและซื้อขายแบบปากเปล่ากับชาวบ้านในพื้นที่รอบข้าง และเข้าไปปลูกยางพารา โดยมีการขยายพื้นที่ปลูกออกไปเรื่อยๆ จนขณะนี้พื้นที่ป่าต้นน้ำบนภูเขาใน 3 จังหวัดดังกล่าวเต็มไปด้วยสวนยางพารา จึงไม่น่าแปลกใจเลย หากมีฝนตกหนักเมื่อใด จะมีดินถล่ม สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านทุกครั้ง เพราะไม่มีต้นไม้ใหญ่ยึดหน้าดิน ทั้งนี้ ยางพาราเป็นไม้ที่ไม่มีรากแก้วสำหรับยึดหน้าดิน เหมือนไม้ใหญ่ยืนต้นที่เคยขึ้นดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่
“ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติเคยบุกจับการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ พบแต่ชาวบ้านที่มารับจ้างเฝ้าสวนยางเท่านั้น ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ รู้เพียงคำบอกเล่าว่า เป็นนายทุนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเข้าไปบุกยึดคืนพื้นที่ จึงสามารถดำเนินการได้ โดยใช้มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการรื้อถอน หรือทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติคืนสภาพเดิมได้ทันที” นายดำรงค์กล่าว
นายดำรงค์กล่าวว่า พื้นที่ป่าต้นน้ำที่ถูกบุกรุกเกือบทั้งหมดอยู่ในป่าลึกบนภูเขา โดย 80% เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ และอีก 20% เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก่อนหน้านี้ ภายหลังการจับกุมแล้วไม่มีการสานงานต่อ เพราะกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมป่าไม้นั้น มีเจ้าหน้าที่น้อยมาก ดังนั้น จึงวางแผนว่า จะจัดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติจากทั่วประเทศ 8,000 นาย และเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้อีก 2,000 นาย สนธิกำลังกันเข้าไปฟันทิ้งต้นยางจำนวน 10,000 ไร่ เหี้ยนเตียนให้หมด เพื่อฟื้นคืนสภาพเป็นป่าต้นน้ำเหมือนเดิมให้เร็วที่สุด ได้รับรายงานว่า ยางที่ปลูกส่วนใหญ่เวลานี้ อายุไม่เกิน 5 ปี ไม่น่าจะต้นใหญ่มากนัก การฟันทิ้งคงทำได้ไม่ยาก
“ผมเห็นว่า ถ้าปล่อยเอาไว้อย่างนี้ ต่อไปป่าต้นน้ำบนภูเขาแถบนั้นจะหมดแน่นอน เพราะการบุกรุกนั้น มีการขยายพื้นที่ลุกลามออกไปเรื่อยๆ จากเดิมไม่กี่สิบไร่ จนวันนี้กลายเป็นหมื่นไร่ และอาจมากกว่านี้ ที่สำคัญคือการทำสวนยางพาราบนภูเขาที่เป็นป่าต้นน้ำนั้น มีการใช้ยาฆ่าหญ้าจำนวนมหาศาล เมื่อฝนตกลงมา น้ำฝนก็ชะเอาดินผสมน้ำยาฆ่าหญ้าไหลลงมาตามร่องน้ำลงไปปนเปื้อนตามแหล่งน้ำต่างๆ เพิ่มมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นอีกด้วย” นายดำรงค์กล่าว
เมื่อถามว่า จะดำเนินการเรื่องนี้เมื่อใดและมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ผู้ช่วยรัฐมนตรี ทส. กล่าวว่า น่าจะดำเนินการได้ไม่เกินกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ กำลังจะทำเรื่องแจ้งไปยังนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรี ทส. ให้ทราบเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันแรกที่มารายงานตัว การทำงานวันแรกที่ ทส.ตนก็ได้แจ้งปัญหาเรื่องนี้ให้นายวิเชษฐ์ทราบเบื้องต้นแล้ว
“ปัญหาแบบเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นอีกหลายพื้นที่เลย โดยเฉพาะการลักลอบบุกรุกเข้าไปปลูกยางในพื้นที่ป่าต้นน้ำบนภูเขา เป้าหมายต่อไปหลังจากดำเนินการที่ จ.พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และ เลยแล้ว คือ จ.สงขลา ซึ่งชาวบ้านชมรมอนุรักษ์เทือกเขาผาดำได้ร้องเรียนเข้ามาว่า มีนายทุนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ คลองหอยโข่งบนเทือกเขาบรรทัด กว่า 5,000 ไร่ และมีแนวโน้มว่าจะขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ ชาวบ้านไม่สามารถต่อสู้กับอิทธิพลของกลุ่มนายทุนดังกล่าวได้ จึงร้องเรียนมาที่ตน ซึ่งตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ที่นายทุนเข้าไปบุกรุกนั้น เป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นพื้นที่ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย” นายดำรงค์กล่าว
ผู้ช่วยรัฐมนตรี ทส. กล่าวว่า ตนไม่ได้ต่อต้านการปลูกยางพาราและรู้ว่ายางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับประเทศไทย แต่การจะปลูกพืชชนิดใดก็ตาม ต้องปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่ใช่บุกรุกป่า ตัดต้นไม้ธรรมชาติทิ้งแล้วเข้าไปปลูก อย่างนี้ผิดกฎหมายและเป็นการทำลายธรรมชาติอย่างรุนแรง’>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook