น้ำสัก..สายน้ำแห่งชีวิต .. เส้นโลหิตใหญ่แห่งเพชรบูรณ์ !!
ดร.วิศัลย์โฆษิตานนท์ wison_k@hotmail.com
แม่น้ำป่าสักหรือที่คนพื้นบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำตลอดทั้งสายทั้งหล่มเก่า หล่มสักและเพชรบูรณ์ ได้พากันเรียกลำน้ำสายนี้ว่า”น้ำสัก” หรือ “คลองน้ำสัก” … แม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายหลักเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ไหลหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมากมายมานานแสนนานแม่น้ำป่าสักไหลผ่ากลางพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ตั้งแต่เหนือจรดใต้และยังประกอบด้วยลำน้ำสาขามากมายที่ไหลจากเทือกเขาทั้งทิศตะวันออกและตะวันตกไหลลงมารวมกันสู่แม่น้ำสายนี้ ยังความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่การเกษตรของจังหวัดเพชรบูรณ์มาโดยตลอด
แม่น้ำแห่งนี้นี่เองได้ก่อให้เกิดตำนานและนิทานพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องกับลำน้ำแห่งนี้มากมาย เช่นตำนานขอนไม้มาด ตำนานแม่นางผมหอม ตำนานอุ้มพระดำน้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งก่อให้เกิดภูมิปัญญาต่างๆ มากมายอันเป็นอัตลักษณ์ของคนเพชรบูรณ์โดยเฉพาะ อย่างการจับปลาในแม่น้ำที่ไม่เหมือนที่อื่นๆ เช่น การตักปลาเน่า การลากดาง การลากโซ่ วางเบ็ดราว หรือการวางอีจู้ เป็นต้น .. นอกจากนั้น แม่น้ำป่าสักยังได้เป็นชื่อต้นกำเนิดก่อให้เกิดชื่อหมู่บ้านตำบลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่นสักง่า สักหลง สักงอย สักแห้ง คลองป่าสัก และหล่มสัก
แม่น้ำป่าสักในช่วงเขตจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นช่วงต้นน้ำ เริ่มต้นตั้งแต่ตอนเหนือของ อ.หล่มเก่า ที่บ้านสักง่า รอยต่อกับอ.ด่านซ้าย จ.เลย ไหลจากเหนือจรดใต้ผ่าน 7 ใน 11 อำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์มีความยาวในช่วงเพชรบูรณ์ถึง อ.ศรีเทพ ประมาณ 400 กม. ผาดผ่านผ่ากลางพื้นที่ของจังหวัดมีลำน้ำสาขาไหลลงจากภูเขาทิศตะวันออกและตะวันตก ไหลมาลงแม่น้ำป่าสักมากมายหลายสาย เช่นน้ำพุง น้ำก้อ น้ำชุน ห้วยขอนแก่น น้ำดุก น้ำคำ น้ำคล้า น้ำเค็ม ห้วยป่าเลาห้วยป่าแดง น้ำจาง ห้วยใหญ่ ห้วยเฉลียงลับ ห้วยนา ห้วยลำกง ห้วยเล็ง ฯลฯเปรียบเสมือนกางปลาที่มีก้างเล็ก ๆ ไหลมารวมกับกระดูกปลาอันใหญ่ตรงกลาง
เนื่องจากเป็นช่วงต้นแม่น้ำ แม่น้ำป่าสักในจังหวัดเพชรบูรณ์จึงมีขนาดเล็กคดเคี้ยวและตลิ่งชันมาก โดยมีระดับท้องแม่น้ำในช่วง อ.หล่มเก่า จนถึงในช่วง อ.ศรีเทพมีระดับท้องน้ำต่างกันถึงกว่า 60 เมตร ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้แม่น้ำป่าสักในช่วงหน้าน้ำน้ำจะไหลแรงเชี่ยวกราก ไหลบ่าท่วมสองตลอด 2 ฝั่ง น้ำขึ้นเร็วและลงเร็วมากแต่เมื่อหน้าแล้ง หมดหน้าน้ำ น้ำจะแห้งขอดไปหมดทั้งลำน้ำแทบไม่มีน้ำเหลืออยู่ในลำน้ำ จนสามารถที่จะเดินข้ามแม่น้ำไปได้เลย
ชื่อของน้ำสัก นั้น ได้ยินมาจากผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนเล่าให้ฟังตรงกันทั้งหมดว่าเรียกตามลักษณะของการไหลของน้ำป่าที่ไหลอยู่ในลำน้ำ อันมีลักษณะเชี่ยวกราก ไหลแรงเร็ว แทบเรียกว่าไหลสักทิ่มลงไปหรือแทบจะไหลทิ่มโดดข้ามกันลงไปเลย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตั้งชื่อลำน้ำตามลักษณะการไหลของน้ำในลำน้ำซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับลำน้ำอื่น ๆ ที่มีการตั้งชื่อแบบเดียวกัน เช่น น้ำก้อ น้ำชุน น้ำพุง น้ำดุก น้ำคำ น้ำลาด น้ำหลุม น้ำเลน น้ำจาง น้ำโจน น้ำวิ่ง น้ำลัด ฯลฯก็จะเห็นได้ว่า เป็นพฤติกรรมในการตั้งชื่อลำน้ำของผู้คนในพื้นที่นี้ที่สอดคล้องกัน คือ เรียกชื่อลำน้ำต่าง ๆ ตามลักษณะทางกายภาพของสายน้ำหรือลักษณะการไหลของน้ำนั่นเอง
ชื่อน้ำสักหาได้มีชื่อตาม ต้นไม้ต้นสัก แต่อย่างใดไม่ ซึ่งก็น่าจะตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่เพราะในเขตต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสักนี้ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องราวหรือร่องรอยของดงไม้สักหรือป่าไม้สักหรือดงต้นสัก มากมายอย่างมีนัยยะสำคัญถึงกับจะนำมาตั้งเป็นชื่อแม่น้ำแห่งนี้ได้เลย
นอกจากนั้น เนื่องจากในลำน้ำสักมีน้ำป่าที่ขุ่นแดงไหลเชี่ยวกรากอยู่ในช่วงหน้าน้ำบางครั้งชาวบ้านจึงมีการเรียกว่า น้ำป่าสัก หรือคลองป่าสัก ด้วย …ส่วนคำว่า แม่น้ำ ก็คงเป็นคำที่มาจากภาคกลางที่นิยมเรียกลำน้ำว่าแม่น้ำและกลายมาเป็นภาษาราชการ ที่ให้เรียกลำน้ำสำคัญเป็นแม่น้ำทั้งหมด … จากน้ำสักจึงกลายมาเป็นแม่น้ำป่าสักด้วยประการฉะนี้ …
น้ำสักของคนเพชรบูรณ์ หรือแม่น้ำป่าสัก ตามภาษาราชการ .. ในช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นส่วนของต้นน้ำที่มีลักษณะเฉพาะตัว แตกต่างจากลำน้ำอื่น .. น้ำสักนอกจากจะอำนวยความอุดมสมบูรณ์แล้วยังสอนให้คนเพชรบูรณ์รู้จักปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ เคารพยำเกรงในธรรมชาติ ..น้ำสัก เป็นต้นกำเนิดชีวิต วิถีชาวบ้าน การทำมาหากิน ตำนาน ความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นมากมาย .. คนเพชรบูรณ์มีวิถีชีวิตที่มีความผูกพันกับน้ำสักเป็นอย่างยิ่งและจะเป็นเช่นนี้อีกนานแสนนาน … พวกเราภูมิใจที่เกิดเป็นลูกน้ำสักครับ !!
‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook