เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
หล่มเก่า : วิถีไทหล่ม
ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ wison_k@hotmail.com
จากเดิมในอดีต ..เพชรบูรณ์เคยเป็นเมืองปิดที่ไม่ค่อยมีผู้คนรู้จัก เพราะมีภูเขาโอบล้อมรอบและไม่มีเส้นทางที่จะใช้ผ่านไปยังเมืองสำคัญอื่น ๆ แต่ปัจจุบันด้วยเส้นทางคมนาคมที่สะดวกขึ้นและด้วยจุดทำเลที่ตั้งซึ่งไม่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ทำให้เพชรบูรณ์มีชื่อเสียงโด่งดัง คนรู้จักกันทั้งประเทศในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งโดดเด่นไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น เขาค้อ ภูทับเบิก น้ำหนาว และตาดหมอก ฯลฯ อย่างไรก็ตามศักยภาพการท่องเที่ยวของเพชรบูรณ์ใช่ว่าจะมีแค่เพียงเท่านี้ ยังมีการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถพัฒนาให้เป็นที่น่าสนใจและจะช่วยเติมเต็มการท่องเที่ยวของเพชรบูรณ์ให้สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี … นั่นคือ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม … โดยเฉพาะ “วัฒนธรรมไทหล่ม” ที่มีความงดงาม โดดเด่นและมีอัตลักษณ์สูง มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ “หล่มเก่า” ซึ่งในปัจจุบัน กลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมนี้ ยังปรากฏให้เห็นและสัมผัสจับต้องได้ หล่มเก่า เป็นอำเภอที่อยู่ตอนเหนือสุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ริมลำน้ำพุงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก มีภูเขาขนาบ 3 ข้างคือ ทิศตะวันออก ตะวันตกและทิศเหนือ บริเวณนี้มีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก ตามประวัติความเป็นมาคือ บริเวณแห่งนี้เป็นที่ตั้งบ้านเมืองดั้งเดิม เป็นชุมชนมั่นคงมาช้านาน โดยมีชื่อว่า เมืองลุ่มหรือเมืองหล่มและเมืองหล่มสัก เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายเดียวกับคนลาวหลวงพระบางที่ได้อยู่อาศัยแผ่ขยายครอบคลุมต่อเนื่องลงมาในพื้นที่ทางใต้ทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทยรวมถึงแถบแม่น้ำป่าสักตอนบน คนหล่มจึงมีวัฒนธรรม ประเพณีและภาษาของตนเองที่มีอิทธิพลจากวัฒนธรรมล้านช้างอย่างชัดเจน แต่ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ พระสุริยวงษาฯ (คง) เจ้าเมืองหล่มสักเห็นว่าการติดต่อค้าขายและการคมนาคมได้เปลี่ยนทิศทางไปโดยให้ความสำคัญกับการติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองทางใต้โดยใช้เส้นทางแม่น้ำป่าสักแทน จึงทำการสร้างเมืองหล่มสักขึ้นใหม่ที่ริมแม่น้ำป่าสัก และเมืองหล่มเดิมนี้จึงถูกเรียกว่า หล่มเก่า นับแต่นั้นเป็นต้นมา บทความนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวโดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อรวบรวม เรียบเรียง และนำเสนอศักยภาพด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นการกระตุ้นให้นำไปสู่การพัฒนา หล่มเก่า ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบูรณ์ให้ได้ในอนาคต โดยใช้ชื่อว่า “หล่มเก่า : วิถีไทหล่ม” ดังนี้ ด้านลักษณะของผู้คน คนหล่มสืบเชื้อสายมาจากคนลาวที่มีถิ่นกำเนิดจากเมืองหลวงพระบาง ที่คนไทยเคยเรียกว่า ลาวพุงขาว ที่ในอดีตเคยนิยมการสักขาตั้งแต่หน้าขายาวลงมาจนคลุมเขาทั้ง 2 ข้าง ภาษาที่ใช้พูดกันก็เป็นแบบลาวหลวงพระบาง แม้จะมีสำเนียงหางเสียงต่างกันไปนิดหน่อยในแต่ละสถานที่ก็ตาม ซึ่งภาษาหล่มนี้มีเอกลักษณ์ที่ฟังไพเราะ มีโทนเสียงงดงาม นุ่มนวลเหมือนภาษาล้านนาแต่ศัพท์จะเป็นแบบภาษาอีสาน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะโดยสภาพทางกายภาพที่ตั้งของพื้นที่ วัฒนธรรมไทหล่มนี้ก็จะอยู่ระหว่างกลางของ 2 วัฒนธรรมดังกล่าว จึงทำให้ภาษาหล่มเป็นการเซาะกันระหว่าง 2 ภาษานั่นเอง คนหล่มเป็นคนมีอัธยาศัยดี มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความจริงใจและให้ตอนรับแขกต่างบ้านอย่างดียิ่ง แสดงให้เห็นถึงสังคมของคนหล่มอยู่ร่วมอย่างอบอุ่นและเอื้ออาทรต่อกันมาช้านาน ด้านวิถีชีวิตและอาหารการกิน วิถีชีวิตคนหล่มเก่าจะเรียบง่าย และรู้จักกันแทบจะทุกคนทุกหลังคาเรือน ผู้คนนับถือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตรกันเป็นประจำ ชีวิตคนหล่มจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ ทั้งการเตรียมทำงานบ้านและออกไปทำมาหากิน ที่ตลาดสดเมืองหล่มเก่าก็น่าเดินเล่นเป็นอย่างยิ่งเพราะยังคงความเป็นพื้นบ้านและมีวัตถุดิบของสดมากมายที่สามารถนำไปปรุงอาหารบ้านพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ตามฤดูกาลได้ เช่น ผักบีกั้ง แจ่วขี้ปู แจ่วขี้ปลา หมกอีฮวก แกงน้องวัว น้ำยาออดอ้อ น้ำยาปู อูดลูดหน่อไม้ หมกปู ไส้กรอก หมกหน่อไม้ หมกหยวก ซุปบักมี้ ซ่าแตง ฯลฯ ส่วนของกินที่ขึ้นชื่อของหล่มเก่าที่โด่งดังไปทั่วประเทศ ซึ่งใครมาถึงเมืองหล่มเก่าจะต้องมาชิมลิ้มรสชาติกันทุกคน นั่นคือ ขนมเส้นหล่มเก่า ที่ใช้วิธีบีบเส้นสด มีน้ำผสมและเครื่องเคียง ผักแกล้มมากมาย และที่สำคัญที่สุด หล่มเก่าเป็นแหล่งกำเนิดมะขามหวานของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะพันธุ์หมื่นจง และในปัจจุบัน หล่มเก่ายังมีตลาดนัดมะขามหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย ด้านประเพณีและความเชื่อ นอกจากพุทธศาสนาแล้ว คนหล่มยังคงนับถือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ โดยเกือบทุกหมู่บ้านทั้งในเมืองและนอกเมืองจะมี หอเจ้าพ่อ เป็นที่สถิตเจ้าพ่อซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและคุ้มครองให้ได้รับความปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะมีชื่อเรียกเจ้าพ่อประจำหมู่บ้านของตนต่างกันออกไปมากมาย เช่น เจ้าพ่อขุนซวง เจ้าพ่อสามดาว เจ้าพ่อหนองบัว เจ้าพ่อหนองดู่ เจ้าพ่อพระพรหม เป็นต้น เจ้าพ่อทุกองค์จะมีร่างทรงและมีบริวารเจ้าพ่อหรือที่เรียกว่า “กวนข้าวจ้ำ” เป็นจำนวนมาก ซึ่งกรรมวิธีและกฎเกณฑ์การเป็นร่างทรงจะมีรายละเอียดมากมายและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ประมาณเดือน 6 จะมีการเลี้ยงปีกันใหญ่โต ใครอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาร่วมงานกัน อีกทั้งเจ้าพ่อยังมีการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เรียกว่า “การปัว” ให้ผู้คนอีกด้วย … ส่วนนิทานตำนานพื้นบ้านต่าง ๆ ของหล่มเก่า ก็มีมากมาย เช่น การกำเนิดบ้านหินกลิ้ง ประวัติเรื่องราวเจ้าแม่เข็มทองของบ้านวัดตาล ตำนานตอไม้มาดที่บ้านวังบาลที่มีเรื่องราวการขนขอนไม้มาดเพื่อนำส่งลงไปเมืองหลวง โดยระหว่างทางจะเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ จนมีการเชื่อมโยงนำไปตั้งเป็นสถานที่ต่าง ๆ มากมายในหล่มเก่า เช่น พระธาตุดอยสะเก็ด หนองขาม เจ้าพ่อขุนจบ เจ้าพ่ออู่คำ และเจ้าพ่อเหล็กซี เป็นต้น ความเชื่อเรื่องนิทานหลอกเด็ก ผีตาโม่ ของบ้านนาทราย ส่วนประเพณีที่สำคัญของหล่มเก่าคือการแข่งเรือลาพรรษาในลำน้ำพุงที่จัดต่อเนื่องกันมาช้านาน งานประจำปีขนมเส้นหล่มเก่า นอกจากนั้น เมื่อถึงฤดูกาล ยังอาจเห็นประเพณีบุญบั้งไฟในหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านนาแซง บ้านนาเกาะ เป็นต้น อีกทั้งประเพณีการถวายต้นผึ้งก็คงคงมีการปฏิบัติอยู่บ้างตามวัดต่าง ๆ ด้านศาสนสถาน จุดเด่นของหล่มเก่าประการหนึ่ง คือการมีวัดที่เก่าแก่จำนวนมากมายกระจายกันอยู่ทั่ว ๆ ไป ซึ่งศาสนสถานเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนยืนยันให้เห็นความสัมพันธ์เป็นเชื้อสายเดียวกันกับคนหลวงพระบางที่มีศิลปะล้านช้าง ได้แก่ หลวงพ่อใหญ่ 3 วัดได้แก่ วัดศรีมงคลบ้านหินกลิ้ง วัดตาลและวัดทุ่งธงไชย สิมโบราณที่วัดศรีบุญเรืองบ้านนาซำ วัดโพธิ์ทองบ้านน้ำครั่ง วัดศรีมงคลบ้านนาทราย และวัดม่วงเย็นบ้านน้ำอ้อย ศาสนสถานที่สำคัญอื่น ๆ ก็มีกระจัดกระจายกันทั่วพื้นที่เต็มไปหมด คือ หลวงพ่อขาวที่บ้านวัดตาล พระธาตุที่วัดพลแพงบ้านนาแซง พระธาตุปู่เถร พระธาตุในวัดศรีฐานและพระธาตุดอยสะเก็ดบ้านวังบาล พระธาตุที่วัดศรีมงคลบ้านหินกลิ้ง พระธาตุวัดม่วงชุมบ้านพรวน และพระธาตุภูผาชัยสวรรค์บ้านภูผักไซ่ นอกจากนั้น ยังมีพระพุทธรูปนอนตะแคงซ้ายและพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงอยู่วิหารหลังโบสถ์วัดทุ่งธงไชยอีกด้วย ที่สำคัญที่สุดคือ ที่หล่มเก่ามีศิลปะที่มีความโดดเด่นสวยงามน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ จิตรกรรมฝาผนังในสิมวัดศรีมงคลบ้านนาทราย และจิตรกรรมเสาแปดเหลี่ยมที่ศาลาวัดทรายงามบ้านห้วยมะเขือ ด้านที่อยู่อาศัยและหมู่บ้าน บ้านเรือนอยู่อาศัยของคนหล่มเก่าแต่เดิมนั้นก็นิยมสร้างด้วยไม้ สร้างใกล้ชิดติดกันอย่างอบอุ่น ใต้ถุนสูง บนบ้านมีส่วนฝาเปิดและตีไม้ระแนงเป็นตารางเพื่อให้อากาศผ่านได้ดีแต่สามารถป้องกันอันตรายจากภายนอกได้ไปในตัวด้วย ความเป็นหมู่บ้านที่อยู่กันอย่างอบอุ่นแน่นแฟ้นกันนี้ ยังจะพบเห็นได้ที่ บ้านศรีสุมัง บ้านวัดตาล บ้านหินกลิ้ง เป็นต้น ส่วนในตัวตลาดหล่มเก่านั้น ยังคงปรากฏให้เห็นเป็นห้องแถวโบราณที่สร้างด้วยไม้อยู่มากมาย โดยส่วนใหญ่ห้องแถวดังกล่าวมีระเบียงอยู่ชั้นสอง ดูสวยงามและมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ที่บ้านภูผักไซ่ จะมีบ้านที่สร้างเป็นลักษณะพิเศษคือ บ้านเสายองหิน ที่มีภูมิปัญญาโบราณแฝงอยู่ ชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ ในหล่มเก่าก็มีความแปลกและน่าสนใจถึงความหมายและที่มา เช่น หินกลิ้ง หินฮาว โจะโหวะ วังเวิน วังบาล ท่าผู ภูผักไซ่ ปาผา ทับเบิก นาแซง นาเกาะ แก่งโตน สงเปลือย ศิลา ตาดกลอย เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ข้อมูลที่นำเสนอดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงหัวข้อต่าง ๆ ที่สามารถศึกษารายละเอียดให้ลึกซึ้งลงไปได้อีก ซึ่งนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และหากจะนำมาร้อยเรียงเพื่อจัดให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้นั้น ก็น่าจะสามารถทำได้ในลักษณะดังตัวอย่างแนวคิด ต่อไปนี้
ในอนาคตอันใกล้ กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นั่นคือ การเป็นรวมตัวกันเป็น ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ของบรรดา 10 ประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ จะต้องมีผลกระทบมาถึงจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะตามถนนทางหลวงหมายเลข 12 หรือสายเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ที่เชื่อมโยงจากประเทศเวียดนามมายังประเทศพม่า ซึ่งเส้นทางสายนี้จะผาดผ่านพื้นที่ตอนเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่บริเวณอำเภอหล่มสัก … สินค้า แรงงาน บริการ การลงทุน การเงิน ที่รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว (Single Market) ของ ASEAN จะส่งผลให้ผู้คนหลั่งไหลมาสู่จังหวัดเพชรบูรณ์มากขึ้นผ่านเส้นทางดังกล่าว เมื่อมีผู้คนเข้ามามากขึ้น การท่องเที่ยวก็จะต้องมากขึ้นตามไปด้วย เพราะปัจจุบันนี้ การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผู้คนที่จะขาดไม่ได้ … เมื่อเพชรบูรณ์ของเรามีความโดดเด่นและมีศักยภาพในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ นั่นคือ เขาค้อ ภูทับเบิก และน้ำหนาว ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมากอยู่แล้ว แม้กระนั้นก็ตาม เราควรจะต้องร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขึ้นมาอีกด้านหนึ่ง เพื่อทำให้เพชรบูรณ์ของเราเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบ สามารถตอบสนองรสนิยมของนักท่องเที่ยวได้ทุก ๆ กลุ่ม ฉะนั้น การพัฒนาหล่มเก่าให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทหล่มจึงเป็นคำตอบที่ลงตัวของบ้านเรา แต่ … มีสิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระวังไม่ให้เกิดขึ้นในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เราได้เห็นตัวอย่างความผิดพลาดจากที่อื่น ๆ มาแล้ว นั่นคือการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงธุรกิจเพียงอย่างเดียว จนไปมีผลกระทบเปลี่ยนแปลงรางเหง้าหรือความเป็นตัวตนที่แท้จริงของชุมชน เช่น การนำกิจกรรมหรือธุรกิจที่ไม่มีความเป็นไทหล่มเข้ามาบริการนักท่องเที่ยว หรือการเข้ามาของนักธุรกิจต่างถิ่นเพื่อลงทุนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชุมชนเพื่อตักตวงรายได้โดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทหล่ม และในที่สุด เสน่ห์ของความเป็นไทหล่มก็จะหมดไป การส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมไทหล่มจะต้องทำแบบยั่งยืนด้วยการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์โดยมีหลักการว่า คนหล่มจะคงดำเนินชีวิตไปตามครรลองของตนโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน นักท่องเที่ยวจะเป็นฝ่ายมาเรียนรู้ตัวตนที่แท้จริงของชุมชนไทหล่มผ่านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะได้จดจำความเป็นตัวตนของวิถีชีวิตไทหล่ม สามารถไปบอกเล่าต่อให้กับผู้ใกล้ชิดหรือกลุ่มคนที่สนใจ ให้เกิดความต้องการที่อยากจะมาเรียนรู้ความเป็นไทหล่ม อีกทั้งนักท่องเที่ยวยังสามารถกลับมาท่องเที่ยวที่หล่มเก่าได้อีกครั้งแล้วครั้งเล่า ในเวลาใดก็ได้ตลอดทั้งปี และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างซาบซึ้งโดยไม่เบื่อเลย นั่นคือ เหตุผลที่มาของบทความนี้ครับ …เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หล่มเก่า : วิถีไทยหล่ม‘>
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook