LINE : ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์

ยินดีต้อนรับสู่เพจข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์

วันพฤหัสที่ 19 ธันวาคม 2024
คอลัมน์วันนี้

“เสาหลักเมืองกลางหุบเขา อนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์”

20100811111748

 

“เสาหลักเมืองกลางหุบเขา อนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์” ในช่วงปี พ.ศ.2485 ถึงปี พ.ศ.2486 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพา ในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในสภาวะอันวิกฤติและคับขันที่สุด กรุงเทพมหานคร (กทม.) ถูกโจมตีจากการทิ้งระเบิดอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้ ทางคณะรัฐมนตรี โดยมีท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยนั้น ได้พิจารณาที่จะย้ายเมืองหลวงของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้เมืองหลวงของไทยอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยห่างไกลจากโจมตีจากอริราชศัตรู โดยมีการย้ายหน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และนำทรัพย์สมบัติ สิ่งของมีค่าของท้องพระคลังมาหลบซ่อนที่เพชรบูรณ์ด้วย นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ได้เผยว่าเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ได้ทำการก่อสร้างอนุสรณ์ขึ้น ณ บริเวณศูนย์กลางเมืองเพื่อเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ ช่วงหนึ่งของประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นเหตุการณ์ที่เพชรบูรณ์ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงของประเทศและนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่เมืองเพชรบูรณ์เป็นอย่างมาก จึงขอนำเรื่องนครบาลเพชรบูรณ์ ที่เกือบจะได้เป็น “เมืองหลวง” ของประเทศไทยมาเผยแพร่ต่อประชาชน ดังต่อไปนี้……..นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ได้ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในช่วงนั้นได้มีแผนการสร้างเมืองหลวงใหม่โดยใช้ชื่อว่า “นครบาลเพชรบูรณ์” โดยออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีคำสั่งเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2486 และดำเนินการประกาศพระราชกำหนด (พรก.) จัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ กำหนดให้ราชการบริหารส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นนครบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เล็งเห็นว่าเพชรบูรณ์ มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เพราะมีชัยภูมิเหมาะสม มีภูเขาล้อมรอบ มีเส้นทางคมนาคมเข้าออกเพียงทางเดียว มีภูมิประเทศสวยงาม อากาศดี อยู่กึ่งกลางของประเทศ หรือที่เรียกว่า “สะดือ” ของประเทศไทย เป็นจุดศูนย์ระหว่างกลางภาคเหนือกับภาคอีสานและกรุงเทพฯ ได้มีการทำพิธีสร้างเสาหลักเมืองนครบาลที่บ้านบุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2487 ส่วนที่ทำการราชการต่าง ๆ ที่ได้สร้างไว้เป็นลักษณะชั่วคราว คือจักสาน ไม้ไผ่ ดินเผา ซึ่งได้เสื่อมสภาพหมดแล้วในปัจจุบันนี้ คงเหลือแต่เพียงเสาหลักเมืองนครบาลเท่านั้น จึงได้มีการจำลองมาสร้างเป็นอนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์ ………รัฐบาลท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามในขณะนั้นได้เกณฑ์คนมาสร้างเมืองหลวงใหม่และสร้างถนนสายตะพานหิน-เพชรบูรณ์ อันเป็นเส้นทางคมนาคมเพียงทางเดียวในสมัยนั้น ได้มีการเกณฑ์แรงงานมาจาก 29 จังหวัด จำนวนนับแสนคนจึงเกิดคำว่า คนเกณฑ์ ขึ้น คนเกณฑ์ได้ประสบความยากลำบากจากการทำงานและเจ็บป่วย ล้มตาย ด้วยไข้มาลาเรียจำนวนมาก นอกจากนั้น เพื่อประโยชน์ในการยุทธ์ จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มพลเมืองในจังหวัดเพชรบูรณ์ให้มากขึ้นโดยเร็ว รับบาลจึงใช้วิธีอพยพราษฎร จากจังหวัดต่าง ๆ มากมาย มาตั้งบ้านเรือนและทำมาหากินในเพชรบูรณ์ เพื่ออาศัยให้เพาะปลูกเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารแก่หน่วยทหาร และอาศัยแรงงาน การอพยพนี้เป็นการชักชวนให้มาทำมาหากิน ทางราชการจัดการขนส่ง และจัดแบ่ง ที่ทำกินให้ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก และให้ทุนเริ่มแรกตามสมควร ……….

 

ได้มีการย้ายส่วนราชการสำคัญต่าง ๆ มาที่เพชรบูรณ์ เช่น กระทรวงการคลัง ตั้งที่ถ้ำฤาษี (ปัจจุบันเรียกถ้ำสมบัติ) ต.บุ่งน้ำเต้า ได้ขนย้ายพระคลังสมบัติทรัพย์สินของชาติ ทรัพย์ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ และปรากฏหลักฐานว่ามีการขนย้ายพระแก้วมรกตมาเก็บรักษาไว้ ณ ที่นี้ด้วย มีการก่อสร้างที่ทำการ ตลอดจนการปรับปรุงถ้ำเก็บทรัพย์สมบัติให้มั่นคงปลอดภัย ปัจจุบันยังมีป้อมยามและฐานปืนกลเป็นซากให้เห็นอยู่หน้าและบนปากถ้ำ นอกจากนั้นยังมีการสร้างกระทรวงยุติธรรม ที่บ้านห้วยลาน ตั้งกระทรวงมหาดไทย ที่บ้านบุ่งคล้า กระทรวงอุตสาหกรรม ที่บ้านติ้ว กระทรวงเกษตร ที่บ้านน้ำคำ มีการตั้งสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ ณ บริเวณน้ำตกห้วยใหญ่ บ้านป่าแดง มีแผนสร้างบ้านพักผ่อนนายกฯ ที่ บึงสามพัน ยอดเขารัง และบ้านน้ำก้อ ………..

สำหรับด้านการทหาร ได้ย้ายโรงเรียนนายร้อยทหารบก มาตั้งที่บ้านป่าแดง ต.ป่าเลา มีการตั้งค่ายทหารพิบูลศักดิ์ ที่ ต.หนองไขว่ ตั้งกระทรวงกลาโหม ที่บ้านท่าพล ย้ายกองทัพอากาศมาที่บ้านสักหลง อ.หล่มสัก ซึ่งแต่เดิมวางแผนย้ายมาที่ท่าโรง วิเชียรบุรี นอกจากนั้นยังมี กรมยุทธโยธา คลังแสงและโรงงานช่างแสง กรมพลาธิการ กรมยุทธศึกษา กรมเสนาธิการทหารบก กรมเสนารักษ์ทหารบก กรมเชื้อเพลิง ฯลฯ ต่างก็ได้โยกย้ายมาอยู่ที่เพชรบูรณ์และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเมืองหลวงใหม่ตามนโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ……….

มีการสร้างถนนชัยวิบูลย์ จาก อ.ชัยบาดาล ผ่านวิเชียรบุรี มาบรรจบสายตะพานหิน – เพชรบูรณ์ มีคำสั่งให้สร้างและบำรุงทางสายหลักของเพชรบูรณ์ ตั้งแต่เชิงเขาวังชมภูถึงค่ายทหารบ้านหินฮาว อ.หล่มเก่า และยังได้มีการวางแผนสร้างทางรถไฟ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี มาที่ จ.เพชรบูรณ์ จนถึง จ.เลยด้วย นอกจากนั้น ยังมีคำสั่งย้ายกรมโยธาเทศบาลมาอยู่บ้านยาวี จัดการสร้างกรมไปรษณีย์ กรมทางและกรมขนส่งที่บ้านท่าพล ……….

มีการวางผังเมืองกำหนดให้กระทรวง ทบวงกรมต่าง ๆ ได้กระจายทั่วจังหวัด โดยมิให้รวมกระจุกตัวกันอยู่ในเมืองเหมือนในกรุงเทพฯ การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ได้ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในขณะนั้น จึงได้มีการจัดงบประมาณเพิ่มเติมมาเพื่อสร้างศาลากลางเพชรบูรณ์และย้ายทำเนียบรัฐมนตรีมายังเพชรบูรณ์ ซึ่งในยุคนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้ พลตรี อุดมโยธา รัตนะวดี เป็นผู้อำนวยการสร้างเมืองหลวงใหม่ มีหน้าที่สำคัญคือกำหนดผังเมืองและอำนวยการสร้างในเขตชุมชนหนาแน่นได้แก่ บริเวณเมืองเพชรบูรณ์ และ บริเวณหล่มสัก – หล่มเก่า เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2486 ได้ประกาศปรับปรุงเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ให้เทศบาลนครเพชรบูรณ์ เพื่อรอรับการก่อสร้างและการขยายตัวเมืองหลวงใหม่ มีการก่อสร้างบ้านบัญชาการนายกรัฐมนตรีที่ริมแม่น้ำป่าสักเรียกว่า “บ้านสุขใจ” จนกระทั่งมีการแต่งตั้ง พ.อ.ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม เป็นรองนายกรัฐมนตรี ประจำนครบาลเพชรบูรณ์ อีกด้วย …………

จัดตั้งกระทรวงศึกษา บ้านหนองแส ต.บุ่งคล้า แม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังมีแผนที่จะต้องอพยพมาเปิดสอนที่เพชรบูรณ์ โดยจะสร้างที่บ้านไร่ ต.สะเดียง แต่ขณะนั้น ร.ร.เตรียมจุฬาฯ อาศัยที่ ร.ร.เมืองเพชรบูรณ์อยู่ชั่วคราว ในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สั่งการให้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลายแห่งทั้งในตัวเมืองและหน่วยราชการ มีการเพิ่มโทรศัพท์ ให้พอเพียงแก่ความต้องการของราชการ ปรับปรุงกิจการโทรเลข มีการสร้างโรงหนังไทยเพชรบูล สโมสรรัตนโกสินทร์และโรงแรมขึ้นในเขตเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อบรรดาข้าราชการจะได้ใช้เมื่อเวลามาตราตรวจตราราชการ มีการสั่งการให้สร้างตลาดสนและอาคารทั้ง 3 แห่ง คือ ตลาดเพชรบูรณ์ ตลาดวังชมภู และตลาดหล่มสัก ซึ่งทุกแห่งต้องมีโรงมหรสพ มีการออกหนังสือพิมพ์เป็นประชาสัมพันธ์ ชื่อ เพชรบูลชัย ……….

ได้มีการสั่งให้ย้ายโรงพิมพ์ทุกประเภทมาที่เพชรบูรณ์ เพื่อเวลาทางกรุงเทพฯ ถูกโจมตีทางอากาศ ไม่สามารถทำงานได้ จะได้ใช้โรงพิมพ์ตั้งใหม่ที่เพชรบูรณ์ พิมพ์หนังสือราชการ และจัดตั้งโรงพิมพ์กรมแผนที่ทหารที่หนองนายั้ง ซึ่งได้เคยมีการจัดพิมพ์ธนบัตรที่โรงพิมพ์แห่งนี้ด้วย มีการจัดตั้งโรงเลื่อยที่วังชมภูดำเนินการโดยกรมยุทธโยธา สร้างกระทรวงสาธารณสุขที่บ้านวังซอง ต.ท่าพล สร้างโรงพยาบาลที่ร่องแคน้อย ต.สะเดียง และให้ชักชวนผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้มารับเหมางานที่เพชรบูรณ์เพราะมีการก่อสร้าง ทั้งส่วนราชการและเอกชนจำนวนมาก หากไม่มีใครมา ก็ต้องเกณฑ์ให้มาทำงาน ……….

การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ ได้ดำเนินการโดยเร่งด่วน และถือเป็นความลับของราชการของตลอดมา เพื่อมิให้ข้าศึก (ญี่ปุ่น) ล่วงรู้แผนการ กระทั่งเมื่อสงครามเลิก รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เสนอ พระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ.2487 ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2487 เพื่ออนุมัติให้เป็นพระราชบัญญัติ มีผลดำเนินการอย่างถาวรตลอดไป แต่ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติ ด้วยคะแนน 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลทางการเมืองโดยมีการบันทึกในรายงานการประชุมว่า “เพชรบูรณ์เป็นแดนทุรกันดาร ภูมิประเทศเป็นป่าเขา และไข้ป่าชุกชุม เมื่อเริ่มสร้างเมืองผู้คนล้มตายลงนับเป็นพัน ๆ คน …….”

……….อนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์ จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการรำลึกถึงบุญคุณและอัจฉริยภาพของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้มีคุณูปการต่อเพชรบูรณ์และเพื่อให้คนเพชรบูรณ์จะได้มีสำนึกภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง และจะได้เปรียบเทียบความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองของบ้านเมืองของตน จากวันนั้นจนมาถึงวันนี้

                                ดวงตะวันลับเหลี่ยม ภูผานี้      ล่วงราตรีก็แจ้ง เปล่งแสงใส
                                   ดุจดังเพชรบูรณ์ นครไกล     จะสดใสคงอยู่ คู่ฟ้าดิน

                           (บทเพลงที่ใช้รำในพิธียกเสาหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์ เมื่อ 23 เม.ย. 2487)

 โดย วิศัลย์ โฆษิตานนท์

‘>

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook

คอลัมน์วันนี้ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด